16 Jun 2022
Review

รีวิว 8K Samsung 85QN900B Neo QLED ภาพสวยคมกริ๊ป ดำลึก mini-LED ของจริงต้องแบบนี้


  • Dear_Sir

Picture – ภาพ

ถ้ามีงบประมาณมากพอ แล้วอยากจะเล่นทีวีจอใหญ่ ยังไงก็ต้องความละเอียด 8K (7680 x 4320) นี่คือนิยามที่ผมอยากจะบอกทุกคน หลังจากได้เห็นภาพบนทีวีจอใหญ่ที่ขนาดเกิน 65” ขึ้นไปเทียบกันระหว่าง 4K vs 8K เพราะยิ่งเมื่อจอมันมีขนาดใหญ่ขึ้น ภาพที่ทีวีแสดงออกมาก็จะ “ฟ้อง” ให้เราเห็นได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความคมชัด การควบคุมความดำ มุมมองภาพ ภาพเคลื่อนไหวต่าง ๆ ทำให้ก่อนที่จะรีวิว ผมก็แอบหวิวๆ ใจ เหมือนกันว่า 8K 85QN900B Neo QLED TV รุ่นใหม่ ท็อปสุดของ Samsung ปีนี้จะทำได้ดีขนาดไหน

85QN900B ใช้พาเนลแบบ VA คุณภาพสูง มีจุดเด่นในเรื่องของความสว่าง แถมมุมมองด้านข้างก็ยังดูดีสีแทบจะไม่ดรอป จัดวางโครงสร้างแบบ Full Array ที่มีหลอดแบ็คไลท์วางเต็มอยู่ทั่วทั้งจอ รุ่นนี้ได้ใช้หลอดแบ็คไลท์แบบ mini-LED ที่มีขนาดเล็กกว่าหลอด LED ทั่วไปหลายเท่า เมื่อหลอดแบ็คไลท์เล็กลง ก็สามารถวางจำนวนหลอดแบ็คไลท์ได้มากขึ้น ตัวแสงที่เปล่งออกมาก็สามารถบีบได้แคบลง ทำให้ควบคุมระดับสีดำได้ดียิ่งขึ้น แถมยังทำความสว่างได้มากกว่าเดิม แต่นี่คือสิ่งที่ Samsung บอกกับเราออกมา แต่มันจริงเท็จแค่ไหนล่ะ?

ซ้ายหลอด LED ทั่วไป / ขวาหลอด mini-LED

พอแกะกล่องประกอบทีวีเรียบร้อย สิ่งแรกที่ผมได้ลองทดสอบเลยก็คือเรื่องความดำครับ เปลี่ยนมาใช้หลอด mini-LED ทั้งที ก็อยากรู้ว่าจะทำได้ดีแค่ไหน เลยจับเปิดคอนเทนต์ปราบเซียนของตระกูล LED สักหน่อย นั่นก็คือ “พลุ” เพราะคอนเทนต์ประเภทนี้จะมีฉากรอบ ๆ เป็นสีดำ แล้วพอมีแสงสว่างจากพลุจุดขึ้นมาพร้อมกระจายตัวออกไป เราก็จะได้รู้เลยว่าทีวีคุมหลอดแบ็คไลท์ได้ดีแค่ไหน ทำงานไวหรือเปล่า เพราะเขาเคลมไว้ว่าสามารถทำระดับความสว่างได้ถึง 14-bit หรือ 16,384 ระดับ

พอเปิดคอนเทนต์ดูก็รู้ว่าคุมแสงได้ดีมากจริง ๆ

จากภาพด้านบนจะเห็นได้ว่าตามขอบของเส้นพลุที่กระจายออกมาแทบจะไม่สังเกตเห็นแสงเรือง (Blooming Effect) เลย ขอบด้านนอกก็มืดสนิท ส่วนบริเวณกึ่งกลางที่กำลังระเบิดประกายพลุก็สว่างวาบสมจริง ซึ่งระดับ Local Dimming ที่รุ่นนี้มีให้เลือกใช้มีทั้งหมด 3 ระดับ คือ Low, Standard และ High จากการทดสอบ ขอแนะนำว่าให้เลือกระดับ High หรือ Standard ความแตกต่างของทั้งสองระดับมีดังนี้ครับ ระดับ High จะควบคุมหลอด Mini-LED ได้รวดเร็ว และให้ความสว่างมากที่สุด ส่วนระดับ Standard ก็ยังให้ความดำที่ดีอยู่ ความสว่างจะเพลาลงมา แต่การคุมหลอด Mini-LED จะไม่รวดเร็วเท่า (แต่ไม่หนีกันเยอะ) สุดท้ายคือระดับ Low ที่แทบจะไม่มีการคุมแบ็คไลท์เลย ซึ่งการจะใช้ระดับไหนก็ขึ้นอยู่กับความชอบส่วนตัวแล้ว ถ้าอยากได้แสง HDR แบบเต็มที่เจิดจรัสสุดๆ ก็ต้อง High แต่ถ้าอยากได้แสงเบาลงมาหน่อยก็ต้อง Standard

