ทุกวันนี้คนเรานิยมการดูหนังฟังเพลงกันมากขึ้น ซึ่งการรับชมภาพยนตร์ ซีรีส์ รวมถึงการฟังเพลงต่างๆ ผ่านลำโพงของทีวี หรือลำโพง Soundbar ก็อาจจะยังไม่ตอบโจทย์คนที่รักความบันเทิงอย่างแท้จริงเท่าที่ควร การมีชุดโฮมเธียเตอร์สักชุดคงจะตอบโจทย์ข้อนี้ได้ดีไม่น้อยเลย
และเมื่อพูดถึงชุดเครื่องเสียงโฮมเธียเตอร์ อุปกรณ์ที่นับว่าเป็นหัวใจหลักของระบบเลยนั่นก็คือ AV Receiver หรือที่เราเรียกกันว่า AVR นั่นเอง ที่เป็นศูนย์กลางของสัญญาณภาพและเสียงจากอุปกรณ์ต่างๆ โดยรับเข้ามา และส่งออกไปยัง TV, Projector รวมถึงลำโพงต่อไปต่างๆ
วันนี้ผมจะพาทุกคนไปรู้จักกับ AVR 2 รุ่นใหญ่ที่จัดเต็มเรื่องคุณภาพเสียงรวมถึงฟีเจอร์ต่างๆ มาให้แบบจัดเต็ม นั่นก็คือ ซีรีส์ LX จาก Pioneer ในรุ่น VSX-LX504 และ VSX-LX304 จะน่าสนใจแค่ไหนตามมาดูในรีวิวกันครับ
ราคาเปิดตัวของ VSX-LX504 อยู่ที่ 65,900 บาท
ราคาเปิดตัวของ VSX-LX304 อยู่ที่ 45,900 บาท
Design – การออกแบบ
การออกแบบโดยรวมของ AVR ทั้ง 2 รุ่นนี้จะมาในโทนสีดำเงา ให้ความรู้สึกที่เรียบหรู แต่ก็ซ่อนความดุดันไว้ภายใน ซึ่งถ้ามองภายนอกแบบเผินๆ จุดที่แตกต่างกันหลักๆ ก็จะเป็นในส่วนของขนาดหน้าตัวเครื่อง ปุ่มบริเวณด้านหน้า และช่องต่อบริเวณด้านหลังของตัวเครื่อง ซึ่งจะมีความแตกต่างกันขนาดไหนมาดูกันครับ
มาเริ่มกันที่รุ่นพี่ใหญ่อย่าง VSX-LX504 กันก่อนดีกว่า ตัวเครื่องมีขนาดอยู่ที่ กว้าง 435 x ยาว 386 x สูง 185 มม. หนัก 16 กิโลกรัม ซึ่งถือว่ามีขนาดที่ใหญ่และหนักพอสมควร เนื่องมาจากภาคขยายที่เป็นตัวจ่ายไฟสู่ลำโพงที่ให้มาแบบจัดเต็มในแบบของ AVR รุ่นใหญ่ๆ นั่นเอง
ด้านหน้า ของตัวเครื่องนี่เรียกว่ามีความเกลี้ยงเกลาสะอาดตามาก ประกอบไปด้วยปุ่ม เปิด/ปิด เครื่อง, Volume เพิ่ม/ลด เสียงแบบหมุน, ที่หมุนเลือกช่องสัญญาณ Input, หน้าจอแสดงผลหลักที่ไว้แสดงข้อมูลต่างๆ เช่น Input ที่เลือกใช้อยู่, ระบบเสียงที่กำลังเล่น, ลำโพงในระบบ และแสดงเมนูการตั้งค่าต่างๆ แบบย่อ
ยังไม่หมดแค่นั้นตัวเครื่องได้ทำการซ่อนช่องต่อและปุ่มควบคุมต่างๆ ไว้ที่ฝาด้านหน้าที่เราสามารถ เปิด/ปิด ได้ โดยจะมีปุ่มกดต่างๆ เช่น ปุ่มลูกศรควบคุมการตั้งค่า, ปุ่มเลือกโหมดเสียง รวมถึงมีช่องต่อต่างๆ ที่ให้เราสามารถเสียบใช้งานได้อย่างสะดวกสบาย เช่น ช่องต่อ Mic Auto Set-Up, ช่องต่อ USB และช่อง HDMI In
