11 Jan 2016
Review

อีกหนึ่งสุดยอดตำนาน !! รีวิว Pioneer BDP-LX88 4K 60Hz Upscale Universal Player


  • ชานม
Audio Tuning

มิใช่แค่ระบบภาพทว่า BDP-LX88 สามารถ “อัพสเกลเสียง” ได้ด้วยการเพิ่มเติมแผงวงจรพิเศษที่เรียกว่า Audio Scaler circuit เพื่อใช้ประมวลผลปรับปรุงสัญญาณดิจิทัลออดิโอโดยเฉพาะ โดยทำการปรับปรุง Bit-depth และ Up-sampling ไปจนถึงการกำหนดรูปแบบ Digital Filter ในขั้นตอนก่อนที่สัญญาณดิจิทัลออดิโอจะถูกส่งไปยังภาค DAC ผลการใช้งาน Audio Scaler นี้ จะกล่าวถึงอีกครั้งช่วงรายงานคุณภาพเสียง

ในส่วนของภาค DAC แผงวงจรแยกส่วนออกมาต่างหากจากแผงวงจรดิจิทัล และมีหัวใจสำคัญ คือ DAC chip ระดับเรือธงจาก ESS คือ ES9018 SABRE 32 Reference DAC ทำหน้าที่แปลงสัญญาณดิจิทัลไปเป็นอะนาล็อกก่อนจะผ่านออกไปยังช่องอะนาล็อกเอาต์พุต 2 แชนเนล แบบ Balanced XLR และ Unbalanced RCA

นอกเหนือจากแผงวงจรภายในแล้ว หากสังเกตช่องต่อที่แผงหลัง จะพบความพิเศษที่ใช้ไฟน์จูนคุณภาพของภาพและเสียงจาก BDP-LX88 เพิ่มเติมอีก

ในอดีต สิ่งที่เรียกเสียงฮือฮาจาก BDP-LX91 นอกเหนือจากโครงสร้างที่แน่นหนาและอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ภายในเกรดพิเศษแล้ว คือ การออกแบบให้มี HDMI Out 2 ช่อง หรือ Dual HDMI Output ซึ่ง HDMI ทั้ง 2 ช่อง (HDMI Main และ HDMI Sub) สามารถแยกหน้าที่ส่งผ่านสัญญาณภาพและเสียงออกจากกันเพื่อกระจายแบนด์วิดธ์เพิ่มประสิทธิภาพตอบสนองสัญญาณดิจิทัลเอาต์พุตรายละเอียดสูง แน่นอนว่า BDP-LX88 ก็มาพร้อมคุณสมบัติเดียวกันนี้ แต่เหนือกว่าด้วยความสามารถปรับแต่งหน้าที่ของ Dual HDMI เพื่อผลลัพธ์ยืดหยุ่นขึ้นไปอีกขั้น

HDMI Mode 4 รูปแบบที่สามารถเลือกได้ คือ

1. Dual รูปแบบนี้สัญญาณทั้งภาพและเสียงที่เอาต์พุตจากช่อง HDMI Out Main และ HDMI Out Sub จะเหมือนกัน เหมาะสำหรับกระจายสัญญาณไปยังอีกซิสเต็มหนึ่ง (Zone 2)
2. Separate รูปแบบนี้ใช้เพิ่มประสิทธิภาพการรับชมภาพและเสียงให้สูงขึ้นได้ โดยระบบจะไฟน์จูนแยกสัญญาณดิจิทัลที่เอาต์พุตจากช่อง HDMI Out Main โดยเน้นไปทางด้านภาพเพื่อเชื่อมต่อกับจอภาพโดยตรง ส่วนสัญญาณดิจิทัลที่เอาต์พุตจากช่อง HDMI Out Sub จะเน้นเสียงเป็นหลัก เพื่อเชื่อมต่อไปยัง AVR หรือ AV Processor
3. Pure Audio เป็นรูปแบบใหม่ที่เพิ่มเติมเข้ามาสำหรับใช้งาน HDMI Output ของ BDP-LX88 ร่วมกับซิสเต็มที่เน้นคุณภาพเสียงเป็นเป้าหมายสูงสุด กล่าวคือ จะมีเพียงสัญญาณดิจิทัลออดิโอออกมาเฉพาะที่ช่อง HDMI Sub เพียงช่องเดียวเท่านั้น ไม่มีสัญญาณภาพปะปนออกมา
4. Single รูปแบบปกติเหมือน BD Player ทั่วไปที่มี HDMI Output ช่องเดียว โดยสัญญาณทั้งภาพและเสียงจะออกที่ช่อง HDMI Main เพียงช่องเดียว

Pioneer ยังเปิดโอกาสให้ผู้ใช้ปรับเปลี่ยนการทำงานของ BDP-LX88 กรณีที่จะนำไปใช้งานเสมือนเป็น “เครื่องเล่นด้านเสียงเพียงอย่างเดียว” (Pure Audio Player ไม่มีระบบภาพเข้ามาข้องเกี่ยว) เช่น ใช้งานเป็น SACD/CD Player เชื่อมต่อกับชุดฟังเพลงอินทิเกรตแอมป์ หรือปรี-เพาเวอร์แอมป์ 2 แชนเนล เพียงกดปุ่ม DIRECT ที่หน้าตัวเครื่องหรือที่รีโมตคอนโทรล จากนั้นระบบจะตัดการทำงานวงจรภาควิดีโอและภาคดิจิทัลอื่นๆ ที่ไม่จำเป็น เพื่อลดทอนปัจจัยที่จะรบกวนการทำงาน เพื่อให้ได้สัญญาณอะนาล็อกออดิโอจาก BDP-LX88 ที่บริสุทธิ์ที่สุด

