29 May 2021
Review

รีวิว Samsung 65QN90A Neo QLED 4K TV เติมเต็มความสมบูรณ์ด้วย Mini LED Technology


  • ชานม

ภาพ

QN90A ขนาดจอภาพ 75, 65 และ 55 นิ้ว ใช้ LCD Panel โครงสร้าง Sub-pixel แบบ Advanced Super Dimension Switch หรือเรียกย่อๆ ว่า “ADS” (รุ่นขนาด 85 และ 50 นิ้ว จะใช้ VA) ซึ่งรูปทรง Sub-pixel ของ ADS นี้ มองเผินๆ จะคล้าย VA (Vertical Alignment) แต่ส่วนปลายบน-ล่าง จะถูกปาดมุมเล็กน้อย ดูเหมือนเมล็ดข้าว
คุณสมบัติของ ADS คือ ให้มุมมองรับชมกว้างกว่ามากเมื่อเทียบกับ VA มองมุมเฉียงความสว่างอาจจะดร็อปลงเล็กน้อย แต่สีสันจะถูกบิดเบือนเปลี่ยนแปลงจากมุมมองรับชมน้อยมาก

แต่ใช่ว่า ADS จะเพอร์เฟ็กต์ไปเสียหมด ในซีนสว่างอาจเกิดแสงฟุ้งรบกวนและลดทอนระดับคอนทราสต์ลงบ้าง ทว่าประเด็นนี้ก็ถูกชดเชยด้วยความสามารถควบคุมแสง Backlight ของ Neo QLED ที่ละเอียดขึ้นจาก Mini LED Technology

Mini LED Backlight Technology ถือเป็นหัวใจสำคัญของ Samsung Neo QLED TV โดยพื้นฐาน Mini LED ก็คือหลอดไฟขนาดเล็กจิ๋ว สามารถติดตั้งชิดกับ LCD Panel ได้แนบสนิทมากขึ้น และจัดวางต่อเนื่องครอบคลุมพื้นที่จอภาพได้ถี่ละเอียดกว่าเดิม การควบคุมจัดการแสงลอดจึงทำได้โดดเด่นยิ่งกว่า คุณสมบัตินี้จะโดดเด่นมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ในรุ่นสูงขึ้น และจอภาพขนาดใหญ่มีแนวโน้มจะให้ผลลัพธ์ดีกว่าจอเล็ก (จากจำนวนหลอดที่มากกว่า)

จากการทดสอบ 65QN90A ยืนยันว่า Mini LED มีส่วนช่วยให้ Neo QLED TV สามารถควบคุมแสงลอดได้ละเอียดขึ้น ถึงแม้ผลลัพธ์ไม่ถึงกับต่างแบบขาดลอยเมื่อเทียบกับ QLED TV ตัวท็อป ๆ ของปีก่อน (Q90R, Q95T) ที่ใช้ Full-array LED Backlight แบบเดิม แต่ก็สังเกตได้ไม่ยากว่ารุ่นใหม่คุมแสงลอดได้ลงตัวกว่า

<กดที่ Tab ด้านบน เพื่อดูภาพเปรียบเทียบ>

การรับชมในมุมตรงนั้น หลายสถานการณ์ 65QN90A สามารถคุมแสงลอดได้โดดเด่น แม้ตั้งค่ากล้องถ่ายภาพโดยชดเชยให้แสงหน้าจอโอเวอร์กว่าปกติ (ประมาณ 2-stop) เพื่อต้องการให้เห็นแสงลอดชัดขึ้น ก็ยังแทบไม่เห็นแสงเรือง อย่างไรก็ดีจะมีโอกาสเห็นแสงเรืองได้เมื่อรับชมในมุมเฉียง ซึ่งเป็นข้อจำกัดของ LED TV ดังนี้หากต้องการประสิทธิภาพที่ยอดเยี่ยมจาก Mini LED Backlight แนะนำให้รับชมในมุมตรง และถ้าใช้งานในห้องสว่างด้วย ยิ่งลงตัวสำหรับ Neo QLED TV ที่ทำระดับความสว่างได้สูงเป็นพิเศษครับ