ส่วนรุ่น VSX-LX304 ตัวเครื่องจะมีขนาดอยู่ที่ กว้าง 435 x ยาว 370.5 x สูง 173 มม. มีน้ำหนักอยู่ที่ 13.5 กิโลกรัม ซึ่งถือว่าขนาดตัวเครื่องที่เล็กกว่าและเบากว่ารุ่นพี่อยู่สักเล็กน้อยแต่ถือว่าอยู่แบบมาตรฐานของ AVR รุ่นกลางสูง
ด้านหน้า ของตัวเครื่องโดยรวมจะค่อนข้างเหมือนกันตรงที่มีปุ่ม เปิด/ปิด เครื่อง, Volume เพิ่ม/ลด ความดังเสียง, ที่หมุนเลือกช่องสัญญาณ Input และหน้าจอแสดงผลหลัก แต่จุดที่แตกต่างกันคือในรุ่นนี้จะไม่ได้มีฝาเปิดปิดปุ่มเพิ่มเติมมาให้ ปุ่มจะถูกวางไว้ให้สามารถกดได้ที่หน้าตัวเครื่องเลย เช่น ปุ่มเลือกโหมดเสียง, ปุ่มควบคุมทิศทางการ Set-Up รวมถึงมีช่องต่ออย่าง เช่น USB, HDMI และช่องเสียบไมค์ Auto-Setup มาให้ที่ด้านนี้เลย เช่นกัน
รีโมท ที่ให้มานั้นมาในรูปแบบเดียวกับ AVR จากทาง Onkyo เลย เพราะทั้ง 2 แบรนด์นี้เขาได้ทำการจับมือกันแล้วนั่นเอง โดยรีโมทนั้นมาในขนาดกำลังดี ให้ปุ่มมาแบบครบครันต่อการใช้งาน เช่น ปุ่ม เปิด/ปิด เครื่อง, ปุ่มเลือกช่องสัญญาณ Input ต่างๆ, ปุ่มลูกศรควบคุม, ปุ่มตั้งค่า, ปุ่ม เพิ่ม/ลด ความดังเสียง, ปุ่มปรับแต่งเสียง และอื่นๆ
Connectivity – ช่องต่อ
ช่องต่อ ที่ด้านหลังของ AVR ทั้ง 2 รุ่น นั้นให้ช่องต่อมาในแบบที่เรียกว่าครบครันจัดเต็ม ในส่วนที่มีเหมือนกันก็จะประกอบไปด้วย HDMI In 6 ช่อง, HDMI Out 2 ช่อง, ช่องต่อลำโพงจำนวน 9 Ch, ช่อง Digital Input Optical กับ Coaxial, ช่อง Analog In, ช่อง Phono In สำหรับเครื่องเล่นแผ่นเสียง, ช่อง Ethernet สำหรับต่อสาย LAN, ช่อง USB, ช่องเสียบสายไฟแบบ IEC ที่สามารถเปลี่ยนหรืออัพเกรดสายไฟได้ และ ช่อง Pre Out สำหรับลำโพง Active Subwoofer จำนวน 2 ช่อง
ส่วนที่แตกต่างกันที่มีเฉพาะในรุ่นใหญ่ก็คือ ช่องต่อ Pre Out Multichannel จำนวน 11 Ch ทำให้สามารถเชื่อมต่อสัญญาณเสียงไปยัง Power Amp ภายนอกเพื่อเพิ่มจำนวนลำโพงเข้าไปในระบบ ได้สูงสุดถึง 7.1.4 Ch หรืออัพเกรดไปใช้ลำโพงที่ต้องการกำลังขับที่สูงขึ้นในอนาคตก็สามารถทำได้ และอีกอย่างก็คือ HDMI Out ของรุ่นใหญ่อย่าง VSX-LX504 จะรองรับฟีเจอร์ส่งเสียงย้อนกลับจากทีวีมาที่ตัว AVR เป็น eARC ส่วนรุ่นเล็ก VSX-LX304 จะให้มาแค่ ARC แบบปกติครับ