เมื่อเข้าสู่สถานะ DIRECT Mode ไฟ LED สีฟ้าที่ตำแหน่ง DIRECT (ขวามือ) จะติดสว่างขึ้น เป็นสิ่งบ่งบอกว่าระบบได้ตัดการทำงานวงจรที่อาจรบกวนให้สัญญาณออดิโอสูญเสียความบริสุทธิ์ไปแบบถาวร ทั้งภาควิดีโอและภาคดิจิทัลออดิโอเอาต์พุต สัญญาณที่เอาต์พุตออกมาจะมีเพียงอะนาล็อกออดิโอ (ที่ช่อง XLR และ RCA) เท่านั้น นอกจากนี้ยังสามารถหรี่หรือดับไฟดิสเพลย์ลงได้ ด้วยการกดปุ่ม DIMMER ที่รีโมต ซึ่งเมื่อไฟดิสเพลย์ดับลง ไฟ LED สีฟ้าที่ตำแหน่ง FL OFF (ซ้ายมือ) จะติดสว่างขึ้น

จุดแตกต่างระหว่าง HDMI Mode – Pure Audio กับ DIRECT Mode คือ ถึงแม้ทั้ง 2 โหมดจะตัดการทำงานของภาควิดีโอออกไปเหมือนกัน ทว่า HDMI Mode – Pure Audio นั้น ระบบ Digital Audio Output จะยังคงทำงานอยู่ เพื่อให้สามารถเชื่อมต่อสัญญาณเสียงแบบดิจิทัลจาก “HDMI” (รองรับทั้งระบบเสียง 2-channel และ Multi-channel) และ S/PDIF (Coaxial, Optical) Output ได้ เหมาะกับซิสเต็มฟังเพลงที่ต้องการเชื่อมต่อสัญญาณเสียงไปยัง AVR หรือ External DAC

ในขณะที่ DIRECT Mode จะตัดระบบ Digital Audio Output ออกไปด้วย เพื่อเน้นการเชื่อมต่อสัญญาณเสียงแบบ “อะนาล็อก” ร่วมกับชุดฟังเพลง เช่น เชื่อมต่อสัญญาณไปยัง Integrated amp หรือชุด Pre+Poweramp 2-channel

ภายใต้ HDMI Output ของ BDP-LX88 ยังมีอีกฟีเจอร์ที่ช่วยปรับปรุงคุณภาพการส่งผ่านสัญญาณดิจิทัลออดิโอซ่อนอยู่ คือ ระบบที่ลิงค์เชื่อมต่อข้อมูลปรับแก้สัญญาณนาฬิกาเพื่อลดทอนปัญหาจิตเตอร์ที่มีชื่อเรียกว่า PQLS (Precision Quartz Lock System) ทว่าฟีเจอร์จะใช้ได้ต่อเมื่อใช้งานร่วมกับ AVR ของ Pioneer ที่รองรับฟีเจอร์นี้เท่านั้น (อาทิ AVR รุ่น SC-LX88) ทว่าในการทดสอบ BDP-LX88 ครั้งนี้ ไม่มี AVR ของ Pioneer จึงไม่สามารถอ้างอิงทดสอบฟีเจอร์ PQLS ได้ครับ

มิได้มีแค่ PQLS ที่ใช้เพิ่มประสิทธิภาพการส่งผ่านสัญญาณระหว่างเพลเยอร์กับ AVR เพียงอย่างเดียว สำหรับ BDP-LX88 ทาง Pioneer เพิ่มอีกเทคนิคหนึ่งที่เรียกว่า Zero Signal Terminal ในการแม็ตชิ่งระบบกราวด์ระหว่างอุปกรณ์ให้สัมพันธ์กัน ซึ่งเทคนิคนี้จะได้อานิสงส์แม้ว่าจะใช้งานร่วมกับ AVR ยี่ห้ออื่นที่มิใช่ยี่ห้อ Pioneer ด้วย

โดยพื้นฐานหน้าตาภายนอกของคอนเน็คเตอร์ Zero Signal Terminal ดูเหมือน Composite Video ทว่าจะไม่มีสัญญาณใดๆ ส่งออกมา หน้าที่มีไว้เพื่อเชื่อมต่อระบบกราวด์ของอุปกรณ์ (เพลเยอร์ กับ AVR) เข้าด้วยกันเท่านั้น วิธีการเพียงใช้สาย RCA 1 เส้น เชื่อมต่อระหว่างช่อง Zero Signal Terminal ของ BDP-LX88 ไปยัง Video Composite Input ของ AVR ช่องใดก็ได้ที่ว่างอยู่ การแม็ตชิ่งระบบกราวด์ของอุปกรณ์ให้สัมพันธ์กันนี้จะช่วยปรับปรุงคุณภาพของภาพและเสียงให้ดีขึ้นได้เพราะในบางกรณีสามารถลดทอนระดับ Noise floor ที่ไหลวนอยู่ในระบบให้น้อยลงได้อย่างมีนัยสำคัญ