ผู้เขียน หัวข้อ: ไปต่ออย่างไร? เมื่อ ‘เรียนออนไลน์’ ไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุด  (อ่าน 120 ครั้ง)

ออฟไลน์ deam205

  • Hologram 3D TV member
  • ******
  • กระทู้: 19,845
    • ดูรายละเอียด
    • อีเมล์


สถานการณ์การแพร่ระบาด “โควิด 19” ไม่เพียงทำให้ผู้ใหญ่อย่างเราจำต้อง Work From Home แต่เด็กไทยเองก็จำต้องStudy From Home อยู่ข้างๆ คุณพ่อคุณแม่ที่บ้านเช่นกัน แต่หลังจากเด็กไทยเผชิญโลกการ “เรียนออนไลน์” แบบผ่านจออย่างลุ่มๆ ดอนๆ มาเกือบสองปี ผลสำรวจเด็กไทยกลับพบว่า การเรียนแบบออนไลน์ ไม่อาจเทียบเท่า On site ได้ ด้วยข้อจำกัดหลายอย่าง อีกทั้งส่งผลกระทบกับสุขภาพกายและใจเด็กไทยไม่น้อย

ข้อมูลจากองค์การยูนิเซฟ ร่วมกับสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย สำรวจผลกระทบวิกฤตโควิด 19 ต่อเด็กและเยาวชนในประเทศไทย อายุ 15-19 ปี จำนวน 6,771 คน เดือนมีนาคม-เมษายน 2564 พบว่า เด็กและเยาวชนมีความเครียด วิตกกังวล ด้านการเรียนถึง ร้อยละ 70 ล่าสุดอีกผลการสำรวจชีวิตช่วงเรียนออนไลน์ของเด็กไทยผ่านสื่อโซเชียลออนไลน์อย่างคลับเฮาส์ เด็กไทยหลักร้อยคน ต่างเข้ามาเผยความในใจว่า พวกเขาต้องปรับตัวปรับชีวิตตั้งแต่ตื่นนอนไปจนเข้านอน และส่วนใหญ่มีปัญหากับการเรียนแบบออนไลน์ ที่กำลังทำให้พวกเขามีความสุขน้อยลง

ชีวิตออนไลน์ เครียดแค่ไหน?

ผศ.พญ.แก้วตา นพมณีจำรัสเลิศ รองผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัวมหาวิทยาลัยมหิดลและกุมารแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการและพฤติกรรมเด็ก กล่าวถึงสถานการณ์สุขภาพของเด็กไทยในขณะนี้ผ่านงานเสวนาออนไลน์ “ทราบแล้วเปลี่ยน” #แนวทางส่งเสริมสุขภาพเด็กในช่วงเรียนออนไลน์ โดย ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)ว่า

“เวลาพูดเรื่องสุขภาพเด็กหลักๆ เราหมายถึงเรื่องร่างกาย จิตใจ และอารมณ์ การที่เด็กอยู่หน้าจอตลอดวัน การกระพริบตาน้อยลง ตาแห้ง แสบตา ปวดหัว กล้ามเนื้อเกร็งในท่าเดียวตลอดทำให้ปวดเมื่อย และยังส่งผลไปพฤติกรรมสุขภาพทั้งพฤติกรรมการกิน การนอน ทั้งการบริโภคอาหารที่ขาดโภชนาการหรือเป็นโรคอ้วน ซึ่งสิ่งที่เราพบเด็กขาดธาตุเหล็ก มีผลต่อสมอง เพราะเวลาเด็กที่อยู่บ้านแล้วผู้ปกครองไม่มีเวลาดูแลหรือจัดอาหารให้ในด้านสุขภาพจิต การนอนไม่เพียงพอทำให้เด็กไม่สดชื่น ไม่อยากเรียน” ผศ.พญ.แก้วตาเอ่ย

ADVERTISEMENT


แต่หัวใจสำคัญในการประคับประคองดูแลเด็กนั้น ผศ.พญ.แก้วตา กล่าวต่อว่าอยู่ที่ปฏิสัมพันธ์ระหว่างเด็กและครอบครัวมากที่สุด

