01 Jan 2014
Review

ประติมากรรม “หลักศิลา” กับประสิทธิภาพที่ต้องจารึก Sony KDL-HX855 3D LED TV


  • ชานม

ประติมากรรม “หลักศิลา”
กับประสิทธิภาพที่ต้องจารึก ??


สิ่งที่ผมรอคอยอย่างใจจดใจจ่อตลอดเวลาที่ทำงานอยู่ในฐานะสื่อ คือ การได้ลุ้นว่าปีนี้จะมีสินค้าอะไรผ่านมาให้พิสูจน์ศักยภาพว่าสามารถตอบสนองการใช้งานได้ดี หรือโดดเด่นกว่าเดิมมากน้อยแค่ไหน แต่นอกเหนือจากนั้น คือ การได้เห็นว่าผู้ผลิตมีแนวคิดในการออกแบบสินค้าที่หวือหวา และน่าตื่นเต้นเพียงใด แน่นอนว่าบ่อยครั้งเกิดจากแนวคิดสร้างสรรค์แปลกใหม่ที่ไม่มีผู้ใดคิดได้มาก่อน ซึ่งประเด็นนี้อาจ “ได้ใจ” ไปก่อนจะได้ทดสอบประสิทธิภาพเสียอีก

สำหรับจอภาพนั้น แน่นอนว่าวัตถุประสงค์การใช้งาน คือ “ใช้รับชม” ดังนั้นทีวีที่ดี ก็ย่อมต้องให้ภาพที่ดี ทว่าประเด็นดังกล่าวคงจะเป็นเพียงหนึ่งในหลายปัจจัยที่ใช้ในการพิจารณาเลือกซื้อ ทั้งนี้ปัจจัยที่จะสื่อไปถึงแนวคิดสร้างสรรค์ของผู้ผลิตได้ชัดเจนคงไม่พ้นเรื่องของดีไซน์ที่เผลอๆ จะดึงดูดความสนใจได้มากกว่าประเด็นเรื่องภาพเสียอีก และในสายตาของผู้บริโภค “รูปลักษณ์” ของสินค้า ก็คือ “ภาพลักษณ์” ของแบรนด์ไปโดยปริยายนั่นแหละ

ปีที่แล้ว หลายท่านน่าจะได้สัมผัสกับ Monolithic Design จาก 2011 Sony Bravia TV กันไปบ้าง โดยเฉพาะท่านที่ได้เห็นภาพเปรียบเทียบจากงานบรรยายของทีมงาน LCDTVTHAILAND ที่งาน BAV Hi-End 2012 ณ รร.แลนด์มาร์ค เมื่อต้นปี ซึ่งความโดดเด่นทั้งด้านภาพ และดีไซน์ความสวยงามคงได้เป็นที่ประจักษ์… เมื่อซีรี่ส์ล่าสุดของปี 2012 อย่าง HX855 ได้ปล่อยของออกสู่ตลาด ก็ยังคงสานต่อแนวคิดนี้เช่นเดิม แต่จะมีประเด็นเพิ่มเติมใดที่น่าสนใจบ้าง เชิญทัศนาได้บัดเดี๋ยวนี้ !

BrandSony
ModelKDL-55HX855
Size55″
Native Resolution1920 x 1080
Backlight TypeDynamic Edge LED (Edge LED with Local Dimming)
3D PlaybackYes
(Active Shutter Glasses)
2D to 3DYes
Video ProcessorX-Reality PRO
Frame InterpolationMotionflow XR 800
DesignMonolithic Design
HDMI4
USB2
Internet ConnectionWiFi Integrated, LAN
Internet & Network Sony Entertainment Network / DLNA
Price112,990 .-*

* พร้อม TV Stand SU-B553S

ดีไซน์

จริงอยู่ว่าที่ผ่านมา หรือแม้แต่ปัจจุบัน มีหลายแบรนด์ที่ออกแบบ “ขาตั้งทีวี” ได้โดดเด่น สวยงาม ทว่าทีวี+ขาตั้ง เหล่านั้น แม้จะสร้างความหวือหวาเมื่อแรกเห็นได้ก็จริง แต่ค่อนข้างล่องลอยในเรื่องของแนวคิด กล่าวคือถึงแม้จะเปลี่ยนแปลงรูปร่างโครงสร้างขาตั้งให้แปลกไปอย่างไร ก็เหมือนยังหาตัวตนที่ชัดเจนไม่เจอ ทั้งนี้แนวคิดรากเหง้าจุดเริ่มต้นถือเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าไม่ชัดเจน การบรรลุจุดบรรจบที่ลงตัวก็เป็นไปได้ยาก ในขณะที่ทีวีของ Sony นั้น ถึงแม้ดีไซน์ทีวีที่มาพร้อมขาตั้งมาตรฐาน ดูแล้วก็มิได้โดดเด่นล้ำหน้าแตกต่างจากแบรนด์อื่น ออกจะธรรมดาไปหน่อยด้วยซ้ำ (แต่ก็ไม่ถึงกับอนุรักษ์นิยมยึดติดกับรูปแบบเดิมๆ มากเกินไปจนเชย และแน่นอนว่ามิได้เปลี่ยนดีไซน์ใหม่หมดทุกปีจนหาเค้าเดิมไม่เจอ)

