18 Dec 2014
Review

อัพเกรด AVR เพื่อใช้งานระบบเสียง Dolby Atmos กันดีกว่า !? รีวิว Onkyo TX-NR838


  • ชานม

Dolby Atmos ให้เสียงรายล้อมสมจริงแบบ 360 องศาได้จริงหรือ?

คำว่า บรรยากาศรายล้อม คือที่มาของคำว่า “Atmos” (Atmosphere) นั่นเอง เป้าหมายของระบบเสียงใหม่นี้ จึงมุ่งเป้าไปที่การถ่ายทอดเสียงรอบทิศทางที่โอบล้อมสมจริงยิ่งขึ้น และจุดสำคัญก็คือการเพิ่มมิติเสียงด้านสูง จากการทดสอบร่วมกับ Onkyo TX-NR838 พร้อมระบบลำโพงแบบ 5.1.2 โดยสลับเปรียบเทียบระหว่างใช้งาน Dolby Atmos Enabled Speakers (SKH-410) กับไม่ใช้ เพื่อจำลองการรับฟังแบบ 5.1/7.1 เดิมๆ เปรียบเทียบกัน ให้ผลลัพธ์ดังนี้

กับซิสเต็ม 5.1/7.1 เดิมนั้น ระดับเพดานเสียงจะอิงกับระดับความสูงของลำโพงเซอร์ราวด์เพียงอย่างเดียว ดังนั้นความต่อเนื่องในการโยนเสียงจากด้านหน้าไปด้านหลัง มักจะคงระดับความสูงได้ไม่ละเอียดกลมกลืนนัก และยิ่งปรับระดับความสูงของลำโพงคู่หน้าและลำโพงเซอร์ราวด์ให้ห่างกันมากเท่าไหร่ ความต่อเนื่องกลมกลืนของเพดานเสียงจะยิ่งลดน้อยลงไปเท่านั้น

ตรงนี้อ้างอิงได้จากคลิป Dolby Atmos Amaze Trailer ในแผ่นบลูเรย์ Dolby Atmos Demonstration Disc ซึ่งใช้อ้างอิงคุณภาพเสียงของซิสเต็ม Dolby Atmos ได้หลายประการ จุดแรก คือ เสียงฝนตกฟ้าร้อง หากเป็นซิสเต็ม 5.1/7.1 เดิม พบว่า การก่อตัวของบรรยากาศด้านสูงจะทำได้ไม่ดีนัก เสียงจะไม่ลอยขึ้นด้านบน แต่จะอยู่ต่ำเลี่ยระดับหูเท่านั้น

ในขณะที่ Dolby Atmos ให้ในจุดนี้ได้ดีกว่าอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งสำหรับระบบ 5.1.2 นั้น ต้องยกให้กับ Dolby Atmos Enabled Speakers (Front) ติดตั้งอยู่บนลำโพงคู่หน้าเป็นหัวใจหลัก โดยทำหน้าที่ช่วยเสริมการก่อตัวของบรรยากาศด้านสูง ตรงนี้จึงชี้ชัดถึงสิ่งที่ได้เพิ่มขึ้นจากระบบเสียง Dolby Atmos

อย่างไรก็ดีด้วยตำแหน่งติดตั้ง SKH-410 ที่อยู่บนลำโพงคู่หน้า การไฟน์จูนเพื่อให้ได้ความต่อเนื่องของเสียงเข้ากับลำโพงรอบทิศในแนวระนาบอื่นๆ ก็มีส่วนสำคัญ หากจุดนี้ไม่ลงตัว แม้ได้ความสูงแต่จะขาดความต่อเนื่อง

เสียงนกบินวนรอบช่วงเวลาที่ 00:00:23 ใช้อ้างอิงความต่อเนื่องของเพดานเสียงด้านสูงได้ดี การสังเกต (ฟัง) จะต้องอ้างอิงระดับความสูงของทิศทางเพดานเสียงให้สัมพันธ์ต่อเนื่องกลมกลืนเข้าด้วยกันจากจุดนั่งฟังหลัก ซึ่งระบบ 5.1.2 ที่ใช้งาน Dolby Atmos Enabled Speakers (Front) ตำแหน่งติดตั้งลำโพงจะตายตัวเพราะต้องวางบนลำโพงคู่หน้า ไม่จำเป็นต้องติดตั้งให้สูงกว่า และไม่แนะนำให้ติดตั้ง Dolby Atmos Enabled Speakers (Front) โดยแยกออกห่างจากลำโพงคู่หน้าเพราะอาจส่งผลถึงความกลมกลืน

ทั้งนี้ในการไฟน์จูนลำโพงนั้น สามารถเริมต้นโดยใช้ AccuEQ ตั้งค่าลำโพงที่จำเป็นกับ AVR ก่อน เพื่อให้มีค่าอ้างอิง ซึ่งจากการทดสอบพบว่าผลลัพธ์ที่ได้ น่าพอใจไม่น้อย จากนั้นค่อยทำการไฟน์จูนเพิ่มเติมหากมีจุดใดที่ยังไม่ลงตัว โดยระบบ 5.1.2 สามารถใช้การไฟน์จูนระดับความสูงของลำโพงเซอร์ราวด์ หากฟังแล้วตำแหน่งเสียงนกบินไม่มีความต่อเนื่อง เช่นบินอยู่สูงที่ด้านหน้า แต่ระดับลดต่ำลงช่วงวนไปด้านหลัง แสดงว่าตำแหน่งติดตั้งลำโพงเซอร์ราวด์ไม่เหมาะสม (ต่ำเกินไป) ให้ขยับตำแหน่งและหรือความสูงของลำโพงเซอร์ราวด์จนได้ความกลมกลืน หรือหากรัศมีรายล้อมขาดความต่อเนื่องไม่เป็นวงกลม แสดงว่าการอ้างอิง Delay (Distance) ของลำโพงในระบบยังไม่ลงตัว

เท่าที่สังเกตทั้งจาก Dolby Atmos Demonstration Disc (Dolby Atmos Amaze Trailer) และ Transformers Age of Extinction ใช้ทดสอบศักยภาพของลำโพงซับวูฟเฟอร์ได้ด้วยนะครับ ย่านความถี่ต่ำที่บันทึกมาต้องบอกว่า “หนัก” กว่าที่เคย หากซับวูฟเฟอร์ไม่ไหวก็ “แป้ก” กันเห็นๆ เลยครับ แต่จะอ้างอิงได้ต้องปรับตั้งซับฯ ให้เหมาะสมด้วยนะครับ หากบูสท์ความถี่ (ตัดครอสฯ ที่หลังลำโพงซับฯ ต่ำ) หรือเร่งวอลลุ่มสูงเกินไป อะไรที่เกินพอดีต่อให้ซับฯ ดี มันก็แป้กได้เหมือนกัน

โอกาสหน้ามาทดลองระบบเสียง Dolby Atmos แบบ 5.1.4 ร่วมกับ TX-NR3030 ดูบ้าง ว่าจะได้อะไรเพิ่มขึ้นจาก 5.1.2 หรือไม่ และจุดดี – จุดด้อย ของลำโพงเอฟเฟ็กต์ด้านสูง ทั้ง Top Surround และ Dolby Atmos Enabled Speakers ควรจะเลือกใช้อะไร?… โปรดติดตาม

by ชานม !
12/2014