07 Sep 2022
Review

รีวิว LG 65C2 ภาพแจ่มดำดีระดับ “OLED evo” พร้อมจัดเต็มลูกเล่นความบันเทิงครบครัน


  • ชานม

ภาพ

ปีก่อน LG ให้ข้อมูลของ OLED Evo ว่าเป็นอีกหนึ่งเจนเนอเรชั่นของ WRGB OLED Panel ที่ปรับปรุงโครงสร้างเลเยอร์เรืองแสงภายในจอภาพ เพื่อให้ได้คุณสมบัติด้านภาพที่ดีกว่าเดิม โดยมีการเพิ่ม (1) ชั้นเรืองแสงสีเขียว (Green emitter) และ (2) ปรับเปลี่ยนสารประกอบในส่วนของชั้นเรืองแสงสีแดงและสีน้ำเงิน (Red & Dual Blue emitters) จนได้ความสว่างและแสงสีที่โดดเด่นขึ้น เริ่มใช้ครั้งแรกกับ OLED TV รุ่นปี 2021

ทาง LG แจ้งว่า ในปี 2022 นี้ มีการใช้งาน “OLED Evo” Panel กับ C2 ทุกรุ่น-ทุกขนาด อย่างไรก็ดีการยืนยันข้อมูลตรงนี้ทำได้ยาก เพราะเป็นโครงสร้างส่วนลึกที่อยู่ข้างในพาเนล แต่จากผลการวัดระดับความสว่างเปรียบเทียบกัน พบว่า C2 มีความแตกต่างจากรุ่นปีที่แล้ว (C1) พอสมควร โดยเฉพาะกับการแสดงผลแบบ HDR

*อ้างอิงกับโหมดภาพที่ให้ระดับความสว่างสูงที่สุด

จากข้อมูลนี้น่าจะพออนุมานได้ว่า ประสิทธิภาพที่สูงกว่าของ 65C2 อาจจะมาจาก OLED Evo Panel จริง….

และสำหรับท่านใดที่อยากทราบว่า C2 รุ่นขนาดจอภาพแตกต่างกัน ภาพจะมีความแตกต่างกันหรือไม่ ? ผมทดลองวัดความสว่าง 42C2, 65C2 และ 83C2 เปรียบเทียบกัน ได้ผลลัพธ์ดังนี้ครับ

*เป็นการวัดเบื้องต้นแบบคร่าว ๆ, อ้างอิงเฉพาะการแสดงผลแบบ HDR

– SDR –

โหมดภาพของ C2 ที่เหมาะกับรับชม SDR Content จากระดับความผิดเพี้ยนของแสงสีต่ำ มี 4 โหมด ต่างกันที่ Cinema/ISF Expert Bright/Filmmaker Mode เหมาะใช้งานในห้องสภาพแสงทั่วไป ส่วน ISF Expert Dark ความสว่างจะเพลาลงกว่า 2 โหมดข้างต้นเล็กน้อย เหมาะกับสภาพแวดล้อมที่มีแสงรบกวนไม่มาก

จากการทดสอบพบว่า การรับชมกับสภาพห้องทั่วไป Cinema/ISF Expert Bright/Filmma อาจติดดำจมอยู่สักหน่อย ส่งผลให้การแยกแยะรายละเอียดในส่วนมืด (Shadow Details) ทำได้ยาก แต่ก็แก้ไขได้ง่าย ๆ โดยชดเชย Screen Brightness ขึ้นสัก +6 ถึง +9 และหากต้องการเร่งความสว่างโดยรวมให้สูงขึ้นเพื่อสู้แสง สามารถปรับที่ตัวเลือก OLED Light เพิ่มได้อีกเล็กน้อย

ส่วนการใช้งานตอนกลางคืน (ปิดไฟในห้องหรือเปิดไฟสลัว) แนะนำให้ปรับลด OLED Light ลงจนได้ความสว่างที่เหมาะสมไม่แสบตา หรือจะทดลองเปิดใช้ Light Sensor เพื่อปรับระดับความสว่างอัตโนมัติอิงตามสภาพแสงแวดล้อมดูก็ได้

<กดที่ Tab ด้านบน เพื่อดูผล SDR Calibration Report>

65C2 ตัวที่ทำการทดสอบ พบว่า โหมดภาพ Filmmaker มีความเที่ยงตรงของสีสันดีที่สุดตามคาดเมื่อเทียบกับโหมดอื่น อุณหภูมิสีเฉลี่ยอยู่ที่ราว 5949K ติดโทนอุ่นไปสักหน่อย แต่ค่าความผิดเพี้ยนสมดุลแสงขาวเฉลี่ย (Grayscale Avg dE) 5.3 ขอบเขตสีก็ทำได้เที่ยงตรงอิงมาตรฐาน Rec.709 ค่าความผิดเพี้ยน (Color Space Avg dE) 3.8