กระนั้นจุดเด่นของ Sony คือ ภาพรวมแนวคิดในการออกแบบ โดยการผนวกทีวีกับฐานตั้ง (Bunchin – TV Stand) เพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญนำไปสู่การนำเสนอแนวคิด “Monolithic Design” ให้เป็นที่ประจักษ์ ความชัดเจนเรื่องของการตีความรูปลักษณ์ของทีวี (เมื่อตั้งวางบนชั้น) จึงทำได้โดดเด่น เป็นเอกลักษณ์ และดู “ไม่ธรรมดา” แน่นอนว่าจุดนี้ส่งผลให้โปรดักต์ทีวีของ Sony แตกต่างจากแบรนด์อื่นอย่างชัดเจน… แต่ความลึกซึ้งตรงนี้จะมากน้อยเพียงใด ก็ขึ้นกับว่าทาง Sony จะโปรโมทประเด็นดังกล่าวสู่สายตาผู้บริโภคได้ชัดเจนเพียงใด…

การจัดแสดง Sonys Monolithic Design Concept ภายในงาน CES 2011 (ภาพประกอบจาก Gizmodo)

ความหมายของคำว่า Monolith จากพจนานุกรม เป็นดังนี้

Cambridge Dictionaries Online
monolith (n.)= a large block of stone standing by itself which was put up by people in the distant past
Merriam-Webster Dictionary Online
monolith (n.)= a single great stone often in the form of an obelisk or column
= a massive structure
= an organized whole that acts as a single unified powerful or influential force
พจนานุกรม สอ เสถบุตร
monolith (n.)= หินใหญ่ก้อนเดียว, เสาหินที่ตั้งเป็นอนุสาวรีย์
= สิ่งที่มั่นคงราวกับหิน, กลุ่มที่เกาะกันแน่น หรือหมู่ที่เกาะกันแน่นราวกับหิน

ก่อนจะกล่าวถึงดีไซน์ของ 55HX855 ผมขอย้อนกลับไปยังรากฐานแนวคิด Monolithic Design ที่ Sony นำเสนอพร้อมกับ Bravia TV รุ่นท็อปๆ ตั้งแต่ปีที่แล้ว ว่ามีที่มาอย่างไรสักเล็กน้อย… Monolithic Design มีจุดเริ่มต้นจากความพยายามของ Sony ในการสร้างสรรค์ทีวีที่สามารถสร้างความประทับใจแก่ผูชมได้ตลอดเวลา แน่นอน “ตลอดเวลา” ในที่นี้ มิใช่ตลอดเวลาที่เปิดรับชมภาพเท่านั้น แต่รวมถึงเวลาที่ “ไม่ได้เปิดใช้งาน” ด้วย การจะบรรลุเป้าหมายข้างต้น “ตัวทีวี” เองต้องสามารถสร้างความประทับใจได้แม้จะตั้งวางอยู่เฉยๆ

เริ่มจากรากฐานสำคัญโดยเน้นบรรลุเป้าหมายสูงสุดเพียง 3 ประการ คือ Function, Form และ Performance แล้วเชื่อมโยงส่วนผสมทั้ง 3 อย่างลงตัว ก็จะเกิดเป็นความเรียบง่ายที่สร้างความโดดเด่นได้ พื้นฐานจากความเรียบง่ายมีส่วนช่วยให้เกิดความกลมกลืน คือ ไม่ปิดกั้นการรับรู้โดยใช้ความหวือหวาดึงความสนใจของผู้คนออกจากสภาพแวดล้อมมากเกินไป ทว่าอีกด้านหนึ่งตัวทีวีเองก็ส่งเสริมให้สภาพแวดล้อมถูกยกระดับขึ้นด้วยการออกแบบฟังก์ชั่นการใช้งานที่ลงตัว และสร้างความประทับใจด้วยคุณภาพของภาพและเสียงอันโดดเด่น

