15 Aug 2021
Review

รีวิว Toshiba Z770 4K Android TV ตัว Top จัดเต็มสเปคทั้งภาพและเสียง !!!


  • TopZaKo

ภาพ

มาเริ่มทดสอบเรื่องภาพกัน

เรื่อง สเปคด้านภาพ Toshiba Z770 ถือว่าเป็นรุ่นหนึ่งที่ให้สเปคระดับท็อปๆ มาแบบจัดเต็ม ใช้ชิปประมวลผลตัวท็อปของทาง Toshiba เองอย่าง Regza Engine 4K Pro มีความละเอียดภาพแบบ 4K Ultra HD 3840 x 2160 Pixel หรือ 8.3 ล้านพิกเซล ใช้ Panel เป็นแบบ VA หรือ Vertical Alignment บวกกับเทคโนโลยี Quantum Dot Color Display ที่ให้สีสันของภาพที่สดใจดูเป็นธรรมชาติ อาจมีมุมมองด้านข้างที่แคบกว่าหน้าจอแบบ IPS สักเล็กน้อย แต่จากการทดสอบหากเรานั่งรับชมในห้องปกติทั่วไปจากโซฟาแบบ 3 ที่นั่ง คนที่นั่งด้านข้างอาจเห็นสีสันที่ดรอปลงไปบ้างเล็กน้อย แต่ถือว่าแถบจะไม่มีผลต่อการรับชมแต่อย่างใด

เรื่องความสว่างสูงสุดหรือ Peak Brightness สูงถึง 1133 nits จากโหมด HDR Standard ขอบเขตของสีทำได้กว้างถึง 95% ของมาตรฐานโรงภาพยนตร์ DCI-P3 หรือเรียกว่าทีวีเครื่องนี้ผ่านมาตรฐาน Ultra HD Premium เลยนั่นเอง แถมยังรองรับการแสดงผลแบบ HDR 10, HLG รวมถึง HDR ขั้นสูงอย่าง HDR 10+ กับ Dolby Vision รวมถึงยังรองรับมาตรฐานภาพอย่าง IMAX Enhanced (IMAX Mode) อีกด้วย

ทดสอบการรับชม

Toshiba Z770 เครื่องนี้ได้แยกโหมดภาพของการรับชมในแบบต่างๆ อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็น SDR, HDR 10, HDR 10+ และ Dolby Vision แต่แม้จะแยกโหมดออกจากกันแต่ค่าภาพจากโรงงานค่อนข้างไปในทิศทางเดียวกันและมีค่าที่เที่ยงตรงในระดับหนึ่งเลย โดยโหมดภาพที่ให้คุณภาพของภาพรวมถึงโทนสีต่างๆ ใกล้เคียงกับอุตสาหกรรมภาพยนตร์จะเป็นโหมดที่ชื่อว่า Calibrated โดยจะมีค่า Grayscale avg dE อยู่ที่ 3.5 โดยเมื่อปรับภาพให้ออกมาถูกต้องที่สุดแล้วค่า Grayscale avg dE จะเหลือเพียง 0.6 เท่านั้น

จริงๆ แล้วยังมีอีก 2 โหมดภาพที่ให้คุณภาพของภาพได้ค่อนข้างเที่ยงตรงรวมถึงให้สีสันที่อบอุ่น ดูเป็นธรรมชาติ แบบเดียวกับโรงภาพยนตร์อย่างโหมด Cinema กับ Filmmaker ก็สามารถเลือกใช้ได้เช่นกัน ตามความชอบของแต่ละคนเลยครับ

มี Logo Dolby Vision ขึ้นที่มุมขวาบนด้วย
โหมดต่างๆ ของภาพแบบ Dolby Vision

สำหรับการรับชมคอนเทนต์ HDR แบบ Dolby Vision ตัวทีวีก็ถือว่าปรับจูนค่าสีต่างๆ มาได้ดีเลย โดยจะมีด้วยกันทั้งหมด 3 โหมดภาพได้แก่ Dolby Vision Custom, Dolby Vision Dark และ Dolby Vision IQ โดยผมแนะนำให้เลือกใช้เป็น Dolby Vision IQ เพราะโหมดนี้ตัวทีวีจะทำงานร่วมกับเซนเซอร์รับแสงบนตัวทีวีของเราเข้าไปช่วยประมวลผลให้ภาพที่ได้ออกมาดีที่สุดตามสภาพแสงของห้องที่เราใช้รับชมอยู่นั่นเอง

Motion มีให้เลือกใช้งานได้หลายระดับ

ทีวีเครื่องนี้มีฟีเจอร์ Motion แทรกเฟรมภาพมาให้เราเลือกใช้งานกันได้ด้วย จากการทดสอบโดยรวมถือว่าทำได้ดี ไม่ค่อยมีอาการภาพเป็นวุ้นๆ หรือเป็นคลื่น ให้เห็นมากนัก สามารถเลือกใช้ได้ทุกระดับตามความชอบ แต่ที่ทางเราแนะนำจะให้เลือกปรับเป็น Custom แล้วเลือก Judder Reduction (ลดอาการสะดุด) เป็น 2 จะได้ภาพที่ลื่นขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ

