30 Dec 2013
Review

Big Choices = Small Speakers !? รีวิว Polk Audio BlackStone TL1600


  • ชานม

แนวทางการเซ็ตอัพ Polk Audio BlackStone TL1600

หากว่าท่านกำลังมองหาลำโพงโฮมเธียเตอร์สักชุด อยากให้พิจารณาลำโพงลักษณะ Sat+SUB เป็นตัวเลือกอันดับต้น ๆ เพราะอะไร ? ในทางกายภาพ ผมอธิบายไปแล้วในตอนต้นของบทความ คือ ลำโพงใหญ่มีความต้องการด้านพื้นที่มากกว่า ทั้งพื้นที่การใช้งาน และพื้นที่ตั้งวาง ดังนั้นหากนำมาใช้งานในห้องเล็ก หรือในสถานที่จำกัดที่ไม่เอื้ออำนวยในการตั้งวางลำโพง โอกาสที่เสียงจะออกมาดี คงยาก (หากเสียงดีในที่นี้ อยู่บนพื้นฐานความเที่ยงตรง)

ปัญหาหลักของลำโพงใหญ่ในห้องเล็ก (พื้นที่น้อย) คือ อาการเบสบวม กล่าวคือการตอบสนองเสียงย่านต่ำล้ำโด่งนำย่านอื่นขึ้นมามาก เสียงจึงออกไปทางอื้อ อึง ฟังแล้วคลุมเครือ เร่งวอลลุ่มได้ไม่มาก เพราะเร่งได้สักหน่อยก็ก็รู้สึกอึดอัด ยิ่งถ้าบวกกับปัญหา Room Mode กลายเป็นเสียงครางหึ่ง รบกวนโสตประสาทเข้าไปอีก แล้วจะแก้ปัญหานี้อย่างไร ? หากจะแก้ ควรจะแก้ที่ต้นเหตุดีกว่าไหม ? ในเมื่อลำโพงใหญ่เกินกว่าที่ทาง ก็เปลี่ยนไปใช้ลำโพงเล็กเสียเลย จบ

การใช้ลำโพงเล็ก ก็เท่ากับเป็นการจำกัดช่วงความถี่ตอบสนองของลำโพงที่จะก่อให้เกิดปัญหาจากสภาพแวดล้อม ปัญหาอย่างอาการเบสบวม จึงไม่มีวันเกิดขึ้นกับลำโพง Sat และความถี่ต่ำของซิสเต็มที่ถูกโยกให้เป็นหน้าที่ของซับวูฟเฟอร์ทั้งหมดเพียงจุดเดียว แน่นอนว่ายังอาจก่อให้เกิดปัญหาได้อยู่ แต่ก็เท่ากับเป็นการจำกัดวงของปัญหาให้แคบลง การแก้ไขก็จะทำได้ง่ายกว่า หากจะเกิดปัญหาช่วงความถี่ต่ำล้น ก็จะมีต้นตอจากซับวูฟเฟอร์เพียงจุดเดียวเท่านั้น ด้วยความยืดหยุ่นในจุดนี้ ตำแหน่งตั้งวางจึงกระทบกับโทนัลบาลานซ์ของลำโพง Sat น้อยกว่าลำโพงขนาดปกติมาก การจัดวางก็จะง่ายกว่า กล่าวคือไม่เกี่ยงสภาพแวดล้อมมากนัก

