11 Jan 2016
Review

อีกหนึ่งสุดยอดตำนาน !! รีวิว Pioneer BDP-LX88 4K 60Hz Upscale Universal Player


  • ชานม

Features – ลูกเล่น

อีกจุดที่ BDP-LX88 เหนือกว่า BDP-LX91 คือ รีโมตคอนโทรลปุ่มเรืองแสงได้ ถึงแม้นี่มิใช่ประเด็นที่ส่งผลกับคุณภาพของภาพและเสียงแต่มีส่วนช่วยเพิ่มความสะดวกเวลาใช้งาน โดยเฉพาะในห้องมืดที่ใช้โปรเจ็คเตอร์ได้เป็นอย่างดี

iControlAV5 แอพฯ สำหรับติดตั้งกับ Smart Phone/Tablet เพื่อใช้งานทดแทนรีโมตคอนโทรล ควบคุมได้ทั้งเพลเยอร์อย่าง BDP-LX88 เครื่องนี้ หรือควบคุม Pioneer AVR ได้ด้วย ทั้งนี้ในส่วนของการควบคุม BDP-LX88 ผ่านแอพฯ จะอิงอินเทอร์เฟสโดยจำลองบางปุ่มควบคุมเหมือนรีโมตคอนโทรลปกติเท่านั้น ไม่สามารถทำหน้าที่อย่างอื่น เช่น เช็คสถานะการทำงานได้

BDP-LX88 เป็นเพลเยอร์ที่ไม่เน้นลูกเล่นหวือหวา ไม่มีแอพฯ ให้ติดตั้ง จะมีก็เพียง Web Contents อย่าง YouTube และ Picasa เท่านั้น การเชื่อมต่อเข้าสู่ระบบอินเทอร์เน็ตและเครือข่ายภายในบ้านทำได้ผ่านสาย LAN เพียงอย่างเดียว ไม่มี Wi-Fi แต่ประเด็นนี้โดยส่วนตัวถือเป็นข้อดี เพราะลดโอกาสที่คลื่นวิทยุจากระบบ Wi-Fi รบกวนการทำงานของวงจรภาพและเสียง อีกทั้งการเชื่อมต่อแบบมีสาย (LAN) ก็ให้เสถียรภาพที่ดีกว่าด้วย ถ้าจริงจังกับคุณภาพจริงๆ ใช้สาย LAN เถิดครับ

YouTube กับ BDP-LX88 ไม่สามารถเลือก HD Quality ได้ การแสดงผลจึงเป็นเพียง Standard Definition เท่านั้น

Picture – ภาพ

อ้างอิงคุณภาพของภาพโดยการปรับตั้ง Dual HDMI Mode แบบ Separate และเชื่อมต่อ Zero Signal Terminal เข้ากับ AVR พบว่า แม้ไม่ได้ทำการอัพสเกลใดๆ (Source Direct) ภาพจาก BDP-LX88 ก็ดูใสสะอาดดีมาก ภาพโดยรวมอาจจะดูดีกว่า 4K Upscale BD Player รุ่นราคาไม่แพงที่อัพสเกลแล้วเสียอีก

มาดูในส่วนของผลลัพธ์เมื่อทำการอัพสเกลดูบ้าง เปรียบเทียบกับ 4K Upscale BD Player เจนเนอเรชั่นแรก ที่อัพสเกลได้เพียง 4K/24-30Hz พบว่า BDP-LX88 ให้ความต่อเนื่องของภาพเคลื่อนไหวดีกว่าอย่างเห็นได้ชัด ทั้งนี้กับ 4K/24-30Hz Upscale BD Player เมื่ออัพสเกลไปเป็นความละเอียด 4K เฟรมเรตจะถูกจำกัดลดลงมาเหลือเพียง 24-30 fps ดังนั้นกับบางคอนเทนต์ เช่น คอนเทนต์ต้นฉบับ 1080/60i (อาทิบลูเรย์คอนเสิร์ตหรือสารคดี หรือคลิปถ่ายทอดสดกีฬาแบบ HD) จะสังเกตได้ว่าถึงแม้รายละเอียดจากการอัพสเกลจะดีขึ้นทว่าภาพเคลื่อนไหวกลับหน่วงช้าลง แต่แน่นอนว่าปัญหานี้ไม่เกิดกับ BDP-LX88 เพราะอัพสเกล 4K/60Hz ได้

