29 Dec 2013
Review

คุ้มค่า ด้วยฟังก์ชั่นครบครัน นำสมัย !!! รีวิว Yamaha RX-V675 4K Ready Network AVR


  • ชานม

RX-V675 มาในฐานะของ Network AVR ความสามารถในการรับฟังบทเพลง ผ่านการแชร์จากคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์ในระบบเน็ตเวิร์ก ไปจนถึงการรับฟังดิจิทัลไฟล์จาก USB Storage โดยตรง เป็นสิ่งผนวกเข้ามาให้ได้ใช้งานกัน ขาดไม่ได้

หากท่านใดเป็นสาวก Apple และใช้งาน iDevices อยู่ละก็ น่าจะหลงรัก AVR เครื่องนี้ เพราะนอกจากเชื่อมต่อ iDevices โดยตรงแบบ “Digital Direct” ทาง USB Input แล้ว ยังรองรับ AirPlay เทคโนโลยีการส่งสัญญาณเสียงแบบ “ไร้สาย” ของทาง Apple การส่งสัญญาณเสียงจาก iDevices มารับฟังกับชุดโฮมเธียเตอร์จึงดำเนินการได้ทันที ง่ายๆ

ขั้นตอนเพียงเชื่อมต่อ 675 และ iDevices ในเครือข่ายเดียวกัน จากนั้นเมื่อฟังเพลงผ่าน iDevices ให้มองหาสัญลักษณ์ AirPlay แล้วเลือก “RX-V675” จากตัวเลือก AirPlay Devices เท่านี้ก็ฟังได้แล้ว ง่ายจริงๆ

แต่หากเป็นผู้ใช้งาน Android Devices ก็สามารถแชร์เพลงไปฟังกับ 675 ได้เหมือนกัน ผ่าน AV Controller App ที่ใช้ในการควบคุม Yamaha AVR นี่แหละ วิธีการ คือ แตะที่ปุ่มรูปโน้ตเพลง ที่มุมขวาบนในหน้า Main ของ AV Controller App จากนั้นจะมีรายการเพลงที่อยู่ในหน่วยความจำของ Android Devices เครื่องนั้นแสดงขึ้นมา เพียงเลือกเพลงที่จะฟัง เสียงก็จะไปดังที่ 675 แล้วครับ ไม่ต้องเชื่อมต่อสายระหว่างอุปกรณ์ หรือตั้งค่าอะไรให้ยุ่งยากเลย

อินเทอร์เฟส Internet Radio ของ 675 เมื่อดูผ่านจอทีวี
Internet Radio เมื่อดูผ่านหน้าจอของ Smart Devices เมื่อควบคุมผ่าน Yamaha AV Contoller app

จุดเด่นของ Network AVR อีกประการ คือ การรับฟังออนไลน์คอนเทนต์ อย่าง Internet Radio ถามว่าดีอย่างไร มันดีตรงที่เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่เปิดประสบการณ์รับฟังบทเพลงจากทั่วทุกมุมโลกได้ “แบบฟรีๆ” เราสามารถเลือกหมวดเพลงที่ต้องการ อยากจะฟัง Jazz, Pop, Classics หรือแม้แต่เพลงไทย ผ่านสถานีวิทยุบ้านเรา (ที่มีบริการออกอากาศแบบออนไลน์) ก็ได้เช่นกัน จำนวนเพลงและสถานีนั้น ต้องบอกว่ามากมาย หลากหลาย ไม่จำเจ เลือกฟังกันไม่หวาดไม่ไหวเลยทีเดียวครับ

หมายเหตุ:
– เมื่อรับฟังแหล่งโปรแกรม Internet Radio, Server (DLNA), AirPlay, USB และ AM/FM Tuner ระบบจะเปิดใช้งานฟังก์ชั่น Enhancer หรือระบบปรับแต่งดุลเสียงชดเชย สำหรับคอนเทนต์ออดิโอที่มีการบีบอัดข้อมูล หากไม่ต้องการใช้งานฟังก์ชั่นนี้ ให้กดปุ่ม Emhancer ที่รีโมต เพื่อเปลี่ยนตัวเลือกเป็น Off
– ฟังก์ชั่น Enhancer และ จะถูกปิดใช้งานโดยอัตโนมัติเมื่อรับฟังคอนเทนต์ที่มี Sampling Rate ตั้งแต่ 96kHz ขึ้นไป

AV Controller App ใช้งานทดแทน Remote Control ได้ !?

หน้าที่ของ AV Controller app นอกจากใช้ควบคุม และตรวจสอบสถานะของ Yamaha AVR ได้อย่างอิสระจากทุกพื้นที่ในบ้าน โดยไม่จำเป็นต้องนั่งอยู่หน้าเครื่องแล้ว ยังทำหน้าที่ทดแทนการใช้งาน Remote Control แบบปกติได้ด้วย (เมื่อควบคุมโดยดูสถานะผ่านจอทีวี) แม้จำนวนปุ่มน้อยกว่า แต่พอแทนกันได้

เวลากดปุ่ม Option ที่รีโมตคอนโทรล (หรือที่ Remote App) จะแสดง Option Menu ขึ้นมา เป็นเสมือน shortcut เพื่อปรับเปลี่ยนตัวเลือกฟีเจอร์ที่เกี่ยวกับเสียง และ Video Mode อย่างไรก็ดีตัวเลือกนี้อาจไม่ได้ใช้กันบ่อยนักครับ

