08 Jan 2011
Review

Your viewing experience just got “Bigger” !! รีวิว Samsung PS-51D8000 [2011]


  • ชานม

ที่ Samsung พลิกผันตัวเองจนขึ้นมายืนในจุดที่สามารถท้าชนบริษัทผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้ายักษ์ใหญ่เจ้าตลาดในอดีตดังที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ได้ เชื่อว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะวิธีการที่ทำให้สินค้าเป็นที่จดจำในตลาดได้นาน แน่นอนว่าการประชาสัมพันธ์เป็นสิ่งสำคัญ แต่วิธีการนี้จะสัมฤทธิ์ผลก็เฉพาะในช่วงที่มีการโหมโฆษณา หรือมีการโปรโมทส่งเสริมการขายเท่านั้น หากหมดช่วงโปรโมชั่นก็มักจะถูกลืมเลือนไป   ทว่า หากสามารถทำให้ตัวสินค้าสื่อสารเพื่อสร้างความประทับใจให้กับผู้พบเห็นได้อยู่เสมอด้วยตัวของมันเองล่ะ ? แน่นอนว่าปรากฏการณ์นี้จะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยการอาศัย “ความรู้สึก” (ที่มักอยู่เหนือเหตุผล)    และการเข้าถึง จิตใจ ของผู้บริโภคซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนความรู้สึกก็มีเครื่องมือที่หลากหลาย แต่จุดที่ Samsung ทำได้โดดเด่น คงไม่มีอะไรเหนือไปกว่า “ความงาม” !

BrandSamsung
ModelPS-51D8000
Size51″
Type3D Plasma + Smart TV
ResolutionFull HD 1920 x 1080
3D TypeActive
Video Processor3D HyperReal Engine
ConnectionHDMI x 4, Component/Composite x 1, VGA
Optical Out, USB x 2
Network & Internet ConnectionLAN, Wi-Fi (Integrated)
Internet ServicesSmart Hub, Samsung Apps (Local content included)

ราคา 69,990 บาท

ดีไซน์

กรอบ (Frame) และ/หรือ ขอบ (Border) กับ ทีวี ถือเป็นของคู่กัน ที่ผ่านมาจะเห็นผู้ผลิตพยายามกำจัดขอบ (กรอบ) ออกจากทีวี เพื่อผลทั้งทางด้านจิตวิทยา (ความรู้สึกเสมือนหลุดกรอบ สู่ประสบการณ์ไร้ขอบเขต ฯลฯ) และด้านมุมมองความสวยงาม อย่างไรก็ดีด้วยข้อจำกัดด้านเทคนิคบางประการ ทำให้ไม่สามารถกำจัดขอบ (กรอบ) ออกไปจากทีวีได้อย่างเบ็ดเสร็จ แต่มิได้หมายความว่าจะไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงใด ๆ จากผู้ผลิต

หากเปรียบเทียบดีไซน์ของ LED TV และ Plasma TV ของ Samsung ในปีนี้ จะพบว่าคอนเซ็ปต์ในการออกแบบโดยเฉพาะรุ่นสูง (D8000) มีความแตกต่างกัน LED TV ใช้รูปแบบที่เรียกว่า One Design โดยการออกแบบโครงสร้างกรอบให้มีความบางมากกก จนแทบจะประชั้นชิดติดขอบจอกันเลยทีเดียว
ในส่วนของ Plasma TV นั้น แม้ว่าดีไซน์กรอบจะมิได้เน้นบางมากเหมือน LED TV ดูเผิน ๆ เลยเหมือนกับทีวีจอบางที่มีกรอบทั่วไป (และก็คล้ายกับ LED TV รุ่นสูงของ Samsung ในปีที่แล้ว) แต่ในความเป็นจริงมีความแตกต่างกันอยู่ นอกจากขนาดกรอบที่ทำได้บางลงกว่าเดิม มีส่วนเปิดเผยพื้นที่จอภาพที่เดิมถูกบดบังอยู่ ทำให้ได้ขนาดพื้นที่การแสดงผล (Display Area) ที่กว้างขึ้นอีก 1 นิ้ว ดังคอนเซ็ปต์ที่มีชื่อเรียกว่า Plasma +1 หมายเหตุ: จากประเด็นข้างต้น จึงอาจใช้ “ดีไซน์กรอบ” ในการแยกแยะรุ่นของทีวี Samsung ในตลาด อันเกี่ยวเนื่องกับชนิดของเทคโนโลยีจอภาพในเบื้องต้น คือ แอลอีดี – กรอบจอบาง, พลาสมา – กรอบจอหนา แต่ได้ขนาดพื้นที่แสดงผลเพิ่มขึ้นอีก 1 นิ้ว… ทว่าข้อสังเกตนี้ จะใช้อ้างอิงได้กับทีวีของ Samsung รุ่นสูงเท่านั้น
สไตล์การออกแบบอีกประเด็นหนึ่งที่ Samsung ยึดมั่นมาโดยตลอด คือ Ultra Slim หรือ ทีวีจอบางมากกกก

