01 Jan 2014
Review

อีกหนึ่ง AV Receiver สำหรับยุคนี้ !!! รีวิว Onkyo TX-NR1008


  • ชานม

Picture – ภาพ

ต้องเรียนให้ทราบก่อนนะครับว่าการใช้งานวิดีโอสเกลเลอร์ให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุดนั้น จะหวังพึ่งเพียงแค่การกำหนดตัวเลขเรซโซลูชั่นเป็น 1080p เพียงอย่างเดียวไม่ได้ ก็อย่างที่ทราบว่าการอัพสเกล เป็นการแก้ไขปัญหาข้อบกพร่องของแหล่งโปรแกรมต้นฉบับที่เป็นมาตรฐาน Standard Definition (เคเบิลทีวี ดีวีดี วีซีดี Online VDO ฯลฯ ซึ่งมักจะมีคุณภาพไม่สู้ดีนัก หรือที่เรียกกันติดปากว่า สื่อความละเอียดต่ำ) แม้แหล่งโปรแกรมลักษณะนี้จะมีจุดด้อยในเรื่องของ “ดีเทล” คือ ขาดความคมชัดเหมือนกันก็จริง ทว่าก็ยังมีตัวแปรปลีกย่อยที่ส่งผลกระทบกับการรับชมอย่างมากจนเป็นของคู่กันสำหรับแหล่งโปรแกรมลักษณะนี้ คือ สัญญาณรบกวน หรือ artifacts ซึ่งต้องใช้แนวทางแก้ไขปรับปรุงแตกต่างกัน ดังนั้นชนิดของพารามิเตอร์ที่ใช้ ไปจนถึงการให้น้ำหนักในการลดทอนแก้ไขปัญหาเพื่อปรับปรุงคุณภาพของภาพจึงแตกต่างกัน วิดีโอสเกลเลอร์ ที่ดี ต้องรองรับในจุดนี้

1008 (และ 608) สามารถแก้ไข artifacts ให้ลดน้อยลงไปได้ด้วยพารามิเตอร์ Noise Reduction ส่วนการเพิ่มความคมชัด มี Edge Enhancement ซึ่งให้แนวทางคล้ายกับ Sharpness แต่จะเน้นที่ขอบวัตถุให้คมชัดขึ้นมากกว่าเน้นทั้งภาพ จึงลดผลกระทบจากการพยายามเร่งสิ่งรบกวนที่ฝังมากับสัญญาณภาพ (หรือก็คือ artifacts ที่เราพยายามจะลดมันอยู่เมื่อกี๊นี่แหละ) ได้เล็กน้อย พารามิเตอร์เหล่านี้ต้องอาศัยการให้น้ำหนักอย่างเหมาะสม เพราะถ้าให้มากไปก็ส่งผลให้คุณภาพแย่ลงกว่าเดิม (ดูไม่เป็นธรรมชาติ หรือสูญเสียจุดเด่นในบางจุด) ผมคงไม่อาจบอกได้ว่าควรตั้งค่าไว้เท่าไหร่จึงจะดี ต้องทดลองกับแหล่งโปรแกรมแต่ละชนิด ซึ่งก็พอจะมีแนวทางอยู่ แต่ขอติดไว้ก่อน

อย่างไรก็ดี เนื่องจากการปรับปรุงคุณภาพของภาพวิดีโอโดยสเกลเลอร์เป็นกระบวนการแก้ไขระหว่างขั้นตอน playback กล่าวคือสเกลเลอร์จะประมวลผลและแก้ไขสัญญาณไปแทบจะทันทีที่ภาพถูกแสดงผ่านบนจอภาพ จึงต้องอาศัยความรวดเร็วในขั้นตอนประมวลผล มิเช่นนั้นก็จะเกิดปัญหา “หลุด” ซึ่งสังเกตได้กับฉากที่มีการเปลี่ยนแปลงเคลื่อนไหวรวดเร็วเกินกว่าที่ระบบจะ ประมวลผลแก้ไขทัน ก็จะเห็น artifacts เล็ดรอดมา ผลในประเด็นนี้ 1008 จึงเป็นรอง 2 รุ่นท็อป ที่ใช้ชิพ HQV แต่ความต่างก็ไม่ห่างกันนัก และถึงแม้จะใช้พื้นฐานเทคโนโลยีจากวิดีโอโปรเซสเซอร์ชิพรุ่นเดียวกับรุ่นเล็กอย่าง 608 แต่ 1008 มีศักยภาพที่ดีกว่า ด้วยการเปิดโอกาสให้ผู้ใช้กำหนด White Balance (ขอเขียนย่อ ๆ ว่า WB) ได้อย่างยืดหยุ่น จึงตอบสนองการใช้งานได้ดีกว่าในบางประเด็น

