30 Dec 2013
Review

Big Choices = Small Speakers !? รีวิว Polk Audio BlackStone TL1600


  • ชานม

Home Theater Speaker System

Polk Audio BlackStone TL1600

Big Choices = Small Speakers !?

โดยพื้นฐานความรู้สึกของมนุษย์ (อัตตา) มักชอบอะไรที่มันใหญ่ ๆ เพราะอีกด้านหนึ่ง “ความใหญ่” ใช้แสดงสถานะทางสังคมได้ (ยิ่งใหญ่ = บารมียิ่งสูง… หรือเปล่า ?) ซึ่งก็เป็นไปตามทฤษฎีลำดับขั้นของความต้องการ

ถ้าพูดถึงการพัฒนาลำโพง ระดับรุ่น มักจะผันแปรไปตามขนาดตัวตู้ จนบางครั้งรุ่นเรือธงมีขนาดใหญ่โตเท่าตู้เย็นเลยก็มี อย่างไรก็ดี รูปแบบหนึ่งของแนวทางการพัฒนาลำโพงวันนี้ ดูจะสวนทางจากความเคยชินในอดีต แทนที่ลำโพงจะพัฒนาให้ใหญ่ขึ้น ๆ กลับกลายเป็นว่า เทรนด์ของลำโพงในยุคสมัยถัดไปกลับจะเล็กลง ๆ ทว่าศักยภาพสูงขึ้นเรื่อย ๆ (เช่นเดียวกับแนวทางการออกแบบลำโพงตู้เดียว ทดแทนระบบเซอร์ราวด์ที่ใช้ตู้ลำโพงมากมาย ฯลฯ) ลักษณะนี้กำลังมาแรงทีเดียว จนกลายเป็นรูปแบบที่ผู้ผลิตให้ความสนใจ เชื่อว่าจะทยอยถูกนำออกสู่ตลาดเป็นจำนวนไม่น้อยทีเดียว ว่าแต่ลำโพงเล็ก ๆ มีดีอย่างไร ? ดูตู้เล็ก ๆ แล้ว ไม่เห็นจะอลังการเลย สู้ตู้ลำโพงใหญ่ ๆ ก็ไม่ได้ จับต้องได้เต็มไม้เต็มมือ ดูเป็นชิ้นเป็นอันมากกว่า หนำซ้ำตู้ใหญ่ถ้าดีไซน์สวย ๆ หน่อย นอกจากเสียงดีแล้วยังตั้งโชว์ได้อีกต่างหาก…

อันที่จริงวัตถุประสงค์ของลำโพงเล็ก (จิ๋ว) นั้น โดยพื้นฐานมิได้มีไว้เพื่อโชว์ครับ อย่างบางผู้ผลิตเน้นเลยด้วยซ้ำว่า ของเขาไม่เน้นโชว์รูป แต่เน้นโชว์เสียง ! แต่สำคัญที่สุด คือ การไม่แสดงรูปลักษณ์อันใหญ่โตเด่นชัดนั้น ก็เพื่อให้เกิด “ความกลมกลืน” กับสภาพแวดล้อม กลมกลืนในที่นี้ตีความได้ 2 นัย นัยแรก คือ กลมกลืนกับสภาพแวดล้อมทางสายตา ก็อย่างที่บอก เมื่อไม่แสดงตัวเด่นชัด จะนำไปไว้ในสภาพแวดล้อมแบบใดมันก็ผสานเข้าไปได้อย่างไม่ยากเย็น (ไร้รูปแบบเด่นชัด ย่อมผันแปรได้ไม่สิ้นสุด) ดังนั้นบางที หากติดตั้งแล้วเก็บงานเนียน ๆ เผลอ ๆ ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเสียงลอยมาจากไหน ดู “อเมซิ่ง” กว่าการตั้งโชว์ลำโพงให้เห็นว่าเสียงมาจากตรงนั้น ตรงนี้ แบบโต้ง ๆ แล้วค่อยฟังไปจินตนาการไปว่าเสียง “หลุดตู้” เสียอีก ส่วนนัยที่ 2 คือ กลมกลืนกับสภาพแวดล้อม “ทางเสียง”

“ยิ่งลำโพงขนาดใหญ่เท่าใด ผลกระทบทางเสียงอันเกิดจากสภาพแวดล้อมก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น”

