04 Jan 2015
Review

Experience Dolby Atmos 5.1.4 !!! รีวิว Onkyo TX-NR3030


  • ชานม

Sound – เสียง

ดังที่เรียนไปว่า TX-NR3030 มาพร้อมภาคขยายจำนวนมากถึง 11 แชนเนล ดังนั้นจึงรองรับรูปแบบการติดตั้งลำโพงรอบทิศทางได้ยืดหยุ่นหลากหลาย หากอ้างอิงมาตรฐานระบบเสียง Dolby Atmos จะรองรับทุกมาตรฐานเท่าที่สามารถกำหนดได้ในปัจจุบันทั้งหมด เริ่มตั้งแต่ 5.1.2, 5.1.4, 7.1.2 ไปจนถึง 7.1.4 และ 9.1.2

ถามว่า แล้วจะเลือกใช้รูปแบบไหน? ทาง Dolby ได้ลำดับความสำคัญของ Dolby Atmos Speaker Configurations ไว้ดังนี้

1. The Essential Dolby Atmos Layouts หรือรูปแบบพื้นฐานสำหรับระบบเสียง Dolby Atmos คือ 5.1.2 หรือ 7.1.2 กล่าวคือ เป็นรูปแบบที่ดำเนินการง่าย เพราะสามารถใช้ชุดลำโพงโฮมเธียเตอร์ 5.1/7.1 ที่ใช้งานอยู่เดิม แล้วเพิ่มเติมลำโพง Top Surround เพียง 2 แชนเนล (1 คู่) เท่านั้น การอัพเกรดจึงทำได้ง่าย ใช้งบประมาณไม่มาก อานิสงส์จาก Top Surround 2 แชนเนล ช่วยให้สัมผัสมิติเสียงด้านสูงอันเป็นจุดเด่นของ Dolby Atmos ได้

2. The Reference Dolby Atmos Experience หรือรูปแบบที่แนะนำให้เลือกใช้ หากต้องการอ้างอิงประสิทธิภาพของมาตรฐานระบบเสียงยุคใหม่นี้ คือ 5.1.4 และ 7.1.4โดยเป็นการใช้งานลำโพง Top Surround เต็มที่ คือ 4 แชนเนล (2 คู่) เพื่อเน้นคุณสมบัติเด่นจากมิติเสียงด้านสูงของ Dolby Atmos

3. Enhanced Effects Particularly Suited for Larger Rooms หรือรูปแบบพิเศษ ที่เหมาะสำหรับพื้นที่ห้องฟังขนาดใหญ่มาก คือ 9.1.2 เป็นรูปแบบที่เติมเต็มช่องว่างจากจำนวนลำโพงรอบทิศทางในแนวระนาบ เพื่อให้ได้มิติเสียงโอบล้อมต่อเนื่องในพื้นที่ห้องฟังขนาดใหญ่

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ สามารถติดตั้งใช้งานร่วมกับ TX-NR3030 ได้ทั้งสิ้น ปัจจัยที่ต้องพิจารณา คือ ขนาดของห้อง สัมพันธ์กับจำนวนลำโพงที่มี ซึ่งการอ้างอิงในรีวิวนี้ จะเป็นการติดตั้งใช้งานในรูปแบบ 5.1.4 ซึ่งเป็นรูปแบบที่ใช้จำนวนลำโพงไม่มากจนเกินไปนัก เหมาะสำหรับพื้นที่ห้องหับในบ้านพักอาศัยทั่วไป ที่มีขนาดกลางๆ ราว 20 – 30 ตร.ม. จึงเป็นซิสเต็มที่ไม่ได้ใหญ่โต แต่ก็ไม่เล็กจนเกินไป และในส่วนของลำโพงในแนวระนาบ ยังคงอิงรูปแบบเดิมจากมาตรฐาน 5.1 มาได้ทันที ในขณะที่ Top Surround จำนวน 4 แชนเนล สามารถแสดงมิติเสียงโอบล้อมด้านสูง จากศักยภาพของระบบเสียง Dolby Atmos ออกมาได้ใกล้เคียงรูปแบบอ้างอิง

อนึ่งหากพื้นที่ห้องใหญ่กว่า 24 ตร.ม. สามารถเลือกรูปแบบ 7.1.4 จะเติมเต็มบรรยากาศเสียงเข้ากับพื้นที่ห้องและให้ความสมบูรณ์ของมิติโอบล้อมได้ดีที่สุดสำหรับมาตรฐานบ้านพักอาศัยทั่วไป เหมาะกับซิสเต็มที่พร้อมทั้งภาคขยายและจำนวนลำโพงรอบทิศทางที่มีมากถึง 11 แชนเนล

