31 Dec 2013
Review

The avant-garde of AVENTAGE !!! รีวิว Yamaha RX-A820 4K Ready Network AV Receiver


  • ชานม

The avant-garde
of AVENTAGE !!!

ปี 2011 เป็นครั้งแรกที่ Yamaha ตั้งชื่อซีรี่ส์ให้กับ AVR ของตน มิใช่แค่เพียงอ้างอิงรหัสรุ่นอย่างเดียวเหมือนก่อน และหลายท่านคงจะได้สัมผัสกับศักยภาพที่แฝงนัยของ “การเปลียนแปลง” ดังเช่นที่มาของคำว่า AVENTAGE (Audio/Video + ENTertainment + New AGE หรือ “ระบบความบันเทิงด้านภาพ และเสียงยุคใหม่”) ไปบ้างแล้ว อาจกล่าวได้ว่า เป็น “การปฏิวัติ” รูปแบบ AVR ที่ให้ผลลัพธ์โดดเด่นทั้งแนวคิด และผลการใช้งาน…

หมายเหตุ: การพัฒนาตามคอนเซ็ปต์ AVENTAGE สามารถอ่านรายละเอียดได้จาก บททดสอบ Yamaha RX-A1010

Design – การออกแบบ

ปีนี้ Yamaha ยังคงสานต่อความสำเร็จของ AVENTAGE ที่ถึงแม้คุณสมบัติพื้นฐานไม่พลิกไปจากเมื่อครั้งเปิดตัวมากนัก ถึงกระนั้นสำหรับประเทศไทย นับเป็นนิมิตหมายอันดีกับการทำตลาด AVR ในดีกรีระดับ AVENTAGE ที่ไม่ธรรมดา ทว่าราคากลับสบายกระเป๋ามากขึ้น ในรุ่น “RX-A820” !

ลำดับรุ่น Yamaha AVR ปี 2011 และ 2012 (สำหรับภูมิภาคเอเชีย)*
หมายเหตุ: * บางรุ่นที่แสดงในตาราง อาจไม่มีวางขายในประเทศไทย
RX-A820 เป็นน้องเล็กสุดของซีรี่ส์ RX-A ซึ่งเป็น AVR ระดับกลาง-สูงของ Yamaha
แน่นอนว่าดีกรีชื่อชั้นระดับ “AVENTAGE” ย่อมพกคุณสมบัติอันโดดเด่นมาด้วย
เปรียบเทียบคุณสมบัติเบื้องต้น*

หมายเหตุ:
* คุณสมบัติทางเทคนิคอ้างอิงจากเอกสารเผยแพร่ของทางผู้ผลิต
** USB อีกช่องด้านหลัง ใช้สำหรับจ่ายไฟ DC 5V ให้กับอุปกรณ์บางชนิดเท่านั้น

Design – การออกแบบ

หากเปรียบเทียบลักษณะภายนอกของ A820 กับรุ่นพี่ คือ A1010 (ซึ่งเป็นซีรี่ส์ของปีก่อน สำหรับปี 2012 จะเป็นรุ่น A1020) พบว่ามีส่วนที่คล้ายคลึงกันทั้งภายนอก-ภายใน ตามแนวทาง AVENTAGE แต่ที่ต่างเพราะระดับรุ่นที่ห่างกันย่อมต้องมี

รูปลักษณ์ภายนอกนั้น จากลักษณะที่ “ผสมผสาน” เอกลักษณ์จากรุ่นใหญ่ในตระกูล RX-A Series (AVENTAGE) คือ ส่วนของปุ่มปรับหมุนเลือกอินพุตทางซ้าย กับฝาปิดบานพับ แม้ว่าจะลดทอนในเรื่องของขนาดตัวถังลงพอสมควร ส่วนที่คล้ายคลึงกับ RX-V Series คือ การจัดโชว์ปุ่ม Scene Mode บริเวณกึ่งกลาง แต่ขนาดของปุ่มจะเล็กกว่า ดีไซน์รีโมตของรุ่นใหม่เก๋กว่าเดิม ดูน่าใช้มากขึ้น

ข้างสวิทช์ Power/Standby (Main Zone) จะเห็นสัญลักษณ์ Network เพื่อให้มั่นใจว่า รุ่นนี้เป็น “Network AVR” จึงสามารถรับฟังเพลงในรูปแบบดิจิทัลไฟล์ผ่านระบบเน็ตเวิร์ก (DLAN/AirPlay) และ USB (Mass Storage Devices) รวมถึงสถานีวิทยุออนไลน์ พร้อมการควบคุมผ่าน Smart Devices ได้ด้วย รายละเอียดจะกล่าวถึงอีกครั้งในส่วนของ “ลูกเล่นการใช้งาน” (Features) ครับ

ภายในของ RX-A820

มาดูภายในกันบ้าง จุดนี้ใช้พิสูจน์ความ “เทพ” ของ AVENTAGE ได้อย่างชัดเจน แม้ว่าจะต่างกับรุ่นใหญ่ (รุ่นเลข 4 ตัว) อยู่หลายจุด แต่น้องเล็ก AVENTAGE ก็ดึงจุดเด่นสำคัญมาเยอะอยู่

ภายในของ RX-A1010

ในขณะที่ AVENTAGE รุ่นใหญ่ จะจัดวางภาคขยายโดยแยกขนาบข้าง EI Transformer ที่อยู่กึ่งกลาง  แต่ในส่วนของ A820 จะจัดวางภาคขยายและ Transformer คล้ายคลึงกับรุ่น RX-V Series จุดเด่นของ AVENTAGE ที่ยังคงสังเกตได้อยู่ คือ Zip Tie หรือสายสีฟ้าที่พันรอบสายสัญญาณเชื่อมต่อวงจรตามจุดต่างๆ โดยส่วนปลายของ Zip Tie ด้านหนึ่งจะต่อลงจุดกราวด์ของ PCB เป็นเทคนิคที่ใช้ลดทอนสัญญาณรบกวน

หากขาด “ขาที่ 5” หรือ “A.R.T. (Anti-Resonance Technology)” ก็คงเรียกว่าเป็น AVENTAGE มิได้ เพราะมันเป็นเอกลักษณ์สำคัญเลยทีเดียว หน้าที่ของมันก็เช่นเคย คือ ใช้ลดทอนแรงสั่นสะเทือน และเพิ่มความมั่นคง อย่างไรก็ดี การคาดโครง เสริมความแข็งแรงในจุดต่างๆ ดูจะลดทอนลงไปบ้าง (เมื่อเทียบกับรุ่นเลข 4 ตัว) กระนั้นมิได้หมายความว่าจะส่งผลถึงศักยภาพการทำงาน