16 Mar 2016
Article

เลือกซื้อ TV หรือ Projector อย่างไหนดีกว่ากัน ?


  • lcdtvthailand

คำถามโลกแตก ! เมื่อหลายท่านคิดจะซื้อระบบภาพสำหรับดูหนังและรายการโปรด ระหว่าง ทีวี หรือ โปรเจกเตอร์ ควรซื้ออะไรจะดีกว่ากัน ? ต้องบอกว่าทั้ง 2 อย่างมีข้อดีและข้อจำกัดแตกต่างกันออกไป วันนี้ผมจะพาทุกท่านมาลงรายละเอียดของทั้ง 2 อุปกรณ์ เพื่อเป็นข้อมูลในการตัดสินใจเลือกซื้อให้เหมาะกับการใช้งานของท่านมากที่สุดครับ

ข้อดีของ TV ที่ทำได้ดีกว่า Projector

1. มีความยืดหยุ่นสูงกว่า (Flexibility) : การติดตั้งทีวี คือสิ่งที่ “อีซี่ที่สุด” เพียง 1) ยกวาง 2) เสียบปลั๊กและเสียบสาย  3) ดูได้เลย ! ต่างจากโปรเจกเตอร์ที่ต้องมีจอรับภาพใช้คู่กันเสมอ แถมยังต้องติดตั้งไม่ว่าจะเป็นแขวนฝ้าเพดานหรือตั้งโต๊ะให้ถูกตำแหน่ง รวมถึงต้องคำนวนณระยะฉายที่ไกลพอเพื่อให้ได้ขนาดภาพที่ใหญ่ตามต้องการ รวมถึงเซ็ตอัพเช่นการปรับตำแหน่งสูงต่ำ ปรับ Keystone เพื่อให้ภาพที่ฉายออกมาพอดีกับจอรับภาพ

2. สู้แสงได้ดีกว่า (Brightness) : เพราะทีวีมีระดับความสว่างมากกกว่าโปรเจกเตอร์ ไม่ว่าจะดูเวลากลางวัน-กลางคืน หรือห้องคุมแสงไม่ค่อยได้ ทีวีก็ยังสามารถแสดงภาพได้สดสว่างอยู่ ฉะนั้นการรับชมก็ไม่จำเป็นต้องนั่งอุดอู้อยู่ในห้องโฮมเธียเตอร์แล้วปิดไฟให้มืดสนิทเพียงอย่างเดียว ท่านสามารถดูทีวีได้ทั้งในห้องนั่งเล่น ห้องนอน ห้องครัว หรือแม้กระทั่งแขวนไว้เป็นจอดิสเพลย์ในโรงอาหารดูกันหลายๆคนก็ยังได้ ความสว่างสูงสุดของ LED TV เฉลี่ย = 100 ฟุตแลมเบิร์ต VS Projector วัดจากจอรับภาพ = 30 ฟุตแลมเบิร์ต โดยฟุตแลมเบิร์ตหรือ fL เป็นหน่วยวัดความสว่างที่ใช้อ้างอิงในวงการจอภาพ

3. แสดงภาพ HDR ได้เจิดจรัสกว่า (HDR): เนื่องจากมีระดับความสว่างที่สูงกว่า ในการแสดงผล “จุดไฮไลท์” ของภาพ HDR : High Dynamic Range นั้นมักทำได้เจิดจรัสกว่า เช่น สีสันอันสดวาวจากพวกลำแสงต่างๆ ในขณะที่ Projector ส่วนใหญ่ยังไม่สามารถทำได้เทียบเท่า คือดูภาพ HDR VS SDR ยังเห็นผลต่างน้อย หากจะให้เห็นต่างจริงต้องพวก Laser Projector ความสว่างสูงโร่. (..แต่ราคาสูงลิบ) ถึงจะมีศักยภาพในการขับภาพ HDR ให้สว่างพุ่งทะยานจนรู้สึกเห็นต่าง แถมการรองรับมาตรฐาน HDR ของทีวีก็ยังดูหลากาหลายกว่า เช่น HDR10, HDR10+ และ Dolby Vision ณ โมเมนต์นี้ “ทีวี” ก็ยังคงแสดงภาพ HDR ได้เร้าใจกว่าโปรเจกเตอร์