5.1.4 Dolby Atmos Speaker Configuration

การติดตั้งใช้งานลำโพงระบบเสียง Dolby Atmos 5.1.4
แบบที่ใช้งานร่วมกับลำโพง Top Surround (ลำโพงฝังฝ้า, แขวนเพดาน)

อ้างอิงการติดตั้งใช้งานระบบลำโพง Dolby Atmos 5.1.4 นั้น ไม่ต่างจาก 5.1.2 ที่เคยเกริ่นไปแล้วมากนัก สิ่งที่เพิ่มเข้ามา คือ ลำโพงเอฟเฟ็กต์ด้านสูงจาก 1 คู่ เป็น 2 คู่ เท่านั้นเอง อย่างไรก็ดี ในกรณีเลือกใช้ลำโพงเอฟเฟ็กต์ด้านสูงรูปแบบ Top Surround ซึ่งติดตั้งบนฝ้าเพดานนั้น จะมีตำแหน่งติดตั้งที่ต่างไปจาก 5.1.2 เล็กน้อย เนื่องจากจำนวนลำโพงที่เพิ่มขึ้นจึงต้องบาลานซ์ระยะห่างของ Top Surround ทั้ง 2 คู่ คือ “Top Front” และ “Top Rear” ให้เหมาะสม โดยอ้างอิงองศาจากตำแหน่งนั่งฟัง (ดูรูปประกอบ)

โดยทั่วไป หากความสูงฝ้ามาตรฐานที่ 2.5 ม. ระยะห่างระหว่างกันของลำโพง Top Front และ Top Rear วัดจากแนวระนาบ จะอยู่ที่ราว 2.2 (min) ~ 5.5 (max) เมตร โดยให้มีระยะห่างจากจุดนั่งฟังที่ใกล้เคียง กัน ซึ่งเป็นระยะที่ยืดหยุ่นพอสมควร ส่วนระยะห่างระหว่างลำโพง Top Surround ข้างซ้ายและขวา ให้อ้างอิงจากระยะห่างของลำโพงคู่หน้า (Front Left/Front Right ซึ่งโดยทั่วไปจะกำหนดตามระยะสามเหลี่ยมด้านเท่า ซึ่งมุมภายในเท่ากับ 60 องศา)

รูปแบบ 5.1.4 with Top (Ceiling) Speakers นี้ เหมาะสำหรับซิสเต็มที่กำลังจะติดตั้งลำโพงฝัง/แขวนฝ้า โดยยังคงกำหนดตำแหน่งติดตั้งตามข้อกำหนดข้างต้นได้ และหากต้องการมิติเสียงด้านสูงที่ดีจากลำโพงฝังฝ้า (In-ceiling) ควรเลือกรุ่นที่มีคุณภาพดี หากลำโพงตอบสนองในจุดนี้ได้ดีเท่าไหร่ ความสมบูรณ์ของบรรยากาศด้านสูงก็จะดีตามไปด้วย กลับกันลำโพงฝังฝ้าคุณภาพต่ำบวกกับการติดตั้งที่ไม่เหมาะสม จะลดทอนประสบการณ์รับฟัง Dolby Atmos ลงอย่างมาก

การติดตั้งใช้งานลำโพงระบบเสียง Dolby Atmos 5.1.4
แบบที่ใช้งานร่วมกับลำโพง Dolby Atmos Enabled-Speakers (Front & Surround)

กรณีที่ไม่สามารถติดตั้งใช้งานลำโพงฝัง/แขวนฝ้า ก็มีอีกทางเลือกกับลำโพงเอฟเฟ็กต์ด้านสูงรูปแบบที่เรียกว่า Dolby Atmos Enabled Speakers ซึ่งการติดตั้งจะดำเนินการได้ง่ายกว่า เนื่องจากลำโพง Dolby Atmos Enabled Speakers นี้จะติดตั้งร่วมกับลำโพงคู่หน้า และลำโพงเซอร์ราวด์ โดยหากใช้งานลำโพงแบบ “Add-on” ดังเช่น Onkyo SKH-410 สามารถนำไปวางไว้เหนือลำโพงดังกล่าวในระบบได้ทันที ไม่ยุ่งยาก

Onkyo SKH-410 Dolby Atmos Enabled Speakers แบบ “Add-on” ขนาดกะทัดรัด
สามารถนำไปวางบนลำโพงโฮมเธียเตอร์เดิมที่ใช้งานอยู่ได้ทันที ซึ่งระบบ 5.1.4 จะนำ SKH-410 ไปวางบนลำโพงคู่หน้า และลำโพงเซอร์ราวด์