ซ้าย – 55HX855 ติดตั้งพร้อมกับขาตั้งมาตรฐาน
และ ขวา – 55HX855 ติดตั้งกับ SU-B553S Monolithic TV Stand

55HX855 ยังคงพื้นฐานการออกแบบตามแนวคิด Monolithic Design เช่นเดียวกับปีที่แล้ว ทว่าเปลี่ยนแปลงบางจุดให้ต่างจากเดิมบ้าง (จะได้ไม่จำเจ) ดีไซน์ของตัวทีวีเองยังคงลักษณะแบบ “หลักศิลากระจกสีดำ” เช่นเดียวกับดีไซน์ปี 2011 วัสดุที่ใช้ คือ กระจก Corning Gorilla Glass ปิดเต็มพื้นที่พาเนลนั่นเอง กรอบจอเป็นโลหะ (Brushed aluminium) สีเงิน เพื่อสร้างความโดดเด่นของเส้นขอบ อย่างไรก็ดีจุดที่ต่างไปจากเดิมอย่างเห็นได้ชัด คือ ดีไซน์ของขาตั้งมาตรฐาน ที่เปลี่ยนจากแผ่นฐานแล้วมีเสาตรงกลางแบบที่เห็นหราทั่วไป ให้กลายเป็นสะพานโค้งอย่างที่เห็น แต่ที่สร้างความโดดเด่นที่สุดคงไม่พ้น Monolithic TV Stand อุปกรณ์สร้างภาพลักษณ์สำคัญ (เป็นอ็อพชั่นเสริมในปีที่แล้ว ทว่าแถมมากับรุ่น 55HX855 ในปีนี้) ก็มีการเปลี่ยนแปลงดีไซน์ไปบ้างเช่นเดียวกัน

เปรียบเทียบลักษณะของ Monolithic TV Stand ที่ใช้งานกับทีวี Sony Bravia คือ SU-B553S TV Stand ของปี 2012 นี้ (รูปบน) ออกแบบมาให้ใช้งานร่วมกับทีวี Bravia ขนาดจอภาพ 55 นิ้ว ในซีรี่ส์ HX855 (อนาคตอาจมีซีรี่ส์อื่นที่รองรับเพิ่มขึ้น) ส่วน SU-B551S TV Stand ของปีที่แล้ว (2011 รูปล่าง) ใช้งานร่วมกับทีวี Bravia ขนาดจอภาพ 55 นิ้ว ในซีรี่ส์ NX720, HX820 และ HX925

ดูแล้วถามว่าของใหม่กับของของเก่า อันไหนสวยกว่ากัน? อาจต้องให้เครดิตรุ่นบุกเบิกมากกว่านิดหน่อย แต่กระนั้นผมว่ามันสวยทั้งคู่ครับ ในรุ่นใหม่จะลดทอนลักษณะฐานสี่เหลี่ยมทึบตัน โดยลบมุมเพิ่มความโค้งมนเข้ามา พร้อมกับลดขนาดความหนาลง เมื่อติดตั้งทีวีลงไปแล้วจะเหมือนกับทีวีวางลอย (สัมผัส) อยู่บนฐาน โครงสร้างนี้เมื่อบวกกับดีไซน์ทีวีขอบบาง จึงให้ความรู้สึก “บางเบา” กว่าเดิม แต่ยังคงความขึงขังแบบ “ประติมากรรมหลักศิลา”

ในขณะที่รุ่นก่อนจะให้ความ “หนักแน่น” มั่นคงดุจแผ่น (และฐาน) หิน มากกว่า ช่วงรอยต่อให้ลักษณะเหมือนเสียบลึกเข้าไป (หรือโผล่ทะลุขึ้นมา) แต่ไม่ว่าแบบใดก็เข้ากับแนวคิด Monolithic เหมือนกัน จอภาพทำมุมเอียง 6 องศา ลงตัวกับการรับชมเมื่อตั้งวางบนชั้นเช่นเดิม ทั้งคู่มีการยึดล็อคทีวีกับฐานที่แน่นหนาพอดู แม้ว่าโยกๆ แล้วจะมีคลอนบ้าง แต่คิดว่าไม่น่ามีปัญหาที่จะก่อให้เกิดอันตราย ถ้าไม่มีใครเล่นพิเรนทร์ อย่างไรก็ดีเรื่องของรูปลักษณ์ คงมิใช่เป้าหมายหลักเพียงอย่างเดียวของ TV Stand ประเด็นเรื่องของคุณภาพเสียง นับเป็นเป้าหมายสำคัญเช่นกัน… ติดตามจากรายงานผลการทดสอบช่วงท้ายได้ครับ