ามารถปรับระดับของ Local Dimming ได้

อีกหนึ่งจุดเด่นของทีวีเครื่องนี้ก็คือมาพร้อม LED Backlight แบบ “Full-array Local Dimming” ที่จะเป็นหลอดไฟแบบเต็มแผงสามารถเปิดปิดแต่ละโซนเพื่อช่วยในเรื่องของระดับความดำ ให้สีสันดูโดดเด้งขึ้น โดยในส่วนของขนาดหน้าจอ 55 นิ้ว ที่ผมได้มารีวิวนี้จะมีจำนวนหลอดไฟอยู่ที่ 60 Zone ส่วนขนาดหน้าจอ 65 นิ้ว จะมีโซนเยอะกว่าเล็กน้อยอยู่ที่ 72 Zone ซึ่งแม้ว่าจำนวน Zone อาจดูเหมือนไม่เยอะสักเท่าไหร่หากเทียบกับทีวีที่มีราคาสูงกว่า แต่ต้องขอชมจริงๆ เลยว่าระบบการ เปิด/ปิด หลอดไฟของทีวีเครื่องนี้ทำได้ดีมาก คือสามารถเปิดปิดได้แบบดูนุ่มนวลไม่วูบวาบ ซึ่งผมขอแนะนำไว้ 2 แบบ ใครที่อยาก เน้นเรื่องความดำ ของภาพ ให้วัตถุในที่มืดดูเด่นแนะนำให้เลือกเป็นระดับ High ส่วนใครที่อยาก เน้นความนุ่มนวล ของการเปิดปิดหลอดไฟก็สามารถเลือกใช้ระดับ Medium แต่ความสามารถในการคุมแสงอาจจะน้อยกว่าสักเล็กน้อย

ทดสอบเกม

มาทดสอบการเล่นเกมกัน

ส่วนที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลยก็คือการเล่นเกมนั่นเอง เพราะ Toshiba Z770 ก็ได้ให้สเปคสำหรับส่วนนี้มาแบบจัดเต็มเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น HDMI 2.1 จำนวน 2 ช่อง ที่รองรับการส่งสัญญาณสูงสุดที่ 4K HDR 120Hz สามารถนำไปต่อกับเครื่องเล่นเกมคอนโซลยอดฮิตในยุคนี้อย่าง Play Station 5, Xbox Series X และ PC ได้อย่างครบครัน

ทดสอบกับ Xbox Series X ยืนยันว่ารองรับการส่งสัญญาณแบบ 4K HDR 120Hz
ฟีเจอร์ VRR กับ ALLM ก็รองรับเช่นกัน

โดยยังรองรับฟีเจอร์อย่าง VRR หรือ Variable Refresh Rate ที่ตัวทีวีจะปรับอัตรารีเฟรชของหน้าจอให้เข้ากับเฟรมภาพของเกมที่ถูกส่งออกมาได้ตลอดเวลาเพื่อให้ภาพไม่ขาด สามารถกดปุ่ม Info บนรีโมทเพื่อดูการ แสดงผล Frame Rate แบบ Real-Time ได้ด้วย และยังมีฟีเจอร์ ALLM ที่ตัวทีวีจะปรับตั้งค่าภาพให้เหมาะกับการเล่นเกมโดยเฉพาะ เมื่อโหมดนี้ทำงานจะทำให้ค่า Input Lag ลดลงอย่างมากจากค่าเฉลี่ยอ้างอิงจากโหมด Filmmaker อยู่ที่ 112.3 ms เหลือเพียง 14.0 ms (อ้างอิงที่ 4K 60Hz) ลดลงมาเกือบ 10 เท่าเลยทีเดียว เรียกว่าถูกใจสายเกมเมอร์ ตอบสนองคำสั่งจอย เมาส์ หรือ คีย์บอร์ดได้อย่างทันใจอย่างแน่นอน

ภาพตัวอย่างการแสดงผล Frame Rate แบบ Real-Time ที่ตัวเลขจะขึ้นลงตลอดเวลา

ข้อสังเกต 1 : การเล่นเกมในโหมดภาพแบบ HDR หรือ HDR Game ความสว่างของภาพโดยรวมจะน้อยกว่า HDR ในโหมดอื่นๆ อยู่ระดับหนึ่ง อยู่ที่ประมาณ 442 nits แต่ก็ถือว่ายังอยู่ในเกณฑ์ปกติสามารถใช้เล่นเกมได้อย่างไม่มีปัญหาครับ

ข้อสังเกต 2 : ทีวีเครื่องนี้หากเรารับชมภาพที่ความละเอียดแบบ SD หรือ HD คุณภาพของการ Up Scale จะอยู่ในเกณฑ์ปานกลาง แต่ถ้าหากรับชมภาพแบบ 4K HDR หรือ Dolby Vision จะทำให้ทีวีเครื่องนี้แสดงศักยภาพที่แท้จริงให้เราออกมาได้เห็นกันอย่างเต็มที่เลยครับ