01 Jan 2014
Review

อีกหนึ่ง AV Receiver สำหรับยุคนี้ !!! รีวิว Onkyo TX-NR1008


  • ชานม

หลังจากดูลักษณะภายนอกคร่าว ๆ ไปแล้ว มาถึงตรงนี้หลายท่านอาจจะยังสงสัยอยู่ว่า หาก AVR ที่ใช้งานอยู่ในปัจจุบันเป็นรุ่นที่เล็กกว่า 1008 ด้วยงบประมาณที่ต้องจ่ายเพิ่มขึ้น เราจะได้อะไรที่ดีขึ้นบ้าง ? แม้ว่าผลลัพธ์สุดท้ายจะมุ่งไปยังคุณภาพการใช้งาน ซึ่งไม่พ้นเรื่องของคุณภาพของภาพและเสียง แต่การจะไปถึงจุดนั้นได้ พื้นฐานของอุปกรณ์ย่อมมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด

ส่วนประกอบภายในของ Onkyo TX-NR1008
ส่วนประกอบภายในของ Onkyo TX-SR608

Setup – การติดตั้ง

เมื่อดูลึกถึงภายในจะพบว่าส่วนประกอบหลาย ๆ อย่างได้ถูกเพิ่มเติมเข้ามาจากรุ่นเล็ก ที่พอจะเห็นชัด ๆ คือ ภาคจ่ายไฟที่ใหญ่กว่า รวมไปถึงภาคขยายที่มีให้กำลังขับสูงกว่า (กำลังสำรองสูงกว่า) ในส่วนของวิดีโอ ถึงแม้ว่าจะใช้ งานวิดีโอโปรเซสเซอร์ชิพจาก Faroudja DCDi Cinema เช่นเดียวกับรุ่นระดับกลางถึงเล็ก (ในขณะที่รุ่นใหญ่กว่า คือ 3008 และ 5008 ใช้ชิพ HQV Reon VX) อย่างไรก็ดีในรุ่น 1008 นี้ ได้การรับรองจาก ISF จากฟีเจอร์ปรับภาพที่ละเอียดลออ และยืดหยุ่นมากขึ้น อย่างเช่น การปรับ White Balance เพื่อชดเชยการถ่ายทอดสีสันของจอภาพให้ถูกต้อง นอกจากนี้ผู้ผลิตยังให้โหมดภาพมาตรฐานกึ่งสำเร็จรูป อย่าง ISF Day (เหมาะสำหรับสภาพห้องที่สว่าง หรือใช้งานตอนกลางวัน) และ ISF Night (เหมาะสำหรับสภาพห้องที่มีการควบคุมแสง หรือใช้งานตอนกลางคืน) เช่นเดียวกับ 2 รุ่นใหญ่ พารามิเตอร์ที่สำคัญสำหรับวิดีโอสเกลเลอร์ขั้นสูง อย่าง Noise Reduction และ Edge Enhancement ก็ยังคงอยู่ (มีใน 608 เช่นกัน) ทั้งหมดนี้จะส่งผลดีอย่างไรในการใช้งานจริง ผมจะกล่าวถึงอีกครั้งช่วงรายงานการทดสอบ

ระบบช่วยเหลือทางด้านเสียงอย่าง Audyssey ก็มีความแตกต่างจากรุ่น 608 โดยในรุ่น 1008 จะใช้มาตรฐาน Audyssey MultEQ ในขณะที่ 608 เป็น Audyssey 2EQ ความแตกต่างของทั้ง 2 ระบบนี้อยู่ที่ความซับซ้อนในการตรวจวัดและประมวลผล และตั้งค่าเพื่อแก้ไข ซึ่งต้องไปวัดกันด้วยผลการทดสอบระบบเสียงที่ได้ ว่าเที่ยงตรงหรือไม่ (จะกล่าวถึงช่วงรายงานคุณภาพเสียง) แต่อีกจุดหนึ่งที่ใช้ยืนยันความแตกต่างได้ชัดเจน คือ ความละเอียดในการปรับเปลี่ยนค่าพารามิเตอร์การเซ็ตอัพระบบลำโพงแบบแมนนวล ซึ่งสามารถสรุปคร่าว ๆ ได้ดังต่อไปนี้

