27 Sep 2023
Review

รีวิว Klipsch RP-1000SW All-New Reference Premiere Subwoofer อัพเกรดใหญ่ สะใจขาเบส


  • ชานม

ซับวูฟเฟอร์ อุปกรณ์สำคัญสำหรับระบบเสียงทั้งภาพยนตร์ เพลง ไปจนถึงเกม หน้าที่ของมัน คือ ช่วยเติมเต็ม “ย่านเสียงความถี่ต่ำลึก” ให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ! สำหรับใครที่กำลังมองหาซับวูฟเฟอร์ หรือคิดจะอัพเกรด วันนี้มีหนึ่งตัวเด็ดจาก Klipsch มาให้พิจารณากันครับ…

Reference Premiere เป็นซีรี่ส์ลำโพงระดับสูงตัวสร้างชื่อของ Klipsch ผู้ผลิตลำโพงสำหรับใช้งานในบ้านและโรงภาพยนตร์ชื่อดังจากประเทศสหรัฐอเมริกา ปัจจุบันได้รับการพัฒนามาเป็น เจนเนอเรชั่นที่ 2 แล้ว !

และในส่วนของ “ลำโพงซับวูฟเฟอร์” เพิ่งได้รับการอัพเกรดยกเครื่องขนานใหญ่ จนมาเป็น All-New Reference Premiere Subwoofer สด ๆ ร้อน ๆ ไม่นานนี้เอง ซึ่งทีมงานได้ทำคลิปแนะนำ สรุปคุณสมบัติเด่นของซีรี่ส์ไว้แล้ว สามารถรับชมได้ตามลิงค์แนบ

การออกแบบ

หากสรุปโดยย่อ จะพบว่า ความโดดเด่นของ Klipsch All-New Reference Premiere Subwoofer ที่ถูกอัพเกรดขึ้นจากซีรี่ส์ก่อนหน้า มีดังนี้

  • Cerametallic Woofer ที่มาพร้อมแม่เหล็กขนาดใหญ่ ภายใต้โครงสร้างที่แน่นหนามั่นคง และขยายช่วงชักให้มีระยะที่ลึกขึ้น จึงรองรับกำลังขับอันหนักหน่วงช่วงพีค และถ่ายทอดย่านเบสลึกได้เต็มที่มากกว่า
  • Class D Amplifier ร่วมกับภาคปรีแอมป์อะนาล็อก การสูญเสียสัญญาณต่ำ และให้กำลังสำรองได้สูง เติมเต็มย่านเสียงต่ำในห้องขนาดใหญ่ได้ครอบคลุมกว่า อีกทั้งขยายขีดความสามารถควบคุมการขยับเคลื่อนตัวของวูฟเฟอร์ที่ออกแบบให้มีระยะชักลึกขึ้นได้อย่างแม่นยำ
  • ปรับรูปลักษณ์ภายนอกให้สวยงามขึ้น ขยายปริมาตรตู้ลำโพง เสริมความแข็งแรงภายใน พร้อมปรับโครงสร้าง Slot port เป็นแบบ Aerofoil ช่วยให้การไหลเวียนของมวลอากาศภายในตัวตู้เป็นไปอย่างราบรื่น ลดทอน Port Noise เอื้อให้การถ่ายทอดย่านความถี่ต่ำลึกสมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น

All-New Reference Premiere Subwoofer ของ Klipsch มีทั้งหมด 4 รุ่น ! โดย RP-1000SW ที่จะทำการรีวิวต่อไปนี้ ถือเป็นน้องเล็กสุดครับ

รูปลักษณ์

อุปกรณ์ที่ให้มา : หน้ากากผ้า, เอกสารคู่มือการใช้งาน และสายไฟเอซี ให้มา 3 เส้น (หัวปลั๊ก 3 แบบ)

