24 Apr 2014
Article

ปรับภาพนั้น…สำคัญไฉน !!! ความสำคัญของการปรับภาพและเทคนิคการปรับภาพเบื้องต้น


  • lcdtvthailand

เนื่องด้วยเว็บไซต์ LCDTVTHAILAND ก็มีอายุอานามหลายปีแล้ว ด้วยประสบการณ์ที่สั่งสมมา กระผมนายโรมันเองเลยขอเขียนบทความพิเศษ “สอนเทคนิคการปรับภาพทีวีเบื้องต้น” ให้กับสมาชิกครับ ครั้นจะเขียนรีวิวทดสอบสินค้าแบบปกติก็รู้สึกจะธรรมดาไปสักนิดครับ เอาเป็นว่าใครใช้พวก OLED / LED / LCD TV หรือ Plasma TV (ยังมีอีกไหม?) อยู่ที่บ้านในตอนนี้สามารถลองเอาไปปรับเล่นดูได้ครับ

ภาพที่ดีคืออะไร?

เชื่อเหลือเกินว่าโดยทั่วไปแล้วเมื่อเราเดินไปที่แผนกเครื่องใช้ไฟฟ้าโซนทีวี เห็นภาพที่แบรนด์ทีวีชั้นนำต่างเปิดเรียงรายกันด้วย Content ระดับเทพที่ทำมาเพื่อการแสดงหน้าร้านโดยเฉพาะ ส่วนใหญ่เป็นพวกการ์ตูนหรือหนังตัวอย่าง ที่ได้รับการปรับให้มีความสดจัดจ้าน เน้น Sharpness สูงเสียจนคมแต่แข็ง พวกเราจะคิดว่า “ทีวีตัวนั้นภาพดี” แต่ในความเป็นจริงแล้วมันไม่ใช่ครับ ภาพที่ดีคือ “ภาพที่เหมือนหรือใกล้เคียงกับต้นฉบับ อาทิเช่นฟิล์มภาพยนตร์ หรือไฟล์ดิจิทัลต้นฉบับ ในสตูดิโอนั่นเอง”

หากให้เปรียบเทียบกับพวกเครื่องเสียงก็คือ เครื่องเสียงที่ดีจะต้องสามารถถ่ายทอดรายละเอียดออกมาให้เหมือนกับนักร้องมา “ร้องสด” ต่อหน้าเราจริงๆ หรือหากเทียบกับแผ่น CD Audio ก็คือเสียงที่เหมือนกับเวลาที่นักร้องกำลัง “บันทึกอยู่ในสตูดิโอ หรือคอนเสิร์ตฮอลล์” นั่นแหละครับ แต่ส่วนใหญ่คนทั่วไปจะเข้าใจว่าเครื่องเสียงที่ดีจะต้องถ่ายทอดเสียงแบบคมชัดสุดๆ เสียงร้องชัดๆ คมๆจัดๆ เสียงใส เบสกระหึ่ม เหมือนกับที่ร้านเครื่องเสียงบางแห่งมักจะเซ็ตอัพให้เราได้ลองฟังกัน

ทำไมต้องปรับภาพ ?

แน่นอนครับทีวีที่ออกมาจากโรงงานมักจะปรับภาพหรือเซ็ตอัพให้สดสว่างๆ ชัดจัดจ้าน ซึ่งแน่นอนว่าภาพมันจะ “เกินจริง” เหตุผลเพราะว่าภาพมันจะได้ “เรียกร้องความสนใจ” เมื่อแรกเห็น กับลูกค้าที่เดินเข้ามาภายในบูธของแบรนด์ทีวีนั้นๆ ครับ เครื่องเสียงเช่นเดียวกันกับเครื่องเสียงหากเซ็ตอัพให้ฟังแล้วคมชัดๆจัดจ้านตั้งแต่ต้น บางทีลูกค้าอาจจะมีความรู้สึก “ว้าว” กับ First Impression ที่ได้สัมผัส ดังนี้ภาพที่ได้ในตอนแรกมักไม่ถูกต้องครับ กล่าวได้ว่าพวก Contrast, Brightness, Color, Sharpness และค่าตัวช่วยเรียกร้องความสนใจด้านภาพอื่นๆ จะ “ถูกเร่งมาสูงเกินจริงเสมอ” เราต้องเข้าใจด้วยว่าภาพแบบนั้นมันเหมาะกับการโชว์ในห้างร้านอย่างเดียว

ประโยชน์ของการปรับภาพ

1.ได้ภาพถูกต้องเฉกเช่นที่ “ผู้กำกับต้องการสื่ออออกมาให้เราได้เห็น” :: นั่นหมายถึงเราจะเข้าถึงอารมณ์และความหมายของหนังที่แท้จริงได้ ยกตัวอย่างเช่นหากเราดูหนังเรื่อง 300 ขุนศึกพันธุ์สะท้านโลก เกี่ยวกับการต่อสู้ในสมรภูมิของนักรบสปาร์ตันที่มีกำลังพลเพียงแค่ 300 คนเท่านั้น สังเกตได้ว่าโทนแสงสีของหนังจะออกแนวกึ่งโมโนโทน ค่อนข้าง “ทะมึนทึมทึบ” ทั้งหุบเขา ต้นไม้ ใบหญ้า เพื่อจะสื่อให้เห็นบรรยากาศแห่งความ “หดหู่” และ “กดดัน” ในสภาวะสงคราม หนังจึงมีอารมณ์บีบหัวใจเป็นอย่างมาก บางท่านไม่เข้าใจโทนแสงสีแบบนี้และไม่ชอบอะไรที่ดูทะมึนๆ ก็จะไปปรับแสงสีให้ดูสดจัดจ้าน ไปเร่งค่า Brightness และ Contrast จนโอเว่อร์ ภาพที่ได้ก็จะเกินจริงกว่าที่ผู้กำกับต้องการสื่อออกมาให้เห็น