“คีย์หลักสำคัญสุดคือพ่อแม่ เพราะไม่ว่าสังคมจะเปลี่ยนไปแค่ไหนก็ตาม หรือจะเครียดแค่ไหนก็ตาม ถ้าเขามีผู้ใหญ่คนหนึ่งที่ยังรักเขาและฟังเขาจะเป็นความเข้มแข็งที่เกิดขึ้นกับตัวเขาเอง ธรรมชาติเด็กจะเรียนรู้จากสิ่งรอบตัว อย่างแรกเลยคือพ่อแม่ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูกทั้งเรื่องการดูแลสุขภาพตัวเอง การออกกำลังกาย และพ่อแม่มีหน้าที่จัดสิ่งแวดล้อมในบ้านให้ลูกเพื่อให้มีกิจกรรมทางกาย เพราะพื้นที่ที่บ้านควรเป็นพื้นที่แรกที่ทำให้เด็กได้เรียนรู้ ถัดมาคือโรงเรียน ต้องช่วยกันสอดแทรกเรื่องสุขภาพอนามัยในการเรียนการสอน ทั้งเรื่องการออกกำลังกาย อาหาร สุดท้ายระบบสังคมต้องเข้ามาช่วยเสริม”

นอจากนี้ การมีทัศนคติเชิงลบของพ่อแม่มีความสำคัญต่อเด็ก ที่จะส่งผลต่อความเครียดและกดดันของเด็ก และอาจส่งผลให้เด็กเกิดความเบื่อหน่ายกับการเรียน

“เราพบว่าคุณพ่อคุณแม่มักเครียดจาก Work From Home ไม่มีเวลา กลายเป็นปฏิสัมพันธ์เชิงลบในครอบครัว แต่ถ้าคุณพ่อคุณแม่ไม่มีเวลา ก็ต้องเป็นหน้าที่ครูที่จะช่วยทำหน้าที่ช่วงเวลานี้เราอาจจำเป็นต้องเดินตามแนวทาง Individualize อาทิ การจัดเวรเยี่ยมบ้าน เพราะในเด็กจำนวนสิบคน อาจมีครอบครัวที่ผู้ปกครองไม่มีเวลา และมีเวลา ในส่วนไม่มีเวลา ไม่มีคนดูแล ครูอาจเข้ามาช่วยแทนได้ ซึ่งเป็นเรื่องดีที่ทางกระทรวงศึกษาธิการเองก็มีนโยบายในส่วนนี้แล้ว”


เรียนออนไลน์ ไม่จบแค่ที่ครูกับนักเรียน

สนิท แย้มเกษร รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ เอ่ยยอมรับว่า รูปแบบการ เรียนออนไลน์ ไม่สามารถตอบโจทย์การเรียนในโรงเรียนได้ทั้งหมดจริง ด้วยข้อจำกัดหลายประการ ปัจจุบันเด็กในพื้นที่สีแดงเข้มจะต้องเรียนออนไลน์เกือบหมด มีเพียงพื้นที่บางส่วนที่ไม่ได้รับผลกระทบยังเป็นออนไซต์ เช่น เชียงราย

แต่การต้องเรียนออนไลน์ยังส่งผลไปถึงโภชนาการเด็กด้วย สำหรับแนวทางแก้ไขในเรื่องนี้ กระทรวงศึกษาธิการจึงจัดสรรงบประมาณแก่เด็กและครอบครัวในการจัดทำอาหารกลางวันและจัดซื้อนมแจกให้ผู้ปกครองตั้งแต่ในช่วงแรกของวิกฤต อย่างไรก็ดี อีกแนวทางในการบรรเทาสถานการณ์ที่ตึงเครียดในขณะนี้ของภาครัฐ คือการยังให้ความสำคัญกับมาตรการด้านต่างๆ ที่ช่วยแบ่งเบาหรือลดภาระของทุกฝ่าย

“เรื่องแรกคือการลดต่างๆ เราลดภาระครูด้วยการลดงาน ปกติครูต้องจัดการรายงานเอกสารต่างๆ กว่าเจ็ดสิบโครงการ แต่เรามองว่าบางเรื่องชะลอได้ เราจึงลดเหลือเพียงสิบกว่าโครงการ ส่วนพ่อแม่ เรามองว่าภาระที่ต้องจ่ายเงินเข้ามา กระทรวงฯ เองก็มีนโยบายการลดภาระค่าเทอม ยกเลิกค่าใช้จ่ายบางรายการ อาทิ ค่าบำรุงการศึกษา ค่าน้ำค่าไฟ เป็นต้น นอกจากนี้ ช่วงต้นเดือนกันยายนที่จะถึง เรายังมีเงินเยียวยาให้กับผู้ปกครองเด็กอีกสองพันบาท ในส่วนลดภาระนักเรียน เราใช้วิธีการทำความเข้าใจกับครูและนักเรียน ให้บูรณาการเรื่องการบ้าน ทำอย่างไรที่จะลดลง การบ้านไม่จำเป็นต้องเป็นวิชาใดวิชาเดียวสามารถประเมินได้เป็นอย่างไร รวมถึงในดานการประเมินบางโรงเรียนแจ้งแล้วว่าไม่มีการสอบ หรือการประเมิน จะเห็นว่าเราทำทั้งระบบ”

