07 Jun 2015
Article

เกิดแน่ !? บัญญัติ 7 ประการ ที่จะดันมาตรฐาน 4K UHD ให้แพร่หลาย


  • lcdtvthailand

IV. HDCP 2.2

เมื่อขั้นตอนผลิตคอนเทนต์คุณภาพสูงมีความซับซ้อนประณีตมากขึ้น ก็ไม่แปลกที่ผู้ผลิตอยากจะปกป้องถือสิทธิ์ผลงานของตนมิให้ถูกละเมิดโดยง่าย

HDCP ย่อมาจากHigh-bandwidth Digital Content Protection หรือเทคโนโลยีเข้ารหัสดิจิทัลเพื่อป้องกันการคัดลอกข้อมูลภาพและเสียงรายละเอียดสูงผ่านทางการเชื่อมต่อสายสัญญาณ เดิมทีเทคโนโลยีนี้อยู่ใกล้ตัวเราๆ ท่านๆ มาช้านาน ตั้งแต่เมื่อแรกมาตรฐาน HDMI (รวมถึงกับมาตรฐาน DisplayPort, DVI, HDBASE-T, MHL ฯลฯ) ถูกกำหนดขึ้น ปัจจุบันเมื่อถึงยุค Ultra HD ผู้ผลิตก็ต้องปรับเปลี่ยนข้อกำหนดของ HDCP ให้เท่าทัน โดยเวอร์ชั่น 2.2 จะเพิ่มเติมควบรวมไปถึงอุปกรณ์ที่ใช้รับชมคอนเทนต์ Ultra HD (หรือต่ำกว่า) ผ่านรูปแบบการสตรีมมิ่งทางอินเทอร์เน็ตด้วย

สถานการณ์ปัจจุบัน: 4K/UHD TV ส่วนใหญ่ มักจะติดตั้ง HDMI 2.0 ซึ่งพร้อมรองรับ HDCP 2.2 แล้ว เหลือเพียงแต่อุปกรณ์รอบข้างอื่นๆ อาทิ บลูเรย์เพลเยอร์ เซ็ตท็อปบ๊อกซ์ เอวีรีซีฟเวอร์ ฯลฯ ที่กำลังทยอยรองรับมาตรฐานนี้ หากเมื่อใดที่มาตรฐาน HDCP 2.2 พร้อมบังคับใช้ อุปกรณ์ทั้งหมดตั้งแต่ต้นทางยันปลายทางจะต้องรองรับ HDCP 2.2 ทั้งสิ้น จึงจะรับชมได้อย่างปกติ

V. HDMI 2.0 vs DisplayPort 1.3

เป็นที่แน่นอนว่ามาตรฐานการเชื่อมต่อสัญญาณผ่านสายเคเบิลสำหรับมาตรฐาน 4K/UHD ในช่วงเวลาปัจจุบันจนถึงอนาคตอันใกล้ คือ HDMI 2.0 ซึ่งเหนือกว่ามาตรฐานก่อนหน้า (HDMI 1.4) จากอัตราแบนด์วิดธ์ที่สูงกว่าจึงรองรับสัญญาณ 4K @60Hz ได้สบายๆ (ในขณะที่ HDMI 1.4 รองรับสัญญาณ 4K สูงสุดได้ที่ 30Hz เท่านั้น) และยังรวมถึงฟีเจอร์สำคัญอย่าง Rec.2020, HDR พร้อมกับระบบเสียงดิจิทัลเซอร์ราวด์ซาวด์ยุคใหม่ Dolby Atmos หรือ DTS:X

นอกเหนือจาก HDMI 2.0 ยังมีอีกหนึ่งทางเลือกให้ใช้งานควบคู่กัน คือ DisplayPort 1.3 หากดูสเป็กพื้นฐานเปรียบเทียบแล้วจะพบว่ามีภาษีดีกว่า HDMI 2.0 ด้วยซ้ำ โดยเฉพาะในเชิงแบนด์วิดธ์ที่สูงพอจะรองรับมาตรฐานอนาคตอย่าง 8K @60Hz เลยทีเดียว (ดูตารางข้อมูลประกอบ)