ในขณะเดียวกันหนังเรื่อง AVATAR จะสังเกตได้ว่าโทนแสงสีของต้นไม้ ใบหญ้าในป่า Pandora นั้นมีความจัดจ้าน เขียวชอุ่ม ทะเลสาบสีน้ำเงินเข้ม ท้องฟ้าก็สีฟ้าสดใส นี่คือสิ่งที่ผู้กำกับ “เจมส์ คาเมรอน” ต้องการสื่อออกมาให้เห็นความ “อุดมสมบูรณ์” ในป่า Pandora ในช่วงที่ไม่มีเหล่า “มนุษย์” เข้ามารุกราน แต่บางท่านชอบแนวภาพนวลตา อาจไปลดความสดอิ่มของสี ให้มันดูจืดๆ ลง เพราะเข้าใจว่า ระดับสีสันที่นวลตาให้ความรู้สึกเป็นธรรมชาติมากกว่า แต่อย่าลืมว่านี่เป็นการอ้างอิงจากสิ่งที่พบเห็นในชีวิตประจำวัน มิได้รวมถึง “จินตนาการ” จากสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง หากปรับแบบนี้ก็จึงเป็นการบิดเบือนภาพที่ผู้กำกับต้องการสื่อให้เราได้รับรู้

หากจะให้บอกว่าแนวภาพที่ผู้กำกับอยากจะสื่อออกมาให้เห็น = ภาพที่ถูกต้อง 
หนัง 2 เรื่องนี้คงทำให้ทุกท่านเห็นภาพ

2. นำไปใช้เป็นค่ากลางในการอ้างอิงเปรียบเทียบประสิทธิภาพของจอแบบตัวต่อตัวได้ :: แน่นอนว่าหากจะเอาทีวีมาเปรียบเทียบกันแบบตัวต่อตัวแล้ว หากเราไม่ปรับภาพให้ถูกต้องตามมาตรฐานอุตสาหกรรมวีดีโอก่อนหละก็ ทีวีตัวเป็นแสนก็สามารถแพ้ทีวีตัวละไม่กี่หมื่นได้ ยิ่งทำงานทางด้านรีวิวสินค้าแบบนี้ ซึ่งต้องฟันธงและให้คะแนนทีวีแต่ละตัว ก็ยิ่งต้องปรับภาพให้ถูกต้องเป็นมาตรฐานเดียวกันเสียก่อนครับ

หลักการปรับภาพ 4 ข้อ (อ้างอิงจากสถาบัน Imaging Science Foundation “ISF”)

1. Dynamic Range :: คือการปรับ Brightness และ Contrast เพื่อให้จอสามารถแสดงรายละเอียดในที่มืดและที่สว่างออกมาได้อย่างครบถ้วนเต็มศักยภาพ นี่เป็นส่วนที่สำคัญที่สุดของการปรับภาพ

2. Color Saturation :: คือการปรับระดับความสดอิ่มของสี ให้ถูกต้องเป็นธรรมชาติ ไม่สดเกินไป และไม่จิดเกินไป โดยเราจะปรับค่า Color และ Tint

3. Colorimetry :: ความถูกต้องของสี แบ่งเป็น 2 ส่วนได้แก่ 1) White Balance : การกำหนดให้อุณหภูมิสีใกล้เคียง 6500°K ซึ่งจะทำให้ White balance หรือสมดุลสีขาวอยู่ตรงจุด D65 White Balance อันเป็นการอ้างอิงอุณหภูมิสีของแสงจากดวงอาทิตย์ตอนเที่ยงตรง เป็นแสงสีขาวที่ใช้อ้างอิงว่าเป็นแสงสีขาวที่ถูกต้องในแง่สมดุล ไม่ใช่ขาวอมน้ำเงิน อมเหลือง หรือขาวอมเขียว เป็นต้น 2) Color Space หรือ การอ้างอิงความสัมพันธ์ของขอบเขตและความถูกต้องของแม่สีหลัก RGB และแม่สีรอง CMY

4. Resolution :: คือการปรับ Aspect Ratio หรือ Picture Size ของทีวี (สัดส่วนภาพ) ให้แสดงภาพแบบ 1:1 Pixel Matching ได้ คือ Input มากี่พิกเซล ก็สามารถ Output ออกจอต้องเท่ากับจำนวน Input แบบเป๊ะๆ เพื่อมิให้บิดเบือนรายละเอียด รวมไปถึงพื้นที่การแสดงภาพ