20 Mar 2024
Uncategorized

รีวิว Samsung HW-Q990D 11.1.4 Ch Atmos/DTS:X Soundbar ตัวท็อป ประจำปี 2024


  • ชานม

ย้อนไปสักทศวรรษก่อน พูดไปคงไม่มีใครเชื่อว่า Samsung จะขึ้นมาอยู่แถวหน้าของวงการซาวด์บาร์ ส่วนหนึ่งต้องยกอานิสงส์ให้วิสัยทัศน์ที่ตัดสินใจควบรวม Harman Kardon เข้ามา จึงพัฒนาในเรื่องของเสียงได้อย่างก้าวกระโดด และปีนี้ก็น่าจะเป็นอีกครั้งที่ HW-Q990D จะขึ้นไปติดอันดับท็อปซาวด์บาร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออิงจากประสิทธิภาพอันโดดเด่นเมื่อเทียบกับระดับราคา…

โดยพื้นฐาน Q990D เป็นชุดลำโพงซาวด์บาร์ที่ติดตั้งตัวขับเสียงจำนวนมากเพื่อกระจายเสียงออกไปรอบทิศทาง โดยในสเปคแจ้งจำนวนแชนเนลที่ทำได้สูงสุดที่ 11.1.4 รองรับการถอดรหัสเสียง Dolby Atmos และ DTS:X รวมถึงฟอร์แม็ต Hi-res

Design – การออกแบบ

Q990D ยังคงอิงดีไซน์มาจากรุ่นปีที่แล้ว (Q990C) ทั้งในส่วนของลำโพงซาวด์บาร์ ลำโพงเซอร์ราวด์ และ ซับวูฟเฟอร์ ทั้งระบบให้กำลังขับรวมอยู่ที่ 656 วัตต์

วัสดุห่อหุ้มลำโพงซาวด์บาร์โดยรอบเป็นตะแกรงเจาะรู ดูแลรักษาทำความสะอาดง่ายกว่าผ้า ในส่วนของปุ่มควบคุมติดตั้งอยู่ด้านบน
หน้าจอพร้อมไฟบอกสถานะอยู่ด้านหน้ามุมขวา สามารถมองเห็นได้จากตำแหน่งนั่งฟัง อย่างไรก็ดีด้วยขนาดตัวหนังสือที่ไม่ใหญ่ และการมองลอดผ่านรูตะแกรงอาจเห็นได้ไม่ง่ายนักจากระยะไกล
ลำโพงเซอร์ราวด์รับสัญญาณเสียงแบบไร้สาย อุปกรณ์สำคัญของ Q990D ช่วยในการกระจายบรรยากาศเสียงโอบล้อมได้โดดเด่น ติดตั้งตัวขับเสียง 3 ทิศทาง ยิงออกด้านหน้า-ข้าง-บน กำลังขับรวมที่ 210 วัตต์
ด้านหลังลำโพงเซอร์ราวด์จะมีกำกับชัดเจนว่าเป็นลำโพงข้างไหน ซ้าย หรือ ขวา จะต้องติดตั้งจัดวางตำแหน่งให้ถูกต้อง ไม่อย่างนั้นมิติเสียงจะถูกบิดเบือนผิดเพี้ยนได้
อีกหนึ่งอุปกรณ์ที่ขาดไม่ได้อีกเช่นกัน คือ ลำโพงซับวูฟเฟอร์รับสัญญาณเสียงแบบไร้สายในชุด ติดตั้งวูฟเฟอร์ขนาด 8 นิ้ว พร้อมกำลังขับ 200 วัตต์
ขนาดตู้ลำโพงดูกะทัดรัด แต่ประสิทธิภาพการถ่ายทอดเสียงความถี่ต่ำไม่ธรรมดา มีการติดตั้งท่อจูนเบสขนาดใหญ่ที่ด้านหลังตู้ลำโพง ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการถ่ายทอดเบสลึก
รีโมทคอนโทรล ดีไซน์ดูคล้ายคลึงกับรีโมททีวี แต่ยังเป็นแบบใส่แบตเตอรี่ AAA (ไม่ใช่โซล่าร์เซลชาร์จแบตในตัว)

