03 Apr 2016
Article

FLAC, WAV, MP3 ? เลือกให้เป็น เล่นให้เซียน กับสื่อเพลงยุคดิจิตอล


  • boom

แม้ว่าตอนนี้กระแสแผ่นไวนิลกำลังมาแรงในบรรดานักเล่นเครื่องเสียงบ้านเรา แต่ถ้าพูดถึงเรื่องความสะดวกสบายแล้ว คนส่วนใหญ่ยังคงเลือกที่จะพึ่งพาไฟล์เพลงแบบดิจิตอลกันอยู่ ซึ่งตอนนี้เราก็ก้าวเข้ามาสู่ยุค Hi-Res Audio อย่างเต็มตัว แน่นอนว่ามือใหม่หลายๆ ท่านที่เพิ่งจะเทิร์นโปรก็คงจะงงงวยกับรูปแบบไฟล์หลายประเภท ดังนั้นในวันนี้เราจึงจะมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับไฟล์เพลงในระบบดิจิตอล ว่ามีกี่ประเภท และแบบไหนที่เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของคุณ

ไฟล์เพลง = การเข้ารหัสเสียง(encoding)

ไฟล์เพลงคือการเข้ารหัสเสียงหรือพูดง่ายๆ คือการจับเสียงเครื่องดนตรีมัดกับเสียงนักร้องให้ออกมาในรูปแบบที่ต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็น WAV, MP3, FLAC ทั้งหมดนี้ถือเป็นการเข้ารหัสเสียงหมด โดยการเข้ารหัสนี้ก็จะแบ่งออกเป็นสองส่วน คือแบบที่ไม่มีการบีบอัด(WAV, AIFF, PCM, แผ่น Vinyl, แผ่น CD, ฯลฯ) และแบบที่มีการบีบอัด(FLAC, MP3, ฯลฯ)

คราวนี้ การบีบอัดมันก็มีด้วยกันสองวิธีนั่นก็คือ บีบแบบไม่เสียข้อมูลเราเรียกว่า Lossless บีบแบบสูญเสียข้อมูลจะเรียกว่า Lossy ข้อดีข้อเสียก็ตามลักษณะเลยครับ นั่นจึงทำให้ Lossless มีขนาดใหญ่กว่าและมีคุณสมบัติในการทำแปลงย้อนกลับได้ ไม่เหมือนกับ Lossy ที่มีการตัดข้อมูลทิ้งไป ทว่าข้อมูลที่เสียไปของ Lossy ก็คือส่วนที่ตัวคอมพิวเตอร์คิดว่าไม่จำเป็นต่อผลลัพธ์ หรือพูดง่ายๆ ว่าเป็นคลื่นความถี่ที่หูมนุษย์ไม่ได้ยินนั่นเอง

ตัวอย่างไฟล์เสียงแบบ Losslessตัวอย่างไฟล์เสียงแบบ Lossy
1. FLAC
2. WavPack
3. Monkey”s Audio
4. ALAC
1. MP3
2. WMA
3. AAC
4. M4A

ส่วน พวก Hi-Res Audio ที่เค้าพูดถึงกัน นั่นก็คือไฟล์แบบ Lossless ที่มีความละเอียดสูง โดยอาจเริ่มตั้งแต่ 24-bit/96 kHz เป็นต้นไป ซึ่งขนาดไฟล์ก็จะใหญ่โตแปรผันตามความละเอียดกันไป ส่วนเรื่องขนาดเรามาดูด้านล่างเลยครับ

เปรียบเทียบขนาดไฟล์ในรูปแบบต่างๆ เริ่มจากบนสุดใหญ่สุด WAV (Hi-Res Audio)
รองลงมาคือ FLAC (Hi-Res Audio) ที่ความละเอียดเท่ากัน, 
ไฟล์ MP3 ที่ขนาด 320kbps และ 130kbps ตามลำดับ
ทั้งหมดนี้ใช้วิธีการแปลงผ่าน codec ที่ติดตั้งบนโปรแกรม foobar2000 โดยมีไฟล์ FLAC เป็นต้นฉบับ

ในรูปด้านบนจะเห็นว่าไฟล์ WAV ดูจะสามารถเก็บความละเอียดได้เยอะสุดเพราะขนาดใหญ่สุด แต่จริงๆ แล้วพอมาฟังอาจจะไม่ต่างกับ FLAC เลยก็ได้นั่นก็เพราะว่า FLAC มีคุณสมบัติคล้ายกับไฟล์ .ZIP นั่นเอง ถ้าจะให้อธิบายต่อว่าทำไมก็ดูท่าจะยาว รู้แค่คร่าวๆ ว่าคนชอบ WAV เพราะเล่นง่ายข้อมูลแน่นกว่าและเป็นมาตรฐานการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เกิดขึ้นมาก่อน ส่วนคนชอบ FLAC เพราะใส่ปกใส่ข้อมูลศิลปินได้ ขนาดกระทัดรัดกว่า เทคโนโลยีใหม่กว่า แค่นี้ก็พอแล้วครับ