รูปลักษณ์ยังคงเอกลักษณ์ความเป็น Klipsch ดูโดดเด่นด้วยวูฟเฟอร์สีทองแดง Cerametallic แต่แน่นอนเมื่อเป็นซับวูฟเฟอร์ซีรี่ส์ท็อปสุดในปัจจุบัน จุดเด่นที่ ถูกเพิ่มเข้ามาย่อมมีมากกว่าซีรี่ส์ลำโพงซับวูฟเฟอร์ก่อนหน้านี้

กรณีที่ใส่หน้ากาก จะสังเกตได้ว่าโครงสร้างหน้ากากผ้าโดยเฉพาะตรงตำแหน่งวูฟเฟอร์ดูหนาออกมา เนื่องจากต้องเผื่อระยะเคลื่อนตัวของวูฟเฟอร์ใหม่ ที่มีช่วงชักยาวขึ้น
มีการลบขอบมุมตัวตู้ด้านบน และปิดผิวลวดลายไม้สวยงาม และดังที่เกริ่นไปว่า All-New Reference Premiere Subwoofer อัพเกรดขยายปริมาตรตู้ลำโพงเพื่อเพิ่มศักยภาพการถ่ายทอดเบสลึก โดยจะเห็นได้ชัดมาก ๆ ในรุ่นนี้ จาก “ความลึก” ของตัวตู้ตามภาพ
อานิสงส์ของการเพิ่มความลึกตู้ลำโพง มีส่วนทำให้ ท่อจูนเบส ของลำโพงซับวูฟเฟอร์แบบ “ตู้เปิด” มีระยะทางที่ยาวขึ้น หากออกแบบได้ลงตัวย่อมเสริมย่านเสียงความถี่ต่ำลึกได้โดดเด่นกว่าเดิม

การปรับโครงสร้างด้านใน Slot port แบบ Aerofoil ยังช่วยลดทอนปัญหา Port Noise ได้ เมื่อความเพี้ยนต่ำลง เบสที่ได้จึงสะอาด กระชับ รายละเอียดชัดเจนขึ้น
ผมชอบดีเทลเล็ก ๆ อย่างหมุดโลหะยึดหน้ากากลำโพง ที่รุ่นนี้ทำเป็นสีทองแดง หากเปิดหน้ากากโชว์ดอกลำโพง มันจะช่วยส่งเสริมกลมกลืนเข้ากับวูฟเฟอร์ Cerametallic อันเป็นเอกลักษณ์ของ Klipsch เป็นอย่างดี
ด้านล่างมีขารองรับ 4 จุด วัสดุดูคล้ายยางซิลิโคน ซึ่งผสานความแข็งกับความอ่อนหยุ่น ให้ความหนึบเกาะกับพื้นได้ดี เพิ่มความมั่นคงดีมาก
แผงควบคุม และจุดเชื่อมต่อสาย อยู่ที่ด้านหลังเหมือนกับซับวูฟเฟอร์ส่วนใหญ่
ตำแหน่งลำโพงซับวูฟเฟอร์ที่มักจะตั้งอยู่ชิดผนังหรือมุมห้อง การปรับจูนเสียงที่ต้องอ้อมไปปรับหมุนตั้งค่าต่าง ๆ ทางด้านหลังลำโพงจะทำได้ลำบาก Klipsch จึงออกแบบปุ่มปรับหมุนใหม่ให้สามารถปรับโดยมองจากด้านบนได้สะดวกมากยิ่งขึ้น โครงสร้างพลาสติกใสที่ยื่นออกมาทำหน้าที่เหมือนแว่นขยาย บวกกับตัวอักษรสีดำตัดสีพื้นขาวสว่าง ยังช่วยให้มองเห็นเวลาอยู่ในซอกมืด ๆ ได้ง่ายขึ้นด้วย

