17 Jan 2014
Review

ประสิทธิภาพที่(ควร)ต้องอ้างอิงของ THX 3D Display ?? รีวิว Panansonic TH-P55VT50T 3D Plasma TV


  • ชานม

ภาพ

จุดเด่นจากฟังก์ชั่น 3D ของ Panasonic VIERA นั้น เมื่อรับชม 3D ฟอร์แม็ต แบบ SBS และ Top/Bottom เมื่อกดปุ่ม 3D ที่รีโมต ระบบจะแยกแยะลักษณะของคอนเทนต์ 3D และรวมภาพให้เองเลย ไม่ต้องวุ่นวายเลือกว่าเป็น SBS หรือ Top/Bottom

ส่วน 3D Frame Packing (Frame Sequential) ไม่ต้องกดปุ่มอะไร ทีวีก็เปลี่ยนเป็น 3D Mode ให้โดยอัตโนมัติอยู่แล้ว ในกรณีที่อยากรับชมแบบ 2D (3D to 2D) ก็กดปุ่ม 3D ที่รีโมตอีกครั้ง หรือเลือกที่ 2D Mode และกลับกัน ถ้ารับชมคอนเทนต์ 2D อยู่ จะทำเป็น 3D (2D to 3D) ก็ทำได้ เพียงกดปุ่ม 3D ที่รีโมตครั้งเดียวเช่นกัน ง่าย และ สะดวกรวดเร็วไม่น้อย

แต่ถ้าต้องการเลือก 3D Mode ด้วยตนเองแบบแมนนวล ก็สามารถทำได้ ดังที่เห็น

หมายเหตุ: วิธีการเข้าสู่หน้า 3D Mode Selection (Manual) คือ เมื่ออยู่ในหน้า 3D Mode Selection (ในรูปก่อนหน้า) ให้กดปุ่มสีแดงที่รีโมต

ธนู มีด กระเด็นทิ่มตากันเลยทีเดียวสำหรับคุณภาพของภาพ 3D ซึ่งความโดดเด่นในเรื่องของความคมชัดก็ระดับ Full HD 3D แท้ๆ นี่นะ Crosstalk ต่ำมาก ส่งผลให้มิติภาพที่หลุดลอยนั้น มีความชัดเจน ความคมชัด ไม่เบลอนี้ ลดทอนความมึนงง ช่วยให้ดูได้นาน ไม่ล้า (ถ้าสภาพแวดล้อมอื่นๆ เหมาะสม) หลังจากสวมแว่น 3D จะทำให้ภาพมืดลงไปบ้าง ซึ่งเมื่ออยู่ในโหมด 3D จอภาพจะทำการปรับเพิ่มระดับความสว่างเล็กน้อย และยกระดับ Brightness ขึ้นมาชดเชยมิให้ดำจม ซึ่งถือว่าช่วยได้ แต่ยังอิงระดับ Cell Light จากโหมดภาพ 2D ซึ่งในบางสภาพแวดล้อม อาจต้องทำการเปลี่ยนโหมดภาพที่สว่างขึ้น (เช่น THX Bright Room หรือ Dynamic) หรือไม่ก็ดำเนินการเช่นเดียวกับการรับชมภาพ 2D คือ การควบคุมระดับแสงสว่างภายในห้องให้เหมาะสม อันเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องคำนึงถึง เพื่อให้ได้ศักยภาพสูงสุดจากการรับชมภาพ 3 มิติที่ดี จาก TH-P55VT50T ครับ

หมายเหตุ: รูปแบบการตั้งค่าของโหมดภาพที่ใช้ในการรับชม 2D และ 3D แยกกันอิสระ ดังนั้นเมื่อทำการปรับภาพสำหรับ 2D แล้ว ต้องดำเนินการสำหรับการรับชม 3D ด้วย

