11 Sep 2018
Review

รีวิว Samsung 55NU8000 4K HDR LED TV เด่นทั้งดูหนัง และเหมาะกับการเล่นเกม อย่างแท้จริง !!?


  • ชานม

55NU8000 มาพร้อมกับระบบประมวลผลแทรกเฟรมภาพเคลื่อนไหวที่มีชื่อเรียกว่า Motion Plus เป็นคุณสมบัติหนึ่งที่ช่วยให้ภาพวิดีโอที่มีอัตราเฟรมเรตต่ำ (24, 25, 30 FPS) ดูไหลลื่นไม่สะดุด ทว่าต้องแลกมาด้วย Input Lag ที่สูงขึ้น หากเป็นภาพยนตร์คงไม่เป็นประเด็นสำคัญ แต่กับเกม Input Lag สูงๆ คงไม่ดีแน่ เมื่อเปิดใช้งาน “Game Mode” ระบบของทีวีทั่วไปจึงมักจะปิดการประมวลผลแทรกเฟรมลง เพื่อลดระดับของ Input Lag ให้ต่ำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

แต่สำหรับ 55NU8000 ผู้ใช้สามารถเลือกเปิดใช้งาน Motion Plus ร่วมกับ Game Mode ได้ (โดยตัวเลือกนี้จะไปอยู่ในหัวข้อ Game Motion Plus) ผลลัพธ์เมื่อเปิดระบบแทรกเฟรมจะกระทบกับ Input Lag น้อยมากๆ ค่าที่วัดได้อยู่ที่ 25.6 ms เท่านั้น แต่หากเกมที่เล่นมีอัตราเฟรมเรตที่สูงอยู่แล้วก็ไม่จำเป็นต้องเปิดแทรกเฟรมก็ได้ เมื่อ Off – Motion Plus ตัวเลข Input Lag ก็จะยิ่งต่ำลงอีก เพียง 15.6 ms ถือว่าต่ำมากๆ เลย!

แต่มีติเล็กน้อยสำหรับ Game Mode ของ Samsung คือ ดุลสีภาพเมื่อเปิดใช้ Game Mode จะดูคล้าย Dynamic สีจะอมฟ้ามากๆ และเร่ง Contrast, Color, Sharpness มาเกินพอดี ต้องทำการ calibrate เพิ่ม จึงจะได้ผลลัพธ์ที่ดี

สำหรับคอเกม (โดยเฉพาะพีซี) คงเข้าใจดีว่าภาพเคลื่อนไหวจากเกมนั้นแตกต่างจากภาพยนตร์ เฟรมเรตของเกมจะไม่คงที่ มีพุ่งบ้าง ตกบ้าง ขึ้นกับความซับซ้อนของกราฟิกที่เป็นภาระต่อการประมวลผลของฮาร์ดแวร์ในช่วงเวลานั้นๆ ผลกระทบที่เกิดขึ้น คือ ปัญหาอาการภาพขาด (Screen Tearing) อันเกิดจากอัตราเฟรมเรตไม่ตรงกับรีเฟรชเรตที่ตายตัวของจอภาพ

แต่ปัญหานี้จะหมดไป เมื่อทีวี (รวมไปถึงมอนิเตอร์ยุคใหม่) มาพร้อมกับเทคโนโลยีการแสดงผลล่าสุด ที่เรียกว่า Variable Refresh Rate (ชื่อเรียกของทาง HDMI Licensing) หรือ Adaptive-Sync (ชื่อเรียกของทาง VESA)

อ้างอิงช่วงเวลาทดสอบ Samsung เป็นผู้ผลิตทีวีเพียงแบรนด์เดียวที่เพิ่มคุณสมบัติ VRR ให้กับทีวีรุ่นระดับกลาง-สูงประจำปี 2018 และ 55NU8000 ถือเป็นหนึ่งในนั้น โดยผนวกเทคโนโลยี VRR ของทาง AMD ที่เรียกว่า FreeSync เข้ามา โดยหลักการคร่าวๆ ของ FreeSync คือ กระบวนการที่ช่วยให้จอภาพสามารถ “ปรับเปลี่ยนรีเฟรชเรตแบบเรียลไทม์” ให้สัมพันธ์กับ “อัตราเฟรมเรตของเกมที่ไม่คงที่” จึงแก้ปัญหา Screen Tearing ได้! แต่อุปกรณ์แหล่งสัญญาณต้นทาง ก็ต้องรองรับเทคโนโลยี FreeSync ด้วยเช่นเดียวกัน จึงจะเปิดใช้งานและตอบสนองต่อแนวทางนี้ได้โดยสมบูรณ์