Extra – เพิ่มเติม
MCACC Advanced Auto Set-Up
ใครหลายคนที่สนใจหรือเริ่มหัดเล่นเครื่องเสียงอาจจะกังวลในเรื่องงของการ Set-Up เช่น ต้องตั้งค่าลำโพงอย่างไร ต้องปรับความดังเท่าไหร่ ซึ่งอาจดูยุ่งยาก ทาง Pioneer เขาจึงได้ทำการใส่ฟีเจอร์ที่ชื่อว่า MCACC Advanced ที่เป็นระบบปรับเสียงแบบอัตโนมัติมาให้นั่นเอง
โดยเมื่อเราใช้ฟีเจอร์ MCACC Advanced ร่วมกับไมค์ Auto-Setup ที่ให้มาในกล่อง ตัวระบบจะทำการวัดค่าของเสียงที่ถูกส่งออกมาจากลำโพงต่างๆ แล้วช่วยคำนวนค่าในส่วนของ Level ค่าความดังเสียง, Distance ระยะห่างของลำโพงกับจุดนั่งฟัง, Crossover จุดตัดความถี่, Phase เฟส รวมถึงแก้ไข EQ ให้เสียงแต่ละลำโพงในระบบทำงานประสานกันออกมาได้ดีที่สุด ซึ่งขั้นตอนนี้แนะนำให้วาง Mic Set-Up ไว้ในจุดต่างๆ ตามภาพคำแนะนำบนจอ โดยให้ไมค์มีระดับความสูงอยู่ที่ระดับเดียวกับหูและควรให้ห้องอยู่ในสภาวะที่เงียบที่สุด เพื่อให้การ Auto Calibrate ได้ผลลัพธ์ออกมาดีที่สุดครับ
เสียงที่ได้หลังจากระบบใช้ระบบ Auto-Setup ถือว่าทำออกมาได้ดีทีเดียว ให้ค่า Distance ที่ค่อนข้างแม่นยำ ส่วนอื่นๆ ก็ถือว่าทำได้ดี สามารถใช้รับฟังจริงได้เลยครับ แต่หากใครสามารถ Set-Up ด้วยตนเองแบบ Manual ได้ ก็จะสามารถรีดพลังเสียงของ AVR ทั้ง 2 รุ่นนี้ออกมาได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยได้ดีมากกว่าครับ
Internet กับการฟังเพลง
เชื่อว่าในปัจจุบัน Life Style ในการฟังเพลงของใครหลายคนนั้นเปลี่ยนไป จากที่เราเคยฟังเพลงจาก แผ่น CD หรือ ไฟล์เพลงต่างๆ ยุคนี้เรามักหันมาฟังเพลงผ่านมือถือ หรือ แอปสตรีมมิ่งกันหมดแล้ว ซึ่งทาง Pioneer ก็ได้ให้ความสำคัญในจุดนี้เป็นอย่างดี โดยได้ใส่หัวข้อที่เรียกว่า “Net” มาให้ ซึ่งจุดนี้จะเป็นแหล่งรวมช่องทางการฟังเพลงไร้สายต่างๆ มาไว้ในจุดนี้ให้ ไม่ว่าจะเป็น Bluetooth, AirPlay สำหรับผู้ใช้อุปกรณ์ Apple (iPhone iPad), Google Chromecast สำหรับ มือถือ Android รวมถึงมีแอปสตรีมมิ่งชื่อดังต่างๆ ติดตั้งมาไว้ในเครื่องให้เลย เช่น Spotify, Deezer, Tidal และอื่นๆ อีกมากมายให้เราเลือกใช้ได้ตามสะดวก