Connectivity – ช่องต่อ

Q990D ให้ช่องต่อ HDMI In 2 ช่อง, Out 1 ช่อง ในสเปคแจ้งว่าเป็น Version 2.1 รองรับ 4K 120Hz Pass-through และแน่นอนว่ามีคุณสมบัติ eARC/ARC ในการรับสัญญาณเสียงจากทีวี

มี Digital Optical In ให้ด้วย (ช่อง USB ที่เห็นในภาพ ใช้สำหรับ Service เท่านั้น)

การรับสัญญาณแบบไร้สายของ Q990D นอกจาก Bluetooth 5.2 (SBC) แล้ว ยังมีการเชื่อมต่อที่แหวกแนว ยังไม่พบเจอกับซาวด์บาร์ยี่ห้ออื่น คือ การรับสัญญาณเสียงจากทีวีแบบไร้สาย ผ่าน Wi-Fi ! ซึ่งรองรับฟอร์แม็ตเสียงรอบทิศทางขั้นสุดอย่าง Dolby Atmos เรียกว่าทำได้เทียบเท่าการเชื่อมต่อผ่านสาย HDMI eARC เลย แต่คุณสมบัตินี้จะใช้งานได้เฉพาะกับทีวีของ Samsung เท่านั้นครับ (ในภาพอ้างอิงกับ 2024 Neo QLED 8K 85QN900D)

Features – ลูกเล่นพิเศษ

การจะใช้งาน Q990D ได้ครบทุกคุณสมบัติ ต้องทำการ Add ลำโพงเข้าไปในเครือข่ายอุปกรณ์ SmartThings ก่อนครับ ซึ่งดำเนินการไม่ยาก ทำตามขั้นตอนผ่านแอพบน Smartphone ได้เลยครับ

ทดสอบการเชื่อมต่อรับสัญญาณเสียงจากทีวี Samsung แบบไร้สายผ่าน Wi-Fi ของ Q990D พบว่ารับสัญญาณเสียง Dolby Atmos ได้จริง และให้ความต่อเนื่องดีไม่มีสัญญาณขาดหายหรือดีเลย์ พูดได้ว่าเสถียรภาพไม่ต่างจากการเชื่อมต่อสาย HDMI eARC (แต่ต้องมั่นใจว่าเครือข่าย Wi-Fi ในบ้าน มีเสถียรภาพดีก่อนนะครับ) ถือเป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจ เผื่อใครไม่อยากเชื่อมต่อสายระหว่างทีวีกับซาวด์บาร์ครับ

อีกหนึ่งคุณสมบัติพิเศษเมื่อใช้งาน Samsung Soundbar ร่วมกับ Samsung TV (รุ่นที่รองรับ) คือ “Q-Symphony” เป็นการประสานเสียงของลำโพงทีวี และลำโพงซาวด์บาร์เข้าด้วยกัน (เสียงทีวีและซาวด์บาร์ออกทั้งคู่)

ประโยชน์ที่ได้จากการใช้งานจริง คือ อิมเมจของเสียงจะถูกยกให้สูงขึ้น โดยเฉพาะเสียงสนทนาจะอยู่ที่กลางจอ จะเห็นผลชัดเจนขึ้นในกรณีที่ตำแหน่งติดตั้งซาวด์บาร์ต่ำกว่าจอทีวีมาก ๆ ทว่าผลลัพธ์ด้านเสียงจะแตกต่างไปตามรุ่นของทีวีที่จับคู่ใช้งานด้วย ทีวีรุ่นสูง ๆ จะได้เปรียบกว่าในเรื่องของตำแหน่งลำโพง อย่าง 85QN900D จะติดตั้งลำโพงทีวีที่ด้านข้าง และด้านบนของทีวี นอกจากนี้ยังมีวูฟเฟอร์เสริมความถี่ต่ำด้านหลังจอ จึงให้เนื้อเสียงได้ค่อนข้างกลมกลืนไม่แปลกแยกจากลำโพงซาวด์บาร์มากนัก

แนะนำให้ทดลองใช้งาน และฟังเสียงร่วมกับอุปกรณ์ที่มีดูว่าชอบแบบไหน ระหว่างจับคู่เสียงทีวีร่วมกับซาวด์บาร์ หรือเสียงจากซาวด์บาร์เพียว ๆ ครับ