สามารถปรับตั้ง Low-Pass Crossover (จุดตัดความถี่เสียงย่านต่ำ 40 – 150 Hz และรองรับสัญญาณ LFE ร่วมกับการ Bypass Crossover กรณีใช้งานร่วมกับระบบโฮมเธียเตอร์), Gain (ชดเชยระดับเสียง) และ Phase (0°/180°) อีกทั้งยังมีตัวเลือก Power (On – เปิดทำงานตลอด, Auto – เปิดทำงานเมื่อมีสัญญาณเสียงเข้ามา และเข้าสู่โหมดสแตบายอัตโนมัติเมื่อไม่มีสัญญาณ, หรือ Standby – ปิดการทำงาน)

ช่องต่อ

รุ่นนี้รองรับสัญญาณทั้งแบบ “ใช้สาย” ทาง Line In ผ่านสายสัญญาณ Unbalanced RCA และ “ไร้สาย” ทาง WA-2 Port (ต้องใช้งานร่วมกับอุปกรณ์เสริม Klipsch WA-2 Wireless Subwoofer Kit)

การติดตั้ง

ซับวูฟเฟอร์ถือเป็นลำโพงที่อ่อนไหวกับห้องมากที่สุด อันเป็นผลกระทบจากคลื่นความถี่ต่ำสั่นค้าง (Standing Wave) จาก Room Mode ที่มีทุกห้อง การขยับตำแหน่งตั้งวางลำโพงซับวูฟเฟอร์ รวมถึงตำแหน่งนั่งฟัง จะให้ผลลัพธ์ที่ต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ ดังนี้ถ้ามีเวลาและพื้นที่เอื้ออำนวย ให้ความสำคัญกับตำแหน่งที่เหมาะสมภายในห้องดูก่อน ก็จะช่วยให้ลำโพงซับวูฟเฟอร์ถ่ายทอดคุณภาพเสียงออกมาได้อย่างเต็มศักยภาพมากยิ่งขึ้นครับ

ปัจจุบัน ระบบโฮมเธียเตอร์ จะมีตัวช่วยให้เสียงของลำโพงซับวูฟเฟอร์กลมกลืนเข้ากับลำโพงอื่นในระบบได้สะดวกขึ้น โดยเฉพาะหากใช้ AV Receiver ของ Onkyo/Integra สามารถใช้ฟีเจอร์ Speaker Combo กำหนดเจาะจงรุ่นลำโพง Klipsch ร่วมกับ Auto Calibration อย่าง AccuEQ หรือ Dirac Live จะส่งเสริมให้ได้ผลลัพธ์ที่แม่นยำขึ้นได้

และแน่นอนกรณีที่ต้องการปรับจูนตั้งค่าเสียงแบบละเอียดด้วยตนเอง ระบบ Bass Management ของ AVR ก็เปิดโอกาสให้ทำได้เช่นกัน

สำหรับซิสเต็มไฮไฟ 2.1 (เชื่อมต่อสัญญาณจาก Pre out ของ Preamp หรือ Integrated amp) คงต้องพึ่งการกำหนดตั้งค่าลำโพงซับวูฟเฟอร์ด้วยตนเอง ซึ่งไม่ยากจนเกินความสามารถครับ ขอเพียงแค่รู้ศักยภาพของลำโพงหลักที่ใช้งานอยู่ในห้อง แล้วปรับจูนเสียงของลำโพงซับวูฟเฟอร์ให้เสริมย่านเสียงต่ำเฉพาะในจุดที่ขาด จนได้ความกลมกลืนต่อเนื่องกัน

เสียง

RP-1000SW (ซ้าย) vs SPL-120 (ขวา)

จากที่เคยได้ลอง SPL-120 ซึ่งเป็นซีรี่ส์ต่ำกว่า ขอยืนยันว่า RP-1000SW อัพเกรดคุณภาพเสียงความถี่ต่ำในระบบให้สมบูรณ์ขึ้นแบบรู้สึกได้ไม่ยากเลยครับ พูดแบบนี้ไม่ใช่ว่า SPL-120 ไม่ดีนะ แต่ต้องเข้าใจว่า “คุณค่า” บางอย่าง มันมีราคาที่ต้องแลกมาครับ… ก่อนอื่นมาดูความแตกต่างภายนอกที่อาจส่งผลกับการติดตั้งสักนิดนึง