TH-P55VT50T มาพร้อมกับระบบแทรกเฟรมภาพเคลื่อนไหว ที่ช่วยเพิ่มความลื่นไหลให้กับบางคอนเทนต์ เช่น 24p Smooth Film สามารถกำหนดได้ 3 ระดับ โดยระดับสูงสุด (Max) เพิ่มความไหลลื่นได้มาก แต่ก็มีโอกาสสังเกตเห็นจุดบกพร่องของการ “แทรกเฟรมเสมือน” ได้ง่ายเช่นกันกันครับ… ส่วนจะเปิดใช้หรือไม่ใช้ดี? ใช้แล้วจะเลือกระดับไหน? ชอบหรือไม่ชอบอย่างไร? ทดลองดูด้วยตนเองได้เลยครับ
แฟนๆ Panasonic คงจะคุ้นเคยกับรูปแบบการตั้งค่า Aspect Ratio นี้ดีอยู่แล้ว โดยจะแตกต่างจากทีวียี่ห้ออื่นๆ เล็กน้อย

ตัวเลือกตั้งค่าการแสดงอัตราส่วน (Aspect) ที่เหมาะสมสำหรับการรับชมภาพยนตร์ของ TH-P55VT50T คือ 16:9 แล้วตั้งค่า Overscan – Off แบบนี้จะสามารถแสดงภาพได้เต็มจอพอดี ไม่มีการตัดขอบ และเป็นรูปแบบที่แสดงรายละเอียดแบบ 1:1 Pixel

Infinite Black Ultra Panel ใหม่ ที่ได้รับการพัฒนาให้สามารถแสดงสีดำได้ลึกขึ้น อีกทั้งแก้ไขปัญหาอมเขียวนิดๆ ของซีรี่ส์ก่อนได้อย่างเบ็ดเสร็จ นอกจากนี้ด้วยความที่เป็น Plasma ไม่มีปัญหาเรื่อง Backlight Leakage แบบ LCD/LED TV แม้จะเป็นการรับชมในห้องมืดสลัว ก็ยังคงให้ระดับ Black Level ที่ดำลึก จึงเหมาะกับการใช้งานในพื้นที่ในห้องโฮมเธียเตอร์ที่ควบคุมแสงสว่างได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ดีในการรับชมคอนเทนต์ 2D ก็ไม่แนะนำให้รับชมในสภาพแวดล้อมที่มืดสนิทครับ ขอให้เป็นที่สลัว หรือมีแสงสว่างปานกลางก็นับว่ากำลังดี ส่วนคอนเทนต์ 3D การรับชมในห้องมืดถือว่าเหมาะสมดีครับ (ปรับภาพเพิ่มนิดหน่อย) อันจะเป็นปัจจัยที่ส่งเสริมให้พลาสมาทีวีเครื่องนี้ แสดงศักยภาพออกมาได้อย่างเต็มที่

หมายเหตุ: การป้องกันแสงภายนอก แล้วควบคุมระดับความสว่างด้วยระบบส่องสว่างภายในห้อง (จาก artificial light ที่สามารถเปิด ปิด หรือหรี่ได้) ถือเป็นแนวทางที่ดีสำหรับการรับชมทั่วไปครับ

แม้คอนเทนต์จะมีรายละเอียดต่ำ แต่ด้วยลักษณะภาพของ TH-P55VT50T ที่ให้ภาพที่นุ่มนวล ส่งเสริมให้การรับชมฟรีทีวีดูสบายตาไปด้วย จุดบกพร่องต่างๆ ของคอนเทนต์ไม่ถูกเน้นขึ้นมาชัดเจนมากนัก และที่สำคัญ คือ ดูได้นานไม่ล้า
ทดลองเล่นเกมดูบ้าง ก็เป็นเช่นเดียวกัน คือ ดูสบายตา และถึงแม้จะเป็นภาพเคลื่อนไหวที่รวดเร็วก็แสดงรายละเอียดได้ไม่เบลอ หรือมี Ghost ให้เห็นแต่ประการใด อย่างไรก็ดีอาจต้องระมัดระวังเรื่องของ Image Retention สำหรับคอนเทนต์บางลักษณะ
การใช้งานเป็นจอมอนิเตอร์เมื่อเชื่อมต่อกับ PC/NB ด้วยความเที่ยงตรงของภาพ (หลัง Calibrated) นั้น สามารถใช้อ้างอิงความถูกต้องกับงานที่ต้องใช้ความพิถีพิถันได้ดีทีเดียว กระนั้นต้องระมัดระวังเรื่องของ Image Retention การป้องกันด้วยการกำหนด Screen Saver (ที่ PC/NB) และการเปิดใช้ฟังก์ชั่นเลื่อนตำแหน่งภาพเล็กน้อย (Orbiter) สามารถช่วยได้ระดับหนึ่ง