หากปรับภาพเชิงลึกก็ย่อมจะให้ความเพอร์เฟกต์ยิ่งกว่า ค่าความผิดเพี้ยนสมดุลแสงขาว (Grayscale Avg dE) ลดต่ำลงมาเหลือเพียง 0.7 เท่านั้นเอง ภาพติดโทนอุ่นน้อยลง ส่วนค่าความผิดเพี้ยนสี (Color Space Avg dE) จะลดลงเหลือเพียง 1.6

Rec.709 Color Checker หลังดำเนินการปรับภาพ ก็ให้ผลลัพธ์ยอดเยี่ยม ค่าความผิดเพี้ยนสีโดยรวมแบบเฉลี่ย (Saturation Avg dE) ที่ 1.7 (Max dE = 3.6)

– HDR –

การแสดงผล HDR รุ่น 65C2 รองรับมาตรฐาน Static HDR ทั้ง HDR10 และ HLG ส่วน Dynamic HDR รองรับมาตรฐาน Dolby Vision โดยสามารถเร่งระดับความสว่าง HDR Peak Brightness (10% Window) ได้ที่ 870 nits ในโหมด Vivid ขณะที่โหมดความเที่ยงตรงสูงอย่าง Cinema/Filmmaker ความสว่างจะเพลาลงมาอยู่ที่ 810 nits – สูงกว่ารุ่นปีที่แล้วอย่าง C1 แต่ต่ำกว่า G1 อยู่เล็กน้อย

<กดที่ Tab ด้านบน เพื่อดูผล HDR Calibration Report>

ความเที่ยงตรงของสีสัน HDR ในโหมด Filmmaker ของ 65C2 นับว่าอยู่ในเกณฑ์ดี (Grayscale Avg dE 4.9, Colorspace Avg dE 3.6) ส่วนขอบเขตสี HDR Color Space ทำได้ครอบคลุม 89.55/94.82% ของมาตรฐาน DCI-P3 (xy/uv) หรือเทียบเท่า 66.77/74.23% Rec2020 (xy/uv)

อย่างไรก็ดี หากใช้งานในห้องที่มีแสงรบกวน ควรชดเชย Screen Brightness ขึ้นเล็กน้อย (เช่นเดียวกับที่แนะนำให้ทำกับโหมดภาพ SDR) จะช่วยให้การแยกแยะรายละเอียดส่วนมืด (Shadow Dteails) ทำได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

และเช่นเคย ว่าหลังปรับภาพ HDR ในโหมด Filmmaker ให้ความเที่ยงตรงยอดเยี่ยม (Grayscale Avg dE 0.6, Colorspace Avg dE 1.8) ความสว่าง HDR Peak Brightness จะลดลงอยู่ที่ 760 nits

แม้ความดำระดับ Perfect Black จะทำได้ดีไม่ต่างกับ C1 แต่ด้วยความสว่างที่สูงกว่าของ C2 จึงขับเน้นแสงสีและระดับคอนทราสต์ได้โดดเด่นขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง

กรณีที่รับชม Dolby Vision HDR จะไม่มี Filmmaker Mode แต่สามารถเลือกใช้โหมดที่ให้สีสันเที่ยงตรงอย่าง DV Cinema หรือ DV Cinema Home ก็ได้ ความต่างคือ DV Cinema Home จะชดเชย Highlight/Shadow Details ให้เหมาะกับห้องที่มีแสงรบกวนมากกว่า ขณะเดียวกันก็เปิดโอกาสให้ทำการปรับภาพละเอียดเพื่อให้การแสดงรายละเอียดในที่มืด ไปจนถึงค่าแสงสีต่าง ๆ มีความถูกต้องใกล้เคียงอุดมคติยิ่งขึ้น

กรณีที่รู้สึกว่าภาพ Dolby Vison HDR จ้าเกินไป ดูแล้วแสบตาในบางสภาพห้อง สามารถใช้คุณสมบัติ “Dolby Vision IQ” ระบบ AI และเซนเซอร์วัดแสงของทีวี จะปรับระดับความสว่างของภาพให้อัตโนมัติอิงตามสภาพแสงแวดล้อม สามารถเปิดใช้งานได้ที่ตัวเลือก General > AI Service > AI Brightness Settings

ตัวเลือกแทรกเฟรมภาพเคลื่อนไหว TruMotion จะใช้ตัวเลือก “Cinematic Movement” (ระดับการแทรกเฟรมต่ำ เน้นความเป็นต้นฉบับ) หรือจะปรับจูนเองผ่านตัวเลือก User Selection ก็ดี