แสดงกระทู้

This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.


Messages - cha-nom

หน้า: 1 [2] 3
19
ถ้าแจ้งรุ่น AVR มาด้วย น่าจะตอบในส่วนของขั้นตอนดำเนินการได้ชัดเจนขึ้นครับ

1. AVR หลายรุ่น โดยเฉพาะรุ่นกลางถึงสูง มักจะมาพร้อมฟังก์ชั่น Multiroom กล่าวคือสามารถกระจายเสียงไปยังพื้นที่อื่นๆ ภายในบ้านได้ ไม่จำกัดเฉพาะห้องโฮมเธียเตอร์หลักที่ตั้งวาง AVR อยู่เท่านั้น ทว่าจะต้องเดินสายเซ็ตอัพระบบไว้ก่อนจึงจะใช้งานได้ครับ

สำหรับกรณีของท่าน ที่หน้าจอ AVR แสดงว่า Zone 4 เข้าใจว่าน่าจะบังเอิญไปกดเปิดใช้งานฟังก์ชั่น Multizone ถามว่าเปิดเอาไว้เป็นอะไรไหม อันที่จริงก็ไม่ได้ส่งผลกับการใช้งานของ Main Zone แต่มันจะกินไฟเพิ่มขึ้น เพราะถึงแม้เราจะปิดเครื่อง Standby (Main Zone ปิดทำงานไปแล้ว) แต่ AVR จะยังต้องการไฟเลี้ยงเพื่อใช้สั่งการ Zone 4 อยู่ครับ

2. Eco เป็นฟังก์ชั่นประหยัดพลังงานของ AVR แยกเป็น 2 ประเด็นหลักๆ
   2.1 หากเปิดฟังก์ชั่น Eco ขณะเปิดใช้งาน AVR (ขณะกำลังดูหนังฟังเพลง) ระบบอาจจะจำกัดการทำงานบางจุดเอาไว้ (ซึ่งอาจรวมถึงทอนกำลังขับลง) เพื่อลดการใช้พลังงานไฟฟ้าลงครับ อาจไม่เหมาะหากต้องการคุณภาพเสียงเต็มที่ แต่ถ้าเป็นการใช้งานแบบไม่จริงจังนัก เช่น เปิดคลอเพื่อฟังข่าว ดูละคร ก็น่าใช้
   2.2 หากเปิดฟังก์ชั่น Eco ขณะที่ AVR อยู่ในโหมด Standby ระบบจะพยายามลดทอนพลังงานที่ใช้เลี้ยงวงจรลงครับ

20
ไม่ต้องทดสอบหรอกครับ แค่ทางกายภาพก็ชนะขาดแล้ว ถ้าจะเทียบต้องวัดกับชุด set in the box หรือ ลำโพง Satellite ดีกว่าถึงจะสมน้ำสมเนื้อ เพราะมีคนสงสัยเหมือนผมอีกเยอะว่า Soundbar จะใช้หลักการกระทบเสียงเพื่อจำลอง Surround ได้ดีกว่า set in the box ได้ยังไง

ผมอุตส่าห์พิมพ์เสียยืดยาว รบกวนอ่านวัตถุประสงค์ของงานก่อนสักนิดหนึ่งนะครับ

21
เชิญร่วมสัมผัสประสิทธิภาพของลำโพงซาวด์บาร์ พร้อมเทคโนโลยี 4K HDR!


เป้าหมายการจัดกิจกรรมในครั้งนี้

กลับมาอีกครั้งกับกิจกรรมมอบความรู้ เพิ่มพูนประสบการณ์ด้านภาพและเสียงของทีมงาน LCDTVTHAILAND... ซึ่งเป้าหมายในครั้งนี้ยังคงเดิมเหมือนเช่นทุกครั้ง คือ ทีมงานฯ อยากให้ทุกท่านที่สนใจความบันเทิงในระบบภาพและเสียง ได้มีโอกาสลองของจริง ด้วยการพิสูจน์ด้วยตา รับฟังด้วยหู และสัมผัสด้วยมือของท่านเอง อันเป็นขั้นตอนการพิสูจน์ประสิทธิภาพของอุปกรณ์ภาพและเสียงที่ดีที่สุด... ชอบไม่ชอบ ดีไม่ดี ก็สุดแท้แต่วิจารณญาณของแต่ละบุคคล



