17 Jan 2020
Review

รีวิว Onkyo TX-NR696 AVR รุ่นคุ้มค่า รองรับมาตรฐาน THX ฟีเจอร์ครบครัน จัดเต็มทั้งภาพและเสียง


  • TopZaKo
ราคาเปิดตัว Onkyo TX-NR696 อยู่ที่ 32,900 บาท
รับชม วีดีโอรีวิว Onkyo TX-NR696 ได้ที่นี่เลยครับ !!!

เมื่อพูดถึงการพักผ่อนของคนเราในยุคปัจจุบัน ส่วนใหญ่ก็มักจะนิยมนั่งดูหนังฟังเพลงอยู่บ้านหน้าทีวีเครื่องโปรดของคุณอย่างแน่นอน ซึ่งเสียงจากลำโพงทีวีทั่วไปก็อยู่ในระดับที่เรียกว่า “พอได้” แต่ถ้าหากวันไหนเราอยากจะดูหนังฟังเพลงแบบจริงจังขึ้นมาหละ การมีชุดโฮมเธียร์เตอร์สักชุดคงจะตอบโจทย์ข้อนี้ได้ดีไม่น้อยเลยทีเดียว

หากพูดถึงชุดเครื่องเสียงโฮมเธียร์เตอร์ ก็จะประกอบไปด้วย ชุดลำโพง, ลำโพงซับวูฟเฟอร์, เครื่องเล่นต่างๆ แต่สิ่งหนึ่งที่ถือเป็นหัวใจของระบบที่ขาดไม่ได้เลยนั่นก็คือ AVR หรือ AV Receiver นั่นเอง โดยวันนี้ผมจะพาทุกคนไปรู้จักกับ Onkyo TX-NR696 ที่ถือเป็น AVR รุ่นคุ้มค่าในตระกูล TX-NR6X6 ที่มีการพัฒนาต่อเนื่องมาในทุกปี โดยในปีนี้ได้มีการเพิ่มฟีเจอร์ใหม่ๆ อย่าง AirPlay 2, กำลังขับที่เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ 165W/Ch มาเป็น 175W/Ch และมีการปรับปรุงอื่นๆ อีกมากมายจะน่าสนใจแค่ไหนตามมาอ่านในรีวิวกันครับ

Design – การออกแบบ

หน้าตาโดยรวมของเจ้า Onkyo TX-NR696

การออกแบบ โดยรวมของ Onkyo TX-NR696 เครื่องนี้จะเรียกว่าถอดแบบมาจากรุ่นก่อนหน้าอย่าง TX-NR686 เลยก็ว่าได้ ดีไซน์โดยรวมสวยงามดูดีตามแบบฉบับ AVR ระดับกลาง ซึ่งจุดที่แตกต่างจากรุ่นก่อนหน้าจะมีเพียงชื่อรุ่นบริเวณด้านล่างขวาและการจัดเรียงช่องต่อด้านหลังเท่านั้น ขนาดของตัวเครื่องอยู่ที่ กว้าง 435 มม. X ยาว 379.5 มม. X สูง 173.5 มม. มีน้ำหนัก 10 กิโลกรัม ซึ่งถือว่ามีน้ำหนักและขนาดอยู่ในระดับที่ดีไม่มากไม่น้อยเกินไปสำหรับ AVR รุ่นระดับกลางครับ

จะมองมุมไหนก็ดูดีจริงๆ สำหรับ AVR รุ่นนี้
ชื่อรุ่นของ AVR จะอยู่บริเวณด้านขวาล่างของตัวเครื่อง

ด้านหน้า ของตัวเครื่องสิ่งแรกที่เห็นได้ชัดเลยก็คือจอแสดงผลนั่นเอง โดยจอนี้มีไว้เพื่อบอกสถานะต่างๆ เช่น ช่องสัญญาณ Input, โหมดเสียงที่เลือกใช้ รวมถึงความดัง/เบา ของระดับเสียง เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีปุ่มที่ใช้งานบ่อยๆ อย่าง ปุ่ม เปิด/ปิด เครื่อง, ปุ่มเลือกช่องสัญญาณ Input, ปุ่ม Pure Audio, ปุ่มตั้งค่าต่างๆ, มีช่องต่อ HDMI In, ช่องต่อหูฟังแบบ 6.35 มม., ช่อง Set-up Mic และ ช่อง AUX Input เป็นต้น

บริเวณด้านหน้าของตัวเครื่องดูสวยงามแบบเรียบง่ายตามแบบฉบับ AVR Onkyo
โลโก้ยืนยันคุณภาพเสียงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น THX, Dolby Atmos หรือ DTS : X

รีโมท มาในขนาดกำลังดี ให้ปุ่มมาแบบครบครันต่อการใช้งาน เช่น ปุ่ม เปิด/ปิด เครื่อง, ปุ่มเลือกช่องสัญญาณ Input ต่างๆ, ปุ่มลูกศรควบคุม, ปุ่มตั้งค่า, ปุ่ม เพิ่ม/ลด ความดังเสียง, ปุ่มปรับแต่งเสียง และอื่นๆ อีกมากมาย