หมายเหตุ: ระบบจัดการเรื่องของ Image Retention ของ Panasonic จะเน้นไปที่เรื่องของการป้องกันเป็นหลัก มิได้ให้ฟังก์ชั่นแก้ไข กรณีเกิดภาพติดค้าง (แบบชั่วคราว) มาด้วย

เสียง

นับวันทีวีก็มีแต่บางลงเรื่อยๆ พื้นที่สำหรับติดตั้งอุปกรณ์ย่อมมีขนาดที่เล็กลง เช่นเดียวกับไดรเวอร์ หรือตัวขับเสียงที่ใช้งานกับทีวี ด้วยข้อจำกัดนี้เอง ทาง Panasonic จึงคิดค้นพัฒนาตัวขับเสียงขนาดเล็ก จัดวางต่อเนื่องกันในแนวยาวตามชื่อที่เรียกว่า 8-Train Speakers เพื่อเพิ่มศักยภาพของตัวขับเสียงในพื้นที่จำกัดของทีวี และด้านหลังเสริมด้วยวูฟเฟอร์เพื่อเติมเต็มย่านความถี่ต่ำ อันเป็นย่านที่สำคัญในการเพิ่มอรรถรสการรับชม โดยในรุ่น TH-P55VT50T จะใช้วูฟเฟอร์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 80mm (หากเป็นรุ่นจอภาพ 65 นิ้ว จะใช้วูฟเฟอร์ขนาดใหญ่ขึ้น คือ 100mm)

คุณภาพเสียงถือว่าใช้ได้ดีตามมาตรฐานระบบเสียงของทีวีระดับราคานี้ การจัดวางบนขาตั้ง ทิศทางมุมกระจายเสียงจะยิงลงด้านล่างแล้วสะท้อนกับชั้นวาง ซึ่งให้รายละเอียดเสียงได้ระดับหนึ่ง กล่าวคือให้ความชัดเจนของเสียงสนทนาได้ดี วูฟเฟอร์ด้านหลังมีส่วนช่วยเติมเต็มน้ำหนักเสียงให้มีความลงตัวมากขึ้น สามารถเปิดได้ดัง รองรับการใช้งานในพื้นที่ห้องขนาดค่อนข้างใหญ่ได้

สรุป

ข้อดี
– ให้ระดับความถูกต้องเที่ยงตรงของภาพเป็นเยี่ยม (ภายหลัง calibrate)
– ระดับ Black Level โดดเด่น มุมมองกว้างขวาง อันเป็นจุดเด่นของ พลาสมาทีวี
– ภาพ 3D คมชัด crosstalk ต่ำมาก ให้มิติที่หลุดลอยในขณะที่ดูสบายตา

ข้อเสีย
– โหมดภาพ Professional1-2 ที่ให้ระดับความเที่ยงตรงสูงสุด (ภายหลัง calibrate) มีระดับความสว่างต่ำ ต้องพิถีพิถันกับการควบคุมแสงสว่างแวดล้อมเป็นอย่างดี จึงจะได้ประสิทธิภาพสูงสุดทั้งการรับชม 2D/3D
– โครงสร้างฐานตั้ง ไม่สามารถหมุนเอียงจอได้

สรุป
นับว่าไม่เสียชื่อแชมป์ที่ Panasonic มักจะเหมามาอย่างยาวนานกับหมวดพลาสมาทีวี ท่านใดที่ยังคงหลงใหลในเอกลักษณ์ที่ชัดเจน VT50 ถือเป็นรายชื่อที่จะต้องอยู่ในตัวเลือกพิจารณา กระนั้นความพิถีพิถันในเรื่องของการใช้งานยังคงเป็นประเด็นสำคัญที่เกี่ยวเนื่องกับการถ่ายทอดศักยภาพสูงสุดของทีวี จึงมิควรละเลยเป็นอย่างยิ่ง