อานิสงส์ในประเด็นภาพเคลื่อนไหวนี้จะยังส่งผลดีแม้ใช้งานร่วมกับทีวีที่มีระบบโมชั่นแทรกเฟรมภาพเคลื่อนไหว โดยเฉพาะกับ 4K/UHD TV รุ่นราคาไม่แพงเมื่อรับชมคอนเทนต์ 1080/24p เพราะ BDP-LX88 สามารถแบ่งเบาลดภาระให้กับระบบประมวลผลของทีวี โดยรับหน้าที่ในการประมวลผล 3:2 Pulldown ในระหว่างขั้นตอนอัพสเกลเป็น 4K/60Hz แทนทีวีได้

การอัพสเกลความละเอียด 4K สำหรับ BDP-LX88 จะมี 2 ตัวเลือก คือ 4K (แทน 4K/60Hz) และ 4K/24p (แทน 4K/24Hz) กรณีที่จอภาพสามารถรับสัญญาณ 4K/60Hz ได้ แนะนำให้กำหนดตัวเลือก Resolution ไว้ที่ 4K

เมื่อกดปุ่ม VIDEO P. ที่รีโมต จะเป็นการเปิดเมนูตัวเลือกที่ใช้ในกระบวนการอัพสเกล เป็นการดึงความสามารถของหน่วยประมวลผลทั้ง Precise Pixel Driver และ 4K Reference Converter ออกมาใช้นั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนโหมดภาพสำเร็จรูปที่ปรับแต่งมาจากโรงงาน หรือไฟน์จูนลดทอนสัญญาณรบกวนและเพิ่มดีเทลความคมชัด ด้วยตัวผู้ใช้เอง ซึ่งสามารถเซฟค่าพารามิเตอร์ต่างๆ เก็บไว้ในหน่วยความจำเพื่อเลือกใช้ตามแต่สถานการณ์ได้สะดวก

บางท่านอาจสงสัยว่า ในเมื่อเพลเยอร์เครื่องนี้มาพร้อม HDMI 2.0 โดยคุณสมบัติสามารถเอาต์พุตสัญญาณภาพได้ถึง 4K/60Hz ถ้าอย่างนั้นมันสามารถเล่นฟอร์แม็ต 4K ได้ไหม ทั้ง 4K Blu-ray Disc ที่กำลังจะวางตลาดในปีนี้ หรือ 4K Video ในรูปแบบของไฟล์? คำตอบคือ ยังไม่ได้ครับ การใช้งานจะเน้นอัพสเกลเป็นหลัก ไม่ว่าจะอัพสเกลวิดีโอจากฟอร์แม็ต Full HD Blu-ray Disc หรือไฟล์วิดีโอความละเอียดสูง (up to 1080p)

ไฟล์วิดีโอยอดนิยมอาทิ MKV ส่วนใหญ่ ไม่ว่าความละเอียด 1080p, 720p, 480p หรือต่ำกว่า สามารถเล่นได้ลื่นไหลดี สามารถเปลี่ยนเสียงเลือกซับฯ ได้ แต่ที่ทำได้เด็ดเป็นพิเศษคงไม่พ้นการเล่น Audio Files ทั้งมาตรฐานทั่วไป และ Hi-res formats อาทิ MP3, WMA, AAC, ALAC, WAV, FLAC (up to 24-bit/192kHz) ไปจนถึง DFF/DSF (DSD64) เป็นต้น ส่วนใครจะเอาไปเล่น .ISO ก็ขอบอกว่าเล่นไม่ได้นะครับ