คำกล่าวนี้ ไม่ใช่มั่วมา แต่มัน คือ Fact ! ทำไมลำโพงใหญ่จึงต้องการที่ทางในการวางมาก (ขณะเดียวกันมันก็เป็นรูปแบบที่เหมาะกับการใช้งานเพื่อเติมเต็มในพื้นที่ขนาดใหญ่เช่นกัน) ที่ผู้ผลิตต้องออกแบบลำโพงให้ใหญ่ เหตุผลหนึ่งก็เพื่อตอบสนองความต้องการตามอุดมคติที่ว่า แหล่งกำเนิดเสียงที่ดี ย่อมต้องตอบสนองย่านความถี่ครอบคลุมย่านการรับรู้ของมนุษย์ (20Hz – 20kHz) และลำพังลำโพงเล็ก ๆ ไม่มีทางตอบสนองได้เต็มย่านดังกล่าว โดยเฉพาะความถี่ต่ำ นี่เป็นเหตุผลว่า ทำไมลำโพงดี ๆ (เพอร์เฟ็กต์) จึงต้องใหญ่ แต่เสียงดีจากความใหญ่มิได้มาเปล่า ๆ ทว่าอาจก่อให้เกิดปัญหาตามมาเช่นกัน (หากใช้งานไม่เหมาะสม) หลายท่านคงเคยประสบกับปัญหา “เบสบวม” อันอื้ออึงรบกวนโสตประสาท (แต่บางท่านก็อาจจะชอบ เพราะรู้สึกว่า เบสมัน “แน่น” ดี หรือเปล่า ?) ซึ่งเป็นผลจากที่ทางการวางลำโพงที่ไม่เอื้ออำนวย ยิ่งลำโพงใหญ่เท่าใด ก็ยิ่งต้องการพื้นที่ (หายใจ ?) มากเท่านั้น… แล้วถ้าหากพื้นที่ไม่พอ หรือห้องไม่ใหญ่ล่ะ ?

อีกหนึ่งรูปแบบ “โฮมเอนเตอร์เทนเมนต์” ตามอุดมคติ ! เพื่อสนองตอบวิถีการดำเนินชีวิตของผู้คนในปัจจุบัน
ซึ่ง Polk Audio BlackStone TL1600 สามารถตอบสนองในจุดนี้ได้อย่างดียิ่ง !

ปัจจุบันราคาที่ดิน – อสังหาริมทรัพย์ ก็พุ่งเอา ๆ โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ (น้ำท่วมกันหมดแล้วราคาจะลดลงบ้างหรือเปล่า) จะหาห้องหับใหญ่ ๆ ทำเป็นห้องโฮม ฯ ก็อาจจะลำบาก และถึงแม้สามารถแยกสัดส่วนออกมาเป็นห้องเฉพาะกิจได้ แต่ส่วนใหญ่ด้วยรูปแบบการใช้ชีวิตที่เน้นความอเนกประสงค์ กะทัดรัด การปรับเปลี่ยนห้องนั่งเล่น – รับแขก เพื่อใช้งานระบบโฮมเอนเตอร์เทนเมนท์ก็นับว่าน่าสนใจ ทั้งนี้ในห้องที่มีพื้นที่ไม่มาก แน่นอนว่าลำโพงขนาดเล็ก ย่อมจะเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมกว่า (เพราะอะไร ? จะกล่าวต่อไปครับ)

Design – การออกแบบ

TL1600 เป็นหนึ่งชุดลำโพงโฮมเธียเตอร์ 5.1 แชนเนล รูปแบบ Satellites & Subwoofer ของ Polk Audio ภายใต้รหัสซีรี่ส์ที่มีชื่อเรียกว่า BlackStone ทั้งนี้ลำโพง Satellite (ต่อไปขอย่อว่า Sat) เป็นรูปแบบลำโพงขนาดเล็ก (จิ๋ว) จึงสามารถติดตั้งในลักษณะใดก็ได้ จะวางบนชั้น หรือแขวนผนัง ก็สะดวก แต่ในความเล็กนี้มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้งานร่วมกับลำโพงซับวูฟเฟอร์ เนื่องจากลำโพง Sat โดด ๆ ไม่สามารถตอบสนองเสียงความถี่ต่ำได้ ด้วยเหตุนี้ในชุด จึงมีลำโพงแอ็คทีฟซับวูฟเฟอร์สำหรับใช้งานร่วมกันอย่างเหมาะเจาะมาด้วย… มาดูรายละเอียดของลำโพงในชุดกันครับ

สำหรับลำโพงในซิสเต็ม BlackStone TL1600 ประกอบไปด้วยลำโพงหลัก TL1 Satellite
ซึ่งใช้งานเป็นคู่หน้า (FL, FR) และเซอร์ราวด์ (SL,SR)

โครงสร้างแผงหน้าในบริเวณติดตั้งทวีตเตอร์ Silk Polymer Dome ขนาด 0.5 นิ้ว ที่เว้าเป็นรูปทรงรีนั้น ผู้ผลิตเรียกว่า Acoustic Lens เพื่อการควบคุมมุมกระจายเสียง ให้ช่วงการตอบสนองความถี่สูงราบเรียบ สร้างมิติเวทีเสียงได้กว้างขว้างและเที่ยงตรง พร้อมกันนี้การวางตำแหน่งไดรเวอร์ที่เรียกว่า Time Aligned จากแนวคิดที่ว่า ระยะเวลาที่เสียงความถี่สูงเดินทางผ่านตัวกลาง (อากาศ) เร็วกว่าย่านเสียงกลางและต่ำ ดังนั้นการติดตั้งทวีตเตอร์โดยเขยิบระยะถอยร่นออกจากระนาบของวูฟเฟอร์ไปทางด้านหลัง ให้อยู่ในแนวที่เรียกว่า Spatial Plane จึงเป็นการชดเชยในเรื่องของคาบเวลา ป้องกันการเกิดปัญหาทางเฟส เมื่อทวีตเตอร์ และไดรเวอร์มิด-เบส ทำงานสัมพันธ์กัน ย่อมจะส่งผลให้เสียงดี (ความกลมกลืน เหมือนเสียงออกมาจากแหล่งกำเนิดเดียวกัน)