การตั้งระดับชดเชยเสียงของลำโพงแต่ละแชนเนล สามารถปรับได้สเต็ปละ 0.5 dB ซึ่งละเอียดกว่ารุ่นเล็ก (ที่ปรับได้ทีละ 1 dB) เช่นเดียวกับระยะห่าง ที่กำหนดได้สเต็ปละ 15 ซม. (รุ่นเล็ก 30 ซม.)

การกำหนด Speaker Settings นั้น ผู้ใช้สามารถกำหนดฟังก์ชั่นของภาคขยายจาก 1008 ที่มีจำนวน 9 แชนเนล ได้หลากหลาย สามารถกำหนดสถานะการทำงานของภาคขยาย ให้ตรงกับสเป็ก Impedance ของลำโพงที่ใช้ ซึ่งเป็นพารามิเตอร์มาตรฐานของ Onkyo AVR ทุกรุ่น ทั้งนี้ลำโพงอิมพีแดนซ์ต่ำ (4ohms) มักจะดึงโหลดจากภาคขยายสูงกว่าลำโพงอิมพีแดนซ์สูง (>/= 6ohms)

ในกรณีที่มิได้ใช้งานลำโพงเซอร์ราวด์แบ็ค ยังคงสามารถสลับการใช้งานให้ภาคขยายทำงานในแบบ “ไบแอมป์”เพื่อเพิ่มศักยภาพในการขับลำโพงคู่หน้า (ที่ได้ออกแบบจุดเชื่อมต่อสายลำโพงแบบไบไวร์) ได้ ซึ่งเป็นฟังก์ชั่นที่รุ่นเล็กอย่าง 608 สามารถทำได้เช่นกัน ปกติวิธีการนี้จะให้ผลลัพธ์ทางด้านคุณภาพเสียงดีขึ้น อย่างไรก็ดีการใช้งานจำเป็นต้องใช้สายลำโพงซิงเกิลไวร์ 2 ชุด หรือสายลำโพงไบไวร์แบบเข้า 4 ออก 4

หมายเหตุ : ในรุ่น 3008 และ 5008 จะเพิ่มเติมพารามิเตอร์ Speaker Type แบบ BTL (Bridged Transless) เข้ามาอีกหนึ่งลักษณะ ซึ่งเป็นการนำภาคขยาย 2 ชุดมา “บริดจ์” กันเพื่อเพิ่มกำลังขับ

THX Certified อาจจะเป็นสิ่งยืนยันถึงคุณภาพของ AVR แต่จุดหนึ่งที่เพิ่มเติมเข้ามาเป็นพิเศษสำหรับเครื่องที่ได้รับการรับรองจาก THX คือ ค่ากำหนดในส่วนของ THX Audio Setup ซึ่งจะให้ผลลัพธ์ดีที่สุดเมื่อใช้งานกับชุดลำโพงที่ได้การรับรองมาตรฐานจาก THX เช่นกัน ทั้งนี้ค่ากำหนดในส่วนนี้จะมีผลเฉพาะกับการรับฟัง (Listening Mode) ในโหมด THX เท่านั้น

หมายเหตุ : Loudness Plus ให้ผลลัพธ์คล้ายกับ Dynamic EQ คือ ยกช่วงความถี่ต่ำลึก (ราว 30Hz) ขึ้นมา ส่วน BCG (Boundary Gain Compensation) จะให้ผลในทางตรงข้าม คือ ลดทอนอัตราการตอบสนองความถี่ลึกลง ในกรณีที่ซิสเต็มลำโพงซับวูฟเฟอร์เกิดอาการเบสบูมช่วงความถี่ต่ำลึก (ทั้ง 2 พารามิเตอร์นี้จะมีผลกับการรับฟังในโหมด THX เท่านั้น)