เมื่อพูดถึงระบบบันเทิงภายในบ้าน เชื่อว่าสิ่งที่ทุกท่านคาดหวังนอกจากภาพคมชัด สีสันสดใสแล้ว คุณภาพเสียงที่ดีก็ถือเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้เช่นเดียวกัน
ปัจจุบันเรามีทางเลือกด้านระบบเสียงมากมายหลายรูปแบบ ตั้งแต่ ชุดเครื่องเสียงไฮ-ไฟ ไปจนถึงระบบเสียงรอบทิศทางจากชุดโฮมเธียเตอร์ ซึ่งแน่นอนว่าหากต้องการสนามเสียงโอบล้อมเสมือนอยู่ท่ามกลางเหตุการณ์จริงในภาพยนตร์ ระบบโฮมเธียเตอร์จะตอบสนองได้ดีทีสุด ทว่าก็ต้องแลกมาด้วยพื้นที่ตั้งวางติดตั้งลำโพงจำนวนมากเหล่านั้น พร้อมสภาพห้องที่เหมาะสมและกระบวนการติดตั้งที่ซับซ้อนสักนิดเพื่อให้ได้เสียงที่กลมกลืนเต็มศักยภาพ และปัญหาที่อาจไม่เป็นปัญหาสำหรับเราๆ ท่านๆ แต่ภรรยามองเป็นเรื่องใหญ่อย่างการเก็บซ่อนสายเชื่อมต่อรุงรังที่มีอยู่เป็นจำนวนมากให้ดูเรียบร้อยสวยงาม

ดังนี้ สำหรับท่านที่มีที่ทางไม่มาก เช่น ห้องนอน อยู่คอนโด หรือแฟนไม่ชอบลำโพงเยอะๆ แต่อยากอัพเกรดระบบเสียงทีวีให้ดีขึ้นแบบง่ายๆ อาศัยติดตั้งอุปกรณ์เพียงไม่กี่ชิ้น ไม่ต้องลากสายยาวๆ ผู้หญิง-ผู้สูงอายุก็ใช้งานได้ “ซาวด์บาร์” จึงนับเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ!

ปัจจุบันหน้าที่ของ “ซาวด์บาร์” มิได้มีไว้ทดแทนเสียงของลำโพงทีวีเพียงอย่างเดียว ทว่ามีอรรถประโยชน์อื่นๆ เพิ่มเติมเข้ามา อาทิ สามารถรับสัญญาณเสียงแบบไร้สายผ่านเทคโนโลยี Bluetooth มี Wi-Fi & Ethernet port สำหรับใช้รับฟัง Hi-res Streaming Music (รองรับ TIDAL แล้วนะ) รวมไปถึงฟังก์ชั่น Multi-room

และกรณีที่ทำการจับคู่กับ Smart TV ที่ผนวกฟังก์ชั่นมัลติมีเดียมากมาย การใช้งานซาวด์บาร์ก็จะยิ่งครอบคลุมครบครันจบในชิ้นเดียว จนอาจไม่มีความจำเป็นต้องเชื่อมต่ออุปกรณ์ต่อพ่วงภายนอกอีก เหล่านี้จึงสามารถลดจำนวนอุปกรณ์ต่อพ่วง และสายเชื่อมต่อต่างๆ ที่อาจทำให้ดูรกรุงรังลงไปได้ การใช้งานก็ไม่ซับซ้อน และที่สำคัญ คือ ราคาไม่ได้สูงแต่อย่างใดครับ



ทำความรู้จัก “ซาวด์บาร์” พระเอกของงานกันสักนิด

สำหรับ HW-J7501R ถือเป็นซิสเต็มซาวด์บาร์ “ตัวท็อป” ของ Samsung ประจำปี 2016 ออกแบบรูปลักษณ์ดูสวยงามเข้ากับทีวีทรงโค้ง (Curved Design) ไม่ว่าจะวางบนชั้นหน้าทีวีหรือแขวนผนังได้ลงตัว บวกกับวัสดุโลหะดูโดดเด่นเตะตาดี แต่ที่สำคัญ คือ ระบบเสียงจากตัวขับเสียงหลักแยกฝั่งละ 3 ชุด (Tweeter x 1, Woofer x 2) เสริมตัวขับเสียงพิเศษติดตั้งด้านข้างสำหรับสร้างสนามเสียงเซอร์ราวด์อีก 1 ชุด (รวมทั้งหมดเท่ากับ 8) พร้อมผนวกเติมเต็มย่านความถี่ต่ำด้วยลำโพงซับวูฟเฟอร์ไร้สายขนาดกะทัดรัด.!



มางานนี้แล้วจะได้อะไร?

