
2. Top Surround Speakers and Dolby Atmos Enabled Speakers
จุดเด่นของ Dolby Atmos คือ การเพิ่มเติมสนามเสียงรายล้อม ควบรวมถึงมิติเสียงด้านสูงจาก Top Surround Speakers รับหน้าที่ถ่ายทอดเสียงเอฟเฟ็กต์ที่มีทิศทางมาจากด้านบน ดังนั้นการจะได้รับประสบการณ์ระบบเสียงรอบทิศจาก Dolby Atmos ที่ดี ลำโพง Top Surround นี้ จึงมีความสำคัญมาก
โดยหน้าที่การถ่ายทอดเสียงเอฟเฟ็กต์ที่มีทิศทางมาจากด้านบน ตำแหน่งติดตั้งลำโพง Top Surround จึงควรอยู่เหนือศีรษะของผู้ฟัง ตามอุดมคติต้องอยู่บนฝ้าเพดาน จึงมักเป็นแบบฝังฝ้า (In-ceiling) หรือห้อยลำโพงลงมาโดยยึดกับฝ้า (Ceiling-mount) แต่เนื่องจากการติดตั้งลำโพงกับฝ้าเพดานนั้นมีวิธีดำเนินการค่อนข้างวุ่นวาย เพราะหลีกเลี่ยงการเจาะ คว้าน หรือเสริมโครงฝ้าเพดานไปไม่ได้ หากโครงสร้างฝ้าเพดานไม่แข็งแรง ยึดลำโพงได้ไม่มั่นคงจะหวังให้เสียงดีคงยาก แย่กว่านั้นหากดำเนินการติดตั้งผิดวิธีอาจถึงขั้นก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงหากลำโพงร่วงหล่นลงมา

ทาง Dolby เข้าใจความยุ่งยากที่อาจประสบในขั้นตอนติดตั้งลำโพง Top Surround บนฝ้าเพดานดี จึงนำเสนอลำโพงทางเลือกใหม่ “Dolby Atmos Enabled Speakers” ที่สามารถทำหน้าที่ถ่ายทอดเสียงเอฟเฟ็กต์ด้านสูงโดยไม่จำเป็นต้องยกขึ้นไปติดตั้งไว้บนฝ้าเพดานแต่อย่างใด มี 2 ลักษณะ คือ Dolby Atmos “Integrated” (Built-in) Speakers และ Dolby Atmos “Add-on” Speakers
Dolby Atmos “Integrated” (Built-in) Speakers โดยลักษณะภายนอกคล้ายกับลำโพงโฮมเธียเตอร์ปกติที่เราๆ ท่านๆ เคยใช้งานกันมาก่อน มีทั้งแบบลำโพงตั้งพื้น และลำโพงวางหิ้ง

โดยหน้าที่ของลำโพงลักษณะนี้จะยังทำหน้าที่ลำโพงหลักที่ให้เสียงรอบทิศทางในแนวระนาบเหมือนเดิม คือเป็นทั้งลำโพงหน้า (FL/FR) และลำโพงเซอร์ราวด์ (SL/SR/SBL/SBR) แต่จะพิเศษกว่าตรงที่ได้รับการเพิ่มเติม “ตัวขับเสียงอิสระอีกชุด ที่ด้านบนตู้ลำโพง” ตัวขับเสียงพิเศษนี้จะทำหน้าที่เสมือนเป็น Top Surround โดยใช้เทคนิคยิงเสียงขึ้นไปด้านบน และสะท้อนเพดานกลับลงมา รูปแบบนี้เหมาะกับผู้ที่กำลังมองหาลำโพงโฮมเธียเตอร์ชุดใหม่ที่พร้อมรองรับระบบเสียง Dolby Atmos โดยเฉพาะ