รีโมทที่มาพร้อมกับตัวเครื่อง

Connectivity – ช่องต่อ

ช่องต่อต่างๆ บริเวณด้านหลังตัวเครื่อง

ช่องเชื่อมต่อ ที่ด้านหลังของตัวเครื่องเรียกว่าให้มาแบบจัดเต็มจริงๆ มีทั้งการเชื่อมต่อแบบไร้สายผ่านเสาสัญญาณทางด้าน ซ้าย-ขวา ของตัวเครื่อง ที่สามารถพับเก็บหรือปรับทิศทางที่ต้องการ เพื่อรับสัญญาณ Bluetooth รวมถึง Wi-Fi ได้ทั้งย่าน 2.4Ghz และ 5Ghz

เสารับสัญญาณ Wi-Fi และ Bluetooth สามารถพับเก็บหรือหมุน ซ้าย-ขวา ได้

ส่วนการเชื่อมต่อแบบสายนั้นประกอบไปด้วยส่วนต่างๆ ที่นิยมใช้งานกันเช่น HDMI Input 6 ช่อง กับ HDMI Output 2 ช่อง (รองรับ ARC ที่ช่อง Main) โดย HDMI ทุกช่องจะรองรับการส่งสัญญาณ Pass through ทั้งภาพแบบ 4K HDR ทั้ง HDR10 กับ Dolby Vision รวมถึงระบบเสียงอย่าง Dolby Atmos กับ DTS : X ได้ทั้งหมดเลย

เมื่อเสียบสาย HDMI หน้าตาจะออกมาเป็นแบบนี้

มีช่องต่อ Digital In แบบ Optical กับ Coaxial, ช่อง Ethernet สำหรับการเชื่อมต่อ Internet แบบสาย, ช่อง USB สำหรับเล่นไฟล์เพลงต่างๆ , ช่องเสียบสายไฟ AC In, ช่อง AUX In, ช่อง Phono In พร้อมช่องสายกราวด์สำหรับเครื่องเล่นแผ่นเสียง, Pre Out Subwoofer สำหรับเชื่อมต่อกับลำโพง Active Subwoofer จำนวน 2 ช่อง และที่พิเศษคือช่องต่อ Line Out Zone 2 ที่สามารถปรับเปลี่ยนเป็น Pre Out สำหรับลำโพงคู่หน้าได้เหมือน AVR รุ่นใหญ่ได้อีกด้วย

ช่อง Pre Out ทั้งในส่วนของลำโพงคู่หน้า (Front) และ Subwoofer
ช่องต่อ Phono In สำหรับใช้งานร่วมกับเครื่องเล่นแผ่นเสียง
สายไฟ AC IN ในรุ่นนี้สามารถเปลี่ยนได้แล้วนะ

Setting – การติดตั้ง

Onkyo TX-NR696 เครื่องนี้มี ภาคขยาย ในตัวทั้งหมด 7Ch รวมกับมีช่อง Subwoofer Out อีก 2 Ch ทำให้เราสามารถเลือก Set-Up ลำโพงในระบบแบบสูงสุดได้ทั้งหมด 2 รูปแบบด้วยกัน ได้แก่ 7.2 Ch หรือ 5.2.2 Ch ซึ่งในส่วนของการทดสอบผมได้เลือก Set-Up ในรูปแบบ 5.1.2 Ch เนื่องจากรองรับการใช้งานได้แบบครอบคลุมกับระบบเสียงในยุคปัจจุบันอย่าง Dolby Atmos, DTS:X หรือจะเป็นระบบเสียงแบบ 7.1 Ch, 5.1 Ch ก็สามารถใช้งานร่วมกันได้อย่างไม่มีปัญหา

ในส่วนของการ Calibrate เสียง ผมได้ใช้ Mic Set-Up ที่มีมาให้ในกล่อง เสียบเข้ากับช่องต่อที่ด้านหน้าตัวเครื่อง ซึ่งระบบก็จะทำการเข้าสู่หน้าของ AccuEQ Room Acoustic Calibration ให้แบบอัตโนมัติ ซึ่งระบบจะให้เราเลือก รูปแบบลำโพง หรือ Configuration ให้ตรงกับรูปแบบลำโพงในห้องที่เราได้ติดตั้งเอาไว้ หลังจากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอน Calibration ซึ่งขั้นตอนนี้แนะนำให้วาง Mic Set-Up ไว้ในจุดต่างๆ ตามภาพคำแนะนำบนจอ โดยให้ไมค์มีระดับความสูงอยู่ที่ระดับเดียวกับหูและควรให้ห้องอยู่ในสภาวะที่เงียบที่สุด เพื่อให้การ Auto Calibrate ได้ผลลัพท์ออกมาดีที่สุดครับ

หน้าของ AccuEQ Room Acoustic Calibration