03 Nov 2015
Article

ทำความรู้จัก Dolby Atmos มาตรฐานระบบเสียงรอบทิศทางใหม่ เพื่อการรับชมภาพยนตร์


  • lcdtvthailand

ทำความรู้จัก Dolby Atmos 
มาตรฐานระบบเสียงรอบทิศทางใหม่ เพื่อการรับชมภาพยนตร์

Dolby Atmos
“Hear The Whole Picture”
เทคโนโลยีความบันเทิงด้านภาพและเสียงในปัจจุบัน ก้าวสู่ยุคที่ข้ามขีดจำกัดเดิม สู่มาตรฐานใหม่ที่ตอบสนองความต้องการได้ดียิ่งขึ้นกว่าอดีต ในส่วนของภาพ เป็นที่แน่ชัดว่าเราจะได้สัมผัสกับรายละเอียดความคมชัดสูงระดับ 4K/UHD กันแน่นอน แล้วในส่วนของเสียงล่ะ คงไม่มีสิ่งใดเรียกความสนใจได้มากไปกว่าระบบเสียง “Dolby Atmos” !!

การรับชมภาพยนตร์ “เสียง” มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าภาพ หากยกระดับประสิทธิภาพการถ่ายทอดเสียงของภาพยนตร์ได้ อรรถรสของการรับชมย่อมเพิ่มสูงขึ้น ในจุดนี้ ท่านที่ใช้งานซิสเต็มโฮมเธียเตอร์ล้วนมีเป้าหมายเพื่ออรรถรสจากการรับชมภาพยนตร์สูงสุด ซึ่งเป้าหมายนี้ก็ไม่ต่างจาก “พันธกิจ” ของ Dolby ที่ต้องการสร้างมาตรฐานการรับชมภาพยนตร์ด้วยระบบเสียงที่สมจริงกว่าเคย พิสูจน์ได้จากการมุ่งมั่นพัฒนามาตรฐานระบบเสียงใหม่ Dolby Atmos และเปิดตัวอย่างเป็นทางการครั้งแรกในต่างประเทศเมื่อเดือนเมษายน ปี 2012… สำหรับประเทศไทย ช่วงเวลา 1 – 2 ปีที่ผ่านมาหลายท่านน่าจะได้สัมผัสระบบเสียงใหม่นี้ในโรงภาพยนตร์กันบ้างแล้ว(1)  และขณะที่ท่านกำลังอ่านบทความนี้อยู่ ระบบเสียง Dolby Atmos Home Theaterพร้อมสำหรับใช้งานในบ้านพักอาศัยแล้วเช่นกัน เพื่อมิให้เสียเวลา เราจะมาทำความรู้จักกับ Dolby Atmos ว่าจะให้ประสบการณ์รับชมภาพยนตร์ที่ดีขึ้นอย่างไรบ้าง

Welcome To A New World Of Sound

คงไม่มีใครที่ไม่รู้จัก Dolby กับบทบาทผู้กำหนดมาตรฐานระบบเสียงรอบทิศทางในโรงภาพยนตร์ที่เราๆ ท่านๆ รับชมกันอยู่ทุกวันนี้ ถึงแม้ในแวดวงโฮมเธียเตอร์ที่ผ่านมา รัศมีของ Dolby ถูกบดบังลงไปมาก เนื่องด้วยมาตรฐานการรับชมภาพยนตร์ในบ้านพักอาศัยผ่านระบบเสียง HD ที่บันทึกมากับฟอร์แม็ตบลูเรย์ มักจะเป็นระบบเสียงจากทางฝั่งของ DTS (Digital Theater Systems) เสียมาก (2)  แต่ถึงกระนั้นบทบาทของ Dolby ในแวดวงการผลิตภาพยนตร์ตั้งแต่ต้นน้ำ ในขั้นตอน Post Production ในสตูดิโอบันทึกเสียง ไปจนถึงปลายน้ำอย่างการนำเสนอมาตรฐานระบบเสียงในโรงภาพยนตร์นั้น มิได้ลดลงเลย

นับจากวันเปิดตัว Dolby Atmos ถูกคาดหวังให้เป็นมาตรฐานระบบเสียงในโรงภาพยนตร์ยุคใหม่ ที่จะส่งมอบประสบการณ์รับชมภาพยนตร์สมจริงยิ่งกว่าเคย จากประสิทธิภาพถ่ายทอดสนามเสียงรายล้อมที่จะปฏิวัติระบบเสียงในอดีตไปอย่างสิ้นเชิง… อะไรที่ทำให้ Dolby Atmos แตกต่างจากระบบเสียงเซอร์ราวด์ของโรงภาพยนตร์ทั่วไป? คำตอบคงต้องย้อนกลับไปดูมาตรฐานระบบเสียงในโรงภาพยนตร์ทั่วไปในปัจจุบันก่อนว่าเป็นเช่นไร

