07 Aug 2020
Article

ฟังเพลงไร้สายผ่าน Bluetooth อย่างไร ให้เสียงดีที่สุด และ มีอะไรบ้างที่เราควรรู้ ?


  • TopZaKo

การฟังเพลง ถือเป็นสิ่งที่สร้างความบันเทิงให้กับทุกคนได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นการสร้างความสนุกสนานในงานปาร์ตี้ เป็นเพื่อนระหว่างการเดินทาง หรือจะเป็นการฟังเพื่อพักผ่อนหย่อนใจ โดยเฉพะการฟังผ่าน Smart Phone เป็นอะไรที่นิยมมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

การฟังเพลงผ่าน Bluetooth ถือเป็นช่องทางที่ง่ายและสะดวกที่สุดเลยก็ว่าได้ เพราะ Smart Phone และเครื่องเสียงส่วนใหญ่ ที่รองรับการเชื่อมต่อแบบไร้สายก็มักจะรองรับการเชื่อมต่อ Bluetooth เป็นสิ่งแรกเลย ในเรื่องของคุณภาพเสียงก็ได้มีการพัฒนาให้ดีมากขึ้นเรื่อยๆ จากยุคแรกที่เรียกว่ามีคุณภาพเสียงในระดับพอฟังได้ จนในปัจจุบันสามารถส่งสัญญาณได้ถึงระดับ Hi-Res เลยทีเดียว ซึ่งทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลักๆ 3 อย่างได้แก่ Class, Version และ Codec โดยแต่ละส่วนคืออะไร และมีความสำคัญอย่างไร มาดูกันครับ

Class

Bluetooth ในปัจจุบันจะมีทั้งหมด 4 Class ด้วยกัน ซึ่งขึ้นอยู่กับการใช้งานเป็นหลัก โดยประกอบไปด้วย

Class 1 : ระยะการส่งสัญญาณประมาณ 100-200 เมตร

Class 2 : ระยะการส่งสัญญาณประมาณ 10 เมตร

Class 3 : ระยะการส่งสัญญาณประมาณ 1 เมตร

Class 4 : ระยะการส่งสัญญาณประมาณ 0.5 เมตร

โดยแต่ละ Class นั้นจะถูกออกแบบมาให้ใช้งานในแบบที่ต่างกัน สำหรับการฟังเพลงนั้น อุปกรณ์ส่วนใหญ่นั้นจะนิยมใช้ Class 2 เพราะ ได้ระยะที่ไกลเพียงพอต่อการใช้งาน แถมยังไม่ใช้พลังงานแบตเตอรี่มากจนเกินไป แต่ในยุคนี้อุปกรณ์ที่ใช้ Bluetooth เวอร์ชั่นใหม่ๆ (จะกล่าวถึงในส่วนถัดไป) ได้เริ่มมีการเปลี่ยนมาใช้เป็น Class 1 กันบ้างแล้ว เพราะนอกจากจะสามารถแก้ไขเรื่องปัญหาแบตเตอรี่ได้แล้ว ยังช่วยอัพเกรดเรื่องคุณภาพของสัญญาณให้ดีมากขึ้นอีกด้วย

Version

เวอร์ชั่นของ Bluetooth นั้นมีหลากหลายเวอร์ชั่นมากมายตั้งแต่ 1.0, 2.0, 3.0, 4.0, …. มาเรื่อยๆ โดยในส่วนของอุปกรณ์ทางด้านการฟังเพลงส่วนใหญ่จะนิยมใช้เป็นเวอร์ชั่น 4.2 และ 5.0 ที่เป็น 2 เวอร์ชั่นใหม่ล่าสุดในปัจจุบัน 

ซึ่ง Bluetooth เวอร์ชั่น 4.2 นั้นจะมีความเร็วเฉลี่ยในการส่งข้อมูลอยู่ที่ประมาณ 1 Mbps, ส่งข้อมูลต่อครั้งได้ที่ 31 bytes, สามารถส่งสัญญาณได้ไกลสูงสุด 50 เมตร ภายนอกอาคาร และ ระยะ 10 เมตร ภายในอาคาร

Bluetooth เวอร์ชั่น 5.0 จะมีความเร็วเฉลี่ยในการส่งข้อมูลอยู่ที่ประมาณ 2 Mbps, ส่งข้อมูลต่อครั้งได้ที่ 255 bytes, สามารถส่งสัญญาณได้ไกลสูงสุด 200 เมตรภายนอกอาคาร และ 50 เมตรภายในอาคาร