การตรวจสอบสัญญาณอินพุต และเอาต์พุต สามารถกระทำได้ผ่าน Home Menu ซึ่งเป็นรูปแบบ OSD

สำหรับแหล่งโปรแกรมมาตรฐาน HD ที่ชัดมาแต่ต้น อาจมิได้รับประโยชน์จากฟังก์ชั่นปรับแก้จุดบกพร่องของวิดีโอสเกลเลอร์ภายใน 1008 เท่าใดนัก แต่ก็ได้รับอานิสงส์บางส่วน อย่างการปรับแก้ WB แม้จอภาพในปัจจุบันจะรองรับการปรับชดเชย WB แบบละเอียดได้ดีอยู่แล้ว (และปรับที่จอภาพโดยตรงจะสะดวกและได้ผลดีกว่าด้วย) แต่ก็มิใช่ทุกรุ่นที่มี ในทีวี โปรเจ็กเตอร์ หรือมอนิเตอร์ รุ่นเล็ก ส่วนใหญ่พบว่ายังไม่มีให้ปรับในจุดนี้ หรือมีก็ไม่ละเอียด (ปรับได้แต่ Gain ส่วน Offset ปรับไม่ได้) การชดเชย WB ด้วยสเกลเลอร์ภายใน AVR จึงเข้ามามีบทบาทสำคัญ อันมีส่วนช่วยให้การถ่ายทอดสีสันของแหล่งโปรแกรมวิดีโอเมื่อแสดงบนจอภาพเหล่านั้นไม่ถูกบิดเบือนไป แม้ขั้นตอนดำเนินการจะยุ่งยากไปบ้าง ผู้ใช้ทั่วไปจึงมิอาจได้รับประโยชน์ในจุดนี้เท่าใดนัก แต่ก็ถือว่าระบบให้เผื่อไว้สำหรับปรับปรุงซิสเต็มให้มีความพร้อมมากขึ้นในอนาคต

