15 Nov 2019
Review

รีวิว Panasonic 65GZ2000 4K HDR OLED TV ตัวท็อปมาตรฐานภาพระดับ Hollywood พร้อมลำโพง Atmos ในตัว


  • ชานม
การเชื่อมต่อรับสัญญาณจากเครื่องเกมคอนโซล หรือ PC นั้น GZ2000 จะรองรับความละเอียดสูงสุดที่ 4K 60Hz ไม่รองรับ High Frame Rate 120Hz และ Variable Refresh Rate (VRR)
ในส่วนของ HDMI Input Lag หาก On ตัวเลือก Game Mode จะอยู่ที่ 21.7 ms ดีกว่า EZ1000 เล็กน้อย ที่ 25.7 ms ซึ่งระดับที่ต่ำนี้ไม่ต้องกังวลเรื่องของสัญญาณภาพดีเลย์เวลาเล่นเกมเลย และด้วยมาตรฐานภาพที่เที่ยงตรงของ GZ2000 การแสดงรายละเอียดสีสันของเกมก็ทำได้อย่างเต็มที่ทั้งรูปแบบ SDR และ HDR ได้อารมณ์ฟินกันไปกับกราฟิกที่สวยงามของเกม

หมายเหตุ: เมื่อ On ตัวเลือก Game Mode ระบบแทรกเฟรมภาพ Intelligent Frame Creation จะไม่สามารถเปิดใช้งานได้ แต่คงไม่มีความจำเป็นต้องเปิดแทรกเฟรมเวลาเล่นเกม