Sound – เสียง

การทดสอบในส่วนของคุณภาพเสียงจะแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ ใช้งาน BDP-LX88 เป็นเพลเยอร์ระบบโฮมเธียเตอร์ รับชมภาพยนตร์ คอนเสิร์ต และเพลง ทั้งสเตริโอและมัลติแชนเนล โดยเชื่อมต่อสัญญาณแบบ Dual HDMI (Separate) แยกไปยังจอภาพและ AVR กับลักษณะการใช้งาน BDP-LX88 เป็นเพลเยอร์ระบบเสียงเพียงอย่างเดียว โดยเชื่อมต่อสัญญาณอะนาล็อกไปยังซิสเต็มฟังเพลง 2 แชนเนล

การใช้งานลักษณะแรก พบว่า BDP-LX88 สามารถ Bitstream ระบบเสียงรอบทิศทางยุคใหม่อย่าง Dolby Atmos ได้โดยสมบูรณ์ ความสงัดมีส่วนช่วยให้รายละเอียดเสียงโอบล้อมชัดเจนขึ้น ภาพยนตร์เรื่องเดิมที่เคยดูไปแล้ว เมื่อรับชมกับ BDP-LX88 ดูจะได้อรรถรสยิ่งขึ้น ช่วยการแยกแยะทิศทางเสียง ไปจนถึงการโฟกัสลงน้ำหนักเบสเต็มที่ยิ่งขึ้น

ทดลองฟังเพลงจากฟอร์แม็ต SACD Multi-channel ดูบ้าง อัลบั้ม The Film Music of Jerry Goldsmith ซึ่งข้อดีของการเชื่อมต่อสัญญาณแบบ DSD Bitstream via HDMI ทำให้การรับฟังระบบเสียง Multi-channel DSD ทำได้ง่ายขึ้นมากเพราะไม่ต้องเชื่อมต่อสายสัญญาณอะนาล็อกพะรุงพะรังหลายเส้นเหมือนเมื่อก่อน และสามารถรับฟังร่วมกับซิสเต็มรอบทิศทางจากลำโพงโฮมเธียเตอร์ได้เลย หากทำการเปลี่ยน HDMI Mode ของ BDP-LX88 เป็น Pure Audio จะยิ่งให้ความลงตัวในแง่คุณภาพการฟังเพลงจากฟอร์แม็ต SACD Multi-channel ยิ่งขึ้น ผลลัพธ์จะเน้นย้ำในส่วนของคุณภาพเสียงที่กล่าวไปในย่อหน้าก่อนให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นไปอีก

ถัดมาเป็นการใช้งานอีกลักษณะหนึ่ง โดยจะเน้นเชื่อมต่อกับซิสเต็มฟังเพลง 2 แชนเนล แบบ Pure Audio รูปแบบนี้ทำการปรับเปลี่ยนโหมดการทำงานของ BDP-LX88 เป็น DIRECT Mode เพื่อเน้นคุณภาพเสียงจากช่องอะนาล็อกเอาต์พุตเท่านั้น ผลการใช้งานพบว่า ความเปลี่ยนแปลงที่ได้จาก DIRECT Mode นั้นมีนัยสำคัญ คุณภาพเสียงดีขึ้นแบบจับต้องได้ ซึ่งเป็นความต่างที่มากกว่า Universal Player เครื่องอื่นที่มี DIRECT Mode พอควร ทดสอบกับ SACD Stereo อัลบั้ม Czech Philharmonic Orchestra Plays Studio Ghibli Symphonic Collection น้ำหนักเสียงโดยรวมจะเด่นชัดขึ้น มิติชิ้นดนตรีขึ้นรูปจับต้องได้ง่ายกว่า ผลลัพธ์ใกล้เคียง SACD/CD Player แท้ๆ ที่ไม่มีระบบภาพเข้ามาเกี่ยวข้องอยู่มากทีเดียว