Sound – เสียง

ทุกครั้งที่ผมทดสอบซิสเต็มลำโพงโฮมเธียเตอร์ (Polk Audio RTi Series, Paradigm Monitor Series) จะอ้างถึงระบบ Auto Calibration ด้วยเสมอ ทั้งนี้การใช้งานในสภาพแวดล้อมในห้องรับแขกบ้าน ๆ ซึ่งเป็นรูปแบบลำลอง ไม่เอื้อต่อการปรับเซ็ตลำโพงละเอียด (แบบแมนนวล) มากเท่ากับพื้นที่เป็นทางการแบบห้องโฮมเธียเตอร์ การจะปรับปรุงศักยภาพ หรือแก้ไขปัญหาข้อจำกัดด้วยระบบ Auto Calibration จึงเป็นวิธีการที่ดูมีความหวังมากที่สุดสำหรับสภาพแวดล้อมที่มีข้อจำกัดแบบนี้ ขณะเดียวกันมันก็เป็นรูปแบบที่ใกล้เคียงกับสภาพแวดล้อมในบ้านพักอาศัยทั่วไป แม้ตัวระบบเองจะมีศักยภาพ หรือข้อจำกัด มีดี มีเสีย อยู่บ้างแตกต่างกันไปในแต่ละซิสเต็ม แต่ก็เป็นวิธีที่สะดวก และน่าจะมีส่วนช่วยให้หลาย ๆ ท่านที่เพิ่งเริ่มเล่นโฮมเธียเตอร์ในสภาพแวดล้อมใกล้เคียงกันนี้ ได้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้น หรือเป็นพื้นฐานที่นำไปประยุกต์ใช้เพื่อปรับปรุงระบบให้ได้ประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นต่อไป
กับ 1008 ผลการใช้งาน Audyssey Auto Calibration พบว่าในส่วนของระบบ Basic Auto Calibration หรือ การตั้งค่าลำโพงพื้นฐาน คือ ขนาดลำโพง (Speaker Settings) จุดตัดความถี่ (Crossover) ระดับเสียง (Level) และ ระยะห่าง (Distances) การทดสอบในสภาพแวดล้อมในห้องรับแขก ที่แบ่งที่ทางสำหรับโฮมเธียเตอร์ได้ระดับหนึ่ง พบว่าให้ผลลัพธ์ที่ใกล้เคียง สามารถใช้อ้างอิงได้ทันที ซึ่งไม่น่าแปลกใจเพราะรุ่นเล็กอย่าง 608 ก็ทำได้ดีมาก่อน แต่ทั้งนี้ผลลัพธ์ที่ได้จาก 1008 จะมีความเที่ยงตรงยิ่งขึ้นด้วยอานิสงส์ของตัวแปรอ้างอิงค่ากำหนด ที่แบ่งสเต็ปละเอียดมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ระยะห่างของลำโพงที่อ้างอิงได้ในระดับ “ครึ่งฟุต” (รุ่นเล็กอ้างอิงสเต็ปละหนึ่งฟุต) โอกาสที่ระบบตรวจวัดจะกำหนดผลให้มีความใกล้เคียงกับความเป็นจริงจึงมีมากกว่า

จากซิสเต็มทดสอบเดียวกันนี้ ระยะของลำโพงเซ็นเตอร์ (ที่วัดด้วยตลับเมตร) จะใกล้กว่าลำโพงคู่หน้าซ้าย-ขวา ราว 10 ซม. แต่เดิมกับ 608 (Audyssey 2EQ) ระยะลำโพง FL, FR และ C ถูกกำหนดไว้เท่ากัน ที่เป็นเช่นนี้เพราะระยะอ้างอิงที่ระบบกำหนดได้นั้นมากกว่า (สเต็ปละ 30 ซม.) หากเพิ่มหรือลดลง 1 สเต็ปก็จะเกินจากระยะอ้างอิงไปอีก ทีนี้พอเปลี่ยนมาเป็น 1008 (ที่ใช้ระบบ Audyssey MultEQ) การอ้างอิงเพื่อชดเชยในจุดนี้จึงใกล้เคียงความเป็นจริงมากยิ่งขึ้น อาจมีคำถามตามมาว่า การอ้างอิงชดเชยดีเลย์ไทม์ด้วยระยะห่างระดับ 10 กว่าเซ็นต์นี้ จะส่งผลกับการรับรู้ในแง่คุณภาพเสียงมากน้อยเพียงใด ? ด้วยระยะเวลาการดีเลย์ของเสียงจากลำโพงที่ต่างกันระดับมิลลิวินาที คงไม่อาจจับผิดได้ง่ายนัก อย่างไรก็ดีทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ส่งผลถึง “ความกลมกลืน” ซึ่งความรู้สึกผิดปกติของเสียงในการอ้างอิงระยะลำโพงที่ผิดพลาด สังเกตได้จากช่วงของการโยนเสียงที่มีทิศทางแปลกแยกจากเส้นทางเดินของเสียงไปจากภาพที่เห็น (ที่มิกซ์มา) กล่าวคือเส้นทางไม่เป็น linear (ในการโยนเสียงจากหน้าไปหลัง) นอกจากนี้การขึ้นรูปของสนามเสียงจะไม่เกิดสมมาตร โดยจะเอียงเข้าด้านของลำโพงที่มีระยะ “ใกล้” จนเกินความเป็นจริง (ประเด็นนี้จะเกี่ยวเนื่องกับการอ้างอิงระดับเสียงของลำโพงที่ผิดพลาดด้วย) ซึ่งเสียงบรรยากาศ สามารถอ้างอิงทดสอบกับ “เสียงบรรยากาศ” ในภาพยนตร์ดรามา หรือคอนเสิร์ต ที่ไม่มีการโยนเสียงไปมาหวือหวา