ตัวเลือก Local Dimming สามารถใช้ไฟน์จูนรูปแบบการควบคุมแสง Mini LED Backlight ของ QN90A ได้ โดยระดับ High จะพยายามคุมส่วนมืดให้มืดที่สุด และส่วนสว่างสว่างที่สุด เหมาะกับ HDR แต่การเปลี่ยนระดับแสงจากมืดไปสว่างสูงแบบฉับพลันอาจทำให้ล้าสายตา ใครไม่ชอบก็สามารถปรับลดเป็นระดับ Standard หรือ Low ได้ ในบางซีนที่ซับซ้อนอาจพบว่า Standard สว่างกว่า High เพราะระบบไม่ได้พยายามหรี่แสงในส่วนมืด (ที่อยู่ข้างเคียงส่วนสว่าง) ให้มืดที่สุด คงต้องทดลองดูว่าระดับไหนถูกใจเหมาะกับลักษณะคอนเทนต์ที่รับชมครับ ข้อดีของระบบ Local Dimming ของ Samsung รุ่นท็อป ๆ อีกประการ คือ อาการแสงวูบวาบค่อนข้างน้อยแม้กำหนดระดับ High นอกจากนี้ยังคุมระดับแสงของซับไตเติลขาวในฉากมืดให้ดูสบายตา ไม่จ้าเกินไปได้ดีอีกด้วย

มาดูเรื่องของการถ่ายทอดโทนภาพที่เที่ยงตรงกันบ้าง Samsung เพิ่มโหมดภาพที่คาดหวังว่าจะให้ความเที่ยงตรงใกล้เคียงระดับ Studio Reference เรียกว่า Filmmaker Mode มาตั้งแต่รุ่นปีที่แล้ว แน่นอนว่ารุ่นปี 2021 อย่าง QN90A ก็มีโหมดภาพนี้เช่นกัน

– SDR –

ผล Lab Test ของ Filmmaker Mode (SDR) ในรุ่น 65QN90A อาจไม่ได้มีความแตกต่างจาก Movie มากนัก แต่พูดได้ว่าทั้งคู่ให้ความเที่ยงตรงอยู่ในเกณฑ์ดีไม่ต่างกัน ภาพจะดูนุ่มนวลสบายตา ไม่เร่งความคมชัด ปรุงแต่งสีสัน หรือแทรกเฟรมภาพเคลื่อนไหว จึงให้ความเป็นธรรมชาติสูงเหมาะแก่การรับชมในบ้าน แต่แน่นอนว่าถ้าเทียบกับโหมดอื่น ความสว่างจะต่ำกว่า และสีสันจะดูไม่สดจี๊ดจ๊าดนัก ทั้งนี้ในบางสภาพแวดล้อมหากรู้สึกว่าภาพ Movie หรือ Filmmaker Mode ดูสว่างหรือมืดเกินไปเมื่อรับชม SDR content ก็สามารถปรับเพิ่มลดความสว่างที่ตัวเลือก “Brightness”* ได้ตามความเหมาะสม

*หมายเหตุ: Samsung เปลี่ยนชื่อตัวเลือกที่ใช้สำหรับปรับระดับความสว่าง จาก Backlight เป็น Brightness และเปลี่ยนตัวเลือก Brightness เดิม เป็น Shadow Detail