แน่นอนว่างานนี้ทุกท่านจะได้ทดสอบพิสูจน์เสียง “ซาวด์บาร์” ของ Samsung รุ่น HW-J7501R นี้ จับคู่จอภาพ SUHD TV ที่ได้การรับรองมาตรฐาน “Ultra HD Premium” ถ่ายทอดความสว่างในการรับชม HDR สูงกว่า 1000 nits ร่วมกับ UBD-K8500 4K/UHD Blu-ray Player สุดฮ็อต หนึ่งเดียวในประเทศไทย

แต่มิใช่เพียงเท่านั้น ท่านใดที่สงสัยว่า การเชื่อมต่อติดตั้งซาวด์บาร์เข้ากับทีวีนั้นมีกี่รูปแบบ จะทำอย่างไรให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด? ซึ่งประเด็นหนึ่งที่หลายท่านอาจจะยังไม่ทราบ คือ ปัจจุบันเราสามารถเชื่อมต่อสัญญาณเสียงจากทีวีไปยังซาวด์บาร์แบบไร้สายได้แล้ว เท่ากับว่าจะไม่มีสายสัญญาณเชื่อมต่อกันเลยก็ยังได้! งานนี้จะไปดูกันว่าดำเนินการได้อย่างไรครับ

ไปจนถึงขั้นตอนการไฟน์จูนลำโพงซับวูฟเฟอร์ (ซึ่งรุ่นนี้เป็นซับวูฟเฟอร์แบบไร้สาย) ให้ได้เสียงที่ผสานกลมกลืนเข้ากับตัวลำโพงซาวด์บาร์ อันเป็นขั้นตอนที่สำคัญเพราะจะส่งผลกับคุณภาพเสียงโดยตรง มาหาคำตอบกันได้ที่งานนี้ได้เลย

ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ข้อมูลที่ทุกท่านจะได้รับจากกิจกรรมในครั้งนี้ นอกจากจะนำไปใช้งานร่วมกับระบบของ Samsung SUHD TV + Soundbar แล้ว จะสามารถนำไปประยุกต์กับแบรนด์อื่นได้เช่นเดียวกันครับ…



สุดท้ายนี้ก็ขอเรียนเชิญทุกท่าน มาพบกัน วันพฤหัสบดีที่ 29 กันยายน เวลา 18.00 น. (ลงทะเบียน 17.30 น.) ที่โรงแรมแลนด์มาร์ค สุขุมวิท (BTS นานา) ชั้น 3 ห้องสุขุมวิท 3


“ฟังฟรี ได้ความรู้เช่นเคย… เพิ่มเติม คือ มี Cocktail ให้รับประทานแกล้มเสียงดนตรีตลอดงานครับผม”!!

22
Denonn AVR-X520BT ยังไม่มี HDMI ARC (Audio Return Channel) ครับ
- แต่สามารถ Pass-through 4K Video ได้
- มี HDCP 2.2
- มี HDMI Pass Source สามารถผ่านสัญญาณภาพและเสียงจากแหล่งโปรแกรมไปยังทีวีขณะที่ AVR อยู่ในสถานะ Standby
- ยังไม่มี Audyssey Auto Calibration การตั้งค่าลำโพงต้องแมนนวลทั้งหมด

ชุดลำโพง JBL ตัวเล็ก แต่เสียงเด็ดเกินตัว แนะนำรุ่นนี้ครับ JBL SCS200.5BK ไม่แน่ใจว่าปัจจุบันยังหาได้หรือไม่
http://www.jbl.com.my/scs200-5bk-5-1-home-cinema-sound-system-35.html

23
ตัวเลือกที่ 2 ยืดหยุ่นกว่าครับ

24
ส่วนข้อสงสัยของเจ้าของกระทู้ ผมขอตอบดังนี้ครับ

ก่อนจะไปว่ากันเรื่อง จำเป็นไหมที่ต้องปรับตั้งค่าสี? ผมขออธิบายทำความเข้าใจเหตุผลที่แท้จริงของการปรับภาพ (calibrate) ก่อนแล้วกัน

จอภาพถือเป็นอุปกรณ์ที่ใช้แสดงผล หน้าที่ของมันคือนำเสนอภาพออกมาให้เราได้ชม ซึ่งด้วยหน้าที่การเป็นตัวกลางนำเสนอภาพที่ดีตามอุดมคติ มันก็ไม่ควร “บิดเบือน” ต้นฉบับไป จริงไหม?

อันที่จริงการผลิตจอภาพมันก็มีมาตรฐานกำกับอยู่ แต่ก็เป็นการควบคุมมาตรฐานการผลิตแบบกว้างๆ เท่านั้น การจะทำให้จอภาพทุกจอที่ประกอบขึ้นจากอะไหล่อันซับซ้อนทั้งชิ้นเล็กชิ้นใหญ่จำนวนมากมาย แสดงผลได้ตรงเป๊ะจากโรงงานเลยนั้นเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เพราะต้องควบคุมตัวแปรต่างๆ มากกว่าปกติ ซึ่งรวมถึงสภาพแวดล้อมบางอย่างที่ไม่สามารถควบคุมได้เบ็ดเสร็จ จึงเป็นเหตุให้ต้นทุนดำเนินการสูงขึ้น นี่ย่อมส่งผลถึงความสามารถในการแข่งขันด้านราคาที่ลดต่ำลง จึงมักไม่มีใครลงทุนในจุดนี้