เสียง

ระบบเสียงของ Panasonic GZ2000 ต้องถือว่าพิเศษแตกต่างจากลำโพงทีวีในอดีต เพราะถือเป็นรุ่นแรกที่ฝังลำโพงเอฟเฟ็กต์ด้านสูง หรือ Upward-Firing Speakers เข้ากับจอทีวี เมื่อผสานรวมกับลำโพงหลักที่ติดตั้งอยู่บริเวณส่วนล่าง จะสามารถถ่ายทอดเสียงรอบทิศทางแบบ Dolby Atmos เทียบเท่าระบบลำโพง 3.2.2 เลยทีเดียว โดยให้ภาคขยายกำลังขับรวมสูงถึง 140 วัตต์! และได้รับการไฟน์จูนเสียงโดย “Technics” ซึ่งเป็นแบรนด์สินค้าเครื่องเสียงระดับไฮเอ็นด์ของ Panasonic ที่นักเล่นรุ่นเก๋าคุ้นหูกันเป็นอย่างดีนั่นเอง
เนื่องจาก GZ2000 เพิ่มลำโพงพิเศษสำหรับถ่ายทอดมิติเสียงด้านสูงเข้ามา จึงมีความจำเป็นต้องตั้งค่าเสียงของลำโพงให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ใช้งานจริงสักเล็กน้อย เพื่อให้ถ่ายทอดคุณภาพเสียงออกมาได้เต็มศักยภาพ เป็นขั้นตอนที่ห้ามละเลยเป็นอันขาด โดยดำเนินการผ่าน Space Tune Setting เริ่มตั้งแต่กำหนดตำแหน่งตั้งวางว่าทีวีชิดผนังหรือมุมห้องมากเพียงใด เพื่อใช้อ้างอิงชดเชยดุลเสียงย่านต่ำ ถัดมาเป็นการกำหนดความสูงของระยะการรับชม ร่วมกับระยะห่างของฝ้าเพดานที่ใช้สะท้อนเสียงจากลำโพงเอฟเฟ็กต์ด้านสูง เพื่ออ้างอิงคำนวณสร้างบรรยากาศเสียงโอบล้อม แนะนำให้กำหนดไปตามความเป็นจริง ซึ่งขั้นตอนนี้จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์อย่างตลับเมตรหรือสายวัดร่วมด้วย
ในเมื่อจัดเต็มลำโพงทั้งด้านบน-ด้านล่างมาขนาดนี้ ย่อมไม่แปลกที่ระบบเสียงของ GZ2000 จะรองรับ Dolby Atmos โดยเฉพาะการถ่ายทอดเติมเต็มบรรยากาศเสียงด้านสูง การแยกแยะตำแหน่งทิศทางเสียงอาจยังไม่เด็ดขาดชัดเจนมากเหมือนลำโพงโฮมเธียเตอร์ แต่การมี Upward-Firing Speakers ทำหน้าที่นี้โดยเฉพาะ ผลลัพธ์ย่อมเหนือกว่าลำโพงทีวีปกติแบบสัมผัสรับรู้ได้ จะให้ดีที่สุดห้ามละเลยการกำหนดตั้งค่า Space Tune อย่างเหมาะสม และรับชมร่วมกับคอนเทนต์ระบบเสียง Dolby Atmos ยิ่งเป็นฟอร์แม็ต Dolby Atmos/True HD จาก UHD/FHD Blu-ray Disc จะดีมาก หากเป็นการรับฟังเสียงเซอร์ราวด์ทั่วไปหรือระบบสเตอริโอจากสตรีมมิ่ง อาจจะดึงจุดเด่นจากลำโพง Upward-Firing ของ GZ2000 ออกมาได้ไม่เต็มที่นัก
อันที่จริง GZ2000 จะมีระบบที่เรียกว่า Sound Field Creation โดยทำการ Upmix จำลองเสียงทั่วไปไม่ว่าจะเป็นระบบเสียงเซอร์ราวด์รูปแบบเก่า หรือสัญญาณสเตอริโอให้มีมิติขยายโอบล้อมใกล้เคียง Dolby Atmos ได้ด้วย สามารถเลือกได้ถึง 4 รูปแบบ (Standard/Studio/Theater/Stadium) ซึ่งกระบวนการนี้ลำโพง Upward-Firing Speakers ของ GZ2000 จะทำงานตลอดเวลา ข้อดี คือ มิติเสียงจะถูกยกสูงขึ้น เสียงพูดสนทนา เสียงร้อง และเสียงเอฟเฟ็กต์ต่างๆ จะขยับขึ้นมาอยู่ใกล้กับระดับกึ่งกลางจอภาพ ไม่ได้รู้สึกว่าเสียงออกมาที่ลำโพงหลักส่วนล่างโดยตรง แต่การรับฟังร่วมกับคอนเทนต์บางลักษณะ เช่น เพลง หรือแม้แต่คอนเทนต์ Dolby Atmos แท้ๆ การจำลองเสียงนี้จะทำให้เนื้อเสียงเบาบางลง หากไม่ชอบสามารถเปลี่ยนตัวเลือกเป็น “Direct Through” เพื่อฟังเสียงตรงๆ ไม่ผ่านการจำลองแต่งเติมขยายมิติด้านสูงได้ครับ
ถึงแม้ว่า GZ2000 จะติดตั้งลำโพงสำหรับเสียงย่านเบสโดยเฉพาะที่ด้านหลังจอภาพถึง 2 ชุด เสริมด้วย Quad Passive Radiator ที่เคยสร้างชื่อมาแล้วเพื่อเพิ่มศักยภาพถ่ายทอดย่านเสียงต่ำโดยไม่จำเป็นต้องอาศัยขนาดตัวขับเสียงที่ใหญ่โต กระนั้นหากเทียบกับทีวีรุ่นท็อปในอดีตของ Panasonic เองอย่าง EZ1000 ดุลเสียงย่านต่ำของ GZ2000 อาจยังเป็นรองอยู่บ้าง แต่ประเด็นนี้มิใช่ปัญหาครับ เพราะเราสามารถเพิ่ม “ลำโพงแอ็คทีฟซับวูฟเฟอร์ภายนอก” ให้กับ GZ2000 ได้ โดยเชื่อมต่อที่ช่อง Headphone/Subwoofer Out หากดำเนินการตามนี้ได้ อรรถรสการรับฟังเสียง Low Frequency Effect (LFE) จากทีวีรุ่นท็อปประจำปี 2019 รุ่นนี้ คงยากจะหาผู้เทียบเคียง…