4. อายุการใช้งานยาวนานกว่า (Lifetime) : LCD TV ในอดีตมีอายุการใช้งานเฉลี่ย 60,000 ชั่วโมง, LED TV ยุคปัจจุบันที่ใช้หลอด LED กำเนิดแสงแทนหลอด CCFL ก็จะอยู่ที่ประมาณ 30,000 ชั่วโมง, ส่วน OLED TV ทีวีแห่งอนาคต ตามข้อมูลที่ผู้ผลิตให้มาก็จะอยู่ที่ 20,000 ชั่วโมงขึ้นไป สุดท้ายแต่ไม่ท้ายสุด  Plasma TV ขวัญใจนักดูหนังจะมีอายุการใช้งานยาวนานถึง 100,000 ชั่วโมง ในขณะที่โปรเจกเตอร์ส่วนใหญ่หากเป็นหลอดฉาย อายุก็จะอยู่ที่ประมาณ 2,000 – 7,000 ชั่วโมงเท่านั้น หากหลอดหมดอายุแล้วก็ต้องเสียเงินเปลี่ยนหลอดฉายใหม่ แต่ถ้าเป็นโปรเจกเตอร์ที่ใช้หลอด LED เป็นตัวกำเนิดแสง อายุการใช้งานก็จะยืนยาวกว่าก็อยูที่ประมาณ 10,000 – 20,000 ชั่วโมง ส่วนโปรเจกเตอร์สุดล้ำอย่าง Laser Projector อายุการใช้งานสูงสุดในโหมดประหยัดพลังงานจะอยู่ที่ 30,000 ชั่วโมง กระนั้นค่าตัวก็จะสูงลิ่วขึ้นตามอยู่ที่ 2-3 แสนบาท จึงบอกได้ว่าโดยเฉลี่ยแล้วทีวีมีอายุการใช้งานมากกว่าโปรเจกเตอร์นั่นเอง

*** ระดับความดำ** (Black Level) : หากพูดถึงระดับความดำสนิท OLED TV คือทีวีชนิดใหม่ที่สามารถให้ระดับความดำได้ดีที่สุด ถึงขั้นมิเตอร์วัดแสง “ไม่สามารถวัดระดับความสว่าง” จากเม็ดพิกเซลได้เลยเมื่อภาพเป็นสีดำ จึงบอกได้ว่าดำสนิท 100% ของจริง ส่วน LED TV ไม่ว่าจะเป็น Edge LED หรือ Full LED ก็ยังคงมีแสงเล็ดลอดออกมาอยู่บ้าง แต่ปัจจุบันด้วยเทคโนโลยี Local Dimming ในการควบคุม LED Backlight ก็ช่วยให้ได้ระดับความดำจาก LED TV ที่น่าพอใจ

ในขณะที่การควบคุมแหล่งกำเนิดแสงของโปรเจกเตอร์เพื่อควบคุมสีดำจะทำได้ยากกว่า เพราะไม่สามารถปิดบังแสงเป็นจุดๆ เหมือนทีวีได้ แต่ด้วยความมืดของห้องบวกกับจอรับภาพลักษณะพิเศษแบบ High Contrast ก็ช่วยเสริมให้พื้นที่ส่วนที่ดำดูดำสมจริงขึ้น พร้อมกับช่วยตัดแสงรบกวน (Ambient-light Rejecting Screen) เช่นจอ DNP Super Nova และ Screen Innovation : Black Diamond ซึ่งจะช่วยบรรเทาข้อจำกัดเดิม แต่ก็ยังทำได้ไม่โดดเด่นเท่า OLED TV หรือ LED TV ที่ทำ Local Dimming ได้

ส่วนเรื่อง Uniformity หรือความสม่ำเสมอของระดับความดำ/สว่าง สำหรับโปรเจกเตอร์จะให้ผลลัพธ์ที่หลากหลาย เพราะขึ้นกับลักษณะของแหล่งกำเนิดแสง โครงสร้างชิ้นเลนส์ ไปจนถึงคุณสมบัติของจอรับภาพที่ใช้งานร่วมด้วย ซึ่งถ้าควบคุมปัจจัยเหล่านี้ได้ ประสิทธิภาพเชิงนี้ของโปรเจกเตอร์อาจจะเหนือกว่า LED TV ที่อาจเจออาการแสงรั่วเป็นหย่อมๆ จากข้อจำกัดในการวางหลอดไฟ LED เป็นโซน