อุปกรณ์ต้นทางในปัจจุบันที่รองรับเทคโนโลยี FreeSync และสามารถใช้งานร่วมกับ 55NU8000 ได้ คือ คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลที่ใช้กราฟิกการ์ดของทาง AMD รุ่นที่รองรับ คือ Radeon R7, R9, RX Series, … เป็นต้น หรือเครื่องเกมคอนโซลอย่าง Xbox One S และ X

กรณีเชื่อมต่อใช้งานกับ Xbox One S จะต้องตั้งค่าในส่วนของ Allow variable refresh rate และ Allow auto low-latency mode เพื่อเปิดใช้ฟีเจอร์ FreeSync แบบเต็มระบบ รองรับความละเอียดสูงสุดที่ 1440p 120Hz (เมื่อใช้งาน FreeSync ในส่วนของ HDR จะถูก Disable โดยอัตโนมัติ)
กรณีที่เชื่อมต่อรับสัญญาณจากคอมพิวเตอร์ หากสเป็กกราฟิกการ์ดไม่ใช่ AMD จะยังสามารถเอาต์พุตสัญญาณ High Frame Rate 4K 60Hz หรือ 1440p/1080p 120Hz ไปแสดงผลบนจอ 55NU8000 ได้ แต่จะไม่สามารถเปิดใช้งาน FreeSync ได้ครับ อย่างไรก็ดีฮาร์ดแวร์จะสามารถรันเฟรมเรตสูงระดับนี้ได้อย่างต่อเนื่องหรือไม่ ก็ขึ้นกับสเป็กของคอมพิวเตอร์เป็นสำคัญ

เสียง

ท่านใดที่ไปงาน LCDTVTHAILAND Best of Best TV Shootout เมื่อปี 2016 น่าจะพอจำได้ถึงคุณภาพเสียงของ Samsung SUHD TV รุ่น KS9000 ที่แม้ระบบเสียงจะใช้เทคนิคดูไม่หวือหวา ภายนอกเหมือนลำโพงทีวีธรรมดาที่จัดวางตัวขับเสียงยิงลงด้านล่างของจอภาพ แต่น้ำเสียงที่ได้เรียกว่าเป็นม้ามืดคะแนนนำเหนือทีวีตัวท็อปแบรนด์อื่นๆ ที่มาประชันในเวลานั้น… (และโดยส่วนตัว ผมว่าเสียงดีกว่า Q9F ของปี 2017 เสียอีก) พอมาถึงรุ่น 55NU8000 ก็มาในแนวทางเดียวกันกับ KS9000

หลักการจัดวางตัวขับเสียงยังใช้เทคนิคยิงลงด้านล่างจอภาพเหมือนเดิม แต่ด้วยลักษณะแบบ 2.1 ที่มีตัวขับเสียงต่ำโดยเฉพาะ พร้อมจูนท่อ Bass-reflex ขนาดเล็กตามรูป ดุลเสียงที่ได้นับว่าไม่ธรรมดา เบสพอมีเนื้อมีหนังไม่แห้งบาง รายละเอียดเสียงชัดเจน ไม่ก้องอู้ ในแง่คุณภาพเสียง 55NU8000 จึงถือว่าสอบผ่านครับ ใช้ดูหนังฟังเพลงแบบลำลองได้ไม่ขัดใจแน่นอน!

