04 Jul 2014
Review

ภาพลอยเร้าใจ !!! รีวิว LG 42LW6500 Cinema 3D LED TV ทรงเครื่องยิ่งกว่าเย็นตาโฟ


  • lcdtvthailand

ปี 2010 ที่ผ่านมา ถือว่าเป็นปีที่เปิดศักราชใหม่ของวงการทีวี เพราะเทคโนโลยีทีวี 3 มิติได้มีการเปิดตัวแข่งขันกันแทบทุกแบรนด์ ผมเชื่อว่าเกือบทุกท่านอย่างน้อยก็ได้เคย “ลอง” สวมแว่นตา 3 มิติ ไม่ว่าจะเป็นตามห้างร้านหรืองานแสดงสินค้ากันไปบ้างแล้ว คงมีทั้งความรู้สึกติดอกติดใจกับ “มิติภาพ” ที่มีทั้ง “ลอย” และ “ลึก” เหนือทีวี 2 มิติธรรมดาแบบจับต้องได้ แต่ก็ยังมีจุดด้อยบางประการอยู่เช่นกัน จึงทำให้การแข่งขันของค่ายทีวีชั้นนำในการพัฒนาคุณภาพของทีวี 3 มิตินั้นเป็นไปอย่างเข้มข้น 

โดยในปี 2010 นั้นทุกค่ายใช้เทคโนโลยี 3D แบบ Active ซึ่งต้องใช้แว่น 3 มิติแบบ Active Shutter Glasses ที่เปิด-ปิดเลนส์ตาซ้ายและขวาสลับกันในการรับชม ข้อดีก็คือได้ภาพ Full Frame ในการส่งภาพสลับเข้าตาซ้ายและตาขวา อย่างไรก็ตามข้อเสียที่ผมเชื่อว่าหลายท่านเห็นพ้องต้องกับผมก็คือ หากดูในที่สว่าง การกระพริบของภาพก็มักจะเกิดขึ้น เนื่องจากแว่นต้องเปิดปิดเลนส์ตาซ้ายและขวาอย่างรวดเร็วตลอดเวลา รวมถึงปัญหาการ Sync สัญญาณระหว่างตัวทีวีและตัวแว่นตา ตลอดจนแว่น 3 มิตินั้นมีราคาค่อนข้างสูง มีน้ำหนักเยอะ แถมเมื่อแบตเตอรี่หมดก็ต้องชาร์จหรือซื้อแบตเตอรี่ก้อนใหม่เปลี่ยนอีก !!!

LG 42LW6500 Cinema 3D LED TV รุ่นใหม่ปี 2011 ราคา 39,990 บาท

ในขณะที่ LG เองก็โชว์ความห้าวหาญ “กล้า” ที่จะ “สวนกระแส” เลิกผลิต 3D แบบ Active แบบที่ทุกค่ายทีวีใช้อยู่และหันไปโฟกัสเทคโนโลยีแบบ Passive ซึ่งใช้แว่นตาแบบ Polarized แทนซึ่งทางผมเองเคยนำเอาเทคโนโลยีแบบนี้มาโชว์ในงาน BAV Show 2010 เมื่อกลางปีที่แล้ว โดยตอนนั้นที่เอามาโชว์คือ JVC 3D LCD Monitor 42″ ซึ่งผลตอบรับเรื่องมิติภาพและความสะดวกสบายและง่ายต่อการรับชมนั้นมาเป็น “อันดับที่ 1” เหนือ 3D TV ค่ายอื่นๆเลยเมื่อเราทำการให้ผู้ชมโหวตหลังจากใส่แว่นดูครบทุกแบรนด์ ซึ่ง LED TV ของ LG ในปี 2011 “ทุกรุ่น” ก็จะหันมาใช้เทคโนโลยี 3D แบบ Passive ทั้งหมด และ LG ได้ให้ชื่อทางการตลาดเทคโนลยี 3D แบบ Polarized ว่า “Cinema 3D” ซึ่งโรงหนังส่วนใหญ่เช่น IMAX และ Dolby 3D (ที่อยู่ในเครือ Major Cineplex และ Major Hollywood) ก็ใช้เทคโนโลยีที่มีพื้นฐานหลักการเดียวกันครับ 

ทาง LG เองก็มีการส่ง LG 42LW6500 ให้กับทีมงาน LCDTVTHAILAND ให้ทดสอบกันตั้งแต่สินค้าเพิ่งคลอดออกตลาดใหม่ๆ ด้วยความบ้าเห่อเทคโนโลยีใหม่ๆของทีวีเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เลยทำให้ผมรีบแกะกล่องทดสอบเจ้าทีวีตัวนี้ตั้งแต่เครื่องได้ถูกมาส่งที่หน้า Office เลยครับ 