แต่ผมจะบอกว่า ปัญหาใหญ่จริงๆ มันอยู่ตรงคำว่า “ถูกใจ” นี่แหละครับ... ทั้งนี้ มนุษย์ มักใช้อารมณ์ในการตัดสิน ผู้ผลิตจอภาพ จึงต้องพยายามนำเสนอภาพให้ดูดึงดูดสายตาแต่แรกเห็น และนั่นคือที่มาของโหมดภาพหลากหลายที่ดู “โอเวอร์” เกินจริง เพื่อให้สนองตอบกับ “ความชอบ” ส่วนบุคคลนั่นเอง

ปัญหาที่ตามมา คือ รสนิยมความชอบนั้นไม่มีมาตรฐานอ้างอิง มันเลยขึ้นกับผู้ผลิตว่าจะใส่สีตีไข่สีสันออกมาอย่างไรก็ได้เพื่อให้ดูว่าสีมันสดจัด มองเห็นเด่นชัดมาแต่ไกล... ดังนี้ภาพที่เราได้รับชม จึงมักจะห่างไกลจาก “ความถูกต้อง” หรือจะพูดอีกอย่าง คือห่างไกลจาก “มาตรฐานอ้างอิง” ไปมาก

กลับมาที่คำถามของเจ้าของกระทู้ว่าจำเป็นไหมที่ต้องปรับภาพ ปรับสีทีวี?

ตอบ ถ้าท่านต้องการการแสดงผลที่ถูกต้อง ก็ควรต้องปรับครับ ทั้งนี้ทีวีที่ให้สีสันที่ถูกต้องนั้น นอกจากความสมจริงแล้ว มันยังใช้ “อ้างอิง” ได้ กล่าวคือ สามารถนำไปใช้ในงานเฉพาะทางที่ต้องการ การแสดงผลที่เที่ยงตรงตามมาตรฐานอุตสาหกรรมนั้นๆ อาทิ งานกราฟิก ภาพถ่าย ตัดต่อภาพยนตร์ สื่อสิ่งพิมพ์ จอแสดงผลทางการแพทย์ เป็นต้น ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องอาศัยอุปกรณ์ตรวจวัดอ้างอิงและกระบวนการดำเนินงานที่ซับซ้อนเพิ่มเติม แต่ก็จะได้ผลลัพธ์ที่ใกล้เคียงตามอุดมคติมากที่สุดครับ

ปล. กรณีที่ท่านจะก็อปค่าปรับภาพมาใช้ก็ถือเป็นทางลัดที่ง่ายดี แต่ก็ควรต้องคำนึงด้วยว่า ค่านั้นเป็นการอ้างอิงเพื่อใช้งานด้านไหน ใช้ร่วมกับอุปกรณ์ใด โดยปกติจะเป็นการอ้างอิงกับการใช้รับชมภาพยนตร์ทั่วๆ ไป แบบนี้พอใช้อ้างอิงได้ครับ แต่ถ้าจะนำไปใช้อ้างอิงกับงานเฉพาะทาง คงไม่มีวิธีอื่นใดนอกจากขั้นตอนการอ้างอิงปรับภาพแบบละเอียดครับ

แต่ถ้าท่านไม่ได้ซีเรียสขนาดนั้น การเลือกโหมดภาพที่เหมาะสม และทำการปรับภาพเบื้องต้นก็สามาถใช้งานได้ครับ หรือยิ่งถ้าท่านกะซื้อทีวีมาดูคนเดียว ฉันพอใจจะดูโทนแบบนั้น ชอบสีแบบนี้ จะปรับภาพให้ “ถูกใจ” ก็สุดแท้แต่ หรือจะไม่ปรับภาพเลยก็ยังได้ถ้าพอใจเสียอย่าง แต่ก็จะไม่สามารถใช้ในการอ้างอิงเป็นมาตรฐานได้ครับ

25
เท่าที่ทราบรุ่นนี้เมื่อทำการอัพเดทเฟิร์มแวร์ที่ออกมาภายหลังจะแก้ไขเรื่องผลลัพธ์การปรับภาพได้แล้วครับ อย่างไรก็ดี การให้น้ำหนักชดเชยในการปรับภาพโดยเฉพาะ CMS นั้น หากชดเชยมากไป (กรณีที่พยายามดึงให้ผลลัพธ์เพอร์เฟ็กต์ในบางจุด) สีจะเพี้ยน ซึ่งในจุดนี้ เป็นได้กับทีวีทุกรุ่นครับ

26
LG ปรับไปก็ได้แค่นั้นครับ
ถึงมีอุปกรณ์ calibrate ภาพ ปรับแล้วสีห่วยกว่าค่าโรงงานอีกครับ
เช่น uf950t ตัวทอป 2015 ที่ทางทีมงานเวปนี้ได้รีวิวไป

 [ช็อค]

ท่านได้ลอง calibrate ภาพรุ่นนี้ดูแล้วหรือยังครับ? ที่ว่าห่วยลง ปรับตรงไหนไม่ถูกต้องหรือเปล่า?