ตัวอย่าง Dolby Atmos Enabled Speakers รูปแบบที่เรียกว่า “Integrated” หรือ “Built-in” เช่น ลำโพงแบบตั้งพื้น SP-EFS73 และวางหิ้ง SP-EBS73-LR จาก Pioneer ออกแบบโดย Mr. Andrew Jones ความพิเศษอยู่ที่ Top-firing Concentric Driver ที่ติดตั้งอยู่ด้านบนตัวตู้ลำโพงเพื่อสร้างสนามเสียงด้านสูง นอกจากนี้ยังมี Onkyo อีกรุ่น คือ SKS-HT693 เป็นต้น
Dolby Atmos “Add-on” Speakers ติดตั้งตัวขับเสียงมีทิศทางยิงเสียงขึ้นไปสะท้อนฝ้าเพดานเหมือนกับ Dolby Atmos Integrated Speakers แต่ต่างกันตรงที่ “Add-on” เป็นตู้ลำโพงแยกอิสระ ออกแบบมาให้ใช้งานร่วมกับชุดลำโพงโฮมเธียเตอร์ทั่วไป จึงเหมาะสำหรับท่านที่มีชุดลำโพงโฮมเธียเตอร์เดิมอยู่แล้วแต่ต้องการเพิ่มเติมลำโพงที่ทำหน้าที่เสริมสนามเสียงด้านสูงโดยเฉพาะ

ตัวอย่าง Dolby Atmos Enabled Speakers รูปแบบที่เรียกว่า “Add-on” เช่น KEF Reference R50 ด้วยลักษณะตู้ลำโพงขนาดกะทัดรัด สามารถนำไปวางซ้อนบนลำโพงคู่หน้า และ/หรือลำโพงเซอร์ราวด์ในชุดลำโพงโฮมเธียเตอร์เดิมได้ทันที นอกจากนี้ยังมีของ Atlantic Technology 44-DA, Definitive Technology A60, Onkyo SKH-410 ซึ่งมีระดับราคาย่อมเยากว่าให้เลือกใช้งานด้วย เป็นต้น

ที่พร้อมรองรับ Dolby Atmos (5.1.2) ก็มีเช่นกัน อาทิ Onkyo HT-S7705/7700
3. Dolby Atmos Home Theater Content
จะไม่มีประโยชน์อันใดเลย หากมีระบบเสียงเหนือล้ำ แต่ไม่มีภาพยนตร์ดีๆ ที่ดึงศักยภาพของระบบฯ ออกมาได้อย่างแท้จริง ซึ่งในช่วงที่เขียนบทความอยู่นี้ มีเพียงแผ่นบลูเรย์ Dolby Atmos Demonstration Disc เพียงไตเติลเดียวเท่านั้นที่มีระบบเสียงใหม่นี้ ซึ่งมักจะถูกใช้เป็นตัวอย่างในการเดโมร่วมกับซิสเต็ม Dolby Atmos Home Theater อย่างไรก็ดี อีกไม่เกินอึดใจ จะมีบลูเรย์ภาพยนตร์ที่บันทึกระบบเสียง Dolby Atmos ตามออกมาให้สัมผัสกันจริงๆ จังๆ เสียที

ทั้งนี้หากอ้างอิงจำนวนภาพยนตร์ที่ออกฉายในโรงฯ ช่วงเวลาที่ผ่านมา พบว่ามีหลายเรื่องที่บันทึกเสียงมาในระบบ Dolby Atmos (ดูรายชื่อ >>คลิก<<) ตรงนี้พอจะยืนยันได้ว่า อนาคตเมื่อกลายมาเป็นฟอร์แม็ตบลูเรย์ เราจะได้สัมผัสประสบการณ์เสียงรอบทิศทางใหม่นี้ในบ้านพักอาศัยเช่นกัน และภาพยนตร์บลูเรย์ที่มาพร้อมระบบเสียง Dolby Atmos เรื่องแรก ที่ออกมาประเดิมก่อนใคร คือ Transformer Age of Extinction