สรุป

จากคุณสมบัติเด่นทั้งหมดที่กล่าวไป คงปฏิเสธมิได้ว่า Samsung 55NU8000 เป็นหนึ่ง 4K HDR LED TV ที่สามารถตอบสนองการใช้งานทั้งรับชมภาพยนตร์และเล่นเกมได้โดดเด่นเหนือใคร ด้วยคุณสมบัติด้านภาพน้องๆ มาตรฐาน UltraHD Premium ทั้ง HDR Peak Brightness เกือบๆ 900 nits, 91.2% DCI-P3 Wide Color Gamut พร้อม Edge LED Local Dimming คุมคอนทราสต์ได้ดี แต่เหนืออื่นใด คือ คุณสมบัติพิเศษที่ช่วยสร้างประสบการณ์เล่นเกมได้อย่างยอดเยี่ยม ทั้งการรับสัญญาณ High Frame Rate ทาง HDMI ที่ 4K 60Hz และ 1440p/1080p 120Hz ผนวกเทคโนโลยี FreeSync ให้ความสมบูรณ์ต่อเนื่องจากภาพเคลื่อนไหวของเกมได้ดี โดยที่ยังไม่มีผู้ผลิตทีวีอื่นใดทำได้เวลานี้

ข้อดีของ Samsung 55NU8000

1. หนึ่งในซีรี่ส์ Premium UHD TV ดีไซน์ดูดีไปถึงด้านหลัง ให้ One Remote ขนาดกะทัดรัดมาด้วย รีโมตอันเดียวควบคุมได้หลายอุปกรณ์

2. 4K HDR VA Panel คอนทราสต์ดี Edge LED Local Dimming คุมแสงลอดได้ดีเกินคาด

3. พร้อมแสดงผล HDR10+, HDR10 และ HLG ที่ระดับ Peak Brightness เกือบ 900 nits รองรับ Wide Color Gamut (91.2% DCI-P3) 

4. รองรับ High Frame Rate ทาง HDMI Input ทั้ง 4K 60Hz, 1440p/1080p 120Hz พร้อมเทคโนโลยี FreeSync 

5. สามารถเปิดใช้งาน Motion Plus กับ Game Mode ได้ โดย HDMI Input Lag ต่ำเพียง 25.6 ms (Motion – On) และ 15.6 ms (Motion – Off) 

ข้อเสียของ Samsung 55NU8000

1. แม้ VA Panel รุ่นใหม่ๆ จะปรับปรุงมุมมองรับชมด้านข้างได้ดีขึ้น แต่ยังแนะนำให้รับชมมุมตรงในระดับสายตา เพื่อคุณภาพของภาพดีที่สุดทั้งคอนทราสต์ที่ลึกเช้ม และสีสันที่ไม่ซีดจาง

2. Game Mode ให้ภาพคล้าย Dynamic ต้องทำการปรับภาพเพิ่มเติมจึงจะได้ดุลสีที่ดี รายละเอียดครบถ้วน ไม่ติด Over saturation

3. จัดวางช่องต่อรับสัญญาณอยู่ลึกห่างจากขอบจออยู่สักหน่อย หากแขวนทีวีเข้ากับผนังจะเสียบต่อสายยากอยู่บ้าง

4. Clean Cable Solution จะใช้ได้ไม่เต็มที่หากสายสัญญาณมีหน้าตัดขนาดใหญ่, ยังไม่มีระบบ One Connect แยกจุดเชื่อมต่อภายนอกทีวีเพื่อจัดการสายได้อิสระแบบรุ่น QLED TV

5. ต้องรออุปกรณ์ Smart Home ที่รองรับระบบ SmartThings วางจำหน่ายแพร่หลายก่อน จึงจะสามารถใช้งานได้เต็มระบบ

คะแนน

ดีไซน์ (Design)
8.5
ภาพ 2 มิติ ก่อนปรับภาพ (2D Picture Pre-Calibrated)
8.25
ภาพ 2 มิติ หลังปรับภาพ (2D Picture Post-Calibrated)
8.5
ภาพ 2 มิติ (HDR)
8.5
เสียง (Sound)
8
การเชื่อมต่อ (Connectivity)
7.75
ลูกเล่น (Features)
9.25
ความคุ้มค่า (Value)
8.25
คะแนนตัดสิน (Total)
8.3

Samsung 55NU8000

8.3