27
คงจะบอกตัวเลขตายตัวไม่ได้นะครับ เพราะไม่ทราบว่าสภาพแวดล้อมการติดตั้งเป็นอย่างไร แต่ให้แนวทางคร่าวๆ ดังนี้

- มาตรฐานบ้านทั่วไปที่ระดับฝ้าสูง 2.4 - 2.5 ม. ระยะความสูงที่เหมาะสมสำหรับลำโพงเซอร์ราวด์จะไม่กว้างมาก ปกติน่าจะราวๆ 100 - 150 ซม. จากพื้น หรือบวกลบก็นิดหน่อย แต่กรณีฝ้าของท่านสูง 3 ม. clearance ที่ใช้กำหนดระดับความสูงของลำโพงเซอร์ราวด์จะมีมากกว่า

- กรณีที่ใช้ขาตั้งลำโพงเซอร์ราวด์แบบปรับระดับความสูงได้ จะช่วยให้ไฟน์จูนกำหนดความสูงของลำโพงเซอร์ราวด์ได้สะดวกหน่อย ถึงแม้ความสูงของขาตั้งจะจำกัด (ปรับสูงมากไม่ได้ เพราะจะไม่มั่นคง) การทดลองเริ่มต้นให้ปรับระยะขึ้นลงทีละ 1 ฟุต (20 - 30 ซม.) ไปเลย อาจเริ่มอ้างอิงที่ความสูง 1.20 ม. ก่อนก็ได้ หากสูงหรือต่ำไปมันจะอ้างอิงผลลัพธ์ได้ง่ายครับ

- ความสูงของลำโพงเซอร์ราวด์สำคัญ แต่จุดที่ควรให้ความสำคัญก่อน คือ Channel Delay (Speaker Distance) และ Level Balance ดังนี้จึงควรกำหนดพารามิเตอร์พื้นฐานเหล่านี้ให้ลงตัวระดับหนึ่งก่อนที่จะทำการอ้างอิงความกลมกลืนจากความสูงของลำโพงเซอร์ราวด์



-  จะทราบได้อย่างไรว่าลำโพงเซอร์ราวด์สูงหรือต่ำไป? แนะนำให้ทดสอบร่วมกับแผ่น Dolby Atmos Demonstration Disc

ที่แนะนำแผ่นนี้เพราะเป็นคอนเทนต์ที่คัดมาแสดงศักยภาพมิติเสียงด้านสูงโดยตรง ดังนั้นไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมฟังกับแผ่นนี้แล้วมิติเสียงหวือหวาตื่นตาตื่นใจ แต่พอฟังกับภาพยนตร์จริงบางเรื่อง กลับดูธรรมดามากเหมือนลำโพงด้านสูงไม่ทำงาน

ซึ่งในการรับชมภาพยนตร์จริง ลำโพงด้านสูงมันไม่ได้ทำงานตลอดเวลานะครับ ไม่ต้องคอยจับผิดว่าเมื่อไหร่เสียงลำโพงด้านสูงจะดัง เดี๋ยวจะดูหนังไม่สนุกเอา และไม่จำเป็นต้องปรับให้มันเด่นดังหรือให้เสียงมันสูงมันลอยตลอดเวลา เพราะไม่มีภาพยนตร์ใดมิกซ์มาแบบนั้น

- กุญแจสำคัญ คือ “ความกลมกลืน” ของลำโพงในระบบทั้งหมด หาใช่การทำให้ ลำโพงด้านสูง “เด่น” กว่าแชนเนลอื่น

- หลายคอนเทนต์ในแผ่น Dolby Atmos Demonstration Disc ใช้อ้างอิงได้ดี ผมยกบางตัวอย่างละกัน เช่น Audiosphere สามารถใช้อ้างอิงความกลมกลืนของเลเยอร์บนและล่างตามระดับความสูงของตำแหน่งจุดกำเนิดเสียงได้เลย ถ้ารู้สึกว่าสนามเสียงด้านสูง ณ จุดสูงสุดหนักไปทางด้านหน้าหรือด้านหลัง ด้านใดด้านหนึ่ง แสดงว่าลำโพงเซอร์ราวด์วางสูงหรือต่ำไป ในขณะที่ตำแหน่งจุดกำเนิดเสียงด้านหลังจะต้องแยกแยะระดับความสูงได้ว่าอยู่คนละเลเยอร์กับจุดกำเนิดเสียงที่อยู่เลเยอร์บน

