30 Dec 2013
Review

รีวิว Polk Audio PSWi225 – พลังเคลื่อนย้ายจักรวาล… ศักยภาพจากซับวูฟเฟอร์ไร้สาย !!!


  • ชานม

Wireless Powered Subwoofer

Polk Audio PSWi225

พลังเคลื่อนย้ายจักรวาล…
ศักยภาพจากซับวูฟเฟอร์ไร้สาย !?

สายสัญญาณนับเป็นส่วนประกอบสำคัญสำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิด จากหน้าที่ตัวกลางส่งผ่านสัญญาณระหว่างอุปกรณ์ แน่นอนว่าหากจำนวนการใช้งานอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพิ่มมากขึ้นเท่าไหร่ จำนวนเส้นสายต่างๆ ในระบบย่อมต้องเพิ่มจำนวนขึ้นมากเท่านั้น หากมากไป หรือบริหารจัดการไม่ลงตัว ความรกรุงรังอาจเป็นปัญหาปวดหัวตามมา

ประโยชน์ของการ “ไม่มีสาย (ยาวๆ)” สำหรับระบบโฮมเธียเตอร์คืออะไร? วันนี้เราจะมาหาคำตอบกัน โดยเริ่มจากส่วนของ “ลำโพงซับวูฟเฟอร์” ที่แม้มิใช่อุปกรณ์ในระบบที่มีความจำเป็นมากที่สุด แต่ก็ขาดไม่ได้ในการสร้างความบันเทิงครับ…

การจัดวางเครื่องเคราอุปกรณ์โฮมเธียเตอร์มักจะวางรวมกลุ่มอยู่ใกล้กัน เพื่อความสะดวกในเรื่องของการเชื่อมต่อและความสวยงาม ปกติความยาวสายสัญญาณสัก 1 เมตรก็น่าจะพอ ส่วนซับวูฟเฟอร์นั้น จริงอยู่ว่าตำแหน่งใช้งานในบ้านส่วนใหญ่ อาจอยู่ไม่ห่างจากชุดเครื่องเสียงมากนัก ถึงกระนั้นสายสัญญาณสำหรับซับวูฟเฟอร์ก็จำเป็นต้องมีความยาวกว่าสายสัญญาณของอุปกรณ์อื่น และอันที่จริงถึงแม้จะวางซับฯ ไว้ใกล้ซิสเต็มได้ แต่ก็ไม่ควรใกล้เกินไป (หากซีเรียสเรื่องการรบกวน ไม่ว่าจะเป็นสนามแม่เหล็ก หรือแรงสั่นสะเทือน)

ในการจัดวางซับวูฟเฟอร์บางลักษณะ อาจต้องลากสายกันเกือบรอบห้อง ค่าใช้จ่ายในส่วนของสายสัญญาณจะแปรผันตามความยาวสาย หากลดทอนในจุดนี้ได้ ย่อมลดค่าใช้จ่าย และเพิ่มความสะดวกในการติดตั้งซับวูฟเฟอร์ได้มากยิ่งขึ้น…

ปกติสายสัญญาณซับวูฟเฟอร์น่าจะยาวสัก 3 ม. หรือสั้นที่สุดก็ไม่น่าน้อยกว่า 2 ม. เพื่อให้มีความยืดหยุ่นเพียงพอ ไม่ตึง จนจำกัดตายตัวเกินไปสำหรับตำแหน่งตั้งวาง และในกรณีพิเศษ อย่างการเพิ่มจำนวนซับวูฟเฟอร์ในระบบ (ตัวที่ 2, 3, 4, …) จากเหตุผลเพื่อเติมเต็มเสียงให้ครอบคลุมพื้นที่ห้องขนาดค่อนข้างใหญ่ หรือแม้แต่การขยายจุดรับฟังไปยังโซนอื่นภายในบ้าน (Multi Zone) ตำแหน่งของซับวูฟเฟอร์เหล่านั้น ย่อมอยู่ห่างจากชุดเครื่องเสียงมาก หากใช้วิธีลากสายสัญญาณแบบเดิมๆ งบประมาณสายสัญญาณซับวูฟเฟอร์ จะเพิ่มสูงขึ้น ผลกระทบอื่นที่ตามมา หากสายยาวมาก แต่โครงสร้างสายมีคุณภาพต่ำ ย่อมส่งผลกระทบลดทอนคุณภาพเสียง สายดีราคาย่อมไม่ถูก นี่ยังไม่รวมถึงความยุ่งยากในการเก็บซ่อนสายรกๆ ยาวๆ นั้น ให้เรียบร้อย

ดีกว่าไหม หากห้องโฮมเอนเตอร์เทนเมนต์จะดูสะอาดตา
ไม่ต้องปวดหัวรำคาญตา กับสายยาวๆ ระโยงระยางมากมาย…

ประโยชน์ที่จะได้รับจาก “ซับวูฟเฟอร์ไร้สาย” !