ประด็นสำคัญที่สุดอยู่ตรงที่ ความกลมกลืน ระหว่างลำโพง Sat กับ SUB นี่แหละครับที่ท้าทาย เพราะมันจะเป็นตัวกำหนดคุณภาพเสียงของซิสเต็มลักษณะนี้เลยทีเดียว ทั้งนี้หากจะว่าระยะลำโพงห่างจากผนัง ไม่กระทบกับการตอบสนองเสียงความถี่ต่ำของลำโพง Sat บ้างเลย ก็คงไม่ถูกต้องเสียทั้งหมด ในกรณีของ TL-1 Sat การวางแบบลอยตัวบนชั้นวาง หรือขาตั้ง กล่าวคือเว้นระยะห่างจากผนังด้านหลังมาก พบว่ากระทบกับการให้น้ำหนักช่วงเบสต้นจนถึงช่วงกลางต่ำ ราว 130Hz และอาจกระทบขึ้นไปจนถึงราว 300Hz อยู่บ้าง อันจะส่งผลถึงช่วงรอยต่อกับเสียงของลำโพงซับวูฟเฟอร์ ทั้งความกลมกลืน และโทนัลบาลานซ์ แต่ระดับของปัญหาก็ยังน้อยกว่าปัญหาเบสย่านต่ำล้นบวมจากการใช้งานลำโพงใหญ่วางชิดผนัง ซึ่งหากเกิดแล้วจะทำการแก้ไขได้ยากกว่า ทั้งนี้รูปแบบตั้งวางที่ดีที่สุดสำหรับการใช้งาน TL-1 คือ “แขวนชิดผนัง” อย่างไรก็ดีในบางกรณี หากสภาพไม่เอื้ออำนวย และต้องการวาง TL-1 แบบลอยตัว ก็มิได้มีปัญหาอะไร ทว่าต้องปรับเซ็ตละเอียดกันนิดหน่อย

ในบทความนี้ ท่านจะเห็นผมวางในรูปแบบห่างจากผนังทั้งหมด ซึ่งเป็นเพราะไม่อยากวางลำโพงคู่หน้าให้ถอยไปอยู่หลังระนาบของทีวีมากจนเกินไป บวกกับข้อจำกัดที่ไม่สามารถมารถนำทีวี รวมไปถึงชุดลำโพง ขึ้นแขวนผนังได้ การวางแบบลอยตัวก็มิใช่จะใช้ไม่ได้ วิธีแก้ปัญหาเบื้องต้น คือ อาจใช้วิธีตัด Crossover (HPF) ของลำโพงหลักให้สูงขึ้น แน่นอนต้องสัมพันธ์กับ LPF ของซับวูฟเฟอร์ แต่ผู้ผลิตทำการกำหนดจุดตัดสูงสุดไว้ที่ 160Hz (ถึงบายพาสครอสโอเวอร์ก็จะเป็นค่านี้) ความยืดหยุ่นจึงน้อยลงไปบ้าง เพราะไม่สามารถชดชเยจุดตัดซับวูฟเฟอร์ให้สูงกว่านี้ได้ แต่ถ้าปรับจูนดี ๆ โดยไปชดเชยในจุดอื่น ก็ไม่มีปัญหาอะไร ทั้งนี้อีกประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความกลมกลืนที่สำคัญ ต้องพิจารณา คือ เรื่องของเฟสที่สัมพันธ์กันของ Sat และ SUB ในเบื้องต้นสามารถปรับชดเชยเปรียบเทียบระหว่าง 0 กับ 180 องศา ที่ซับวูฟเฟอร์ได้

หมายเหตุ: เมื่อนำ TL1600 ไปใช้งานร่วมกับ AVR รุ่นใหม่ ๆ แนะนำให้ใช้ระบบ Auto Calibration ในการตั้งค่ากำหนดของลำโพง ซึ่งจะสะดวกกว่ามาก และน่าจะให้ผลลัพธ์ตอบสนองการใช้งานได้ดีทีเดียวในประเด็นที่กล่าวไปในย่อหน้าข้างต้น ซึ่งออกจะยุ่งยากไปสำหรับท่านที่เพิ่งใช้งานระบบโฮมเธียเตอร์ครับ ทั้งนี้หากระบบได้มาตรฐาน ก็ให้ผลลัพธ์ที่น่าสนใจไม่น้อยเช่นกัน