ข้อมูลจาก www.planar.com

อย่างไรก็ดีจุดอ่อนสำคัญของ DisplayPort 1.3 ประการแรก คือ ความยาวที่จำกัด กล่าวคือการที่สายจะคงรูปสัญญาณให้ได้คุณสมบัติรองรับ 4K/8K ดังว่า จะมีความยาวได้ไม่เกิน 3 เมตรเท่านั้น ดังนั้นลืมไปได้เลยหากจะเอา DisplayPort มาใช้งานกับโปรเจ็กเตอร์ ประการที่ 2 คือ ยังไม่แพร่หลายนัก โดย DisplayPort มักจะติดตั้งมากับอุปกรณ์คอมพิวเตอร์เป็นหลักเท่านั้น สำหรับอุปกรณ์โฮมเธียเตอร์มีจำนวนน้อยมากๆ

สถานการณ์ปัจจุบัน: มาตรฐานสายสัญญาณสำหรับ 4K Home Theater เวลานี้ต้องยกให้ HDMI 2.0 แต่อนาคตสำหรับมาตรฐานการเชื่อมต่อยุคถัดไป (8K) ยังไม่แน่ชัด ยังมีเวลาพัฒนาปรับเปลี่ยนได้อีกต้องคอยดูกันต่อไป

VI. superMHL: The Next Evolution of Mobile High Definition Link

ระหว่างที่ HDMI 2.0 และ DisplayPort 1.3 กำลังขับเคี่ยวเพื่อเป็นมาตรฐานการเชื่อมต่อหลักสำหรับยุค Ultra HD ก็มีอีกหนึ่งมาตรฐานที่เกิดขึ้นแบบเงียบๆ แต่ดูสเป็กแล้วเงียบไม่ได้เลย คือ “superMHL”

ดังที่หลายท่านทราบว่า MHL หรือ Mobile High Definition Link มีต้นกำเนิดมาพร้อมกับอุปกรณ์พกพาจำพวกสมาร์ทโฟน-แท็บเล็ต ซึ่งเริ่มแรก MHL อาจจำกัดฟีเจอร์ไปตามขนาดของอุปกรณ์ แต่เมื่อพัฒนามาเป็น“superMHL” ดูเหมือนจะก้าวกระโดดจนสามารถข่มมาตรฐานที่ใช้งานกับอุปกรณ์ขนาดใหญ่กว่าอย่างโฮมเธียเตอร์ ทั้ง HDMI 2.0 และ DisplayPort 1.3 ได้เลยล่ะ…

ภาพประกอบจาก MHL LLC

จุดเด่นของคอนเน็คเตอร์เล็กๆ แต่สเป็กไม่เล็กนี้ อาทิ แบนด์วิดธ์ที่รองรับได้ถึง 8K @120Hz เลยทีเดียว เรื่องรองรับ Rec.2020 หรือระบบเสียงรอบทิศทางยุคใหม่อย่าง Dolby Atmos – DTS:X ย่อมจะทำได้สบายๆ แต่เหนือสิ่งอื่นใด คือ รองรับการประจุไฟให้กับอุปกรณ์ฯ ไปพร้อมๆ กันที่โหลดสูงถึง 40 วัตต์ (ที่ผ่านมา MHL 1 ยังรองรับแค่ 2.5 วัตต์อยู่เลย) แบบนี้คงมิได้จำกัดใช้งานประจุไฟกับสมาร์ทโฟน-แท็บเล็ตเล็กๆ แล้วกระมัง แต่จะจ่ายไฟต่อเนื่องให้กับเพลเยอร์ คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก หรือพีซีขนาดย่อมๆ ยังได้เลยถ้าจะทำ