ในหมวด Audio Only ที่มีแต่เสียงอย่างเดียวก็ใช้อ้างอิงได้ดีนะครับ อย่าง 747 Takeoff อันนี้จะเป็นการโยนเสียงจากหน้าไปหลัง โดยเครื่องบินจะขึ้นจากด้านหน้าแล้วค่อยๆ บินสูงเลยข้ามหัวห่างออกไปเรื่อยๆ ทางด้านหลัง หากลำโพงเซอร์ราวด์สูงหรือต่ำไป ตำแหน่งของเครื่องบินที่รับต่อจาก Top Middle จะไม่ต่อเนื่อง

นอกจากนี้ 747 Takeoff ยังใช้อ้างอิงความกลมกลืนจากผลการตอบสนองความถี่ของลำโพง และสมดุลเสียงจากจุดตัดความถี่ได้ด้วย (หากไม่ลงตัว เช่น ลำโพงในระบบมีศักยภาพที่แตกต่างกันมากเกินไป ขนาดสเกลของเครื่องบินจะขาดความต่อเนื่อง ฟังดูแปลกแยกไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน) อันที่จริงยังมีที่เจ๋งๆ อีกหลายคอนเทนต์นะ Audio Only นี่ดีทุกอัน แต่จะเริ่มซับซ้อนละ เช่น The Encounter เพราะเล่นกับการโยนเสียงข้ามแชนเนลไปมาเลย ไม่ใช่แค่จากหน้าไปหลัง เอาเป็นว่าคร่าวๆ ก็เท่านี้ก่อนครับ

28
อยู่ที่ว่าท่านติดตั้งลำโพง (Speaker Configuration) ตามรูปแบบไหนครับ

1. หากเป็น 5.1/7.1 ลำโพงเซอร์ราวด์จะทำหน้าที่ควบรวมทั้งการเสริมสร้างมิติโอบล้อมด้านหลัง รวมไปถึงสร้างบรรยากาศด้านสูง จึงควรติดตั้งสูงกว่าระดับหูสัก 2 ฟุตขึ้นไป

2. หากเป็น 5.1.2 แล้วติดตั้ง Height Channel แบบ Top Front, Front Enabled Speakers, หรือ Front Height ลำโพงเซอร์ราวด์จะต้องติดตั้งสูงกว่าระดับหูสักหน่อย เพื่อบาลานซ์มิติเสียงด้านสูงจากลำโพงที่แจ้งไปข้างต้น เนื่องจากลำโพงด้านสูงดังกล่าวติดตั้งอยู่เฉพาะด้านหน้า หากไม่ไฟน์จูนความสูงของลำโพงเซอร์ราวด์ช่วย มิติด้านสูงจะเทหนักไปด้านหน้ามากเกินไป ความสูงที่แนะนำ คือราว 1.20 - 1.50 ม. ขึ้นไป อ้างอิงที่ระดับฝ้าเพดาน 2.4 - 2.5 ม.

หมายเหตุ: จากหน้าที่ของลำโพงเซอร์ราวด์ตามข้อ 2 นี้ ระบบ 5.1.2 ที่ใช้ลำโพงแบบ Dolby Atmos Enabled Speakers จึงแนะนำให้ติดตั้งลำโพง Height Channel ลักษณะนี้ ที่ด้านหน้า (วางบนลำโพงคู่หน้า) มากกว่าติดตั้งด้านหลัง (บนลำโพงเซอร์ราวด์)

3. หากเป็น 5.1.2 แล้วติดตั้ง Height Channel แบบ Top Middle ซึ่งติดตั้งอยู่ด้านบนใกล้กับจุดรับฟัง การเสริมสร้างมิติเสียงด้านสูงจึงอยู่บริเวณกึ่งกลาง อย่างไรก็ดี อาจต้องทำการไฟน์จูนระดับความสูงของลำโพงเซอร์ราวด์เพื่อให้เกิดความกลมกลืนอยู่บ้าง ขึ้นอยู่กับว่าระดับฝ้าที่ติดตั้ง Top Middle นั้นสูงเท่าใด และลำโพงเซอร์ราวด์ห่างจากจุดรับฟังมากแค่ไหน