รูปแบบ 5.1.4 with Dolby Atmos Enabled Speakers นี้ เหมาะสำหรับซิสเต็มที่มีข้อจำกัด ไม่สามารถติดตั้งลำโพงฝัง/แขวนฝ้าได้ การใช้งานลำโพงรูปแบบ Dolby Atmos Enabled Speakers จะให้ดี ฝ้าเพดานควรมีระดับความสูงไม่มากจนเกินไป หากเป็นระดับมาตรฐานที่ 2.4 ~ 2.5 ไม่เกิน 3 ม. จะดีมาก และเพดานควรมีพื้นผิวที่สะท้อนเสียง ไม่เหมาะกับฝ้าเพดานที่ติดตั้งวัสดุดูดซับเสียงมากเกินไป ไปจนถึงรูปทรงที่ไม่สมมาตร

5.1.4 Dolby Atmos Speaker Settings

เมื่อเลือกรูปแบบลำโพงสำหรับระบบเสียง Dolby Atmos ได้แล้ว สิ่งสำคัญที่ต้องดำเนินการต่อไป คือ การตั้งค่าพารามิเตอร์ที่เกี่ยวข้องกับลำโพง โดยดำเนินการผ่าน AVR อย่างเหมาะเหมาะสม โดยกำหนดให้สัมพันธ์กับรูปแบบลำโพงที่ใช้ และลักษณะสภาพแวดล้อมที่ทำการติดตั้งจริง

สำหรับ AVR ยุคปัจจุบันที่มาพร้อมระบบปรับตั้งลำโพงอัตโนมัติ อย่างเช่น AccuEQ ของ Onkyo ช่วยลดขั้นตอนยุ่งยากจากการดำเนินการในส่วนนี้ลงไปได้มาก และผลลัพธ์ที่ได้ก็ดีกว่าการกะเกณฑ์แบบแมนนวลโดยไม่มีสิ่งใดอ้างอิง อย่างไรก็ดีในส่วนของรูปแบบลำโพง Top Surround หรือลำโพงเอฟเฟ็กต์ด้านสูง ที่จะใช้ร่วมกับระบบ Dolby Atmos นั้น ผู้ใช้จะต้องกำหนดตั้งค่าให้ระบบฯ ทราบ ก่อนจะดำเนินขั้นตอน Auto Calibration ครับ

ซึ่งสำหรับ Onkyo Dolby Atmos AVR จะกำหนดรูปแบบ Top Surround ผ่านพารามิเตอร์ Height Speakers Type โดยเลือกได้ระหว่าง Top (Ceiling) Speakers, Dolby Atmos Enabled Speakers หรือ Front/Rear Height ก็เลือกให้ตรงกับความเป็นจริง

ข้อสังเกต: ท่านที่ต้องการนำภาคขยายที่ไม่ได้ใช้งานของ AVR ไปทำ Front Bi-amp (ไบแอมป์ลำโพงคู่หน้า) ซึ่งเดิมอาจเคยทำร่วมกับระบบ 5.1/7.1 นั้น หากเป็นการติดตั้งใช้งาน AVR ร่วมกับระบบลำโพงตามรูปแบบ Dolby Atmos Configurations จะไม่สามารถนำภาคขยายของ AVR ไป Bi-amp ได้ ถึงแม้จะมีภาคขยายที่ไม่ได้ใช้ก็ตาม ตรงนี้เป็นข้อจำกัดของ Dolby Atmos AVR ปี 2014 – 2015 ทุกรุ่น

ข้อสังเกต: การอ้างอิง Delay ผ่าน Speaker Distance ของ Onkyo Dolby Atmos AVR ในส่วนของลำโพง Height Speakers กรณีที่ใช้งานลำโพงรูปแบบ Dolby Atmos Enable Speakers นั้น ตัวเลขระยะที่ใช้อ้างอิง จะใกล้เคียงกับระยะห่างของลำโพงถึงจุดนั่งฟังในแนวระนาบ ไม่ใช่ผลรวมจากระยะของการสะท้อนฝ้าเพดานมายังจุดนั่งฟังแต่อย่างใด และไม่มีความจำเป็นต้องแก้ไขตัวเลขนี้ด้วยการบวกเพิ่มระยะของการสะท้อน ทั้งนี้การชดเชยหน่วงเวลาของ Dolby Atmos Enabled Speakers ระบบของ AVR จะประมวลผลการหน่วงเวลาของการสะท้อนเสียงในจุดนี้เพิ่มเติมให้เองโดยอัตโนมัติ อย่างไรก็ดีในบางกรณีที่สภาพแวดล้อมของผู้ใช้อยู่นอกเหนือมาตรฐาน เช่น ความสูงฝ้าเกินกว่าระดับที่ใช้อ้างอิงได้, สภาพทางอะคูสติกของฝ้าเพดาน, ตำแหน่งติดตั้งลำโพงเซอร์ราวด์ที่ใช้วางลำโพง Dolby Add-on (ความสูง) ฯลฯ อาจต้องดำเนินการแก้ไขในจุดนั้นให้เหมาะสม หรือใช้วิธีไฟน์จูนจุดอื่นเพิ่มเติม