17 Jan 2014
Review

ประสิทธิภาพที่(ควร)ต้องอ้างอิงของ THX 3D Display ?? รีวิว Panansonic TH-P55VT50T 3D Plasma TV


  • ชานม
รีโมตคอนโทรลมาตรฐานที่คุ้นเคยกันดี รุ่นนี้ช่วยให้การเข้าถึง VIERA Tools, Media Player และ Internet (Online) Content ฟีเจอร์สำคัญจาก Smart VIERA ทำได้รวดเร็ว ทันใจ เพราะกดที่ปุ่ม Shortcut บนรีโมตได้เลย มี Backlit สีแดง สว่างสไวในที่มืดได้
VIERA Touch Pad Controller นับเป็นรีโมตคอนโทรลอันที่สอง ที่ช่วยเติมเต็มความสมบูรณ์ให้กับ Smart VIERA ได้เป็นอย่างดี พื้นที่วงกลมนั้นทำหน้าที่เป็น Touch Pad หน้าที่ของมันเหมือนกับ Touch Pad ที่ใช้งานบน Notebook เลย แตะหนึ่งที คือ ok (หรือ คลิก) เลื่อนนิ้ว วนเป็นวงกลม คือ scroll ความรวดเร็วในการเลื่อนเคอร์เซอร์แม้ยกถือไว้ในอุ้งมือก็ทำได้สะดวกดี ไม่ติดขัด
แน่นอนว่า 3D Plasma TV จะขาดแว่น 3D ไม่ได้ ก็ระดับ THX 3D Certified ย่อมต้องไม่ธรรมดาอยู่แล้ว สำหรับรุ่นนี้เป็นแบบ Active Shutter Glasses ซึ่ง Panasonic เน้นว่าเป็น Full HD 3D Glasses ที่สามารถรับชมคอนเทนต์ 3D ได้อรรถรสครบถ้วน คมชัดทุกรายละเอียด โดยจะแถมมาให้ 2 ชุด ใช้วิธีซิงค์ด้วยคลื่นวิทยุ ไม่ต้องกังวลว่าสัญญาณจะหลุดเวลาขยับตัว หรือเมื่ออยู่ในตำแหน่งที่สูงหรือต่ำกว่าทีวี รุ่นนี้ไม่มีสายชาร์จ USB เพราะใช้วิธีเปลี่ยนถ่าน ตำแหน่งถ่านอยู่กึ่งกลางด้านหลัง มีสวิตช์เพาเวอร์เปิด-ปิด อยู่ด้านบน น้ำหนักนับว่าค่อนข้างเบา ไม่รู้สึกรำคาญเมื่อใส่นานๆ

ช่องต่อ

ช่องต่อของ Panasonic TH-55VT50T ให้มาอย่างครบครัน หลักๆ คือ HDMI 4 ช่อง โดย HDMI2 รองรับฟังก์ชั่น ARC สามารถส่งสัญญาณเสียงของทีวีไปยังชุดเครื่องเสียงผ่านทางสาย HDMI ได้ ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณเสียงในแบบดิจิทัล แน่นอนชุดเครื่องเสียงก็ต้องรองรับ ARC ด้วย กระนั้นก็มีอีกทางเลือก คือ เชื่อมต่อผ่าน Digital Optical หรือจะเป็นทาง Analog Audio Out ก็ได้ ส่วนการเชื่อมต่อเน็ตเวิร์ก/อินเตอร์เน็ต ซึ่งถือเป็นฟีเจอร์เด่นสำหรับ Smart VIERA TV โดย VT50 มีทั้ง Wi-Fi Built-In หรือจะเชื่อมต่อผ่านสาย LAN ก็ได้

หมายเหตุ:การใช้งานฟังก์ชั่น ARC สำหรับ Panasonic VIERA TV ต้องเปิดฟังก์ชั่น VIERA Link ไว้ด้วย (ที่ Main Menu >> Setup >> VIERA Link Settings) 

จุดเชื่อมต่อหลักที่สำคัญคงไม่พ้น HDMI Input ซึ่ง 50VT50 มีทั้งหมด 4 ช่อง (HDMI2 รองรับ ARC) เหนือขึ้นไป คือ USB Input 3 ช่อง เผื่อไว้เสียบ USB Webcam และ Storage Devices แล้ว ก็ยังเหลือๆ อ้อ เสียบ SD Card และหูฟังได้ด้วยนะครับ ทั้งหมดติดตั้งทางด้านข้าง
ส่วนทางด้านล่าง เป็นช่องต่อสัญญาณแบบอะนาล็อก และช่องต่ออื่นๆ ที่อาจจำเป็นต้องใช้ เช่น Composite In (AV1) และ Component In (AV2), PC In (D-SUB), Digital Optical Audio Out, Antenna In และ Ethernet (LAN) Input

หมายเหตุ:
– สัญญาณอะนาล็อกแบบ Composite และ Component ต้องเสียบต่อผ่านสายอแดปเตอร์หน้าตาแบบนี้ (มีให้มาในกล่อง) ในส่วนของอแดปเตอร์แบบ Composite (สีเหลือง) ด้านขวามือนั้น หากสังเกตจะเห็นว่ามีช่องต่อ Audio (ขั้วต่อ RCA สีขาว-แดง) ถึง 2 ชุด ทั้งนี้ชุดที่ “สายเป็นสีเทา” คือ Analog Audio Out สำหรับต่อเสียงของทีวีให้ไปออกที่ชุดเครื่องเสียง หรือ Recorder ได้ ส่วน “สายสีดำ” คือ Analog Audio In รับสัญญาณเสียงเข้ามา เวลาเสียบสัญญาณจากแหล่งโปรแกรมใดๆ เช่น กล่องเคเบิลทีวี – ดาวเทียม ฯลฯ ก็ให้เสียบที่เส้นสีดำ
 
– กรณีใช้งานร่วมกับคอมพิวเตอร์ผ่านช่องสัญญาณ VGA หรือ DVI แปลงมาเป็น HDMI แล้วต้องการเชื่อมต่อสัญญาณเสียง (แบบอะนาล็อก) มายังทีวีด้วย ให้เสียบใช้ช่อง Audio In ร่วมกับ AV2 (Component) โดยเสียบผ่านสายอแดปเตอร์ข้างต้น

ขั้วต่อสายไฟของ Panasonic Plasma TV เป็นมาตรฐาน IEC 3 ขา ถอดเปลี่ยนสายไฟเทพได้ครับ ผิดกับ LED TV จอบางเฉียบ ที่สายไฟเป็นแบบติดตาย หรือถอดได้ก็เป็นแบบ C7 (หัวเลข 8) 

หมายเหตุ: ที่ขั้วต่อสายไฟของ TH-P55VT50T จะติดตั้งสลักยึดล็อคสายไฟมาด้วย การเปลี่ยนไปใช้งานสายไฟเส้นอื่น (ที่ไม่ใช่สายไฟแถม) จะติดสลักนี้ทำให้เสียบไม่ได้ ทว่ากรณีนี้แก้ไขได้ด้วยการถอดสลักยึดล็อคออกได้ เสียเวลาขันน็อตแค่ 2 ตัว เพียงเท่านี้จะใช้สายไฟเทพแค่ไหนก็เสียบได้ ดังที่เห็นในรูปข้างบน แต่ระวังเรื่องน้ำหนัก และระยะดัดงอสายด้านหลังทีวีด้วยนะครับ