4. หากเป็น 5.1.4 เราจะมี Height Channel ทั้งหน้า-หลังแล้ว จึงไม่ต้องใช้ลำโพงเซอร์ราวด์เพื่อเสริมสร้างมิติเสียงด้านสูงแบบข้อ 1 และไม่ต้องเอามาเป็นตัวบาลานซ์แบบข้อ 2 ดังนี้สามารถตั้งลำโพงเซอร์ราวด์ระดับหูก็ได้ แต่แนะนำให้ตั้งสูงกว่าระดับหูเล็กน้อยเพื่อป้องกันการถูกบดบังกรณีที่มีที่นั่งรับชมหลายที่ ไม่ได้ฟังคนเดียวครับ



สมมติถ้าไม่รู้จะเริ่มยังไงดี ผมว่าติดตั้งลำโพงเซอร์ราวด์สูงจากพื้นสัก 1.20 ม. (อ้างอิงที่ระดับฝ้าเพดาน 2.4 - 2.5 ม.) ก็กลางๆ ดี ใช้ได้หมดทั้ง 1 - 4 ยังไงทดลองดูจากซิสเต็มในห้องของท่านครับ

29
Marantz รุ่นนี้มันมี Audyssey ไม่ใช่หรือครับ ถ้าจะให้ง่ายผมแนะนำให้ลองใช้ Audyssey วัดตั้งค่า แล้วลองฟังผลลัพธ์ดู

ถ้าเห็นว่าเสียงโอเคก็ใช้ที่ระบบตั้งให้ไป แต่ถ้าไม่พอใจท่านก็เอาค่าที่ระบบตั้งให้นั้นน่ะมาใช้เป็นค่าตั้งต้น เอามาเป็นข้อมูลอ้างอิงเพื่อมาขอคำแนะนำเพิ่มเติมจากหลายๆ ท่านในที่นี้เพื่อทำการไฟน์จูนเพิ่มเติมต่อไปก็ได้ น่าจะง่ายกว่านะครับ อย่างน้อยระบบฯ มันก็อ้างอิงจากซิสเต็มของท่านเองในสภาพแวดล้อมจริง ซึ่งในที่นี้ไม่มีใครให้ข้อมูลที่ชัดเจนได้

ซึ่งเมื่อท่านใช้ Auto Calibration (Audyssey) แล้ว ผลลัพธ์ตัวเลข Crossover ที่ระบบตั้งให้จะเป็นตัวบ่งบอกว่า ศักยภาพของลำโพงคู่นั้นๆ ในสภาพแวดล้อมใช้งานจริง มีความสามารถตอบสนองความถี่ต่ำลงได้ลึก (แบบใช้การได้) เพียงใด

30
เพื่อความมั่นใจว่าเสียงที่ได้จะตรงกับที่เราต้องการมากที่สุด หากสะดวก ลองไปฟังที่ร้านตัวแทนจำหน่ายด้วยตนเองจะชัดเจนกว่านะครับ แนะนำให้ลองฟังตัวอื่นๆ เทียบกันไปด้วยเลย ที่ราคาใกล้ๆ กัน อาทิ JBL SB350, Klipsch R-4B, Polk Audio Soundbar 3000, Yamaha YSP-1400 เป็นต้น

31
150Hz - 200Hz อย่าต่ำกว่านี้ครับ เพราะลำโพงแซทเทลไลท์ขนาดเล็กมีความสามารถให้ย่านต่ำได้แค่นั้น ส่วนความถี่ที่ต่ำกว่านั้นต้องปล่อยให้เป็นภาระของลำโพงซับวูฟเฟอร์

แล้วควรจะตั้งที่ 150Hz หรือ 200Hz ดี? กรณีที่แขวนลำโพงแซทเทลไลท์แนบติดผนังในบางสภาพแวดล้อมอาจจะเซ็ตที่ 150Hz ได้ แต่ยังไงลองกำหนดค่าแล้วฟังเปรียบเทียบผลลัพธ์จากทั้ง 2 ตัวเลือกดูครับ

32
เวลารับชมโหมด HDR กับโหมดปกติ (SDR) มันก็แยกเมมโมรี่การตั้งค่าออกจากกันด้วยนะครับ  [เปล่า]

33
เรื่อง DTS นั้นไม่ยาก แค่ปรับตั้งค่าที่เพลเยอร์ โดยเข้าไปในเมนู กำหนดที่หัวข้อ Digital Out จากตัวเลือก Bitstream ให้เป็น PCM หรือ Auto ครับ

ส่วนประเด็นเรื่อง HDMI ถ้ามีด้วย มันย่อมให้ความยืดหยุ่นกว่าเมื่อต้องการจะใช้งานแน่นอนครับ แต่ปัจจุบันเพลเยอร์หรือแม้แต่ทีวี ก็มักจะมี Optic Out อยู่แล้ว อาจไม่จำเป็นต้องพึ่ง HDMI เสมอไป ถ้าเล็งตัวอื่นไว้ ก็แนะนำให้ลองฟังเสียงก่อนครับ

