03 Jan 2016
Review

มหากาฬ 3D ยูนิเวอร์แซลเพลเยอร์ !!! รีวิว Oppo BDP-95


  • ชานม

SACD อานิสงส์จาก “ยูนิเวอร์แซลเพลเยอร์”

ถ้าไม่พูดถึงความสามารถในการเล่นแผ่น SACD ก็คงไม่ใช่บททดสอบยูนิเวอร์แซลเพลเยอร์ที่สมบูรณ์ เนื่องจากฟังก์ชั่นนี้ ถือเป็น “คุณค่า” อย่างหนึ่งสำหรับเพลเยอร์อเนกประสงค์ลักษณะนี้…

แม้ว่า SACD จะเป็นเทคโนโลยีฟอร์แม็ตระบบเสียง (ในอดีต) ที่ไม่ประสบความสำเร็จในปัจจุบัน แต่ต้องยอมรับว่าในยุคที่ยังไม่มีตัวเลือกอื่นสำหรับฟอร์แม็ต Hi-resolution Audio คุณภาพเสียงของ SACD นั้น “เหนือชั้น” กว่าฟอร์แม็ตที่เป็นมาตรฐานอย่าง CD มากพอดู ปัจจุบันเราอาจหาไฟล์สตูดิโอมาสเตอร์ที่มีคุณภาพสูงได้ง่ายขึ้น จึงถือเป็นทางเลือกที่น่าสนใจกว่า แต่ปริมาณก็ยังไม่สามารถเรียกได้ว่าแพร่หลาย จำนวนอัลบั้มอาจยังไม่ครอบคลุม หากมีเวอร์ชั่น SACD อยู่ในมือ จะทิ้งไปเสียเฉย ๆ ทำไม ? โดยเฉพาะท่านที่เก็บอัลบั้มของนักดนตรีโปรดในแบบฟอร์แม็ตนี้อยู่

รูปแบบการเชื่อมต่อใช้งานอุปกรณ์เครื่องเสียง และลำโพงในระบบเมื่อครั้งอดีต
กรณีรับฟังระบบเสียงมัลติแชนเนลจาก SACD

จะพบว่าความไม่ยืดหยุ่นของระบบ ก่อให้เกิดความยุ่งยากในการเซ็ตอัพใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นการใช้งานลำโพงหลัก จากการที่ยังไม่มีฟังก์ชั่น Bass Management หากต้องการศักยภาพสูงสุด ผู้ใช้จำเป็นต้องใช้งานกับลำโพงใหญ่ทุกแชนเนล แน่นอนว่าควรเป็นรุ่นเดียวกัน ขนาดเท่ากัน เพื่อความกลมกลืน และสามารถตอบสนองความถี่เสียงตลอดย่านได้เท่าเทียมกัน ส่วนการจัดวางลำโพง ลำโพงทุกแชนเนลก็ต้องมีระยะห่างจากจุดนั่งฟังเท่าๆ กันด้วย เนื่องจากยังไม่มีฟังก์ชั่นชดเชยการหน่วงเวลาจากระยะลำโพง (Distance Delay) ทั้ง 2 ประเด็นนี้ สร้างความยุ่งยากได้มากกว่าที่คิด เนื่องจากจะหาห้องฟังที่วางลำโพงใหญ่ทั้ง 5 ตัว ก็ยากแล้ว ยังต้องวางให้มีระยะห่างเท่ากันอีก

ด้วยความล้มเหลวในอดีตของ SACD ในเรื่องของความยุ่งยากในการใช้งานนี้ ภายหลังจะเห็นว่าผู้ผลิตได้ทำการปรับปรุงโดยเพิ่มเติมในส่วนของฟีเจอร์ชดเชยช่วยเหลือด้านการเซ็ตอัพ อย่าง Bass Mangement และ Distance Delay โดยผนวกมากับเพลเยอร์ยุคหลัง ๆ ถึงแม้จะสายเกินไปที่จะปลุกผีให้ SACD ขึ้นมารุ่งเรืองอีกครั้งด้วยฟีเจอร์เหล่านี้ ทว่ามันช่วยให้ผู้ใช้ที่อยากจะลองฟอร์แม็ตนี้ ได้เข้าถึง “ศักยภาพ” ที่เหนือกว่ามาตรฐานซีดีขึ้นไปอีกขั้น และเมื่อเข้าสู่ยุคไฮเด็ฟ ด้วยอานิสงส์ของการเชื่อมต่อทางดิจิทัล HDMI ยังเพิ่มความสะดวกในเรื่องของการเชื่อมต่อให้สูงยิ่งขึ้นอีก

ย้อนกลับไปยุดที่มาตรฐาน HDMI เพิ่งตั้งไข่ จะพบว่าฟีเจอร์หนึ่ง ที่ถูกเพิ่มเติมเข้ามา คือ การส่งผ่านระบบเสียง DSD ในรูปแบบ Bitstream (มาตรฐาน HDMI Version 1.2) ด้วยอานิสงส์ของแบนด์วิธที่สูงพอ การจะส่งผ่านข้อมูลเสียงความละเอียดสูงในรูปแบบดิจิทัลจากฟอร์แม็ต SACD ผ่านสายสัญญาณเส้นเดียว ที่เป็นทั้งสายภาพ และสายเสียงแบบมัลติแชนเนล จึงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ และในทางปฏิบัติก็ช่วยลดทอนความยุ่งยาก พร้อมกับลดทอนงบประมาณของผู้ใช้ไปได้มาก จากการใช้งานร่วมกับ AVR ซึ่งเป็นระบบที่ออกแบบมาเพื่อการใช้งานในรูปแบบมัลติแชนเนล