คุณสมบัติที่เพิ่มมาใหม่ของ Q990D คือ Private Rear Sound สลับหน้าที่ลำโพงเซอร์ราวด์หลังไปเป็นลำโพง 2 แชนเนล สเตอริโอ ไว้แทนที่ลำโพงซาวด์บาร์ในบางช่วงเวลาที่ไม่อยากเปิดเสียงดังโครมคราม (เพราะลำโพงซับวูฟเฟอร์ไม่ทำงาน)

ส่วน Sound Grouping เป็นการกำหนดให้ลำโพงซาวด์บาร์ และ ลำโพงเซอร์ราวด์ ทำงานพร้อมกัน เหมือนว่าลำโพงเซอร์ราวด์เป็นลำโพงสเตอริโออีกคู่หนึ่งที่ทำงานพร้อมกันกับซาวด์บาร์หลัก เผื่อบางทีจัดปาร์ตี้ แล้วต้องการเปิดเพลงให้เสียงกระจายทั่วทั้งห้อง

Q990D มาพร้อม Tidal Connect สามารถสตรีมเพลงไปฟังกับซาวด์บาร์ได้โดยตรง ที่สำคัญ คือ รองรับ Dolby Atmos Music จากแอพ Tidal ด้วยนะ ส่วนการรองรับฟอร์แม็ต Hi-res เนื่องจาก Samsung ไม่ได้แจ้งรายละเอียด DAC ที่ใช้ จึงยืนยันไม่ได้ว่ารองรับรายละเอียดเสียงได้ถึงระดับไหนครับ

Q990D ยังสามารถเชื่อมต่อ AirPlay และ Chromecast ได้ รองรับการใช้งานกับอุปกรณ์ทั้งฝั่ง iOS และ Android

Sound – เสียง

ก่อนนี้หลายคนคงเคยได้สัมผัสศักยภาพของ Samsung Soundbar รุ่นท็อป ที่ทีมงานเคยนำไปเปิดให้ลองฟังกันในงานแสดงเทคโนโลยีภาพและเสียง BAV Hi-End Show ไปบ้างแล้ว ซึ่งยืนยันได้เป็นอย่างดีว่า ขนาดห้องโชว์ใหญ่ ๆ ในโรงแรมยังเอาอยู่ ! ฉะนั้นการใช้งานในห้องตามบ้านก็เหลือ ๆ ครับ

พูดได้ว่า Q990D เป็นอุปกรณ์ที่ช่วยเติมเต็มคุณภาพเสียงรอบทิศทางได้เป็นอย่างดี ทดสอบกับภาพยนตร์ Napoleon ระบบเสียง Dolby Atmos (DD+) จากแอพ Apple TV+ บน Samsung Smart TV ให้เสียงโอบล้อมได้อย่างโดดเด่น เสียงลูกปืนใหญ่บินว่อนข้ามหัวไปมาให้ความตื่นเต้นเสมือนนั่งอยู่ท่ามกลางสมรภูมิในแบบที่หากฟังกับลำโพงทีวีไม่ว่าจะดีเพียงใด ก็ไม่อาจให้ได้

เสียงความถี่ต่ำเป็นอีกหนึ่งอย่างที่เสริมความมันสะใจได้เป็นอย่างดี วูฟเฟอร์ขนาด 8 นิ้ว ให้น้ำหนักเสียงบาลานซ์ระหว่างความกระชับ และความลึกได้ดี ศักยภาพนับว่าเกินตัว แต่จำเป็นต้องกำหนดระดับเสียงซับวูฟเฟอร์ให้ “เหมาะสม” กับตำแหน่งตั้งวางและสภาพภายในห้อง อย่าคาดหวังจะได้เบสลึก ด้วยวิธีเพิ่มระดับเสียงลำโพงซับวูฟเฟอร์ให้ดังเกินควร เพราะจะได้แต่เบสต้นที่ดังอื้ออึงจนกลบรายละเอียดเสียงย่านอื่นที่สำคัญ ซึ่งควรจะต้องได้ยินมากกว่าแต่โดนกลบไปเสียหมด แนวทางนี้ไม่ใช่แค่ซับวูฟเฟอร์ของซาวด์บาร์ กับซับวูฟเฟอร์สำหรับชุดโฮมเธียเตอร์จริงจัง ก็ต้องทำแบบเดียวกันครับ

อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ Q990D ถ่ายทอดเสียงโอบล้อมได้ดี คือ ลำโพงเซอร์ราวด์ และ Up-firing Speakers 4 แชนเนล ที่ติดตั้งอยู่ด้านบนซาวด์บาร์จัดวางอยู่ด้านหน้า และที่ลำโพงเซอร์ราวด์ด้านหลังผู้ฟัง จึงให้บรรยากาศเสียงได้ครอบคลุมทั้งซ้าย-ขวา หน้า-หลัง และด้านสูง โดยเฉพาะเมื่อรับฟังคอนเทนต์ที่บันทึกเสียง Dolby Atmos และ DTS:X

เคล็ดลับแนะนำสำหรับลำโพงเซอร์ราวด์ คือ ตำแหน่งตั้งวางควรสูงกว่าหรืออย่างน้อยก็เท่ากับระดับหูผู้ฟัง ไม่ควรวางต่ำ และเว้นระยะห่างจากจุดนั่งฟัง ไม่ควรวางลำโพงเซอร์ราวด์ชิดตัวผู้ฟังมากเกินไป (ยิ่งวางห่าง บรรยากาศเสียงยิ่งกว้าง)

Q990D มีระบบจำลองเสียง 11.1.4 Ch Up-mixed ขยายแชนเนลเสียงได้ถึง 11.1.4 แชนเนล เมื่อเลือกโหมดเสียง Surround (หรือโหมดเสียงอื่นที่ไม่ใช่ Standard ซึ่งเสียงจะแตกต่างกันเล็กน้อยในแต่ละโหมด) เหมาะกับการรับฟังคอนเทนต์ที่ยังไม่ใช่ระบบเสียงเซอร์ราวด์

แต่กับบางคนอาจชอบรับฟังเสียงต้นฉบับผ่านโหมดเสียง Standard มากกว่า (ถอดรหัสแบบ Straight Decoded – Stereo 2.1 up to 7.1.4 Atmos/DTS:X ตรงตามระบบเสียงของคอนเทนต์ ซึ่งเมื่อใช้งานโหมดนี้ ตัวขับเสียงที่อยู่ด้านข้างของซาวด์บาร์ และที่ลำโพงเซอร์ราวด์ จะไม่ทำงาน)

ข้อดีของการใช้งานโหมด Standard กับคอนเทนต์ระบบเสียงเซอร์ราวด์ (5.1, 7.1, Atmos, DTS:X) คือ ซาวด์บาร์จะคุมสมดุลย่านเสียงในแต่ละแชนเนลได้คงที่กว่า รวมถึงการโฟกัสทิศทางการโยนเสียงไปยังแต่ละแชนเนลก็ทำได้แม่นยำกว่า โดยเฉพาะเมื่อเปิดในระดับเสียงที่ค่อนข้างดัง แต่ยังไงก็แนะนำทดลองฟังเสียงดูก่อนว่าชอบแบบไหนครับ

Conclusion – สรุป

ใครกำลังเริ่มมองหาซาวด์บาร์คุณสมบัติเจ๋ง ๆ มาใช้งาน หรือต้องการอัพเกรดจากซาวด์บาร์รุ่นเล็กที่ยังไม่รองรับระบบเสียงรอบทิศทางเต็มที่ ด้วยราคาเปิดตัว Q990D ที่ต่ำลงกว่าช่วงเปิดตัวรุ่นปีที่แล้ว แต่ประสิทธิภาพโดดเด่นเหมือนเดิม รองรับทั้ง Dolby Atmos/DTS:X และช่องต่อ HDMI In/Out ครบครัน เพิ่มเติมลูกเล่นใหม่นิดหน่อย น่าจะเพิ่มความน่าสนใจให้กับรุ่นใหม่นี้ได้เป็นอย่างดีครับ

ราคาเปิดตัว Samsung HW-Q990D

29,990 บาท