หมายเหตุ : บางครั้งอาจพบว่าผลลัพธ์จากระบบ Auto Calibration ได้กำหนด ระยะห่าง ของลำโพงมากหรือน้อยกว่าความเป็นจริง (พบบ่อยกับลำโพงซับวูฟเฟอร์) ซึ่งเป็นผลจากการชดเชยแก้ไขเรื่องของเฟส หรืออาจเป็นการแก้ไขเรื่องของตัวแปร (สภาพแวดล้อม) บางประการ ซึ่งถ้าเป็นเมื่อก่อน การอ้างอิงด้วยหูในประเด็นเหล่านี้เป็นเรื่องที่ทำได้ยากมากสำหรับผู้ใช้ทั่วไป นี่จึงเป็นข้อดีของระบบอัตโนมัตินี้ อย่างไรก็ดีผลของตัวแปรรบกวนบางอย่างที่ไม่เอื้อต่อการใช้งานระบบ Auto Calibration อาจบิดเบือนทำให้ผลลัพธ์ผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริง ตรงนี้สามารถตรวจสอบความผิดปกติได้จากผลการทดลองใช้งาน (ฟังเสียง) โดยตรง อย่างไรก็ดีหากผู้ใช้กำหนดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับการใช้งานโฮมเธียเตอร์มากที่สุด เท่าที่จะทำได้ไว้ก่อน ปัญหาผลลัพธ์จากระบบ Auto Calibration ลักษณะนี้ก็จะลดทอนลง หรือไม่เกิดขึ้นเลย

แต่เดิมปัญหาเบสล้นจากที่ทางวางลำโพงที่ค่อนข้างชิดผนัง ได้สร้างผลกระทบกับคุณภาพการรับฟังมากพอดู โดยจะมาในรูปแบบของความอึมครึม อึดอัด แม้กับการรับชมภาพยนตร์จะไม่ได้รู้สึกถึงการบกวนมากนัก แต่กับเสียงเบสที่กระแทกอยู่ตลอดเมื่อรับฟังดนตรีบางแนวทำให้ขาดอารมณ์ร่วม หรือเสียอรรถรสไปพอสมควร (ขาดความผ่อนคลาย) กับลำโพง Polk Audio RTi A7 ซึ่งเป็นลำโพงแบบตั้งพื้นขนาดค่อนข้างใหญ่ ที่ทางตั้งวางขนาดนี้ไม่เพียงพอสำหรับประเด็นเรื่องของการถ่ายทอดโทนัลบาลานซ์ ผลที่ได้ คือ ความถี่ต่ำช่วง 45Hz โด่งล้ำย่านอื่นขึ้นมามาก ถึงกว่า 10dB ! ถึงแม้การถ่ายทอดเสียงความถี่ต่ำจากลำโพงคู่นี้จะค่อนข้างสะอาด และกระชับ จึงยังฟังได้ไม่รู้สึกว่าบวมอืด คลุมเครือจนรับไม่ได้ อย่างไรก็ดีผลของมันส่งผลให้การถ่ายทอดความถี่ย่านอื่นถูกบดบังความโดดเด่นลง จนดูเหมือนลำโพงนี้มีดีแต่เบส แม้ว่าความเป็นจริงมันจะไม่ได้เป็นเช่นนั้น

แน่นอนว่าทางออกที่ดีที่สุด คือ การขยับขยายที่ทางเพื่อให้ลำโพงมีระยะห่างจากพื้นผิวสะท้อน (ผนัง – มุมห้อง) มากขึ้น ทว่าวิธีแก้ปัญหาในสภาพแวดล้อมที่มีข้อจำกัดเรื่องของตำแหน่งการวางลำโพงจะทำอย่างไร ? หาวิธีการซับเสียงความถี่ต่ำส่วนเกินออกไปดีไหม ? ก็เป็นทางออกที่ดีเช่นกันครับ แต่การสลายความถี่ต่ำที่ 45Hz ค่อนข้างลำบากในทางปฏิบัติ (หากไม่ต้องการให้กระทบกับความถี่อื่นข้างเคียง) และแน่นอนว่าโครงสร้าง หรือรูปลักษณ์ของห้องจะเปลี่ยนไปด้วยอุปกรณ์ปรับอะคูสติกที่เพิ่มเติมเข้ามา หากรับได้ก็โอเคครับ… หรือไม่ก็ใช้ทางเลือกสุดท้ายก่อนจะเปลี่ยนลำโพงใหม่ คือ ใช้ระบบ Room EQ จาก AVR Auto Calibration