ส่วนเรื่องที่ท่านบอกว่าอยากเชื่อมต่ออุปกรณ์หลายอย่างกับ Soundbar พร้อมๆ กัน กรณีที่ยังต้องการใช้งานร่วมกับ R-4B อยู่ การแก้ปัญหา หากเป็นพวก BD Player, Game Console, HD Player แนะนำให้เชื่อมต่อสัญญาณของอุปกรณ์ต่างๆ เหล่านั้นเข้ากับทีวีก่อน แล้วค่อยต่อ Optical Out หรือ Bluetooth เสียงจากทีวี เข้า Sounbar ครับ ส่วนอุปกรณ์ไหนที่อยากต่อเสียงตรง อาจต่อสัญญาณทาง Analog in เพิ่มเติมได้อีกช่องหนึ่ง  [โย่ว]

34
ผมขอโอกาสนี้ เรียนเชิญทุกท่านร่วมงานบรรยาย ล้วงลึก Samsung SUHD TV สุดยอดเทคโนโลยีทีวีจริงหรือ?

เหมือนเช่นทุกครั้งว่าทีมงานฯ เน้นให้ความรู้ พร้อมเปิดโอกาสให้ทุกท่านได้สัมผัสกับเทคโนโลยีโฮมเธียเตอร์ใหม่ๆ ซึ่งครั้งนี้ทีมงานจะไขข้อข้องใจว่า SUHD TV แตกต่างจาก UHD TV ทั่วไปอย่างไร?



หนึ่งหัวข้อที่เชื่อว่าหลายท่านอยากทราบ คือ พื้นฐานจอภาพเทคโนโลยี "Quantum Dot" กับความสามารถรองรับคอนเทนต์แบบใหม่ที่เรียกว่า HDR (High Dynamic Range) ของ SUHD TV ซึ่งไม่ธรรมดา และโดดเด่นกว่าเทคโนโลยีจอภาพรูปแบบอื่นนั้นเป็นเช่นไร ภายในงานจะมาหาคำตอบกันครับ...

ภาพ Samsung R7 Wireless Speakers โดย Bill Decanio @ Samsung’s Los Angeles Audio Research Lab anechoic chamber

และมิใช่แค่ระบบภาพจาก SUHD TV เท่านั้น ในส่วนของระบบเสียง จะมาทดสอบเสียงจริงของลำโพงไร้สายระบบเสียง 360 องศา กันด้วยครับว่าเสียงจะเกินตัวเพียงใด

อย่าลืม วันเสาร์ที่ 31 ต.ค. นี้ พบกับทีมงาน LCDTVTHAILAND ที่งาน TAV 2015 @รร.เอเชีย (BTS ราชเทวี) ครับ [ปลื่ม]

35
เริ่มแล้วนะครับวันนี้ กับงาน BAV Hi-End Show 2015 ที่โรงแรมแลนด์มาร์ค สุขุมวิท (ลง BTS สถานีนานา ทางลง 2) ท่านใดว่าง มาเดินเล่นอัพเดทดูระบบเสียงและภาพใหม่ๆ กันครับ

ส่วนงานบรรยายของทีมงาน LCDTVTHAILAND จะมีขึ้นวันเสาร์ที่ 20 มิถุนายน 12.30 น. เป็นต้นไป ก็ขออัพเดทซิสเต็มที่จะนำไปประกอบร่วม

พระเอกของงานเป็นโปรเจ็กเตอร์ของ Acer โดยครั้งนี้จะมาทำความรู้จักกับ ระบบฉายใกล้ หรือ Short Throw จากรุ่น H7550ST กันครับ



ส่วนระบบเสียง หลังจากทีมงานทดลองฟังขณะเตรียมการแล้วอยากแนะนำให้มาสัมผัสเสียงจริงๆ กัน คือ ชุดลำโพง KEF R Series 7 แชนเนล ลำโพงรูปสวยขึ้นชื่อในเรื่องคุณภาพเสียงจากประเทศอังกฤษ ซึ่งไม่ธรรมดาจริงๆ ทั้งชมภาพยนตร์และฟังเพลง กับซับวูฟเฟอร์คู่จาก SVS PB13 Ultra และ Klipsch R-112SW

งานบรรยายครั้งนี้ทีมงานทุกคนตั้งใจที่จะมอบความรู้ รับรองความสนุกแบบมีสาระ พร้อมร่วมสนุกชิงรางวัลติดไม้ ติดมือ กลับบ้านไปแบบฟรีๆ เช่นเคย แล้วเจอกันในงาน วันเสาร์นี้ครับ [เท่ห์]

หน้า: 1 [2] 3