ตัวเลือก SACD Output ผ่าน HDMI out ของ 95/93 มี 2 อ็อปชั่น อ็อปชั่นแรก คือ การเอาต์พุตสัญญาณดิบ (DSD Bitstream) ไปถอดรหัสภายนอก ซึ่งในที่นี้คือ AVR โดยระบบจะต้องรองรับฟีเจอร์ DSD Direct (via HDMI) จึงจะใช้งานได้ (กล่าวคือ AVR จะต้องมีภาค DSD Decoder) แต่ถ้าหาก AVR ไม่รองรับล่ะ ? ตัวเลือกที่ 2 คือ LPCM นั้น ระบบจะใช้กระบวนการ DSD decoding ภายในเพลเยอร์ แล้วเอาต์พุตเป็นรูปแบบ LPCM ไปยัง AVR

หมายเหตุ : ศักยภาพการรับฟังระบบเสียง SACD ร่วมกับ AVR ผ่านการเชื่อมต่อวิธีนี้ หลักใหญ่สำคัญอยู่ที่กระบวนการ DSD decoding ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับขั้นตอนการ resampling สัญญาณว่าใช้ความละเอียดสูงเพียงใด ซึ่งต้องสัมพันธ์ระหว่าง Output จากเพลเยอร์ กับ Input ของ AVR หรือ External DAC

LPCM Rate Limit นั้น จะเป็นตัวกำหนดความสามารถในการเอาต์พุตสัญญาณดิจิทัลในรูปแบบ LPCM ค่ากำหนดนี้จะมีผลอย่างมากกับการรับฟัง Hi-resolution format หรือ Studio Master files ที่บันทึกเสียงมาด้วยมาตรฐาน Sampling Frequency ที่สูงกว่า 48kHz (คือ 88.2 – 192kHz) เมื่อเอาต์พุตในรูปแบบดิจิทัลไปยัง AVR หรือ External DAC

อีกจุดหนึ่งที่น่าสนใจมาก นอกเหนือจากการรองรับแผ่น SACD คือ HDCD Decoding ซึ่ง HDCD ก็เป็นฟอร์แม็ตทางเลือกอีกมาตรฐานหนึ่ง อันเกิดจากความพยายามทลายข้อจำกัดของมาตรฐาน Red Book CD ถามว่าฟีเจอร์นี้ที่บรรจุอยู่ใน Oppo 95/93 มันพิเศษอย่างไร ดู ๆ ไปการถอดรหัส HDCD ก็เป็นเรื่องพื้น ๆ ที่เคยเห็นในดีวีดีเพลเยอร์เครื่องละไม่กี่ร้อย

เดิมทีการถอดรหัส HDCD จะเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นร่วมกับขั้นตอนการแปลงสัญญาณดิจิทัลเป็นอะนาล็อก สัญญาณเอาต์พุตที่ได้ จึงเป็นรูปแบบอะนาล็อก ดังนั้นหากจะได้รับอานิสงส์จาก HDCD จึงต้องเชื่อมต่อสัญญาณเสียงจากเพลเยอร์ผ่านทางอะนาล็อกเท่านั้น แต่จุดเด่นในประเด็นนี้ที่ Oppo ทำได้เหนือกว่าดีวีดีเพลเยอร์รุ่นถูก ๆ เหล่านั้น นอกเหนือจากคุณภาพเสียงจากภาคถอดรหัส (HDCD decoder) และ DAC ที่ดีกว่าแล้ว แต่ความพิเศษที่น่าสนใจมาก คือ 95/93 สามารถถอดรหัสเสียง HDCD แล้วเอาต์พุตทางดิจิทัลเอาต์ (เช่น ทาง HDMI) ไปยัง AVR หรือ External DAC แม้อุปกรณ์เหล่านี้จะไม่มีภาคถอดรหัส HDCD ก็จะยังได้อานิสงส์ เนื่องจากกระบวนการถอดรหัสเกิดขึ้นที่เพลเยอร์เพื่อเปลี่ยนการเข้ารหัส HDCD ไปเป็นรูปแบบ Digital PCM 20-bit/44.1kHz คุณภาพเสียงที่ได้ จึงดียิ่งขึ้นกว่าการฟังปกติที่มิได้รับการถอดรหัส HDCD (เนื่องจากคุณภาพที่ได้จะจำกัดอยู่ที่มาตรฐาน Red Book CD 16-bit/44.1kHz)

การดูว่ากระบวนการเอาต์พุตสัญญาณในรูปแบบดิจิทัลจาก Oppo 95/93 เป็นรูปแบบใด สามารถสังเกตุจากหน้าจอแสดงรายละเอียดขณะ Playback เช่น ถ้า ฟอร์แม็ตเป็น SACD แล้วเอาต์พุตสัญญาณในรูปแบบ DSD Bitstream (via HDMI) จะแสดงข้อมูลว่า SACD DSD ถ้าเอาต์พุตเป็น PCM ก็จะแสดงเป็น SACD PCM หากแสดงเป็น HDCD ก็จะหมายถึงว่าระบบกำลังถอดรหัสเสียง HDCD อยู่ในขณะนั้น (แน่นอนว่าขึ้นอยู่กับแผ่นที่นำมาเล่นด้วย ว่าบันทึกเสียงมาในฟอร์แม็ตใด)