ขนาดตู้ลำโพง RP-1000SW ดูลึกและหนักกว่าชัดเจน แต่โดยรวมถือว่าต้องการพื้นที่ตั้งวางไม่ต่างกันนัก หากมีที่วาง SPL-120 ได้ ก็น่าจะวางรุ่นนี้ได้ ขนาดถือว่าค่อนข้างเป็นมิตรกับห้องพื้นที่จำกัด

ด้านเสียง ถึงแม้ RP-1000SW ใช้วูฟเฟอร์ขนาดเล็กกว่า (10″ vs 12″) แต่สิ่งที่ได้อัพเกรดขึ้นมา ให้เสียงลงตัวขึ้นหลายจุด ย่านการตอบสนองความถี่พบว่า RP-1000SW ให้มวลเสียงย่านเบสลึกฟังดูมีน้ำหนักเป็นตัวเป็นตนกว่า เวลาชมภาพยนตร์ที่มาพร้อมย่านเสียง LFE จึงได้บรรยากาศที่อลังขึ้น แต่ไม่ใช่แค่เบสลึก เบสต้นมีพละกำลังและแรงปะทะที่เพิ่มขึ้น เสียงปืน เสียงระเบิดฟังดูรุนแรงหนักหน่วง เพิ่มความมันได้ดีมาก กำลังขับตามสเป็คที่ 300 วัตต์ (600W Peak) เพียงพอกับการใช้งานในห้องตามบ้านทั่วไป สิ่งที่เหนือกว่า SPL-120 คือ ช่วงพีคหนัก ๆ ดูจะคอนโทรลเสียงโดยรวมได้ดีกว่า ไม่เบลอ

อีกจุดหนึ่งที่ไม่พูดถึงไม่ได้ คือ การฟังเพลง อาจด้วยการควบคุมระดับความเพี้ยนได้ต่ำลง เสียงเบสจึงฟังดูสะอาด และกระชับฉับไวขึ้น ความหนักแน่น และแรงปะทะที่ได้ยังส่งผลให้ฟังเพลงสไตล์ Pop Rock Hiphop สะใจดี แต่ขณะเดียวกันแนวเพลงที่โฟกัสรายละเอียดโน้ตต่ำ ๆ อย่าง Jazz ก็ฟังได้ลงตัวอย่างมีอรรถรส แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นกับการเซ็ตอัพ RP-1000SW กับลำโพงในระบบ จนได้ย่านเสียงต่ำที่มีความต่อเนื่องกลมกลืนกันก่อนครับ

สรุป

น้องเล็กของซีรี่ส์ All-New Reference Premiere Subwoofer ถึงแม้ตัวตู้จะไม่ถึงกับเล็กกะทัดรัด แต่รูปทรงที่ออกไปทางลึกมากกว่ากว้าง จึงดูไม่เทอะทะกินที่มากนัก ซึ่งขนาดที่ดูใหญ่กว่าซับฯ 10 นิ้ว ปกติ มันมีเหตุผล ศักยภาพด้านเสียงของ RP-1000SW มีความโดดเด่น สามารถชนกับซับวูฟเฟอร์ 12 นิ้ว ในท้องตลาดหลาย ๆ รุ่น ได้สบาย ทั้งในแง่น้ำหนักและความลึกของเบส เติมเต็มความบันเทิงจากภาพยนตร์ เพลง หรือเกม ในห้องขนาดเล็กค่อนกลาง ไปจนถึงห้องขนาดกลางใหญ่ (ราว 12 – 25 ตร.ม.) ได้เป็นอย่างดี ที่สำคัญใช้งบประมาณไม่สูงมากด้วยครับ หากมีโอกาส แนะนำไปลองสัมผัส ทดลองฟังเสียงจริงที่โชว์รูม Sound Republic และร้านค้าตัวแทนจำหน่ายครับ

ราคาตั้ง Klipsch RP-1000SW

39,900 บาท