<กดที่ Tab ด้านบน เพื่อดูผล SDR Calibration Report>

โหมดภาพ Filmmaker Mode (หรือ Movie) ของ 65QN90A มีความเที่ยงตรงของสีสันอยู่ในเกณฑ์ดี อุณหภูมิสีเฉลี่ยอยู่ที่ราว 6200K ช่วง Highlight Details อาจติดโทนอุ่นไปบ้าง ทว่าค่าความผิดเพี้ยนสมดุลแสงขาวเฉลี่ย (Grayscale Avg dE) ยังต่ำเพียง 2 ขอบเขตสีก็ทำได้เที่ยงตรงอิงมาตรฐาน Rec.709 ค่าความผิดเพี้ยน (Color Space Avg dE) ดีมากเพียง 1.7 การใช้งานตามบ้านอาจไม่จำเป็นต้องปรับภาพเพิ่ม

หากต้องการ รุ่นนี้สามารถปรับภาพแบบลงลึกได้ ซึ่งรวมถึงอัพเดทให้รองรับการปรับแบบ AutoCAL ผ่านโปรแกรม Calman ในเร็วๆ นี้ด้วย ผมทดลองปรับ White Balance คร่าวๆ แค่ 2-point ก็ให้ผลลัพธ์ที่ดีเกินคาด ค่าความผิดเพี้ยนสมดุลแสงขาว (Grayscale Avg dE) ลดต่ำลงมาเหลือเพียง 1 เท่านั้นเอง อาจเป็นอานิสงส์จาก Filmmaker Mode ทำให้คุมระดับความเพี้ยนตลอดย่านได้ค่อนข้างดี ไม่ต้องแก้เยอะ ในขณะที่หากไฟน์จูน CMS เพิ่มเติม ค่าความผิดเพี้ยน (Color Space Avg dE) จะลดลงเหลือเพียง 0.8

Rec.709 Color Checker หลังดำเนินการปรับภาพ ก็ให้ผลลัพธ์ดีขึ้นตามคาด ค่าความผิดเพี้ยนสีโดยรวมแบบเฉลี่ย (Saturation Avg dE) ที่ 1.2 (Max dE = 2.7) ดีมาก จะใช้อ้างอิงทำงานกราฟิก-ตัดต่อวิดีโอ แทนมอนิเตอร์ก็สามารถทำได้

– HDR –

การแสดงผล HDR รุ่น 65QN90A รองรับมาตรฐาน Static HDR ทั้ง HDR10 และ HLG ส่วน Dynamic HDR รองรับมาตรฐาน HDR10+ โดยสามารถให้ระดับความสว่าง HDR Peak Brightness (10% Window) สูงถึง 2,692 nits ในโหมด Dynamic ขณะที่โหมดความเที่ยงตรงสูงอย่าง Movie/Filmmaker ความสว่างจะเพลาลงมาอยู่ที่ 1,520 nits (สว่างกว่า Q950TS และ Q90T)

<กดที่ Tab ด้านบน เพื่อดูผล HDR Calibration Report>

ความเที่ยงตรงของสีสัน HDR ในโหมด Movie/Filmmaker ของ 65QN90A นับว่าอยู่ในเกณฑ์ดีมาก (Grayscale Avg dE 3.1, Colorspace Avg dE 2.4) ส่วนขอบเขตสี HDR Color Space ทำได้ครอบคลุม 92.41/95.67% ของมาตรฐาน DCI-P3 (xy/uv) หรือเทียบเท่า 67.83/73.04% Rec2020 (xy/uv)

และเช่นเคย ว่าหลังปรับภาพ HDR ในโหมด Movie/Filmmaker ให้ความเที่ยงตรงโดดเด่นมาก (Grayscale Avg dE 0.7, Colorspace Avg dE 1.5) ความสว่าง HDR Peak Brightness จะลดลงเพียงเล็กน้อยอยู่ที่ 1,464 nits

ด้วยระดับความสว่างที่สูงและคุมดำได้ละเอียดขึ้นจาก Mini LED Backlight บวกกับการทำ HDR Tone Mapping ได้สมบูรณ์แบบกว่าเดิม การรีดเอฟเฟ็กต์แสง HDR ของ Neo QLED จึงทำได้เจิดจรัส ดูเตะตาโดดเด่นขึ้น