หมายเหตุ : Room EQ ก็มีพื้นฐานมาจาก EQ หรือ Equalizer นั่นเอง ผมเชื่อว่าหากท่านมาสายออดิโอไฟล์ เมื่อเห็นอุปกรณ์แบบนี้อาจจะร้องยี้ แต่การที่จะใช้ EQ นั้น เหตุผลมันมาจาก สภาพแวดล้อม ที่มันบิดเบือนเสียงของซิสเต็มอยู่ก่อนแล้วนั่นแหละ งานนี้ EQ จึงมิใช่ผู้ร้าย (อารมณ์เดียวกับแก๊ซโซฮอล์ป่าว ?) ซึ่งโอกาสที่การตอบสนองความถี่เสียงของลำโพงจะเที่ยงตรงดังเช่นที่ผู้ผลิตออกแบบเอาไว้ได้เป๊ะ ๆ ก็เมื่อมันอยู่ในห้องไร้เสียงสะท้อน (anechoic chamber) เท่านั้น เมื่อออกมาอยู่ข้างนอกแล้ว มันจะถูกบิดเบือนโดยสภาพแวดล้อมทั้งนั้น เพียงแต่มากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับคุณภาพของสภานที่ ซิสเต็ม และการเซ็ตอัพ ซึ่งประเด็นเหล่านี้ผมจะทยอยกล่าวถึงเรื่อย ๆ ตอนนี้ มาต่อ 1008 ให้จบก่อน เพราะมันยืดยาวเกินไปแล้ว

ผลลัพธ์ที่ได้จาก Room EQ ของ Audyssey MultEQ ช่วยอะไรในประเด็นปัญหาที่กล่าวไปข้างต้นได้บ้าง ? ภายหลังจากการทำ Audyssey Auto Calibration (และปิด Dynamic EQ แล้ว) พบว่า เดิมเบสที่ล้นกว่า 10dB ช่วง 45Hz (จากตำแหน่งตั้งวาง) ได้ลดความรุนแรงลงไปมาก ถึงแม้เบสจะยังนำอยู่นิด ๆ แต่ยังมีคุณภาพ ไม่บดบังย่านอื่น หรือระคายโสตประสาท นอกจากนี้การตอบสนองความถี่ตั้งแต่ช่วง 100Hz – 6kHz ก็ได้ความแฟล็ตมากขึ้น อย่างไรก็ดีช่วงปลายตั้งแต่ 6kHz ขึ้นไปจะโรลออฟเร็วกว่าปกติ ซึ่งในกรณีที่แต่เดิมฟังแล้วรู้สึกว่าลำโพงเสียงเครียด ตรงนี้จะได้ความนุ่มนวลผ่อนคลายมากขึ้น แต่หากเป็นซิสเต็มที่เดิมเสียงยังไม่เปิดนัก หรือย่านอื่นล้ำเด่นกว่าช่วงปลาย (Polk Audio RTi A7 เข้าข่ายนี้ เพราะในความเป็นจริง A7 ไม่ใช่ลำโพงที่ขาดแคลนช่วงปลายเสียง ช่วง 16kHz – 20kHz ออกจะเด่นด้วยซ้ำ แต่เนื่องจากปริมาณเบสที่มากกว่า จุดนี้จึงถูกลดความโดดเด่นลง) การกำหนดปรับแก้ด้วย Room EQ แบบนี้จึงอาจไม่เหมาะ เพราะจะรู้สึกว่าเสียงอั้นช่วงปลาย หากเกิดเหตุการณ์แบบนี้มีทางแก้ 2 ทาง