Sound – เสียง

หากยังไม่พ้นเบิร์นอิน เสียงจะไม่เปิดเผยนัก เวทีเสียงค่อนข้างหุบแคบ และเมื่อใช้งานในแบบมัลติแชนเนล จะพบว่าเสียงจากลำโพงแต่ละแชนเนลจะไม่กลมกลืนกันดีนัก (ทั้งเสียงจากลำโพงหลักด้วยกัน ไปจนถึงความกลมกลืนกับซับวูฟเฟอร์ เหมือนโทนัลบาลานซ์ของทั้งซิสเต็มยังแปลกแยกอยู่) แต่เมื่อพ้นจากการใช้งานไปสักราว 60 ชม. ก็เริ่มดีขึ้นอย่างชัดเจน

ถึงแม้ภายนอกจะเห็นเป็นลำโพงเล็ก ๆ แต่คงต้องดู AVR ที่จะนำมาใช้งานด้วย ในช่วงแรกผมทดลองนำไปแทนชุดลำโพงของ HT-S5400 ถึงแม้ TL1600 จะให้บางอย่างที่ดีกว่า แต่พิจารณาโดยรวมแล้ว เสียงเดิม ๆ ของ HT-S5400 กับลำโพงในชุดลงตัวกว่า แต่ถ้าจะสรุปว่าเสียงของ TL1600 ด้อยกว่า ก็ผิดถนัด !

เมื่อเปลี่ยน AVR ไปเป็น Onkyo TX-SR608 และ TX-NR1008 พบว่า เสียงเปิดเป็นอิสระขึ้นกว่าเดิม ในขณะที่ย่านต่ำก็หนักแน่นอิ่มเอิบมากยิ่งขึ้น

การทดสอบ เริ่มต้นจากการทดลองใช้งานในห้องรับแขกธรรมดา ๆ พื้นที่ไม่มาก ซึ่งน่าจะเหมาะกับลำโพงแนวนี้เป็นอย่างยิ่ง โดยวางบนชั้นสูง 77.5 ซม. สามารถวางลำโพงคู่หน้าห่างจากกันได้มากที่สุดราว 110 ซม. เซ็นเตอร์อยู่ตรงการ ซึ่งเป็นรูปแบบที่สามารถวางได้ดีที่สุดที่สถานการณ์เอื้ออำนวย ไม่เน้นสูตรการวางอะไรมากนัก ทั้งนี้ผลลัพธ์ที่ได้นั้นน่าสนใจเลยทีเดียว เติมเต็มอรรถรสจากเพลงหรือภาพยนตร์ได้โดดเด่นเหนือกว่าเสียงจากโทรทัศน์มากมาย โดยรวมตอบสนองได้อย่างน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง หากเป็นรูปแบบการใช้งานทั่ว ๆ ไปในห้องรับบแขกสบาย ๆ ผมว่าโอเคเลยล่ะ

ต่อมาทดลองในสภาพใช้งานรูปแบบอื่นดูบ้าง รูปนี้เป็นแนวทางการวางตำแหน่งลำโพง ตามคำแนะนำของ Polk Audio ซึ่งระยะห่างของลำโพงคู่หน้า จะเท่ากับระยะห่างจากจุดนั่งฟัง แบบสามเหลี่ยมด้านเท่า ส่วนลำโพงซับวูฟเฟอร์ให้จัดวางโดยมีระยะห่างจากผนังแต่ละด้านอย่างน้อย 6 นิ้ว (หรือ 15 ซม.) ลำโพงเซอร์ราวด์วางไว้ด้านข้าง เยื้องไปด้านหลังเล็กน้อย

