31 Oct 2022
Review

รีวิว LG 65OLEDG2 ดีไซน์สวยติดผนัง ภาพตัวท็อป เกรด OLED evo


  • Dear_Sir

Picture – ภาพ

LG 65OLEDG2 ก็อย่างที่รู้กันคือมาแทนตัว G1 ของปีที่แล้ว เป็นทีวี OLED ความละเอียด 4K รองรับ HDR แบบ Dolby Vision / Dolby Vision IQ จุดเด่นของพาเนล OLED นอกเหนือไปจากความดำ ที่ดำสนิท ชนิดหาตัวเองไม่เจอ ก็คือสไตล์ภาพที่ใส เปิดสว่าง มุมมองดี เพียงแต่จะขุดรายละเอียดได้ดีแค่ไหน อันนี้เราต้องมาดูกัน เพราะนอกจากเรื่องพาเนลแล้วยังขึ้นกับชิปประมวลผลด้วย อย่างในปีนี้ก็ได้ใช้ชิป α9 Gen5 ที่มีความฉลาดในการอ่านสัญญาณมากขึ้น คอนเทนต์ที่ผู้เขียนได้หยิบเอามาทดสอบในเรื่องของรายละเอียดภาพโดยเฉพาะ คือเรื่อง LOU จาก Netflix ในช่วงที่ตัวละครหลักกำลังจะไปสตาร์ทรถเพื่อหลบหนีในเวลากลางคืน

จากที่สังเกตดูพบว่ารุ่นนี้สามารถเกลี่ยแสงได้เนียนขึ้น รายละเอียดในที่มืดก็ทำได้ดี จุดไหนที่ควรเห็นก็ต้องเห็น จุดไหนที่ไม่ควรเห็นก็ไม่เห็น อย่างจุดที่ต้องเห็นก็เช่นแสงไฟที่ส่องเข้ามากระทบตัวละครแล้วค่อย ๆ ไล่ความสว่างลงไปจนถึงมืดสนิท ยกตัวอย่างเช่นดีเทลของเสื้อผ้า หมวก เส้นผมต่าง ๆ พอจุดถึงที่ต้องมืดก็มืดสนิทไม่โพลน สิ่งเหล่านี้พอรวมกันก็ยิ่งทำให้ภาพดูมีมิติไม่แบน ส่วนโหมดภาพที่แนะนำให้ใช้ในการรับชมคอนเทนต์แบบ HDR คือ Filmmaker Mode เช่นเคย

ดูภาพนี้ยิ่งเห็นชัดขึ้น เกลี่ยแสงได้ดีจริง ๆ

ด้วยความที่ซีรีส์ G2 จัดเป็น OLED TV ระดับท็อป พาเนลที่ใช้จึงไม่ใช่พาเนล OLED ธรรมดา แต่เป็น OLED evo ที่พัฒนามาจากพาเนล WRGB OLED เดิม โดยจุดเด่นที่สุดคือในเรื่องของความสว่างสูงสุด หรือ Peak Brightness ที่ทำได้มากขึ้น จึงทำให้ตัวทีวีสามารถสู้แสงได้มากกว่าเดิม ภาพ HDR เจิดจรัสมากขึ้น และจากที่ลองใช้เครื่องมือในการวัดก็พบว่าเพิ่มสูงขึ้นจริง อย่างในโหมด Vivid สามารถวัดค่า Peak Brightness ได้ราว 1008 nits แต่แน่นอนเวลาใช้งานจริงเราต้องการภาพที่สบายตา ถ้าสลับมาใช้ Filmmaker Mode ก็จะได้อยู่ที่ราว 961 nits ส่วนขอบเขตสีสามารถทำได้กว้างราว 97.51% ของมาตรฐาน DCI-P3