ทางแรก หากวางลำโพงหน้าตรงให้โทอินลำโพงเข้ามา ซึ่งกับ Polk (ในสภาพแวดล้อมนี้ โดยดำเนินการภายหลังการทำ Auto EQ) ก็ได้ผลดี หรือไม่ก็ทางเลือกที่ 2 คือ ปิดใช้งานเฉพาะ Room EQ แต่ยังคงผลการตั้งค่าลำโพงอื่น ๆ จากระบบอัตโนมัติเอาไว้ โดยการเข้าไปปิด Equalizer ที่ Main Menu –> Speaker Setup แต่ทั้งนี้ต้องดูว่าการปรับแก้ความถี่ต่ำซึ่งแต่เดิมเป็นปัญหา เกิดจากวิธีการใด ซึ่งกรณีนี้ระบบใช้วิธีจำกัดความถี่ของลำโพงคู่หน้าด้วยการกำหนด High-pass Crossover ของลำโพงคู่หน้าไว้ที่ 40Hz แทนกำหนดแบบ Full-band (Large) เพื่อลดความรุ่นแรงของความถี่ต่ำที่มีปัญหากับสภาพแวดล้อมลง การปิด Equalizer จึงไม่ส่งผล วิธีตรวจสอบผลลัพธ์ว่าแบบไหนดีกว่า ที่ง่ายที่สุดก็คือการฟังเปรียบเทียบว่ารูปแบบใดลงตัวกว่า

หมายเหตุ : ผลลัพธ์จาก Room EQ นั้น หากเป็นระบบที่ซับซ้อน เที่ยงตรงขึ้น จะให้ผลลัพธ์ที่มีความถูกต้องยิ่งขึ้น (เช่น Audyssey MultEQ XT32) อย่างไรก็ดีรูปแบบการให้น้ำหนักชดเชย EQ ก็มีผลเช่นเดียวกัน ทั้งนี้กับ AVR ที่มีระบบ Room EQ บางรุ่น จะสามารถเลือกรูปแบบการให้น้ำหนักชดเชยได้หลายรูปแบบ ซึ่งจะให้ผลลัพธ์กับเสียงช่วงปลายที่แตกต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น Audyssey Flat แต่ในประเด็นเรื่องการตอบสนองความถี่ช่วงบนที่ราบเรียบไปจนถึง 20kHz (ไม่ว่าจะใช้ หรือไม่ใช้ EQ) บางคนฟังแล้วไม่ชอบเพราะรู้สึกว่ามันชัดไป ชอบแบบโรลออฟมากกว่า… นานาจิตตัง

การตั้งพารามิเตอร์ที่เกี่ยวกับเสียงบางอย่าง เช่น การเปิด/ปิด ระบบ Dynamic EQ (แนะนำให้ปิด โดยเฉพาะกับซิสเต็มลำโพงใหญ่ แต่มีที่ทางไม่มากแบบนี้), การเปลี่ยนระบบเสียง (Listening Mode) รวมไปถึงการตรวจสอบสัญญาณอินพุต – เอาต์พุต สามารถกระทำผ่าน Home Menu ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว การรับชมต่อเนื่องไม่ติดขัด

จุดที่ 1008 ทำได้โดดเด่นกว่ารุ่นน้อง 608 นอกเหนือจากฟีเจอร์ต่าง ๆ ที่แอดวานซ์ มากขึ้น ตอบสนองความต้องการได้ยืดหยุ่นกว่าแล้ว ศักยภาพพื้นฐานที่มีความสำคัญอย่างสูง อย่างภาคขยาย ก็ให้ระดับความแตกต่างอันน่าสนใจเช่นเดียวกัน ด้วยพละกำลังที่มากขึ้นส่งผลให้ระดับไดนามิกสูงขึ้นกว่ารุ่นเล็ก การให้น้ำหนักเสียงร้อง หรือแรงโหมของเครื่องดนตรีต่างมีเรี่ยวแรงมากขึ้น แนวเสียงก็ยังคงเน้นความไหลลื่น ทว่าการให้นำหนักเสียงดุดันกำลังดี ฟังแล้วให้ความผ่อนคลาย ทว่าไม่ขาดแคลนรายละเอียด คงจะเป็นที่ถูกอกถูกใจไม่เปลี่ยนแปลง