คะแนน

ดีไซน์ (Design)
8.5
ภาพ 2 มิติ ก่อนปรับภาพ (2D Picture Pre-Calibrated)
9.25*
ภาพ 2 มิติ (HDR)
8.5
เสียง (Sound)
8.5
การเชื่อมต่อ (Connectivity)
8.75
ลูกเล่น (Features)
8.75
ความคุ้มค่า (Value)
8.5
คะแนนตัดสิน (Total)
8.7

Panasonic TH-P55VT50T

8.7

*อ้างอิงในห้องทดสอบที่ควบคุมแสงได้อย่างเบ็ดเสร็จ กับโหมดภาพ Professional ภายหลังจากขั้นตอน Full Calibration process
มาตรฐานการให้คะแนนปี 2012

หมายเหตุประกอบการให้คะแนน


– ดีไซน์รูปลักษณ์อาจไม่หวือหวานัก แต่ที่โดดเด่นคือโครงสร้างงานประกอบ ที่ดูมั่นคงแข็งแรงกว่ายี่ห้ออื่น โดยรวมถือว่าเก๋ขึ้นกว่าของปีที่แล้วด้วยคอนเซ็ปต์ One Sheet of Glass และตัดขอบด้วยขอบโลหะสีเงินมันวาว เมื่อยึดกับฐานแล้วไม่สามารถหมุนเอียงได้ (ต่างจากซีรี่ส์อื่น)
– คุณภาพของภาพ 2D อยู่ที่การถ่ายทอดความเที่ยงตรงในระดับอ้างอิง แน่นอนว่าเป็นรากฐานของความถูกต้อง แต่จะถูกใจหรือไม่ก็แล้วแต่วิจารณญาณของแต่ละท่าน ต้องขอบคุณฟังก์ชั่น isfccc กับการปรับภาพได้ละเอียดที่สุดเท่าที่จะปรับได้จาก consumer TV ณ เวลานี้ กระนั้นผลลัพธ์จะดีได้ต้องพิถีพิถันกับตัวแปรแวดล้อมที่กระทบกับศํกยภาพของทีวีด้วย (รวมถึงการเลือกคอนเทนต์ที่เหมาะสม) คุณภาพของภาพ 3D ให้ความคมชัดสูง และเช่นเดียวกันว่า ควรควบคุมแสงแวดล้อมเพื่อการถ่ายทอดศักยภาพที่โดดเด่น
– คุณภาพเสียงอยู่ในเกณฑ์ดี รายละเอียดเสียงอาจจะยังไม่ชัดเจนที่สุด เสียงยังมีจมนิดหน่อย แต่เรื่องของระดับความดัง และการให้น้ำหนักเสียงนั้นไม่ธรรมดา
– ช่องต่อครบครัน มี HDMI 4 ช่อง USB Input 3 ช่อง Analog Audio Out แยกอิสระกับช่องเสียบหูฟัง ส่วน Composite/Component เสียบผ่านสายอแดปเตอร์แบบมินิแจ็คที่มีมาให้ มี Optical Out และ Wi-Fi บิลท์อินในตัว รองรับ SD Card โดยตรง
– ฟังก์ชั่น VIERA Connect มาพร้อมกับออนไลน์คอนเทนต์ที่น่าสนใจ คือ 3BB On TV ที่มีภาพยนตร์ทั้งเรื่องให้ดูอย่างจุใจ เช่นเดียวกับ Social Network และ app ต่างๆ อันหลากหลาย Web browser มีศักยภาพและความยืดหยุ่น การพิมพ์ข้อความภาษาไทยจะให้สะดวกต้องใช้งานร่วมกับ Smart Devices
– พลาสมาทีวีที่มีคุณภาพระดับอ้างอิง ถือเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ เช่นเดียวกับลูกเล่นจาก Smart VIERA ที่สร้างความบันเทิงได้อย่างคุ้มค่าไม่น้อย