สถานการณ์ปัจจุบัน: ยังไม่แน่ชัดว่าอุปกรณ์ที่ติดตั้ง superMHL จะวางตลาดเมื่อใด แต่ด้วยความสามารถจัดเต็มขนาดนี้ ไม่กั๊กนู่นกั๊กนี่แบบ HDMI เผลอๆ superMHL อาจจะกลายเป็นมาตรฐานเชื่อมต่อสำหรับ Ultra HD (8K) ในอนาคตแทนก็เป็นได้ ระหว่างนี้มารอดูกันว่า MHL Consortium หรือ HDMI Organization ใครจะมีกำลังภายในสูงกว่ากัน…

VII. 4K Streaming in Thailand

เป็นปกติที่ประเทศไทยที่มิใช่ผู้คิดด้นนวัตกรรมจะต้องใช้เวลาปรับตัวทีหลังประเทศต้นทาง ซึ่งในขณะที่ประเทศไทยอยู่ในระหว่างปรับเปลี่ยนมาตรฐานทีวีจากอะนาล็อกเป็นดิจิทัล ซึ่งยังไม่สมบูรณ์ การจะให้ปรับเปลี่ยนสู่ยุค 4K เต็มตัวจึงดูจะริบหรี่ยิ่งนัก

ทว่าช่วงต้นปีนี้ (2015) นับเป็นนิมิตหมายดีที่หน่วยงานภาครัฐและเอกชนของเราและประเทศญี่ปุ่นได้ร่วมมือกันจัดทดลองออกอากาศ 4K Live Streaming โดยนำภาพสดๆ จาก Sapporo Snow Festival ประเทศญี่ปุ่นมาฉายเป็นตัวอย่างให้รับชมกันที่ประเทศไทย (อ่านรายละเอียด >>คลิก<<) เหตุการณ์นี้พอจะเป็นบทพิสูจน์ได้ว่าประเทศไทยเองก็มีศักยภาพพร้อมก้าวทันเทคโนโลยีใหม่นี้พอตัวเลยทีเดียว ถึงแม้งานนี้จะยังไม่มีความชัดเจนว่า ผู้บริโภคชาวไทยจะได้รับชม 4K แบบนี้กันจริงๆ เมื่อไหร่?

สถานการณ์ปัจจุบัน: ความคืบหน้าล่าสุดจากภาคเอกชนที่เห็นจะเป็นชิ้นเป็นอันหน่อย สดร้อนๆ ก่อนเขียนต้นฉบับ ผมมีโอกาสได้พูดคุยกับคุณกษิดิศ กลศาสตร์เสนี ผู้บริหาร >>Primetime<< หนึ่งในผู้ให้บริการภาพยนตร์และซีรี่ส์ทั้งไทยเทศอย่างเป็นทางการในประเทศไทยแบบออนไลน์ (บริการคล้ายกับ Netflix ของ US นั่นเอง) โดยได้รับทราบข้อมูลมาว่า คนไทยจะมีโอกาสได้รับชมคอนเทนต์ 4K ในแบบสตรีมมิ่งจริงๆ กันแล้ว อีกไม่นานเกินรอ…

ต้องขอบคุณเทคโนโลยี Adaptive Bitrate Streaming จึงสามารถปรับขนาดการส่งข้อมูลให้สามารถใช้กับมาตรฐานแบนด์วิดธ์อินเทอร์เน็ตบ้านเรา (ที่ยังไม่เร็วนัก) ได้ ถือเป็นข่าวดีปิดท้ายสำหรับผู้ใช้งาน 4K/UHD TV ที่จะได้รับชมคอนเทนต์ 4K ให้สมกับศักยภาพของทีวีกันเสียที แม้ช่วงแรกจะโดนบีบอัดบ้างก็ถือว่าอุดช่องว่างก่อน 4K/UHD Blu-ray จะแพร่หลาย

…หากมีข่าวคราวคืบหน้าจะมาอัพเดทให้ทราบกันอีกในโอกาสถัดไปครับ…

05/2015

by ชานม

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