ด้วยศักยภาพที่มี ทั้งจากการรับรองจากสถาบันต่าง ๆ หรือประสิทธิภาพจากการใช้งานจริง ก็บ่งบอกถึงคุณภาพของ AVR เครื่องนี้ได้ดี กับอุปกรณ์ที่มีความสำคัญอย่างสูงเนื่องจากเป็นจุดศูนย์กลางของระบบโฮมเธียเตอร์ด้วยแล้ว คงจะมองข้าม Onkyo TX-NR1008 ไปไม่ได้เลย

Conclusion – สรุป

เมื่ออ้างอิงผลลัพธ์การใช้งานในสภาพแวดล้อมแบบลำลอง (ห้องรับแขก) ไปแล้ว ต่อไปก็จะเป็นขั้นตอนของ “สภาพแวดล้อม” แบบกึ่งทางการอย่างห้องโฮมเธียเตอร์ดูบ้างว่าจะกระทบกับซิสเต็มมากน้อยเพียงไร เกริ่นไว้นิดว่ามันมากกว่าที่หลายท่านคาดคิดไว้ชนิดที่ว่าสภาพแวดล้อมเปลี่ยน ก็เหมือนเปลี่ยนเสียงลำโพงไปเป็นคนละคู่เลยทีเดียว นี่จะเป็นคำตอบที่อธิบายข้อสงสัยว่าของหลาย ๆ ท่านว่า เหตุใดซิสเต็มเดียวกัน จึงให้เสียงที่ไม่เหมือนกัน เมื่ออยู่กันคนละที่… และจะกล่าวถึงวิธีการประยุกต์ Auto Calibration ร่วมกับการปรับเซ็ตลำโพงแบบแมนนวลด้วยครับ… โปรดติดตาม !

คะแนน

ดีไซน์ (Design)
8.00
เสียง (Sound)
8.50
ลูกเล่น (Features)
8.50
การเชื่อมต่อ (Connectivity)
8.50
ความคุ้มค่า (Value)
8.50
คะแนนตัดสิน (Total)
8.40

คะแนน Onkyo TX-NR1008

8.4

หมายเหตุประกอบการให้คะแนน
– ดีไซน์เรียบ ๆ ตัน ๆ อันคุ้นเคย เพราะเป็นรูปลักษณ์เดิมที่ใช้มานานหลายปี ตัวถังดูบึกบึน ซึ่งน้ำหนักส่วนใหญ่เทไปที่ทรานส์ฟอร์เมอร์ตัวเขื่อง
– แม้เป็นน้องเล็กในตระกูล AVR เลข 4 ตัว แต่ด้วยระดับชั้นที่เน้นความไฮเอ็นด์ คุณภาพเสียงจึงไปในแนวทางเดียวกับรุ่นพี่อย่าง 3008 และ 5008 พละกำลังเพียงพอกับการขับขานชุดลำโพงโฮมเธียเตอร์ทั่ว ๆ ไปในท้องตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยสไตล์เสียงที่ไหลลื่น ทว่าหนักแน่น ดุดัน 
– Network AVR ที่รับฟังอินเทอร์เน็ตเรดิโอ รวมไปถึงการรับฟังเพลงผ่านเครือข่ายและ USB ผนวกเข้ากับวิดีโอสเกลเลอร์ และผลลัพธ์ที่ได้จาก Audyssey MultEQ ก็น่าพอใจ
– ความยืดหยุ่นของจุดเชื่อมต่ออันครบครัน มีอินพุตวิดีโอสำหรับมาตรฐานคอมพิวเตอร์อย่าง VGA มาให้ด้วยนอกเหนือจากรูปแบบ HDMI/DVI ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน มี LAN/USB เอื้อต่อพฤติกรรมการฟังเพลงในปัจจุบัน สามารถเพิ่มเติมอุปกรณ์ทาง Universal Port ได้ในอนาคต
– อีกหนึ่ง AVR ระดับคุณภาพ ที่ตอบสนองควาบันเทิงในยุคนี้ได้เป็นอย่างดี !

by ชานม !
2011-07