การเชื่อมต่อระหว่างทีวีและฐานของรุ่นใหม่ ใช้สายเชื่อมต่อลักษณะเฉพาะเพียงเส้นเดียวดังรูป ซึ่งสายนี้เป็นทั้งสายสัญญาณและจ่ายพลังงานไฟฟ้าให้กับภาคขยาย เมื่อเชื่อมต่อแหล่งสัญญาณเสียงใดๆ เข้ากับทีวี สัญญาณเสียงจะถูกส่งผ่านมายัง TV Stand ผ่านสายนี้ ดังนั้นที่ฐาน SU-B553S จึงไม่มีความจำเป็นต้องมีช่องต่ออื่นใดอีก ภายหลังจากติดตั้ง เชื่อมต่อสาย และเปิดใช้งานทีวี ลำโพงของทีวีจะปิดการทำงาน และระบบจะสลับไปใช้งานลำโพงที่ TV Stand ให้เองโดยอัตโนมัติ

หมายเหตุ: TV Stand รุ่นก่อน คือ SU-B551S นั้น จะใช้วิธีเชื่อมต่อสัญญาณระหว่างทีวีด้วยสาย HDMI แบ่งได้ 2 วิธี วิธีแรก คือ เสียบสายสัญญาณ HDMI จากแหล่งโปรแกรมตรงเข้า TV Stand ก่อน แล้วเชื่อมต่อสาย HDMI อีกเส้นออกจาก TV Stand ไปเข้าที่ทีวี ส่วนวิธีที่ 2 คือ เสียบเสียบสายสัญญาณ HDMI จากแหล่งโปรแกรมเข้าที่ทีวีตามปกติ และระบบจะส่งสัญญาณเสียงในรูปแบบ ARC (Audio Return Channel) จากทีวี ไปที่ TV Stand วิธีการที่ 2 นี้ยังรองรับสัญญาณเสียงต้นทางจากออดิโออินพุตอื่นๆ ของทีวี (เช่น Analog, USB) รวมถึงเสียงจากเสาอากาศทีวี (Antenna) ด้วย สามารถดูรายละเอียดและภาพประกอบได้จาก รีวิว Sony KDL-55NX720 + SU-B551S โดยคุณโรมัน

รุ่นนี้รองรับระบบภาพสามมิติ ย่อมจะขาดแว่น 3D ไม่ได้ สำหรับซีรี่ส์ HX855 ยังคงใช้เทคโนโลยีแบบ 3D Active Shutter Glasses เช่นเดิม แถมมาให้ 2 ชุด
ดีไซน์แว่นดูแล้วน่าจะเป็นรุ่นเดียวกับปีที่แล้ว เมื่อสวมแล้วสวิทช์เพาเวอร์จะอยู่ฝั่งขวา เช่นเดียวกับช่อง USB สำหรับเสียบสายชาร์จแบ็ตเตอรี่ เยื้องลงมาข้างล่าง

หมายเหตุ: เห็นในโบรชัวร์ Sony มีแว่นสามมิติดีไซน์ใหม่ที่ดูเก๋เว่อร์มากๆ (อย่างกับแว่นแฟชั่น) แต่ไม่ทราบว่าเป็นอ็อพชั่นเสริม (ซื้อเพิ่ม) หรือแถมมากับรุ่นไหนหรือเปล่า แต่ที่แน่ๆ ไม่ใช่รุ่นนี้

รีโมตคอนโทรลสำหรับรุ่น HX855 อาจดูแล้วไม่ค่อยสมน้ำสมเนื้อสำหรับรุ่น “รองท็อป” เท่าไหร่ (มองเผินๆ ไม่ต่างจากรีโมตของรุ่น EX650 จุดต่างมีเพียงปุ่ม 3D ที่เพิ่มเข้ามาเพียงอย่างเดียว)
อุปกรณ์อื่นๆ ที่ให้มาในกล่อง มีเว็บแคมเชื่อมต่อทาง USB ลักษณะเดียวกับที่ให้มากับรุ่น HX925 โครงสร้างดูดีทีเดียว สามารถนำมาต่อเล่น Skype แบบคุยเห็นหน้าได้เลย การตั้งวางสามารถตั้งบนชั้นตรงๆ หรือแปะไว้เหนือทีวีก็ได้ ถึงแม้การแปะติดเหนือทีวี โดยใช้ “เทปกาว” ดูเล่นง่ายไปนิด แต่ก็ใช้งานได้ สามารถปรับมุมก้มเงยได้นิดหน่อย

ต่อไป เป็นศักยภาพรองรับการเชื่อมต่อต่างๆ ของ 55HX855 ครับ