ข้อดีของ Projector ที่ทำได้ดีกว่า TV

1. บรรยากาศเสมือนโรงภาพยนตร์ (Cinematic Experience) : แน่นอนว่าโรงภาพยนตร์ใช้จอทีวีฉายหนังให้เราดูซะเมื่อไหร่ ทว่าก็เป็นโปรเจกเตอร์ความละเอียด 4K ต่างหากที่อยู่ตามโรงภาพยนตร์บ้านเรา (และทั่วโลก) ฉะนั้นหากอยากให้ระบบที่บ้านเป็น Home Theater อย่างแท้จริง ก็ต้องโปรเจกเตอร์เท่านั้น ท่านจะได้บรรยากาศรวมถึงโทนแสงสีที่ใกล้เคียงกับโรงภาพยนตร์มากที่สุด คือ “ฟีลลิ่งมันใช่”เป็นการจำลองทุกอุปกรณ์มาจากโรงหนังเลย ทั้งเครื่องฉาย, จอรับภาพ และยังรวมถึงบรรยากาศที่มืดสนิทที่ช่วยส่งเสริมให้ภาพนั้นโดดเด่นที่สุด ส่วนทีวีด้วยขนาดหน้าจอที่ใหญ่ได้อย่างจำกัดและระดับแสงสีที่มีความเป็นดิจิตอลไปซักนิด จึงเหมาะกับดูภายในครัวเรือนมากกว่า ซึ่งเหตุผลข้อนี้เป็นข้อที่สำคัญที่สุดในการเลือกโปรเจกเตอร์เหนือทีวี

2. ภาพเคลื่อนไหว (Motion) : ข้อดีของโปรเจกเตอร์แทบทุกรุ่นที่ทีมงานเคยทดสอบคือภาพเคลื่อนไหวจะลื่นไหลเป็นธรรมชาติตั้งแต่ต้น อาการพวกโกสท์หรือภาพกระตุกมีน้อยมาก ยิ่งพวกความละเอียดไม่สูงนักเช่น Full HD หรือต่ำกว่านั้นซึ่งจะไม่ต้องถูกประมวลผลแบบหนักหน่วงมากนัก ก็มักจะสามารถแสดงภาพเคลื่อนไหวได้ดีเกินหน้าเกินตาทีวีเป็นเท่าตัว ต่างจากทีวีที่หากเป็นร่นเริ่มต้นไปจนถึงรุ่นกลาง ภาพเคลื่อนไหวมักอยู่ในเกณฑ์แค่ “พอรับได้” เท่านั้น บางรุ่นนี่จำเป็นต้องเปิดฟีเจอร์โมชั่นแทรกเฟรมภาพเข้าช่วยพยุงภาพเคลื่อนไหวด้วยซ้ำ ส่วนทีวีรุ่นท็อปๆภาพเคลื่อนไหวก็ถือว่าดีขึ้นมาจากรุ่นเริ่มต้นและรุ่นกลางสเต็ปหนึ่ง แต่ถึงยังไงก็ยังสู้โปรเจกเตอร์ไม่ได้อยู่ดี (สู้ Plasma TV ไม่ได้ด้วย)

3. ถนอมสายตา (Eyes Friendly) ด้วยระดับความสว่างสูงสุดของเครื่องโปรเจกเตอร์ โดยเฉพาะ Home Cinema Projector ซึ่งมักอยู่ที่ประมาณ 700 – 3000 Ansi Lumens ถือว่าเป็นระดับที่เพียงพอกำลังดีต่อการรับชมในห้องที่มืดสนิท รวมถึงหลักการทางกายภาพที่เครื่องฉายจะฉายแสงไปยังจอรับภาพ ทำให้เราเห็นภาพจากจอรับภาพเป็นต่อที่สอง (Indirect View) ต่างจากจอทีวีที่แสดงภาพโดยใช้หลอดไฟยิงเข้าหาผู้รับชมโดยตรง เราจึงเห็นภาพเป็นต่อแรก (Direct View) ซึ่งการการยิงแสงเพื่อแสดงภาพโดยตรงเข้าหาเราอย่างโจ๋งครึ่มนี่แหละเป็นสาเหตุของอาการเมื่อยล้าทางสายตา พนันได้ว่าเคยเกิดขึ้นกับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นการดู LED TV นานเกินไปจนแสบตา จ้องจอ LED / LCD Monitor ของจอ Notebook หรือแม้กระทั่งโทรศัพท์มือถือไปนานๆก็จะรู้สึกปวดตา ฉะนั้นทางแก้สำหรับทีวีคือการปรับระดับความสว่าง Backlight ลงให้เหมาะสม ส่วนโปรเจกเตอร์ซึ่งมักให้ค่าระดับความสว่างค่อนข้างเหมาะสมกับห้องมืดสนิทอยู่แล้แต่ต้น หากคิดว่าสว่างไปในห้องมืดที่มืดสนิทให้ลองใช้โหมดภาพอย่างโหมดภาพยนตร์ Movie, Cinema หรือเปิดโหมดประหยัดพลังงานอย่าง Eco เข้าช่วยเพื่อลดความสว่างลง