— Dolby Atmos in The Cinema —

เป็นที่ทราบกันว่า ระบบเสียงในโรงภาพยนตร์ซับซ้อนแตกต่างจากระบบโฮมเธียเตอร์ที่ใช้งานในบ้านพักอาศัยอยู่หลายประการ ที่เห็นได้ชัด คือ ขนาดสเกลของระบบที่ใหญ่กว่ามาก อย่างไรก็ดีในแง่การถ่ายทอดเสียงรอบทิศทางนั้น โรงภาพยนตร์และโฮมเธียเตอร์หาได้แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงไม่ โดยพื้นฐานยังคงอิงการถ่ายทอด “ช่องสัญญาณเสียง” ตามมาตรฐาน 5.1 หรือ 7.1 แชนเนล เหมือนกัน

ระบบเสียงโรงภาพยนตร์ทั่วไปในปัจจุบัน ที่ยังไม่ได้รับการปรับเปลี่ยนเป็นระบบ Dolby Atmos จะอิงมาตรฐานการถ่ายทอด “ช่องสัญญาณเสียง” แบบหยาบๆ ตามระบบ 7.1 (หรือ 5.1) ประกอบไปด้วยลำโพงคู่หน้า (L/R), เซ็นเตอร์ (C), ซับวูฟเฟอร์ (LFE), เซอร์ราวด์ (Lss/Rss) และเซอร์ราวด์แบ็ค (Lrs/Rrs) ดังนี้ถึงแม้จำนวนลำโพงในโรงภาพยนตร์จะมีมากกว่า แต่โดยพื้นฐานก็ไม่ต่างจากระบบโฮมเธียเตอร์ที่ใช้ลำโพง 7.1 (หรือ 5.1 แชนเนล)
ด้วยขนาดพื้นที่ที่กว้างใหญ่กว่า ความท้าทายของระบบเสียงในโรงภาพยนตร์นั้นอยู่ที่ จะดำเนินการอย่างไรให้สามารถถ่ายทอดเสียงเซอร์ราวด์รอบทิศทางจากช่องสัญญาณเสียงเพียง 5.1/7.1 แชนเนล ได้ครอบคลุมทุกพื้นที่รับชม (ที่มีมากมายนับร้อยที่นั่ง) เหตุนี้จำนวนลำโพงเซอร์ราวด์ด้านข้างและด้านหลังจำนวนมาก จึงถูกติดตั้งจัดวางเรียงรายต่อเนื่องโอบล้อมเป็นพื้นที่กว้าง เพื่อขยายขอบเขตสนามเสียงจากช่องสัญญาณเสียงเซอร์ราวด์และเซอร์ราวด์แบ็คนี้ให้ครอบคลุมทุกตำแหน่งแถวที่นั่งนั่นเอง ลำโพงเซอร์ราวด์และเซอร์ราวด์แบ็คที่ถูกเสริมเข้ามาเป็นจำนวนมากในโรงภาพยนตร์ จึงมิได้ให้ผลลัพธ์ในแง่แจกแจงรายละเอียดตำแหน่งทิศทางเสียงที่ชัดเจนมากกว่าระบบโฮมเธียเตอร์ที่ใช้งานลำโพงเซอร์ราวด์ และเซอร์ราวด์แบ็คเพียงอย่างละคู่

จากรายละเอียดข้างต้น แม้จำนวนลำโพงในโรงภาพยนตร์จะมีมาก แต่ด้วยช่องสัญญาณเสียงที่จำกัดเพียง 5.1 หรือ 7.1 แชนเนล การจะถ่ายทอดเสียงเอฟเฟ็กต์โอบล้อมรอบทิศทางอันละเอียดลออจากภาพยนตร์ ยังห่างไกลกับคำว่า “สมจริง” อยู่มากนัก และข้อจำกัดอีกประการของระบบ 5.1/7.1 เดิม คือ ลำโพงเซอร์ราวด์และเซอร์ราวด์แบ็ค ยังต้องทำหน้าที่ควบรวมการถ่ายทอดบรรยากาศด้านสูง (Upper Hemisphere) ด้วย (3)  นอกเหนือจากหน้าที่หลักคือสร้างสนามเสียงโอบล้อมด้านหลัง แต่ด้วยตำแหน่งลำโพงที่ไม่ได้อยู่เหนือศีรษะผู้ฟังตรงๆ ก็แน่นอนว่าผลลัพธ์การถ่ายทอดมิติด้านสูงของลำโพงเซอร์ราวด์ และลำโพงเซอร์ราวด์แบ็ค ยังไม่ลงตัวดีนักช่องว่างของการถ่ายทอดมิติเสียงด้านสูงนี้เอง จึงเป็น “โอกาส” ให้ Dolby สร้างสรรค์ระบบเสียงใหม่ขึ้นมา คือ Dolby Atmos!


(1) โรงภาพยนตร์ในประเทศไทยเริ่มให้บริการระบบเสียง Dolby Atmos มาได้สักระยะหนึ่ง แต่ยังจำกัดโรงฯ อยู่
(2) 
ที่คุ้นเคยกันดี คือ DTS-HD Master Audio ซึ่งจำนวนคอนเทนต์ในตลาดมีมากกว่า Dolby TrueHD อยู่หลายเท่าตัว
(3) 
นี่คือเหตุผลว่าทำไม Dolby จึงแนะนำให้ติดตั้งลำโพงเซอร์ราวด์ในระบบ 5.1/7.1 สูงกว่าระดับหูของผู้ฟัง