อีกหนึ่งไฮไลท์สำคัญเกี่ยวกับคุณภาพเสียงจาก BDP-LX88 คงไม่พ้น Audio Scaler การใช้งานในส่วนนี้ดำเนินการผ่านเมนู Audio Parameter โดยกดปุ่ม AUDIO P. ที่รีโมตคอนโทรล ซึ่งฟอร์แม็ตที่ได้รับอานิสงส์ชัดเจน คือ คอนเทนต์ทั่วๆ ไปที่ยังมิใช่มาตรฐาน Hi-res อาทิ CD-Audio หรือ Lossy Compressed Audio files

ผลลัพธ์จากพารามิเตอร์ “Hi-bit 32” มีส่วนช่วยให้มาตรฐานคุณภาพเสียงของ CD-Audio ละเมียดละไมใกล้เคียง Hi-res มากขึ้น และลดทอนความแข็งกร้าวของ Lossy compressed formats ให้น่าฟังขึ้น

ในขณะที่ “Up-sampling” จะช่วยเปิดเผยรายละเอียดขึ้น แนะนำให้ทดลองโดยเริ่มจากระดับน้อยๆ เช่น X2 ก่อนครับ ส่วน “Digital Filter” ใช้ไฟน์จูนในขั้นตอนสุดท้ายให้ได้คุณภาพเสียงที่ลงตัวขึ้น โดย Slow ดูจะไปในแนวนุ่มนวล ในขณะที่ Sharp จะออกจะแจ้งกระฉับกระเฉง ทั้ง 2 ตัวเลือกเป็นความเปลี่ยนแปลงในขั้นตอนปลีกย่อยหนึ่งในกระบวนการประมวลผลสัญญาณดิจิทัลเป็นอะนาล็อก มิใช้เข้าไปเปลี่ยนแปลงดุลเสียงต้นฉบับแต่อย่างใด จึงไม่ลดทอนความเป็นธรรมชาติลง

แต่สำหรับ “Auto Sound Retriever” นั้น สงวนไว้ใช้กับคอนเทนต์คุณภาพต่ำที่บันทึกเสียงมาไม่ดีนัก หรือฟอร์แม็ตที่ผ่านขั้นตอนบีบอัดข้อมูลมากๆ จะดีกว่า เพราะจะเข้าไปเปลี่ยนแปลงดุลเสียงพอสมควร

เมื่อเล่นออดิโอดิสก์อย่าง SACD และ CD Audio อินเทอร์เฟสบนจอทีวีดูจืดชืดไปหน่อย เพราะแสดงแค่ตัวเลขแทร็กสีขาวบนพื้นสีดำ ไม่มีระบบค้นหาและแสดงภาพปก ชื่อศิลปิน ชื่อเพลง หรือชื่ออัลบั้มใดๆ เลย อีกทั้งไม่บอกข้อมูลด้วยว่ากำลังอ่านชั้นข้อมูลของ SACD เลเยอร์ไหน (SACD Stereo, Multi-channel หรือ CD-A) แต่การแสดงข้อมูลเพียงเล็กน้อยก็พอเป็นที่เข้าใจได้ เพราะว่าเวลาที่เราฟังเพลงมักจะจดจ้องไปที่เสียงเป็นหลัก ข้อมูลอื่นๆ ที่มองด้วยตาไม่สลักสำคัญอะไร ขอให้เสียงดีแล้วกัน ซึ่ง BDP-LX88 ไม่ทำให้ผิดหวัง

อย่างไรก็ดี หากเป็นการเล่นไฟล์ อินเทอร์เฟสจะเปลี่ยนไป ไฟล์ MP3 หรือแม้แต่ FLAC
จะสามารถแสดงรายละเอียดภาพปก ชื่อศิลปิน ชื่อเพลง ชื่ออัลบั้ม ฯลฯ ได้