เรื่องการเลือกใช้งาน ก็ต้องดูกันตามความเหมาะสมเป็นหลัก เช่น ถ้าคุณมีเครื่องเสียงบ้านราคาหลายหมื่น ก็อยากให้เลือกใช้ไฟล์แบบ Lossless ความละเอียดสูงหน่อย เพราะไม่ต้องมากังวลเรื่องขนาดความจุและแบตเตอรี่ของเครื่องเล่น ยังไงก็เสียบไฟได้ทุกเมื่ออยู่แล้ว

แต่ถ้าเกิดระหว่างนั่งฟังอยู่นั้น เจ้านายดั๊นนโทรตามให้มาแก้งานที่ออฟฟิศ สิ่งที่คว้ามาได้คือสมาร์ทโฟนและหูฟังคู่ใจ รูปแบบไฟล์ก็ควรจะต้องเปลี่ยนเป็นแบบ Lossy ที่ขนาดเล็ก เล่นง่าย ไม่เปลืองแบตเตอรี่และพื้นที่จัดเก็บ ทำให้คุณสามารถฟังเพลงได้ต่อเนื่องยาวนาน

ทว่าในปัจจุบันนั้น เรามีพวกเครื่องเล่นไฟล์ดิจิตอลแบบพกพาออกมาวางจำหน่ายหลายแบรนด์มาก โดยเครื่องพวกนี้ก็มีสเปคที่เหมาะสมในการอ่านไฟล์แบบ Lossless แบบที่ไม่เป็นภาระของแบตเตอรี่มากนัก และสามารถเพิ่มพื้นที่ด้วย micro SD Card ทำให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงการฟังเพลงแบบเต็มอารมณ์ได้ทุกเมื่อ จะพกเพลงขนาดใหญ่ยักษ์ติดตัวไปไหนมาไหนก็ไม่เดือดร้อนเท่าไร เป็นแนวทางการฟังเพลงอีกแขนงที่ฮิตไม่แพ้แผ่นไวนิลกันเลยทีเดียว

Acoustic Research AR-M2 เป็น Digital Media Player แบบไฮเอ็นด์ที่รองรับการอ่านไฟล์ Studio Master
ได้สบายๆ หลายชั่วโมง พร้อมมี DAC และแอมป์ชั้นเยี่ยมภายในตัว จึงให้ผลลัพธ์ไม่ต่างจากการฟังผ่านเครื่องเสียงชุดใหญ่
ปัจจุบันวัฒนธรรม Hi-Res Audio ได้มาจุติยังวงการเครื่องเสียงรถยนต์เรียบร้อยแล้ว
ด้านบนคือ RSX-GS9 รีซีฟเวอร์ขนาด 1 din สำหรับรถยนต์
ก็ถือว่าเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจในการเสพย์ดนตรีที่ไม่ควรพลาด

คราวนี้ มีใครเคยได้เจอดราม่าเกี่ยวกับไฟล์ พวกนี้ไหมครับ อารมณ์ประมาณว่า “เฮ้ย! ตูฟัง Lossy ก็ไม่เห็นจะต่างกับ Lossless เลย หูเอ็งมันหลอนหรือเปล่าวะ” ตรงนี้ก็ต้องบอกไว้ก่อนว่าไม่ใช่เรื่องแปลกที่บางคนไม่สามารถแยกแยะความแตกต่างได้ เพราะรูปแบบการบีบอัดแบบ Lossy จะใช้เทคนิคการตัดเสียงในช่วงความถี่ที่หูมนุษย์ไม่ได้ยินออกไป แล้วหูคนเราก็ไม่ได้เหมือนกันไปซะทุกอย่าง จึงเป็นเรื่องปกติที่บางคนอาจจะพอใจแล้วกับไฟล์แบบ Lossy นั่นก็เพราะเค้าไม่สามารถสัมผัสได้ถึงความแตกต่างกับไฟล์ Lossless นั่นเอง

สรุปง่ายๆ เรื่องไฟล์เพลง

– ฟังอยู่บ้าน เครื่องเสียงเซ็ตใหญ่ > แนะนำ Lossless หรือถ้าเป็นไปได้ก็ระดับ Hi-Res Audio ไปเลย

– ฟังนอกบ้านบนสมาร์ทโฟนที่แบตเตอรี่ไม่เยอะ > แนะนำ Lossy

– ฟังนอกบ้าน แต่เพลเยอร์และหูฟังพร้อม > แนะนำ Lossless ก็ได้ เล่นแล้วได้ประสิทธิภาพเต็มๆ

ขอขอบคุณรูปประกอบจาก

– http://geekfolk.blogspot.com/2015/07/acoustic-research-ar-m2.html

– http://www.djmastercourse.com/essential-music-file-formats-everything-dj-needs-know/