การออกแบบ

ดีไซน์ของ LG 42LW6500 Cinema 3D LED TV ก็เป็นกรอบสีดำเงาพร้อมขอบใสแบบ “คริสตัลดีไซน์” ซึ่ง LG ใช้ชื่อเรียกดีไซน์โดยรวมนี้ว่า “Monotonous Clean & Simple” เรียบๆสไตล์โมโนโทน ซึ่งถือว่า “ดูดี” กว่ารุ่นเดิมในปี 2010 อยู่พอสมควร อาทิเช่นพวก LE5500 หรือ LX6500 ที่ดีไซน์จะเน้นเป็นกรอบสีดำเงาธรรมดา ดูเรียบๆ ซึ่งอาจจะออกดิบไปซักเล็กน้อย ตรงกรอบทีวีด้านล่างซ้ายเป็นปุ่มกดคำสั่งใช้งานเบื้องต้นแบบระบบสัมผัส มีไฟ LED ส่องสว่างบอกสถานะเปิด/ปิดเครื่อง ส่วนฐานตั้งก็พัฒนาคอขาตั้งให้เป็นแกนเหล็กสีโครเมี่ยมซึ่งดูหรูขึ้นไปอีกแบบ อ้อมไปด้านหลังนั้นดีไซน์ก็คล้ายๆ LED TV รุ่นเดิมครับ ตำแหน่งการวางพอร์ตช่องต่อจะมีการเปลี่ยนเอา HDMI ทั้ง 4 ช่องมาอยู่ด้านข้างทั้งหมด ส่วนความบางก็ไม่หนีจากเดิมมากนัก ใครเป็นแฟนพันธุ์แท้ LED TV รุ่น LE5500 ก็มีความบางบางประมาณนี้เลย ซึ่งผมว่ามัน “บางกำลังดี” มันไม่ได้บางจนรู้สึกว่ามันบอบบางจนเกินไป ส่วนรีโมทคอนโทรลก็แทบจะยึดถือแบบรุ่นปีที่แล้วมา วัสดุเป็นสีดำด้าน จับถนัดมือ แต่ขอชมเชยการวางตำแหน่งปุ่มกดและปุ่มลัดต่างๆว่าทำได้ดีมาก “ใช้งานง่ายสุดๆ” ในระดับหัวแถวของทีวีในยุคนี้ !!!

ไฮไลท์มันมาอยู่ที่อุปกรณ์เสริมที่ส่งมาให้ทดสอบเพิ่มอย่าง Magic Motion Remote Control Control รีโมทคอนโทรลแบบเมาส์ไร้สาย+จอย Nitendo Wii ไว้ควบคุมทีวีได้สะดวกขึ้น และแว่นตา 3 มิติแบบ Polarized Glasses ที่มีดีไซน์เรียบๆง่ายๆ วัสดุดูธรรมดามาก แต่เมื่อใส่ไปแล้วให้ความรู้สึกสบายตาอย่างแรง !!!

42LW6500 รูปหน้าตรง ดีไซน์เรียบๆแต่มีเอกลักษณ์
กรอบทีวีออกแนว “คริสตัลดีไซน์” ขอบจะออกใสๆ
ฐานตั้งเป็นสีดำเงาแบบ “คริสตัลดีไซน์” เช่นกัน
พอร์ตช่องต่อด้านหลัง มีแบบทั้งเชื่อมต่อตรงๆและแบบเสียบจากข้างล่างขึ้นข้างบน
ความบางของตัวเครื่องจากมุมมองด้านข้าง 
และช่องต่อ HDMI 4 ช่อง USB 2 ช่องซึ่งอยู่ด้านข้างทั้งหมด
รีโมทคอนโทรลแบบปกติก็มีดีไซน์เรียบๆแต่ใช้งานง่ายมาก
ขอชมเชยเรื่อง “ปุ่มลัด” ต่างๆวางตำแหน่งได้ดี เลือกใช้ง่าย เช่น Energy Saving และ AV Mode
แว่น 3 มิติแบบ Polarized หลักการเดียวกับโรงหนัง 3 มิติครับ แถมมาให้ถึง 4 อัน
อุปกรณ์เสริม Magic Motion Remote Control มีตัวรับสัญญาณมาให้ด้วย 
ต้องเชื่อมต่อตัวรับสัญญาณกับช่องต่อ USB ก่อนถึงจะใช้ได้

สรุปเรื่องดีไซน์ก็ยอมรับว่า “สวยงามขึ้น” จากรุ่นปี 2010 ขึ้นมาอีก Step นึงครับ จากรุ่นเดิมเช่นรุ่น LX6500 (3D) และ LE5500 ที่อาจจะไม่ให้ความรู้สึก “พรีเมี่ยม” เสียเท่าไหร่ แต่พอมาเป็นรุ่นปี 2011 นี้ความรู้สึก “พรีเมี่ยมต่อตัวสินค้า” ก็มีมากขึ้นจากองค์ประกอบดีไซน์โดยรวมที่ดีขึ้นครับ !!!