แม้ว่าการฟังเพลงผ่านมือถือจะมีความสะดวกสบายแต่ถ้าอยากเน้นในเรื่องของคุณภาพเสียงก็คงปฏิเสธไม่ได้ที่จะต้องฟังผ่านไฟล์เพลงคุณภาพสูงระดับ Hi-Res โดย AVR ทั้ง 2 รุ่นนี้ก็รองรับการเล่นไฟล์ได้ที่ความละเอียดเสียงสูงสุดถึง 192 kHz/24-bit หรือ 11.2 Mhz (DSD) ในรูปแบบของไฟล์ ALAC, AIFF , FLAC, WAV (RIFF) , DSD รวมถึงไฟล์เพลงทั่วไปอย่าง MP3 หรือ M4A ก็สามารถเล่นผ่านช่อง USB ที่มีให้ทั้งด้านหน้าและด้านหลังอย่างละ 1 ช่องได้อย่างไม่มีปัญหา
จากการทดสอบพบว่า ในบางครั้งช่อง USB ที่ด้านหน้าของตัวเครื่องจะไม่สามารถอ่าน HDD ได้ คาดว่าอาจจะมาจากปัญหาไฟไม่พอ แต่แนะนำให้เสียบ HDD เข้ากับช่องด้านหลังแทน ส่วนแฟลชไดร์ฟนั้นเสียบได้ทั้งหน้าด้าหลังตามปกติเลยครับ และอีกอย่างที่ขอติเล็กน้อย ก็คือตัวเครื่องรวมถึงรีโมทไม่มีปุ่มลัดในการเข้าโหมดเล่นไฟล์จาก USB มาให้ ต้องกดปุ่ม Input Select เพื่อไล่เปลี่ยน Input ไปเรื่อยๆ จนเจอคำว่า USB
IMAX Enhanced
อีกหนึ่งฟีเจอร์ที่จะเข้ามาเป็นมาตรฐานใหม่ทั้งด้านภาพและเสียงในบ้านเราอย่าง IMAX Enhanced ก็ได้ถูกใส่มาใน AVR ทั้ง 2 รุ่นนี้ด้วย เช่นกัน โดยมาตรฐานนี้เกิดจากความร่วมมือระหว่าง IMAX Corporation บริษัทเจ้าของโรงภาพยนตร์จอยักษ์ ร่วมมือกับ DTS Inc. บริษัทเจ้าของระบบเสียงที่ทุกคนย่อมคุ้นหูกันดี ที่เขามีคอนเซปที่ว่ายกโรงภาพยนตร์ IMAX มาไว้ที่บ้านของคุณ ซึ่งหากภาพยนตร์เรื่องไหนที่ได้การรับรองจากมาตรฐานนี้ก็มั่นในคุณภาพของภาพและคุณภาพของเสียงได้เลย ใครที่สนใจสามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมของ IMAX Enhanced ได้เลยครับ
Stereo Assign
หนึ่งในฟีเจอร์ที่ผมชื่นชอบเป็นพิเศษเลยคือฟีเจอร์ Stereo Assign ที่จะเป็นการเลือกฟังเพลงหรือการรับฟังเสียงต่างๆ ในรูปแบบ Stereo จากลำโพงคู่ต่างๆ ในระบบได้ เช่น ลำโพง Top Surround (Atmos) หรือ ลำโพง Surround คู่หลัง โดยสามารถเข้าไปเปิดฟีเจอร์นี้ผ่านทาง Quick Menu > Audio > Stereo Assign และเลือกลำโพงที่ต้องการฟังได้เลย