ไดรเวอร์มิด-เบส Dynamic Balance Composite Cone ขนาด 2.5 นิ้ว (ลักษณะเดียวกับที่ใช้ในรุ่น RTi แต่อันนี้เล็กกว่า) ประกอบเข้ากับตัวตู้วัสดุผสมสังเคราะห์ ลักษณะโค้งมน เพื่อลดทอนเสียงก้องสะท้อนภายในตัวตู้ (Non-resonant composite) ทั้งนี้ความแข็งแรงของวัสดุตัวตู้นั้น ไม่ธรรมดา เผลอ ๆ จะสูงกว่าไม้ด้วยซ้ำในประเด็นเรื่องของการทนทานต่อแรงกระแทก และสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะประเทศร้อนชื้นแบบบ้านเรา

โครงสร้างด้านในของหน้ากากผ้า จะเห็นการขึ้นรูปบริเวณโดยรอบทวีตเตอร์ให้เว้าตามโครงสร้างของ Acoustic Lens นัยว่าพยายามให้โครงสร้างหน้ากากใกล้เคียงกับลักษณะแผงหน้าตัวตู้มากที่สุด มีการรองโฟมไว้ด้วย เก็บรายละเอียดทุกเม็ดจริง ๆ ด้านล่างเป็นตะแกรงเพื่อเสริมความแข็งแรงป้องกันไดรเวอร์มิด-เบส จากแรงกระแทกภายนอก

ด้านบนจะเห็นรูสำหรับแขวน (Keyhole Slot) เพียงยึดสกรูเข้ากับผนังแล้วก็ยกลำโพงแขวนได้เลยไม่ต้องใช้ขาแขวนใด ๆ แต่หากจะยึดกับอุปกรณ์ขาแขวนเฉพาะกิจ ด้านใน ลึกเข้าไปจะมีรูสกรูสำหรับยึดกับขาแขวนรูปแบบต่าง ๆ ก็ได้เช่นกัน ขั้วต่อลำโพงไบดิ้งโพสต์ รองรับสายเปลือย หางปลา บาบาน่า หากจะเสียบสายลำโพงที่เข้าหัวบานาน่าให้แกะจุกพลาสติกปิดรูออกก่อน อ้อ จากการทดลองพบว่า ไม่สามารถเสียบต่อหัวบานาน่าแบบ BFA นะครับ (เสียบเข้าไปได้นิดเดียว เหมือนรูมันเล็กไป) แต่ถ้าหัวบานาน่าแบบปกติก็ไม่มีปัญหาใด ๆ

ด้านล่างเป็นตำแหน่งท่อเปิด ผมไม่แน่ใจว่ามันทำงานดังเช่นท่อเปิดของลำโพงทั่วไปหรือไม่ กล่าวคือ หากดูที่ปลายท่อด้านในมิได้เปิดโล่ง ทว่าเหมือนถูกอุดปิดเอาไว้ด้วยวัสดุที่ออกนิ่ม แต่แข็ง (คือ ถ้าออกแรงกดมันจะหยุ่น ๆ นิด ๆ แต่เหมือนถูกอัดมาแน่นมาก จนออกแข็ง) คงเป็นอีกเทคนิคหนึ่งของทางผู้ผลิต ที่เรียกว่า Aperiodic tuned port เพียงแต่รูปแบบจะไม่เหมือนกับเทคโนโลยีท่อพอร์ทรูปแบบเฉพาะของ Polk Audio อันคุ้นเคย อย่าง PowerPort ที่เห็นใช้กับลำโพงรุ่นอื่น ๆ ของผู้ผลิตเจ้านี้ (เป็นเทคนิคหนึ่งที่ใช้จูนเสียง เพิ่มศักยภาพการตอบสนองเสียงความถี่ต่ำ โดยการออกแบบโครงสร้างทรงกรวยที่บริเวณปลายท่อเปิด) ผิวตัวตู้ดำเงา ช่วยให้ความรู้สึกหรูหรามากขึ้น (ดูคล้ายกับกรวดแม่น้ำสีดำ ดังชื่อซีรี่ส์)

ติดเม็ดยางรองด้านใต้มาจากโรงงานเลย เพิ่มความมั่นคง ป้องกันการลื่นไถลได้ดี จุดที่จะต้องระวังในระหว่างใช้งานก็คงเป็นเรื่องว่าจะหมิ่นเหม่ต่อการโดนปัดตกหรือไม่ หากวางไว้ริมขอบชั้น หรือบนข้าตั้ง เพราะขนาดที่เล็กและน้ำหนักมิได้มากมายอะไรซึ่งเป็นเรื่องปกติที่ต้องคำนึงถึงสำหรับการใช้งานลำโพงเล็กอยู่แล้ว (หากทำการยึดแขวน ก็จะปลอดภัยในประเด็นนี้มากกว่า)