ในช่วงต้นของการพัฒนา โครงสร้างพื้นฐานของ Plasma TV เป็นเหตุให้จอภาพมีขนาดความหนามากกว่า (Edge) LED TV อยู่มาก ทว่าปัจจุบัน ก็อย่างที่เห็นในภาพ… เรียกว่า “บาง” ไม่ต่างกับ (Edge) LED TV ทั่ว ๆ ไป ซึ่ง Plasma TV ของ Samsung ทำได้บางกว่ามาตรฐานในท้องตลาดอีกเล็กน้อย อย่างไรก็ดีถ้าจะวัดกันที่ความบางเฉียบ ระดับ “ปากกา” ยังไงก็ยังต้องยอมยกให้ LED TV เขานะ (อย่าง C9000 น่ะ)

ส่วนขาตั้ง ยังโฉบเฉี่ยวแหวกแนวด้วยโครงสร้างแบบ 4 แฉก (Quad) ไม่ใช่ฐานแผ่นกระจกสี่เหลี่ยมเรียบ ๆ แบน ๆ พื้น ๆ เหมือน ๆ กันไปหมด ขาตั้งจึงกลายเป็นเอกลักษณ์ที่มีเฉพาะกับทีวีของ Samsung อันน่าจดจำอีกประการหนึ่ง

ปุ่มกดระะบบสัมผัส (อันที่จริงจะเรียกปุ่มก็ไม่ถูกนัก เพราะปุ่มมันต้องนูน)

ลอยเด่นอยู่บนผิวอะครีลิกใส ดูแจ่มมาก วัสดุใสนี้ยังใช้แก้เลี่ยนผิวแบบโลหะได้ด้วย แต่เวลาแสงสว่างน้อย ๆ ก็มองเห็นปุ่มยากอยู่เหมือนกันนะ มีไฟส่องสว่างหน่อยละก็ แจ๋วเลย

ช่องต่อด้านหลัง จากรูปนี้จะเห็นช่องต่อ Component และ Composite ที่ใช้งานร่วมกัน (เลือกใช้อย่างใดอย่างหนึ่ง) โดยเป็นรูปแบบมินิแจ็ค ต้องใช้ร่วมกับสายอแดปเตอร์ที่ผู้ผลิตให้มา

แผ่นปิดหลังเป็นโลหะสีดำบาง ๆ กดแล้วยวบ ๆ นิดนึง แต่คงไม่กระทบกับความแข็งแรง เพราะโครงสร้างพื้นฐานก็ดูแข็งแรงอยู่ นับเป็นข้อดีในประเด็นด้านน้ำหนัก ยกดูก็รู้เลยว่าเบาสบายกว่า Plasma TV เครื่องอื่นเยอะเลย (แต่ก็ยังหนักอยู่นะเมื่อเทียบกับ LED/LCD TV ทั่วไป) 

ช่องต่อสำคัญที่ใช้งานบ่อย ๆ อยู่ด้านข้าง

HDMI จำนวน 4 ช่อง, USB Input 2 ช่อง เสียบอุปกรณ์ได้ไม่ต้องเขียม เพราะไม่ต้องสละหนึ่งช่องให้ USB WiFi Adapter (มันฝังมาในตัวทีวีแล้ว) มีอ็อพติคัลออดิโอเอาต์ สำหรับเชื่อมต่อระบบเสียงรูปแบบดิจิทัลไปยังอุปกรณ์เครื่องเสียงภายนอก (ให้เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง กรณีชุดเครื่องเสียงไม่รองรับ ARC ทาง HDMI) หรือจะเชื่อมต่อสัญญาณเสียงพื้นฐานแบบอะนาล็อกผ่านช่องต่อ 3.5mm Audio Out ก็ได้ (ช่องเดียวกับที่ใช้เสียบหูฟัง)

ขนาดกรอบที่บางลง ส่งผลให้ได้พื้นที่แสดงผลเพิ่มขึ้น ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า ผู้ชมจะได้รับประสบการณ์จากภาพที่รับชมร่วมกับ Plasma TV โมเดลใหม่นี้ ได้กว้างขวางยิ่งขึ้นกว่าเดิม แม้จะเพียงนิ้วเดียวก็ตาม… แต่นี่คงมิใช่ประเด็นเดียว ที่สร้างความประทับใจให้กับ Plasma TV ของ Samsung ในปีนี้… ศักยภาพด้านอื่น ๆ อย่างคุณภาพของภาพ และฟีเจอร์อย่าง Smart TV จะเป็นตัวจักรสำคัญในการขยาย “ประสบการณ์รับชม” ของผู้ใช้ให้กว้างขึ้น… หรือเปล่า ?