ด้วยแนวทางข้างต้น ในห้องทดสอบจึงได้ระยะลำโพงคู่หน้าห่างกันราว 250 ซม. และได้ปรับความสูงเป็น 90 ซม. จากพื้น โทอินลำโพงเข้าหาจุดนั่งฟัง และถอดหน้ากากออก รูปแบบนี้พบว่าให้เวทีเสียงเปิดเผยกว้างขวาง หากเซ็ตอัพจนเสียงกลมกลืนกับซับวูฟเฟอร์แล้ว การถ่ายทอดสเกลเสียงจะใหญ่โตกว่าขนาดลำโพงอย่างคาดไม่ถึง เสียงออกไปทางผ่อนคลาย ไม่รุกเร้า ทว่าให้ความหนักแน่นดุดันไม่น้อยทีเดียว เสียงความถี่ย่านต่ำพอเพียง และลงได้ลึกกว่าที่คาดหากดูจากขนาด พละกำลังของซับวูฟเฟอร์ส่งผลให้ซิสเต็มนี้ตอบสนองการใช้งานได้ทั้งชมภาพยนตร์ หรือจะฟังเพลงในรูปแบบ 2.1 ก็น่าดีไม่น้อย มิติเสียงโดดเด่น แม้ว่าหากจับผิดจะพบว่าความต่อเนื่องย่านกลางต่ำมีรอยต่ออยู่บ้าง และการถ่ายทอดพลังเสียงของนักร้อง หรือการโหมของวงดนตรีจะยังไม่ถึงกับเพอร์เฟ็กต์เต็มที่ (เป็นของจำกัดของไดรเวอร์ที่มีขนาดไม่ใหญ่ ปริมาตรการผลักมวลอากาศไม่มาก) แต่นับว่าโดยรวมให้ความพึงพอใจในระดับคุ้มค่าทีเดียว

จากผลการใช้งานทั้ง 2 ลักษณะให้ข้อสังเกต ที่น่าพิจารณา คือ
– หากท่านเป็นผู้ฟังที่จับประเด็นซีเรียสยิ่งขึ้น อาจจะพบว่าการวางลำโพง Sat บนชั้นที่มีระยะความสูงไม่มากนัก ส่งผลให้การถ่ายทอดมิติด้านสูงอยู่ในระดับใกล้เคียงกับความสูงของลำโพงเอง ดังนั้นจึงเท่ากับความสูงของนักร้องอาจจะอยู่พอ ๆ กับระดับคนนั่งนั่นเอง ถ้าต้องการความสมจริงมากขึ้น (ยืนร้อง) การปรับปรุงตัวแปรแวดล้อมให้เหมาะสมกับการใช้งาน เช่น การกำหนดความสูงของลำโพงคู่หน้า ให้อยู่ที่ราว 90 – 110 ซม. (จากพื้น) จะให้ระดับของความสมจริงในมิติเวทีเสียงสูงขึ้นอีก ซึ่งความสูงระดับนี้ ก็คงต้องวางบนขาตั้งลำโพงแล้วล่ะครับ (คงไม่มีชั้นวางทีวีที่สูงขนาดนี้ หากมี ระยะทีวีก็จะสูงเกินไป ต้องแหงนหน้าดูป่าวเนี่ย 55)  แต่ถ้าแขวนผนัง ก็กำหนดความสูงได้เอง ไม่ยากครับ

หมายเหตุ: ระยะความสูงของเซ็นเตอร์มีผลบ้าง แต่ไม่มากเท่าคู่หน้า ขอให้อยู่ในตำแหน่งใกล้กับทีวี จะสูงหรือต่ำกว่าคู่หน้าบ้างก็ไม่เป็นไร แต่ความสูงไม่ควรห่างกันเกิน 60 ซม. ดังนั้นหากปรับระดับลำโพงคู่หน้าได้ที่ ความสูงของมิติเสียงด้านหน้าก็จะดีขึ้นมาเอง ส่วนลำโพงเซอร์ราวด์นั้น ควรอยู่สูงกว่าคู่หน้าขึ้นไปอีกสเต็ปหนึ่ง อาจเริ่มที่ราว 130 – 170 ซม. (จากพื้น)

– แม้ว่าผู้ผลิตจะออกแบบโครงสร้างหน้ากากผ้าให้ช่วยในเรื่องของมุมกระจายเสียงแล้ว อย่างไรเสีย ในการใช้งานจริงพบว่าการถอดหน้าออก ให้ผลลัพธ์ทางเสียงที่ดีกว่าในหลาย ๆ ด้าน มุมกระจายเสียงของ TL1 จะถูกเปิดเผยออกมาได้เต็มศักยภาพสูงสุด การขึ้นรูปมิติ ขอบเขตเวทีเสียงจะกว้างขึ้น และปลายเสียงยังเปิดกระจ่างชัดขึ้นอีกด้วย