สรุป

Panasonic ยังคงตอกย้ำแนวคิด “Hollywood to Your Home” ความเที่ยงตรงของโหมดภาพโรงงานจึงทำได้ยอดเยี่ยมอิงตามมาตรฐานอุตสาหกรรมภาพยนตร์พ่วงด้วยการรับรอง THX Certified เช่นเดียวกับการรองรับปรับภาพขั้นสูงแบบฉบับสตูดิโอซึ่งรวมถึงฟีเจอร์ CalMAN AutoCal ให้ผลลัพธ์โดดเด่นไม่แพ้ใคร แต่เหนืออื่นใดต้องยกให้ความสามารถรองรับมาตรฐาน HDR ครบ โดยเฉพาะฟอร์แม็ตอนาคตอย่าง Dynamic HDR ทั้ง HDR10+ และ Dolby Vision เลือกรับชมกันได้ยาวๆ ไม่ต้องเลือกข้าง ซึ่งด้วยการที่เป็น OLED TV ที่ให้ระดับความสว่างได้สูงที่สุดในรุ่นปี 2019 เป็นพื้นฐานสำคัญที่ส่งให้ GZ2000 เป็นทีวีตัวท็อป ที่ตอบสนองกับฟอร์แม็ต High Dynamic Range ได้อย่างโดดเด่น!

ข้อดี Panasonic 65GZ2000

1) ทีวีเครื่องแรกที่ติดตั้งฝังลำโพง Upward-Firing Speakers กับรูปทรงที่ดูบึกบึน หนักแน่น มั่นคง ด้วยคุณภาพสไตล์ญี่ปุ่น

2) รองรับระบบภาพ HDR ครบทั้ง HDR10, HDR10+, Dolby Vision และ HLG ไม่ต้องรักพี่เสียดายน้อง

3) OLED TV ที่ให้ระดับความสว่าง Peak Brightness สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ แตะ 1000 nits เมื่อผนวกกับสีดำสนิทย่อมแสดงระดับคอนทราสต์จาก HDR content ได้อย่างยอดเยี่ยม

4) โหมดภาพโรงงานให้สีสันเที่ยงตรงตามการปรับจูนมาตรฐาน Hollywood Studio รองรับการปรับภาพละเอียด CalMAN AutoCal ให้ผลลัพธ์ดีมาก

5) Upward-Firing Speakers ช่วยให้ถ่ายทอดมิติด้านสูงจากระบบเสียง Dolby Atmos ได้ดีกว่าลำโพงทีวีอื่นใด

ข้อเสีย  Panasonic 65GZ2000

1) การสั่งงานด้วยเสียงจำเป็นต้องอาศัย Smart Speaker อย่าง Amazon Echo หรือ Google Home ไม่สามารถพูดสั่งผ่านรีโมทได้

2) เนื้อเสียงและน้ำหนักเสียงเบสเป็นรองลำโพง EZ1000 ทีวีรุ่นท็อปในอดีตของ Panasonic แต่ถ้าเชื่อมต่อลำโพงซับวูฟเฟอร์ภายนอกเพิ่มให้กับ GZ2000 ได้ เสียงย่านต่ำย่อมจะดีกว่ามาก

คะแนน

ดีไซน์ (Design)
8.75
ภาพ 2 มิติ ก่อนปรับภาพ (2D Picture Pre-Calibrated)
9
ภาพ 2 มิติ หลังปรับภาพ (2D Picture Post-Calibrated)
9.5
ภาพ 2 มิติ (HDR)
9.5
เสียง (Sound)
8.25
การเชื่อมต่อ (Connectivity)
8.5
ลูกเล่น (Features)
8.25
ความคุ้มค่า (Value)
8.5
คะแนนตัดสิน (Total)
8.8

Panasonic 65GZ2000

8.8