ซึ่งหากเราดูที่สเปคของทั้ง 2 เวอร์ชั่นนี้ จะเห็นว่า Bluetooth ในเวอร์ชั่น 5.0 ล่าสุดนั้นจะมีความสามารถที่เหนือกว่า Bluetooth ในเวอร์ชั่น 4.2 แต่ในความเป็นจริงหากใช้งานในการฟังเพลงแบบปกติทั่วไปสเปคของ Bluetooth เวอร์ชั่น 4.2 ก็เพียงพอต่อการใช้งานทั่วไปแล้วนั่นเอง

ส่วนใครที่มีคำถามว่าแล้วหากเครื่องรับกับเครื่องส่งสัญญาณเป็น Bluetooth คนละเวอร์ชั่นกันหละ สามารถใช้งานร่วมกันได้ไหม คำตอบคือ “ใช้ได้” ครับ เช่น Smart Phone ของเราเป็น Bluetooth 5.0 แต่เครื่องเสียงของเราเป็น Bluetooth 4.2 ก็สามารถใช้งานร่วมกันได้อย่างไม่มีปัญหา เพียงแต่คุณสมบัติบางอย่างที่มีเฉพาะใน 5.0 จะไม่สามารถใช้งานได้

Codec

นอกจาก Class กับ Version ของ Bluetooth อีกหนึ่งตัวแปรสำคัญที่ส่งผลต่อคุณภาพเสียงโดยตรง นั่นคือการเข้ารหัส หรือ การบีบอัดสัญญาณเสียง ที่เรียกว่า Codec นั่นเอง ซึ่งอุปกรณต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ต้นทางอย่าง Smart Phone หรือ อปุกรณ์ปลายทางอย่าง เครื่องเสียง ลำโพง Soundbar หรือ หูฟังต่างๆ จะมีการเข้ารหัส Codec แบบไหนบ้าง มาดูกันครับ

SBC หรือ Low Complexity Subband Coding

เป็นการเข้ารหัสแบบพื้นฐานที่อุปกรณ์ Bluetooth ทุกอย่างต้องสามารถถอดรหัสเสียงนี้ได้ โดยรองรับการส่งเสียงแบบ 16 bit/44.1khz มีค่า Bitrate อยู่ที่ประมาณ 192-320 kbps ระดับ MP3 หรือที่เรียกว่า Lossy คุณภาพเสียงที่ได้จากการเข้ารหัสชนิดนี้ เรียกว่าอยู่ในระดับมาตรฐาน เพียงพอต่อการรับฟังทั่วไปได้เป็นอย่างดี

AAC หรือ Advance Audio Coding

เป็นการเข้ารหัสที่ถูกคิดค้นและพัฒนาโดย Apple ซึ่งได้กลายมาเป็นมาตรฐานด้านเสียงในอุปกรณ์อย่าง iPhone หรือ iPad ไปโดยปริยาย มี Bitrate อยู่ที่ 192 – 256 kbps หรือที่เรียกว่า Lossy ซึ่งมองโดยรวมค่าสูงสุดอาจน้อยกว่าแบบ SBC อยู่ซักเล็กน้อย แต่เรื่องคุณภาพเสียงที่ได้ ใครที่ได้ฟังต่างบอกว่าการเข้ารหัสแบบ AAC ให้เสียงดีกว่าการเข้ารหัสแบบ SBC อย่างเห็นได้ชัด เทียบเคียงระดับ CD Quality เลยก็ว่าได้

aptX

เป็นการเข้ารหัสเสียงที่ถูกคิดค้นและพัฒนาโดย Qualcomm เพื่อใช้งานร่วมกับชิปของตนโดยเฉพาะ ซึ่งชิปของ Qualcomm ก็จะพบได้บนมือ Android ส่วนใหญ่ โดยการเข้ารหัสแบบนี้ได้พัฒนาให้มีค่า Latency ในการส่งสัญญาณที่ต่ำ สามารถลดอาการดีเลย์ระหว่างอุปกรณ์ต้นทางกับปลายทางได้เป็นอย่างดี รองรับการส่งเสียงแบบ 16 bit/44.1khz LPCM เป็นเสียงที่ไม่มีการบีบอัดสัญญาณเสียง หรือที่เรียกกันว่า Lossless มีค่า Bitrate สูงสุดอยู่ที่ 352 kbps หรือเรียกว่าคุณภาพเสียงระดับ CD Quality

