23 Aug 2017
Review

รีวิว Samsung 65Q8C หรูหราเจิดจ้า ดูดีรอบด้านแบบ 360 องศา !??


  • ชานม
มาดูในส่วนของผลลัพธ์การแสดงผลแบบ HDR ดูบ้าง ซึ่งโหมดภาพของ 65Q8C ที่ให้ความเที่ยงตรงใกล้เคียงมาตรฐานอ้างอิงมากที่สุดยังคงเป็น Movie เช่นเคย ในส่วนของสมดุลสีเที่ยงตรงดีกว่าโหมดอื่นๆ แต่ระดับความสว่าง (Peak Brightness) จะเป็นรองอยู่เล็กน้อย โดยทำได้ราว 665 nits ในขณะที่โหมด Dynamic ทำได้ที่ 786 nits (ทาง Samsung แจ้งมาว่า Q8C ตัวที่วางจำหน่ายจริง จะให้ระดับความสว่าง Peak Brightness สูงกว่านี้)
QLED TV เพิ่มเติมรองรับการไฟน์จูนปรับภาพในส่วนของโหมดการรับชมแบบ HDR ทั้งปรับ White Balance แบบละเอียดเพิ่มจาก 10 จุด เป็น 20 จุด และในส่วนของ CMS (Color Management System) ยังเพิ่มในส่วนของตัวเลือก Color Gamut สำหรับอ้างอิงปรับเปลี่ยน Color Space Target เข้ามาด้วย ทำให้การอ้างอิงมาตรฐานขอบเขตสีสำหรับ HDR ทำได้ยืดหยุ่นกว่าเดิม
ผลพลอยได้จากตัวเลือกไฟน์จูนปรับภาพในโหมด HDR ที่ละเอียดขึ้น ส่งผลให้ได้ภาพ อิงการถ่ายทอดสีสันตรงตามมาตรฐานมากกว่าเจนฯ ก่อน
อ้างอิงจากตัวที่ส่งมาทดสอบ ระดับความสว่างสูงสุด (Peak Brightness) เมื่อรับชม HDR Content ร่วมกับโหมด Movie “หลังจากปรับภาพแล้ว” จะลดลงเล็กน้อยอยู่ที่ 650 nits แต่ทาง Samsung เคลมว่าตัวที่ขายจริงจะให้ความสว่างสูงกว่านี้ หากทีมงานได้ทดสอบตัวขายจริงแล้ว จะมาแจ้งผลการทดสอบเรื่องของ Peak Brightness อีกครั้ง แต่จุดที่เรียกว่าเด่นกว่าเจนฯ ก่อนชัดเจน เห็นจะเป็นเรื่องสี
Samsung ชูประเด็นเรื่องการถ่ายทอดสีสันของ QLED TV ว่าทำได้โดดเด่นกว่าเคย ซึ่งผลการทดสอบพบว่า 65Q8C ให้ขอบเขตสีกว้างขวาง รองรับ Wide Color Gamut ครอบคลุมมากกว่า “95% ของมาตรฐาน DCI-P3” (ดีกว่า SUHD TV ของปีที่แล้ว ที่ทำได้ราว 93%)
แน่นอนรุ่นระดับนี้แล้ว โมชั่นแทรกเฟรมภาพเคลื่อนไหว หรือที่ Samsung ใช้ชื่อว่า “Auto Motion Plus” ย่อมต้องมี โดยที่ระดับ Auto จะเน้นประมวลผลแทรกเพิ่มจำนวนเฟรมเสมือนเพื่อให้ภาพเคลื่อนไหวดูลื่นคล้าย High Frame Rate แต่บางครั้งจะสังเกตเห็นเงารบกวนวิ่งตามวัตถุ หรือรู้สึกว่าภาพเคลื่อนไหวดูหลอกๆ ไม่เป็นธรรมชาติอยู่บ้าง ตรงนี้แนะนำให้เปลี่ยนระดับเป็น Custom แทน ซึ่งค่าเดิมจากโรงงานให้ผลลัพธ์ที่ลงตัวดีทีเดียวในแง่ลดอาการสะดุดของภาพเคลื่อนไหวขณะที่ยังคงดูต่อเนื่องเป็นธรรมชาติ ไม่หลอกตา เหมาะสำหรับการรับชมภาพยนตร์บลูเรย์ทั่วไป แต่ก็เปิดโอกาสให้ปรับแต่งเองให้เหมาะกับภาพเคลื่อนไหวของคอนเทนต์แต่ละรูปแบบ
ทดลองใช้งานเป็นมอนิเตอร์ด้วยการเชื่อมต่อกับ PC หรือ Laptop พบว่า ระบบของ Q8C จะปรับเปลี่ยนการแสดงผลเป็น “PC Mode” ให้อัตโนมัติ ซึ่งโหมดนี้จะไม่มีปัญหาเรื่อง Input Lag แต่ตัวเลือกปรับภาพบางหัวข้อจะถูกจำกัด เช่น White Balance รองรับเพียง 2-Point, ไม่สามารถปรับเปลี่ยนตัวเลือก Color Space Standard และไม่รองรับ CMS (Color Management System) จุดนี้จึงต้องระมัดระวังเรื่องระบบจัดการ Color Space ของโปรแกรมที่ใช้งาน
ประเด็นเรื่องของการใช้งาน QLED TV เป็นจอมอนิเตอร์ รวมถึงการใช้งานทั่วไปอย่างรับชมภาพยนตร์และเล่นเกม มีข้อมูลประชาสัมพันธ์ที่ทาง Samsung อยากให้เน้นเป็นพิเศษ คือ เรื่องของ “Burn-in” ซึ่งผู้ใช้งาน Samsung QLED TV สบายใจได้เลยว่าจะไม่เกิดปัญหาจอเบิร์น (Burn-in) หรือเกิดภาพติดค้าง (Image Retention) 100% ยืนยันได้จากข้อมูลการทดสอบของต่างประเทศหลายสำนัก ไม่ว่าจะเป็น RTINGS หรือ AVS Forum