แนวทางของ Wireless Subwoofer นั้น สามารถแก้ปัญหาข้างต้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประการแรก คือ งบประมาณที่จะประหยัดลงอย่างเห็นได้ชัด จากค่าสายสัญญาณซับวูฟเฟอร์รกๆ ที่ลากไปตามพื้นห้อง (หรือจะร้อยตามผนัง ขึ้นบนฝ้า ก็ตามแต่สะดวก ซึ่งต้องเผื่อความยาวเพิ่มมากขึ้นไปอีก)

ประการที่สอง แน่นอนว่า ขั้นตอนอันน่าปวดหัวอย่างการเก็บซ่อนสายให้ดูดี (ไมว่าจะทำโครงสร้างบิลท์อินปิดบังหรือไม่) ก็จะหมดไปด้วย

ประการที่สาม ความสะดวกอื่นๆ ที่จะตามมา คือ ความยืดหยุ่นในการจัดวางซับวูฟเฟอร์ จากระยะที่สัญญาณไวร์เลสไปถึง รัศมีราว 10 ม. (ในพื้นที่เปิดโล่ง) จะวางในตำแหน่งใดก็ได้ตามสะดวก ไม่ต้องยึดติดกับข้อจำกัดจากระยะความยาวสายสัญญาณอีกต่อไป ประโยชน์ในจุดนี้ หากนำไปประยุกต์กับแนวคิด “การปรับจูนตำแหน่ง” เพื่อให้ได้เสียงดีที่สุดตามอุดมคติ (โดยอิงตามสภาพห้อง) ก็จะดำเนินการได้ง่ายขึ้น…

Design – การออกแบบ

Polk Audio PSWi225 คือ Wireless Subwoofer ที่สนองการใช้งานตามแนวคิดข้างต้นได้เป็นอย่างดี อุปกรณ์ก็ไม่มีอะไรซับซ้อน หรือแตกต่างจากซับวูฟเฟอร์ทั่วไปนัก

อุปกรณ์ในชุด ประกอบไปด้วย Wireless Transmitter หรือ “ตัวส่งสัญญาณ” แบบไร้สาย อาศัยพลังงานจากไฟ DC 5V ผ่านปลั๊กอแดปเตอร์ และอุปกรณ์ที่ขาดไม่ได้ คือ ตู้ลำโพงซับวูฟเฟอร์ ซึ่งมาพร้อมกับ “ตัวรับสัญญาณ” ติดตั้งอยู่ภายในตัวตู้ เรียกรวมๆ ว่า Wireless Subwoofer นั่นเอง

มาดูกันที่พระเอกของงานนี้กันก่อน เพราะว่าถ้าขาดอุปกรณนี้ คงจะไม่สามารถใช้งานแบบ “ไร้สาย” ได้

Wireless Transmitter หรือตัวส่งสัญญาณ (เสียง) แบบไร้สาย อุปกรณ์นี้ทำหน้าที่แปลงสัญญาณออดิโอให้เป็นสัญญาณวิทยุ ใช้พื้นฐานคลื่นความถี่ 2.4GHz ซึ่งปัจจุบันเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ลามมาถึงอุปกรณ์ในแวดวงออดิโอต่างก็ใช้พื้นฐานคลื่นความถี่นี้กันอย่างแพร่หลาย ดังเช่นหูฟังไร้สาย ชุดเครื่องเสียงที่รับสัญญาณออดิโอแบบไรสาย อุปกรณ์เครื่อข่าย Wi-Fi ความเร็วสูงก็คาบเกี่ยวอยู่เช่นกัน

ขนาดกล่อง Transmitter ในชุด PSWi225 เล็กกะทัดรัด เพียง “ฝ่ามือ” เท่านั้น ตัวถังเป็นวัสดุสังเคราะห์สีดำรูปทรงเรียบง่าย น้ำหนักเบา ด้านบนปั๊มโลโก้ Polk Audio ส่วนด้านหน้าไม่มีปุ่ม หรือจอแสดงผลใดๆ มีเพียงไฟแสดงสถานะ LED สีฟ้าที่กึ่งกลางส่วนล่าง บ่งบอกว่าทำงานอยู่หรือไม่ จะติดสว่างขึ้นทันทีเมื่อเสียบปลั๊ก ไม่มีสวิทช์เพาเวอร์ On/Standby เพื่อเปิดหรือปิดการทำงาน แต่ด้วยอัตราการใช้พลังงานที่ต่ำมากจึงอาจไม่มีความจำเป็นต้องมีสวิทช์ปิดเมื่อเลิกใช้งาน กระนั้นหากไม่ใช้เป็นเวลานาน ควรถอดปลั๊กไฟออกจากเต้ารับดีกว่าครับ

ด้านหลังเป็นจุดเชื่อมต่อสายสัญญาณ Line-level เพื่อรับสัญญาณเสียงจาก AV Processor/AVR (ผ่านสัญญาณ Mono LFE) หรือ Hi-Fi Preamplifier (ผ่านสายสัญญาณ Stereo 2ch) เช่นเดียวกับซับวูฟเฟอร์ทั่วไป แต่อุปกรณ์ชิ้นนี้จะทำการแปลงสัญญาณเสียงดังกล่าว ให้กลายเป็นคลื่นวิทยุ และส่งต่อไปยัง Wireless Subwoofer ทดแทนการใช้เส้นสายยาวๆ ให้รกรุงรัง… ถัดมาเป็นสวิทช์สำหรับปรับเลือกช่องสัญญาณวิทยุ หรือ Wireless ID (ค่าเริ่มต้น คือ ID1 รายละเอียดจะกล่าวถึงอีกครั้งในขั้นตอนติดตั้ง) ส่วนขวามือสุด คือ ช่องเสียบไฟ DC 5V

สามารถจัดวางกล่อง Transmitter ได้หลายแนวทาง ไม่ว่าจะวางบนพื้นเรียบ เช่น บนชั้น หรือโต๊ะ หรือจะแขวนผนังก็ได้ โดยส่วนล่างจะมีรูสำหรับการแขวนเข้ากับสกรู