19 Oct 2021
Review

Samsung The Premiere Smart 4K Projector พลิกโฉมวงการด้วย Triple Laser ขอบเขตสีกว้างถึง Rec.2020


  • ชานม

ภาพ

LSP9T ติดตั้ง Digital Micro Mirror Device ขนาด 0.66 นิ้ว พร้อมเทคโนโลยี 4K XPR ซึ่งอาศัย Optical Actuator ทำงานขยับตำแหน่งพิกเซลรวดเร็วมากจนสามารถสร้างเป็นภาพนิ่ง (frame) ที่มีรายละเอียดจำนวนพิกเซลเพิ่มขึ้น รวมกันทั้งสิ้นจะได้ความละเอียดเท่ากับ 8.3 ล้านพิกเซล ตรงตามมาตรฐาน 4K (UHD) ตามการรับรองของ Consumer Technology Association หรือ CTA

แต่ความเหนือล้ำของรุ่นนี้ คือ การผสมผสานเทคโนโลยีแหล่งกำเนิดแสงแบบ Triple Laser สามารถทลายขีดจำกัดด้านการแสดงขอบเขตสีจนทำได้เทียบเคียง Rec.2020 !! ตามอุดมคติขั้นสุดของมาตรฐาน HDR ซึ่งที่ผ่านมายังไม่มีจอภาพใด ไม่ว่าจะเป็นทีวี หรือมอนิเตอร์ เคยทำได้มาก่อน…

ผลการทดสอบยืนยันว่า LSP9T ให้ขอบเขตสีกว้างถึงระดับ Rec.2020 จริง หากกำหนดตัวเลือก Color Space – Native (ค่า Default ของโหมด Dynamic, Standard) บางเฉดสี เช่น แดง และ เขียว จะกว้างเลยขอบเขต Rec.2020 ออกไปด้วยซ้ำ

ส่วนโหมดภาพ Movie/Filmmaker ซึ่งถูกกำหนด Colorspace – Auto นั้น ระบบจะคุมขอบเขตสีอัตโนมัติอิงตามมาตรฐานคอนเทนต์ที่รับชม กรณีรับชม HDR content ผลลัพธ์ที่ได้จะใกล้เคียง DCI-P3 (P3 in Rec.2020 Colorspace มาตรฐานที่ใช้กับจอภาพทั่วไปที่รองรับ HDR ในปัจจุบัน) สามารถปรับเปลี่ยนตัวเลือก Colorspace ได้ที่หัวข้อเมนู Picture –> Advanced Settings

– SDR –

รุ่นนี้ให้โหมดภาพสำหรับรับชมคอนเทนต์แบบ SDR มา 4 โหมด น้อยกว่าทีวีของ Samsung ด้วยกัน ตรงที่ไม่มีโหมด Natural แต่ประเด็นนี้ไม่ได้ส่งผลอะไรกับการใช้งาน

ผล Lab Test พบว่าโหมดภาพที่ให้ผลลัพธ์เหมาะกับการรับชม SDR คือ Movie และ Filmmaker เพราะให้สมดุลและขอบเขตสีใกล้เคียงมาตรฐาน Rec.709 ระดับความสว่างต่ำกว่า Dynamic และ Standard เล็กน้อย โดยรวมสามารถใช้งานในห้องคุมแสงมืดสนิท หรือในสภาพที่มีแสงรบกวนเล็กน้อยได้ ถ้าใช้งานร่วมกับจอรับภาพแบบ ALR

ระดับความสว่างที่สูงกว่าเล็กน้อยของโหมด Dynamic และ Standard อาจเป็นตัวเลือกไว้ใช้งานในห้องที่ไม่ได้คุมแสงมืดสนิท อย่างไรก็ดีเนื่องจาก 2 โหมดนี้ ถูกกำหนด Colorspace – Native ขอบเขตสีจึงกว้างกว่ามาตรฐาน Rec.709 ถึงเกือบ 200% ! สีสันจะดูสดจัดเกินไปบ้าง (Over Saturation) และสมดุลแสงขาว (White Balance) จะติดโทนเย็น

หมายเหตุ: อายุการใช้งานแหล่งกำเนิดแสง Laser ของ LSP9T อยู่ที่ 20,000 ชม. ไม่ว่าจะเลือกใช้งานโหมดภาพใด

<กดที่ Tab ด้านบน เพื่อดูผล SDR Calibration Report>

ผล Lab Test ของโหมดภาพ Movie/Filmmaker ค่าเดิมๆ จากโรงงาน (Pre Calibration) ดุลสีดีมากทีเดียว อุณหภูมิสีเฉลี่ย 6800K ค่าความผิดเพี้ยนแสงขาว Grayscale Avg dE ต่ำกว่า 2 จะใช้งานเลยโดยไม่ปรับภาพก็ยังได้

หลังปรับภาพ (Post Calibration) ผลลัพธ์ดีขึ้นเล็กน้อย ค่าความผิดเพี้ยนเฉลี่ยทั้ง Grayscale Avg dE และ Colorspace Avg dE จะลดลงมาเหลือ 1.5 และ 4.6 ตามลำดับ ขอบเขตสีครอบคลุม 97.8% Rec.709

Rec.709 Color Checker หลังดำเนินการปรับภาพ มีค่าความผิดเพี้ยนเฉลี่ย (Saturation Avg dE) ที่ 3.9

– HDR –

นอกเหนือจากความสามารถด้านการแสดงขอบเขตสีที่กว้างมากถึงระดับ Rec.2020 แล้ว ความพิเศษที่เกี่ยวเนื่องกับการแสดงผล HDR คือ LSP9T รองรับมาตรฐาน Dynamic HDR อย่าง HDR10+ ด้วย เพิ่มเติมนอกเหนือจาก HDR10 และ HLG

ค่าความสว่างสูงสุดที่แจ้งไว้ในสเปค คือ 2800 ANSI Lumens หากใช้งานร่วมกับ Ambient Light Rejecting Screen ที่ออกแบบสำหรับ UST Projector ภายในห้องมืดสนิท LSP9T ก็พอจะแสดงแสงเอฟเฟ็กต์ HDR ออกมาได้ แต่แน่นอนว่าความเจิดจรัสจะน้อยกว่าเทคโนโลยีจอภาพ Direct View อย่าง HDR TV อยู่บ้าง ทว่าลักษณะการรับชมแสงที่สะท้อนผ่านจอรับภาพของโปรเจคเตอร์ ก็มีส่วนช่วยให้ดูสบายตา การปรับเปลี่ยนระดับความสว่างระหว่างฉากมืด-สว่างดูไม่กระชาก และได้อารมณ์เหมือนกับโรงภาพยนตร์

อีกหนึ่งความสามารถที่ LSP9T ทำได้เหมือนทีวีของ Samsung คือ “ระบบแทรกเฟรมภาพเคลื่อนไหว” โดยปรับระดับการจำลองแทรกเฟรมได้ละเอียดที่ตัวเลือก Picture Clarity Settings –> Judder Reduction (ไม่มีตัวเลือก Blur Reduction แบบทีวี) แต่ต้องยอมรับว่าการรับชมผ่านโปรเจคเตอร์นั้น แม้จะ Off ตัวเลือกนี้ ก็สามารถรับชมภาพเคลื่อนไหวได้เป็นธรรมชาติ ไม่รู้สึกว่าติดขัดอะไร แต่ทั้งนี้ก็แล้วแต่ความชอบครับ