Setup – การติดตั้ง

เช่นเคยว่า AVR ของ Yamaha ส่วนใหญ่ มาพร้อมกับระบบช่วยเหลือในการติดตั้งระบบลำโพง และชดเชยสภาพแวดล้อม ที่เรียกว่า YPAO หรือ (Yamaha Parametric Acoustics Optimizer) ซึ่งถ้าหากเป็นรุ่นหลังๆ มา จะเห็น R.S.C. หรือ Reflected Sound Control ต่อท้าย YPAO มาด้วย ในนัยว่าสามารถชดเชยแก้ไขปัญหาในส่วนของ Early reflections นั่นเอง

ด้วยขั้นตอนดำเนินการ “กึ่งอัตโนมัติ” เพียงนำ YPAO Microphone ติดตั้งเข้ากับขาตั้งกล้อง (ขาตั้ง Tri-pod ผู้ใช้ต้องจัดหามาเอง) จัดวางที่ตำแหน่งนั่งฟังหลัก โดยให้ระดับความสูงของ Mic อยู่ระดับเดียวกับหู (เมื่อนั่งฟัง) จากนั้นนำปลายสายอีกด้านเชื่อมต่อกับ AVR ที่ Swith On รอไว้อยู่ แล้วดำเนินการตามขั้นตอนแนะนำบนจอภาพ จนระบบจะทำการตรวจวัดเสียงของลำโพง (และสภาพแวดล้อม) พร้อมกำหนดตั้งค่าที่เหมาะสมให้

หมายเหตุ: ย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า กรณีที่จะใช้งานระบบ Auto Calibration ของ AVR (ไม่ว่ายี่ห้อใด) ให้ได้ศักยภาพที่ดี สภาพแวดล้อมควรต้องสงัด ปราศจากเสียงรบกวน และก่อนดำเนินการให้กำหนดในส่วนของ Low-pass Crossover ที่หลังซับวูฟเฟอร์ให้เป็น Bypass หรือถ้าไม่มี Bypass ให้กำหนดจุดตัดความถี่ไว้ที่ตำแหน่งสูงสุดเสมอ (หมุนตามเข็มนาฬิการจนสุด) อันเป็นสถานะที่เหมาะสำหรับการใช้งานซับวูฟเฟอร์ในระบบโฮมเธียเตอร์ ร่วมกับระบบ Bass Management ของ AVR

ในอีกด้านหนึ่ง ประโยชน์ของระบบ YPAO มีส่วนช่วยสนับสนุนเพื่อตรวจสอบการติดตั้งระบบลำโพงได้เป็นอย่างดี ภายหลังจากระบบ YPAO ทำการตรวจวัดเสร็จสิ้น จะแจ้งผลลัพธ์ให้ทราบ ซึ่งสามารถดูเพื่อเป็นข้อมูลในการตรวจสอบอ้างอิงสภาพการติดตั้งได้

ข้อมูลที่แจ้ง เริ่มตั้งแต่การตรวจเช็คการติดตั้งเชื่อมต่อสายลำโพง (Wiring) กรณีที่มีลำโพงข้างใดที่เสียบสายลำโพง “กลับเฟส” (เสียบสายลำโพงขั้วบวกและลบสลับกัน) ระบบจะแจ้งเตือนเพื่อทำการแก้ไขต่อไป

ซิสเต็มโฮมเธียเตอร์จะเสียงดี ลงตัวหรือไม่ การกำหนดตั้งค่าลำโพงพื้นฐาน ให้สัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกับสภาพการติดตั้งใช้งานเป็นสิ่งสำคัญ ตั้งแต่การกำหนดลักษณะของลำโพง (Size) ให้สัมพันธ์กับอัตราการตอบสนองความถี่ต่ำ และกำหนดจุดตัดครอสโอเวอร์อย่างเหมาะสม ส่วนตำแหน่งติดตั้งลำโพงใช้ในการอ้างอิงจากระยะห่างจากจุดนั่งฟัง (Distance) และให้น้ำหนักบาลานซ์ระดับเสียงลำโพง (Level) แต่ละข้าง ให้เท่าเทียมกัน ไม่เทไปแชนเนลใด เชนเนลหนึ่งจนขาดความกลมกลืน ซึ่งทั้งหมดนี้ ระบบอัตโนมัติของ YPAO มีบทบาทในแง่ของความสะดวก รวดเร็ว กับผลลัพธ์ที่ใช้อ้างอิงได้

นอกเหนือจากการสนับสนุนเรื่องของการตั้งค่าลำโพงพื้นฐานแล้ว YPAO ยังมี Parametric EQ เพื่อแก้ไขดุลเสียงของลำโพงที่ถูกบิดเบือนจากปัญหาทางด้านอะคูสติก ถึงแม้ผลลัพธ์จะแตกต่างกันไปบ้างตามแต่สภาพแวดล้อม แต่ก็เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่ช่วยแก้ปัญหา ที่เดิมดำเนินการได้ยาก และมีค่าใช้จ่ายสูง

ภายหลังดำเนินขั้นตอน YPAO Auto Calibration เสร็จสิ้น ระบบจะกำหนดในส่วนของ Parametric EQ ไว้ที่ตำแหน่ง YPAO:Flat โดยอัตโนมัติ ซึ่งเป็นรูปแบบที่ให้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด (เมื่อเทียบกับ YPAO:Natural) หากต้องการเปรียบเทียบ Parametric EQ โหมดต่างๆ หรือปิดการใช้งาน สามารถกำหนดผ่าน On Screen Menu –> Speaker –> Manual Setup –> Parametric EQ สำหรับผลการใช้งานในส่วนของ Parametric EQ จะแจ้งอีกครั้งในส่วนของการรายงานคุณภาพเสียง

หมายเหตุ: การประเมินในส่วนของ Parametric EQ นี้ ควรดำเนินการหลังจากเสียงของซิสเต็มนิ่งดีแล้ว (หลังจากพ้นระยะเบิร์นอิน)