การชมคอนเทนต์ประเภท SDR ก็จะมีโหมดภาพมาตรฐานที่นิยมใช้งานอย่าง Filmmaker Mode, Cinema, ISF Expert Bright / Dark เพียงแต่การปรับจูนอุณหภูมิสีของโหมดภาพเหล่านี้จะเฉลี่ยอยู่ที่ 5700K ซึ่งถือว่าติดโทนอุ่นเกินไปหน่อย ถ้าถามว่าใช้งานได้ไหม ? ตอบว่าได้ครับ เพราะโทนที่ออกมาอยู่ในช่วงที่ยอมรับได้ แต่พอได้ปรับภาพแล้วค่าที่ออกมาถือว่าดีมาก อุณหภูมิสีอยู่ที่ 6498K ค่าเฉลี่ยความผิดเพี้ยนของ Grey Scale และ Color ก็วัดได้เพียงแค่ 1 เท่านั้น

ด้านการอัปเสกลภาพ จากที่ดูรายการทีวีออนไลน์ หรือหนังที่ความละเอียดภาพไม่ถึง 4K หากดูแบบไม่จับผิด และดูในระยะที่เหมาะสม ภาพเป็นรองในระดับ 2-3 สเตป (ขึ้นอยู่กับหนังใหม่หรือเก่า) ถือว่าทำได้ค่อนข้างดีทีเดียว

ด้านภาพเคลื่อนไหว หรือ TruMotion โหมดอัตโนมัติอย่าง Cinematic Movement ก็ทำได้ค่อนข้างดีอยู่แล้ว เพียงแต่จะติดกระชากไปสักนิดในบางจังหวะ ถ้าอยากให้ดียิ่งขึ้นแนะนำว่าเลือกปรับเอง เลือก De-Judder ระดับ 5 และ De-Blur ระดับ 8

*ค่าดังกล่าวอ้างอิงจากขนาด 65″

ด้วยคุณสมบัติของ HDMI 2.1 ทำให้ LG 65OLEDG2 รองรับสัญญาณภาพ 4K@120Hz, VRR (Variable Refresh Rate) ด้วย ซึ่งเข้ากันได้กับทั้งค่ายเขียว G-Sync และค่ายแดง FreeSync จึงค่อนข้างตอบโจทย์หากใครจะเอาไปต่อเพื่อใช้เล่นเกม ใช้คู่กันกับโหมดภาพ Game Optimizer และฟีเจอร์ Game Optimizer (ชื่อเดียวกัน) ก็จะยิ่งทำให้การเล่นเกมสนุกขึ้น

โหมดภาพ Game Optimizer เป็นโหมดภาพที่มี Input Lag ต่ำ อย่างในกรณีที่รับสัญญาณ 4K@60Hz ค่า Input Lag ก็จะอยู่ที่ 12.9ms ส่วนถ้าเป็นสัญญาณแบบ 1080p@120Hz ก็จะเหลือแค่ 4.8ms เท่านั้น ส่วนฟีเจอร์ Game Optimizer ก็จะมีหน้าต่าง Game Dashboard ให้ผู้ใช้สามารถดูค่าต่าง ๆ ได้ในขณะเล่นเกม ไม่ว่าจะเป็น FPS, สถานะ VRR, โหมดภาพย่อยสำหรับเล่นเกม ฯลฯ พร้อมทั้งยังสามารถปรับแต่งค่าเพิ่มเติมได้ด้วย อย่างเช่นใครที่ชอบเล่นเกมในห้องที่ค่อนข้างมืด ก็สามารถเปิดใช้ Dark Room Mode ได้ เมื่อเปิดใช้งานแล้วทีวีก็จะดรอประดับความสว่างลงมาโดยที่จะไม่กระทบกับการตั้งค่าในส่วนอื่น

Dark Room Mode มีสองระดับ

ทิ้งท้ายเรื่องภาพสักเล็กน้อย รุ่นนี้รองรับฟีเจอร์ Dolby Vision IQ + Precision Rendering สำหรับตัว Dolby Vision IQ หลายคนคงคุ้นกันอยู่แล้วว่าเป็นการปรับความสว่างตามแสงแวดล้อม ส่วน Precision Rendering นั้นค่อนข้างใหม่ เป็นส่วนเสริมที่จะมีอยู่ในชิป α9 เท่านั้น มันจะช่วยเสริมรายละเอียดภาพได้มากขึ้น ซึ่ง Precision Rendering จะเป็นการเปิดใช้งานแบบอัตโนมัติเลยหากเรารับชมคอนเทนต์ Dolby Vision