การรับชมภาพยนตร์บลูเรย์ที่บันทึกระบบเสียง Dolby Atmos จำเป็นต้องเล่นกับบลูเรย์เพลเยอร์รุ่นใหม่เท่านั้นหรือไม่?
การรับชมคอนเทนต์ Dolby Atmos Blu-ray เล่นได้กับบลูเรย์เพลเยอร์ทุกเครื่องที่สามารถ Bitstream Dolby TrueHD ทาง HDMI ได้ ซึ่งความสามารถนี้จะรวมถึงเพลเยอร์รุ่นเก่าที่วางตลาดก่อนหน้านี้สักหลายปี จึงไม่มีความจำเป็นต้องเปลี่ยนเครื่องเล่นบลูเรย์ใหม่ สิ่งสำคัญคือ ผู้ใช้จะต้องมี AVR ที่มีภาคถอดรหัส Dolby Atmos

หาก AVR ไม่มีภาคถอดรหัสเสียง Dolby Atmos จะเล่นกับแผ่นบลูเรย์ภาพยนตร์ที่บันทึกเสียง Dolby Atmos ได้หรือไม่?
ทาง Dolby ใช้วิธีการ “ฝัง” (Embed) ข้อมูลเสียงของ Dolby Atmos เพิ่มเติมเข้าไปในระบบเสียง Dolby TrueHD/Dolby Digital Plus พูดง่ายๆ ว่า Dolby Atmos ก็คือ Dolby TrueHD/Dolby Digital Plus ที่เพิ่มข้อมูลในส่วนของ Audio object เข้าไปนั่นเอง ถึงแม้ AVR จะไม่มีภาคถอดรหัส Dolby Atmos ก็จะนำข้อมูล Dolby TrueHD หรือ Dolby Digital Plus ไปถอดรหัสแทน จึงยังคงรับชมพร้อมกับเสียงรอบทิศทางได้ แต่จะขาดในส่วนรายละเอียดมิติเสียงที่เพิ่มเติมจาก Dolby Atmos ไป

Dolby Atmos ในฟอร์แม็ตอื่น นอกเหนือจากแผ่นบลูเรย์มีหรือไม่?
นอกเหนือจากฟอร์แม็ตบลูเรย์ ทาง Dolby ได้วางมาตรฐานการเผยแพร่ระบบเสียงใหม่นี้ในวงกว้าง โดยจะควบรวมในส่วนของการออกอากาศผ่านเคเบิลทีวี/ดาวเทียม และการสตรีมมิ่งผ่านระบบอินเทอร์เน็ตด้วย ซึ่งน่าจะได้เห็นเป็นรูปธรรมไม่ช้าก็เร็ว

ในช่วงแรก Dolby Atmos Content อาจหายาก ทว่าก็ยังมีอีกทางเลือกในการรับฟังระบบเสียงใหม่นี้ ด้วยฟีเจอร์ Upmixer ซึ่งจะมาพร้อมกับ Dolby Atmos AVR/Processor ทุกเครื่อง โดยใช้ DSP ประมวลผลสร้างบรรยากาศรายล้อมเสมือน เพิ่มเติมมิติเสียงด้านสูงเข้ามา สามารถใช้งานได้กับทุกแหล่งโปรแกรมเสียง และไม่ว่าต้นฉบับจะเป็นระบบเสียงสเตริโอ หรือมัลติแชนเนล
by ชานม !9/2014
References – Dolby Laboratories. (2014). Dolby Atmos Next-Generation Audio for Cinema White Paper. from dolby.com – Dolby Laboratories. (2014, September). Dolby Atmos for the Home Theater. from dolby.com – Dolby Laboratories. (2014, September). Dolby Atmos Enabled Speaker Technology. from dolby.com – Masaaki Fushiki. (2013, June 9th). Latest Trends of Digital Cinema Sound – What I See in the Steps of Digital Cinema Sound [ Special Report ]. Retrieved September 29th, 2014, from 5.1 Surround Terakoya Lab: http://51terakoya.blogspot.com/2013/06/special-reportlatest-trends-of-digital.html |