สำหรับในการประเมินการเรียนรู้ของเด็กนั้น รองเลขาธิการ กพฐ. เสนอแนวทางว่า พ่อแม่เองอาจสามารถทำเอง ช่วยประเมินลูกได้ที่บ้าน

“ผมมองว่ายังมีหลายเรื่องที่พ่อแม่สามารถเพิ่มการเรียนรู้ให้ลูกหลานได้ แต่สิ่งสำคัญต้องมีสื่อสาร มอบความรู้ให้เขาเข้าใจ จากข้อมูลที่มีอยู่ ผมมองว่าความสำเร็จเกิดด้วยความร่วมมือของภาคีภาคส่วนต่างๆ รวมถึง สสส.เป็นหน่วยงานหนึ่งที่มีจุดเด่นด้านองค์ความรู้ด้านสุขภาวะ และส่งเสริมการเรียนรู้แก่เด็ก ที่ผ่านมา สสส.ได้มีการผลิตคู่มือต่าง ๆ  ซึ่งเป็นสื่อที่มีประโยชน์อย่างมากในช่วงเวลาเช่นนี้ ในเรื่องพ่อแม่จึงอยากฝาก สสส. ที่จะช่วยพัฒนาสื่อสำหรับกลุ่มพ่อแม่ผู้ปกครองที่ต้องดูแลลูกในภาวะต้องอยู่ที่บ้านด้วย”

ทุกพื้นที่ คือพื้นที่แห่งการเรียนรู้

ดร. นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)กล่าวว่า แม้จะต้องเผชิญความเปลี่ยนแปลง เด็กก็ยังต้องไม่หยุดการเรียนรู้ เพียงแต่จะเรียนรู้แบบไหน หรือเรียนในระบบอื่นๆ ได้

“เราใช้โอกาสนี้ในการพัฒนาวิธีคิดของเด็ก พฤติกรรมสุขภาพ เพราะปัจจัยที่เข้ามาน่าจะอยู่กับเราอีกนาน ซึ่งงานหนึ่งที่เราค้างไว้คือกิจกรรมทางกาย เพราะมีการศึกษาวิจัยทำไว้ว่าเด็กที่มีการขยับเขยื้อนมากจะส่งผลต่อประสิทธิภาพการเรียนรู้และพัฒนาการของเด็ก ความจริงทุกพื้นที่สามารถเป็นพื้นที่การเรียนรู้ได้ แม้แต่เตียงนอน ห้องครัว ห้องนั่งเล่น หลังบ้าน สนามแถวบ้านให้เด็กได้ขยับมีท่ากายบริหาร ซึ่งเด็กมีศักยภาพเรียนรู้อยู่แล้ว” ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าว

ผู้ช่วยผู้จัดการ สสส.เอ่ยต่อว่า โรงเรียนชีวิต สิ่งแวดล้อม ข้อมูลข่าวสาร สื่อ มีบทบาทที่กระตุ้นให้เด็กเกิดการเรียนรู้ ช่วยเสริมเป็นปัจจัยแวดล้อมกับการเรียนรู้ของเด็ก แม้พ่อแม่สอนไม่ได้ แต่สามารถทำหน้าที่เสริมให้ลูกหลานได้ รวมถึงคนใกล้ตัวรอบตัวที่ไม่ใช่พ่อแม่ อาทิ ญาติผู้ใหญ่ ก็อาจเป็นคนที่จะอยู่กับเด็กและดูแล สามารถช่วยเรียนรู้ สร้างปฏิสัมพันธ์กันและกันให้กับเด็กที่บ้านได้ 

“กรณีเด็กที่อยู่กับคุณตาคุณยาย บางคนอาจมองเป็นอุปสรรคเด็กเรียนออนไลน์เนื่องจากผู้สูงวัยอาจไม่เชี่ยวชาญเทคโนโลยี แต่ความจริงที่เราพบว่ามีหลายครอบครัวที่ปู่ย่าตายายสามารถใช้เทคโนโลยีได้เป็นอย่างดี ตรงนี้คือโอกาส สอนเล่นเกมส์ สอนดูคลิป ก็ได้” ดร. นพ.ไพโรจน์ กล่าว