Conclusion – สรุป

หากจะหาข้อติติงบ้าง คงเป็นความรู้สึกเสียดายที่ Pioneer ไม่ใส่ฟังก์ชั่น USB DAC แบบที่พบเห็นกับ Universal Player ระดับสูงบางเครื่อง ซึ่งจะช่วยดึงศักยภาพของ DAC ภายในเพลเยอร์ออกมาใช้ได้เต็มที่ ความคุ้มค่าก็จะเพิ่มพูนขึ้นไปอีก นอกจากนี้ในบางจังหวะอาจจะตอบสนองช้ากว่า BD Player ทั่วๆ ไปบ้าง และหากผู้ใช้ใจร้อนสั่งการซ้ำๆ ระบบฯ อาจจะหยุดนิ่งไปเลย ตรงนี้ถ้าใช้งานอย่างใจเย็นค่อยเป็นค่อยไป จะไม่มีปัญหาใดๆ

อย่างไรก็ดีข้อติตังข้างข้างต้นดูจะเป็นเรื่องจิ๊บจ๊อยไปเลยหากพิจารณาที่เป้าหมายหลัก คือ เป็นเครื่องเล่นแผ่นดิสก์ระบบภาพและเสียง หรือจะเน้นระบบเสียงอย่างเดียว (DIRECT Mode) ที่สามารถถ่ายทอดคุณภาพของภาพและเสียงได้โดดเด่น บวกกับมาตรฐานความเอาใจใส่ในระบบฮาร์ดแวร์ระดับนี้ยากจะหาตัวเปรียบเทียบได้ หากเป็นเมื่อก่อนต้องมีหลักแสนทว่าราคาขายของ BDP-LX88 แค่หลักหมื่น บอกได้คำเดียวว่าคุ้มครับ!

คะแนน

ดีไซน์ (Design)
9.00
ภาพ 2 มิติ ก่อนปรับภาพ (2D Picture Pre-Calibrated)
9.00
เสียง (Sound)
9.50
ลูกเล่น (Features)
8.75
การเชื่อมต่อ (Connectivity)
8.75
ความคุ้มค่า (Value)
8.75
คะแนนตัดสิน (Total)
8.90

คะแนน Pioneer BDP-LX88 4K/60Hz Upscale Universal Player

8.9

หมายเหตุประกอบการให้คะแนน

  • เสริมความแกร่งมาเต็มที่ ภายในกั้นแยกส่วนพร้อมชีลด์ป้องกันสัญญาณรบกวน รูปลักษณ์เคร่งขรึมตามสไตล์ Pioneer
  • คุณสมบัติอัพสเกลสัญญาณภาพถึงระดับ 4K/60Hz 4:4:4 ตามมาตรฐาน HDMI 2.0 หากต้องการใช้งานสเกลเลอร์ภายนอก เลือก Source Direct ได้
  • ด้วยพื้นฐานโครงสร้างมั่นคงบวกกับมาตรฐานระบบฮาร์ดแวร์ขั้นสูง นับเป็นเครื่องเล่นแผ่นดิสก์ภาพเสียงที่เด่นมากที่สุดเครื่องหนึ่ง มาพร้อมฟีเจอร์ Audio Scaler และ DIRECT Mode สำหรับแปลงให้เป็น Pure Audio Player ที่ให้เสียงอะนาล็อกไม่แพ้ Audio Player 2 แชนเนลแท้ๆ
  • ลูกเล่นไม่หวือหวา เน้นใช้งานเป็น Audio/Video Disc Player เป็นหลัก Web Contents มีเพียง YouTube (ปรับ High Quality ไม่ได้) และ Picasa
  • Dual HDMI Out เพิ่มศักยภาพด้านการส่งผ่านสัญญาณภาพและเสียงได้ดี เช่นเดียวกับ Zero Signal Terminal แต่ไม่มี HDMI In, USB DAC และ Wi-Fi
  • อีกหนึ่งตำนานเพลเยอร์ที่คงความไฮเอ็นด์เหมือนเดิม ทว่าราคาไม่ได้สูงตามคุณภาพของภาพและเสียงที่ได้

by ชานม !2015-12