4. จอใหญ่ราคาเบาๆ (Big Screen at Affordable Price) : หากเราอยากรับชมภาพซัก 100″ ระดับนี้หากซื้อทีวีคงต้องเตรียมงบไว้ซัก 1 ล้านบาท หรือแม้กระทั่งจอทีวีขนาดใหญ่อย่าง 80″-85″ ท่านก็ต้องมีงบ 2-5 แสนบาทเป็นอย่างน้อย ในขณะที่เครื่องโปรเจกเตอร์ความละเอียด Full HD คุณภาพดีระดับราคาประมาณ 30,000-70,000 บาทเท่านั้น (ตุณภาพแปรผันตามราคา) จอรับภาพคุณภาพดีราคาประหยัด เช่นยี่ห้อ Vertex ขนาดซัก 80″- 90″- 100″ ราคาก็แค่ประมาณ 10,000 บาท +-  สรุปได้ว่าเล่นโปรเจกเตอร์ = ได้จอใหญ่ เต็มตา เต็มอารมณ์ ในราคาที่ประหยัดกว่ากันเยอะ

ในปัจจุบันมีโปรเจกเตอร์ที่สามารถฉายในระยะใกล้ แต่ยังได้ขนาดภาพที่ใหญ่อยู่ เรียกว่า Short Throw Projector
แถมระดับความสว่างยังค่อนข้างสูงเพียงพอกับการฉายในห้องที่สลัวๆ ไ่ม่จำเป็นต้องมืดสนิท 100%

สรุป

1) ทีวี = เหมาะกับการรับชมภายในครัวเรือน อาทิห้องนั่งเล่น ห้องรับแขก ห้องนอน ไม่จำเป็นต้องคุมแสงและสภาพแวดล้อมมากนัก มีความยืดหยุ่นในการใช้งานสูงมาก

2) โปรเจกเตอร์ = เหมาะกับท่านที่ต้องการรับชมภาพยนตร์แบบจริงจัง ได้ฟีลลี่งแบบโรงหนังจริง จอใหญ่ในงบไม่เกินเลย อรรถรสย่อมใหญ่ขึ้นตามขนาดของจอ ต้องมีห้องที่คุมแสงได้ และขนาดห้องที่ใหญ่เพียงพอสำหรับจอรับภาพและระยะฉาย

ข้อสรุปจากประสบการณ์ของทีมงานคือทั้งทีวีและโปรเจกเตอร์มีข้อดีและข้อจำกัดทั้งคู่ ไม่มีอย่างไหนดีกว่ากัน……มีแต่อย่างไหนเหมาะสมกับท่านมากกว่ากัน ! จงใช้ข้อมูลข้างต้นประกอบการตัดสินใจในการเลือกซื้ออุปกรณ์ 2 สิ่งนี้ให้เหมาะสมกับ 1) จุดประสงค์การใช้งาน 2 ) สถานที่รับชม และ 3) งบประมาณ ของท่านมากที่สุด เพื่อที่จะบรรลุ “ปลายทาง” ของการรับชมภาพซึ่งก็คือ “ความสุข” ในการเสพคอนเทนต์ที่ท่านชื่นชอบนั่นเอง

เช็คสเป็คและราคา TV = http://www.lcdtvthailand.com/spec.phpเช็คสเป็คและราคา Projector = http://www.lcdtvthailand.com/spec_projector.php

[กดไลค์] ติดตามเฟสบุ๊คแฟนเพจของนายโรมัน : https://www.facebook.com/Roman.Veerakiat/