ส่วนการเล่นเกมร่วมกับเครื่องเกมคอนโซล แนะนำให้ On ตัวเลือก Game Mode เพื่อระดับ HDMI Input Lag ต่ำเพียง 23.7 ms (หาก Off  Game Mode ตัวเลข HDMI Input Lag จะอยู่ที่ราว 74 ms)  

เสียง

การออกแบบระบบเสียงของ Q8C ดูเผินๆ ไม่ได้ใช้เทคนิคหวือหวา หากเทียบกับลำโพงทีวีระดับท็อปของยี่ห้ออื่นจึงดูธรรมดาไปบ้าง หลักการก็เหมือนเช่นเจนฯ ก่อน โดยนำตัวขับเสียงติดตั้งไว้ส่วนล่างของจอภาพ แต่แนวทางพื้นๆ นี้ น่าแปลกที่สมดุลเสียงทำได้ดีเกินคาด ไม่อุดอู้ ผมมองไม่เห็นตำแหน่ง “ลำโพงซับวูฟเฟอร์” (เห็นมีแต่วูฟเฟอร์) เลยไม่แน่ใจว่ามีหรือเปล่า แต่ปริมาณเบสที่ได้นับว่าเกินตัวเลยทีเดียว น้ำเสียงหนักแน่น รายละเอียดเสียงชัดเจนดี คุณภาพเสียงเกินหน้าเกินตาทีวีอื่นๆ ที่ติดตั้งลำโพงด้านล่างจอภาพ ในแง่คุณภาพเสียงนี้ พูดเลยว่าอัพเกรดให้ดีขึ้นจาก SUHD TV ของปีที่แล้ว ได้ดียิ่งขึ้นไปอีกขั้น

Q8C สามารถถอดรหัสเสียง Dolby Digital และ DTS ได้ในตัว ส่วนฟอร์แม็ตไฟล์เสียงเมื่อเล่นผ่าน USB Storage ได้แก่ WAV, FLAC, ALAC, AIFF, MP3, WMA, AAC, APE และ midi แน่นอนว่ารองรับ Hi-res ด้วยครับ

สำหรับท่านใดที่จะเชื่อมต่อ “หูฟัง” กับ Q8C ต้องใช้ Bluetooth Headphone เท่านั้นนะครับ เพราะทีวีไม่มีช่อง Headphone Out แบบ 3.5mm แต่ถ้าเป็น Bluetooth Headphone ก็เชื่อมต่อได้เลย ดีเสียอีกเพราะไม่พะรุงพะรังและไม่ต้องกังวลกับระยะความยาวสายด้วย