ลองเปิดไฟดูจากฉากท่อระบายน้ำในเรื่อง It’s กันบ้าง
สังเกตเห็นได้เลยว่าแสงไฟจากไฟฉายสาดเข้าหน้าจนแสบตาเลย
ขณะเดียวกันรอบด้านก็ยังคงมืดอยู่

นอกจากเรื่องความดำจะทำได้ดีมากแล้ว เรื่องของความสว่างในรุ่นนี้ก็ทำได้ดีด้วยแบบไม่ได้คิดไปเอง เพราะจากที่ใช้เครื่องมือปรับภาพจับค่าดู พบว่า 85QN900B ตัวที่ทางเราได้รับมาทดสอบ มีความสว่างอยู่ราว 4,463 nits สู้แสงตอนกลางวันได้สบาย ส่วนขอบเขตสีมาตรฐาน DCI-P3 ก็ทำได้อยู่ที่ราว 95% ตรงจุดนี้ไม่แตกต่างจากซีรีส์เดิม QN900A มากนัก ส่วนในเรื่องของโหมดภาพในการรับชม ยังคงแนะนำเป็น Filmmaker Mode เพราะโทนภาพอบอุ่นสบายตา แถมยังสีสันเที่ยงตรงที่สุดไม่ว่าจะดูคอนเทนต์แบบ SDR หรือ HDR

จอใหญ่ 85″ ขนาดนี้การอัปสเกลเป็นยังไง ? ต้องยอมรับว่าชิปประมวล รวมไปถึงเทคโนโลยีการอัปสเกลภาพในปัจจุบันของทีวีพัฒนาไปค่อนข้างมาก ผมจะไม่ขอพูดถึงการอัปสเกลจาก 4K > 8K เพราะสอบผ่านอยู่แล้ว แต่จะขอพูดถึงการอัปสเกลภาพจากสัญญาณต้นทางที่เป็นความละเอียดแบบ Full HD 1080p แทน คอนเทนต์ที่ใช้ทดสอบก็เปิดจากหนังใน Netflix, YouTube ทั่วไปเลยครับที่เราได้ใช้ดูบ่อยที่สุด ยอมรับเลยว่าหากดูในระยะใกล้ภาพจะนวลตาไม่คมเท่า 4K (เป็นเรื่องปกติ) แต่ถ้าดูในระยะรับชมปกติสัก 2.5 – 3 เมตร ภาพก็ดูดีใช้ได้เลยสอบผ่านครับ

ไม่ใช่แค่การดูหนัง แต่การที่มีโอกาสได้เล่นเกมบนจอใหญ่ขนาด 85″ มันให้ความเต็มอิ่มมากกว่าเดิม จนถึงขนาดที่ผมต้องลุกขึ้นมาเล่นเลย ค่า Input lag ในโหมดเกม จะอยู่ที่ราว 14.4 ms (กรณีเปิดภาพแบบ 4K@60Hz) แต่ถ้าเราอยากจะได้ค่า Input lag ที่น้อยลงกว่านี้อีกก็สามารถปิดตัว Game Motion ได้ ค่าจะลงไปเหลือราว 9.6 ms แถมตัวเครื่องยังรองรับ VRR, FreeSync Premium Pro ด้วยนะ เล่นแล้วไม่เจอภาพฉีกขาดแน่

ได้ทีวีระดับนี้มาทั้งที ผู้ซื้อหลายคนต้องอยากเอาไปปรับภาพด้วยอยู่แล้ว Samsung เขาเลยเพิ่มฟีเจอร์ Smart Calibration หรือ การปรับภาพด้วยตัวเองมาให้ด้วย การใช้งานก็ง่ายมากเพียงแค่ไปโหลดแอปพลิเคชัน Smart Things มาติดไว้ในเครื่องพร้อมล็อกอินเข้าระบบให้เรียบร้อย จากนั้นเข้าไปที่หัวข้อการปรับเทียบอัจฉริยะ จากนั้นก็ให้เลือกว่าจะปรับแบบโหมดพื้นฐาน หรือโหมดอาชีพ ซึ่งถ้าเลือกโหมดอาชีพก็จะปรับละเอียดหน่อย ในการปรับภาพตัวทีวีก็จะใช้การอ่านค่าจากกล้องของสมาร์ทโฟนนั่นเอง เพียงแต่จากการทดสอบแล้วค่าที่ได้จาก Smart Calibration ยังไม่เป็นที่พอใจนัก แนะนำใช้โหมดภาพเดิม ๆ จะดีกว่า

*การปรับภาพแบบ Smart Calibration สามารถใช้งานได้กับทั้งสมาร์ทโฟน Android / iOS ปัจจุบันรองรับในรุ่น QN900B/QN800B/QN700B/QN95B/QN90B

ระหว่างที่ทีวีกำลังวัดค่า ต้องถือสมาร์ทโฟนให้นิ่งที่สุดนะ