aptX HD

aptX HD เป็นการเข้ารหัสสัญญาณเสียงที่ต่อยอดมาจาก aptX ปกติ โดยในเวอร์ชั่นนี้ได้ถูกพัฒนาให้รองรับการส่งเสียงได้ถึงแบบ 24 bit / 48 kHz LPCM เป็นเสียงที่ไม่มีการบีบอัดสัญญาณเสียง หรือที่เรียกกันว่า Lossless เช่นกัน มีค่า Bitrate สูงสุดอยู่ที่ 576 kbps หรือเรียกว่าได้ถึงระดับ Hi-Res เลย

LDAC

เป็นการเข้ารหัสสัญญาณเสียงที่คิดค้นโดย Sony ซึ่งก็แน่นอนหละว่ามีเฉพาะบนอุปกรณ์จาก Sony เท่านั้น โดยรองรับการส่งเสียงได้ถึงแบบ 24 bit / 96 kHz มีค่า Bitrate สูงสุดอยู่ที่ 990 kbps หรือเรียกว่า Hi-Res แบบขั้นสูงเลยนั่นเอง

HWA หรือ Hi-Res Wireless Audio

เป็นเทคโนโลยีที่คิดค้นโดย Huawei ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณผ่าน Bluetooth แบบคุณภาพสูง ผ่านระบบตัวแปลงสัญญาณ LHDC ( Low latency and High-Definition audio Codec) ซึ่งตามข้อมูลบอกว่า มีคุณภาพเสียงที่ดีกว่า aptX HD กับ LDAC อีกด้วย โดยสามารถส่งเสียงได้ถึง 24-bit/96 kHz รองรับ Bitrate ได้หลายระดับ ที่ 400/560/900 kbps

สรุป

ทั้งหมดนี้ก็คือเกร็ดความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีการฟังเพลงไร้สายอย่าง Bluetooth หากใครที่ไม่ได้ซีเรียสเรื่องคุณภาพเสียงมากนัก อุปกรณ์ทั้งหลายในยุคนี้ไม่ว่าจะเป็น Smart Phone เครื่องเสียง รวมถึงลำโพงต่างๆ ก็รองรับ Bluetooth เวอร์ชั่นใหม่ๆ อย่าง 4.2 และ 5.0 เรียบร้อยแล้ว ซึ่งสามารถให้คุณภาพเสียงในระดับที่ดี เพียงพอต่อการรับฟังในแบบทั่วไปได้เป็นอย่างดี

แต่ถ้าหากคุณเป็นคนที่ซีเรียสเรื่องคุณภาพเสียงขึ้นมาอีกหน่อย ก็แนะนำให้มองดูว่าเพลงที่เราฟังหลักๆ เป็นไฟล์คุณภาพระดับไหน ถ้าหากฟังจากแอปสตรีมมิ่งทั่วไป เช่น Apple Music, Spotify หรือไฟล์เพลงในแบบที่ไม่เกินระดับ CD Quality ก็แนะนำให้หาอุปกรณ์รุ่นที่รองรับการส่งสัญญาณอย่าง AAC หรือ aptX ก็ถือว่าเพียงพอแล้ว

ส่วนใครที่เป็นนักเล่นนักฟังที่แท้จริง นิยมการฟังเพลงระดับ Hi-Res หรือต่ำสุดที่ระดับ CD Quality ก็แนะนำให้หาอุปกรณ์ที่รองรับการเข้าสัญญาณเสียงอย่าง aptX HD, LDAC หรือ HWA ตามความต้องการและถนัดต่อการใช้งานได้เลยครับ

สุดท้ายนี้หากเราซีเรียสเรื่องคุณภาพเสียงหรืออุปกรณ์ต่างๆ มากเกินไป แทนที่การฟังเพลงจะเป็นสิ่งที่ช่วยผ่อนคลายความเครียดอาจกลายเป็นสิ่งที่สร้างความเครียดแทนก็เป็นได้ สุดท้ายนี้ขอให้คนมีความสุขกับการฟังเพลงที่ชอบบนเครื่องเสียงเครื่องโปรดของแต่ละคนนะครับ

บทความโดย TopZako อัพเดท 4 พฤษภาคม 2563

ที่มา และ ขอขอบคุณ : mercular.com / holysai.com / bacidea.com / jaben.co.th_1 และ jaben.co.th_2