ตัวเลือกปรับแต่งในส่วนของเสียง สามารถจัดการอุปกรณ์เชื่อมต่อ และกำหนดในส่วนของ Audio Output ได้ยืดหยุ่น

สรุป

Samsung เปิดตัว QLED TV ได้อลังการ ทุกรุ่นมาพร้อมดีไซน์โดดเด่นไม่ซ้ำใคร วัสดุที่ดูหรูหรา พร้อมแนวความคิด Invisible Connection ผสานรวมให้ Q8C เป็นทีวีที่ดูดีรอบด้านแบบ 360 องศา อย่างแท้จริง นอกจากนี้พาเนลยังได้รับการปรับปรุงให้มีมุมมองที่กว้างขวางขึ้น และตอบสนองด้านสีสันโดดเด่นกว่าเคย 

ราคาเปิดตัว 169,990 บาท

ข้อดีของ Samsung 65Q8C

1. ดีไซน์สวย วัสดุงานประกอบดูดีรอบด้าน ฐานตั้งสวยสะดุดตาไม่ซ้ำกับซีรี่ส์อื่น แต่เด่นที่สุดเห็นจะเป็นแนวคิด Invisible Connection ที่ทำให้ทีวีดูสวยรวมไปถึงด้านหลังแบบ 360 องศา อย่างแท้จริง การปรับเปลี่ยนสาย One Connect เป็นไฟเบอร์อ็อพติกใสขนาดเล็กมาก เก็บซ่อนง่าย ความยาว 5 ม. ยังช่วยให้การติดตั้งตำแหน่ง One Connect Box ยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้น 

2. ฐานตั้งมาตรฐาน และฐานตั้งเสริมทั้ง 2 แบบ (Gravity & Studio Stand) คำนึงถึงการเก็บซ่อนสายได้อย่างลงตัวมาก เข้ากับแนวคิด Invisible Connection ส่งเสริมรูปลักษณ์ให้ดูสวยงาม พร้อมผสานประโยชน์ใช้สอยได้อย่างแท้จริง

3. Calman-Ready TV รองรับการปรับภาพผ่านโปรแกรม Calman แบบอัตโนมัติ ในส่วนของตัวเลือกปรับภาพละเอียดอิงตามมาตรฐาน ISF เพิ่มเติมจากเจนก่อนตรงที่ปรับ White Balance ได้ถึง 20-point ภายหลังปรับภาพให้ความเที่ยงตรงสูงทั้งโหมดภาพ SDR และ HDR

4. 10-bit 4K/UHD RGB Quantum Dot VA Panel แบบใหม่ ทำให้ขอบเขตสีกว้างกว่า (95.5% of DCI-P3) และที่สำคัญมุมมองรับชมกว้างขวางขึ้น รองรับ HDR มาตรฐาน HDR10 และ HLG

5. Game Mode ให้ระดับ HDMI Input Lag ต่ำเพียง 23.7 ms แต่โหมดนี้สมดุลสีจะติดอมฟ้า หากต้องการสีสันที่เที่ยงตรงต้องทำการปรับภาพเพิ่มเติม

ข้อเสียของ Samsung 65Q8C

1. ยังไม่รองรับมาตรฐาน HDR แบบ Dolby Vision 

2. ไม่มีช่องต่อหูฟัง (3.5 mm) แต่ทดแทนด้วยการรองรับ Bluetooth Headphone

คะแนน

ดีไซน์ (Design)
9.25
ภาพ 2 มิติ ก่อนปรับภาพ (2D Picture Pre-Calibrated)
8.5
ภาพ 2 มิติ หลังปรับภาพ (2D Picture Post-Calibrated)
8.75
ภาพ 2 มิติ (HDR)
8.5
เสียง (Sound)
8.5
การเชื่อมต่อ (Connectivity)
8.75
ลูกเล่น (Features)
8.5
ความคุ้มค่า (Value)
8.0
คะแนนตัดสิน (Total)
8.6

Samsung 65Q8C (2017)

8.6