10 Apr 2020
Review

รีวิว BenQ W1700M คุณภาพโดดเด่นแบบ โฮมเธียเตอร์โปรเจคเตอร์ ในราคาเบาๆ !!


  • ชานม

ช่องต่อ

จำนวนช่องต่อรับสัญญาณของ W1700M ยังคงเดิมเหมือนกับรุ่น W1700 โดยในส่วนของ HDMI Input ให้มา 2 ช่อง

HDMI In 1 เป็น Version 2.0 (with HDCP 2.2) รองรับสัญญาณภาพความละเอียดสูงสุดที่ 4K/60Hz พร้อม HDR แนะนำให้เชื่อมต่อ 4K HDR Blu-ray Player หรือ 4K HDR PC/Game Console ที่ช่องนี้

ส่วน HDMI In 2 เป็น Version 1.4 (with HDCP 1.4) รองรับสัญญาณภาพความละเอียดสูงสุดที่ 4K/30Hz หรือ 1080p/60Hz

ช่องรับสัญญาณภาพลำดับถัดมา คือ VGA (PC) In เผื่อว่าจำเป็นต้องใช้เชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์รุ่นเก่าๆ รองรับความละเอียดสูงสุด 1920 x 1200 @60Hz สามารถรับและส่งสัญญาณเสียงอะนาล็อกทางช่อง Audio In/Out แบบ 3.5 mm ได้ด้วย

และยังมี USB, DC 12V Trigger และ RS232 สำหรับการเชื่อมต่อหลากหลาย รองรับระบบ Home Automation

ช่องต่อ USB ที่ W1700M มีมาให้นั้น เอาไว้จ่ายกระแสไฟ DC 5V สำหรับใช้งานร่วมกับอุปกรณ์เสริม Wireless HDMI Dongle หรือ Google Chromecast นั่นเอง

เพิ่มเติม

W1700M มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเลนส์เล็กน้อย ช่วงซูมแคบลงจาก 1.2x เป็น 1.1x ส่งผลให้ระยะฉายเปลี่ยนแปลงไป เช่น หากต้องการฉายกับจอรับภาพขนาด 100 นิ้ว เดิม W1700 จะมีระยะตั้งวางอยู่ที่ 3.25 – 3.89 ม. ในขณะที่ระยะของ W1700M อยู่ที่ 3.32 – 3.65 ม. ความยืดหยุ่นในการติดตั้งอาจจะทอนลงบ้าง แต่ประเด็นนี้คงไม่ส่งผลกับการใช้งานในห้องที่วางแผนติดตั้งโปรเจคเตอร์รุ่นนี้ไว้แต่แรก
รุ่น W1700M เพิ่มตัวเลือก LampSave ในหัวข้อ Light Mode โดยจะยืดอายุของแหล่งกำเนิดแสงได้ยาวนานมากกว่า Economic และตัวเลือกอื่นๆ ดังนี้ Normal = 4000 hrs, SmartEco = 8000 hrs, Economic = 10000 hrs, LampSave = 15000 hrs แต่แน่นอนว่าต้องแลกกับระดับความสว่างโดยรวมที่ลดลง และในบางจังหวะอาจรู้สึกว่าวูบวาบบ้าง

ภาพ

W1700M ติดตั้ง Digital Micro Mirror Device (Single-DMD) chip ขนาด 0.47 นิ้ว พร้อมเทคโนโลยี 4K XPR ซึ่งอาศัย Optical Actuator ทำงานขยับตำแหน่งพิกเซลรวดเร็วมากจนสามารถสร้างเป็นภาพนิ่ง (frame) ที่มีรายละเอียดจำนวนพิกเซลเพิ่มขึ้น 4 เท่า รวมกันทั้งสิ้นจะได้ความละเอียดเท่ากับ 8.3 ล้านพิกเซล ตรงตามมาตรฐาน 4K (UHD) จากการรับรองของ Consumer Technology Association หรือ CTA
การรับชมคอนเทนต์แบบ SDR จะสามารถเลือกโหมดภาพสำเร็จรูปได้ 3 (+ 2 User) Mode
ผล Lab Test ยืนยันได้ว่า เกือบทุกโหมดภาพของ W1700M (ยกเว้น Bright) ให้สมดุลสีโอเค โหมด Cinema จะติดอมเขียวเล็กน้อย แต่ดุลสีก็ใกล้เคียงมาตรฐานอ้างอิง D65 มากกว่าโหมดอื่น ความสว่างแม้ไม่สูงที่สุดแต่ก็ดูสบายตากว่า ในขณะที่โหมด Vivid TV และ User1-2 ดุลสีจะอมฟ้านิดๆ ความสว่างและสีสันที่ฉูดฉาดกว่าเล็กน้อย เหมาะใช้งานสู้แสงรบกวนในห้องที่ไม่คุมแสงได้ดีกว่า Cinema
ความแตกต่างอีกจุดของโหมด Cinema คือ ได้รับการคาลิเบรตภาพเบื้องต้นมาจากโรงงานอิงมาตรฐาน Rec.709 ขอบเขตสีจึงมีความเที่ยงมากกว่าโหมด Vivid TV และ User1-2 ยืนยันจากตัวเลขระดับความผิดเพี้ยน (dE) ต่ำกว่า ซึ่งผลลัพธ์ในแง่การถ่ายทอดสีสันอันเที่ยงตรงของ W1700M จะยิ่งเด่นชัดมากหลังได้รับการไฟน์จูนปรับภาพเพิ่มเติม (จะกล่าวถึงต่อไป)
เมื่ออิงจากสเป็ค ระดับความสว่างของแหล่งกำเนิดแสงในรุ่น W1700M จะต่ำกว่า W1700 และ TK800M อยู่บ้าง (2000 เทียบกับ 2200 และ 3000 ANSI Lumen ตามลำดับ) แต่กับการใช้งานจริงในห้องมืดคุมแสง 100% หรือในที่มีแสงรบกวนเล็กน้อย หากกำหนด Light Mode = Normal ทุกโหมดภาพของ W1700M ก็ยังดูสว่างดีมาก ไม่ได้รู้สึกว่าเป็นจุดอ่อนแต่อย่างใด
การที่ W1700M ใช้แหล่งกำเนิดแสงที่ให้ระดับสว่างต่ำกว่าก็ถือเป็นข้อดี เพราะระบบระบายความร้อนไม่ต้องทำงานหนัก เสียงพัดลมจะ “เงียบ” กว่ารุ่น TK800M โดยเฉพาะในโหมดการรับชมแบบ HDR ซึ่งเมื่อเสียงรบกวนภายในห้องโฮมเธียเตอร์หายไป เราจะมีสมาธิรับรู้รายละเอียดบรรยากาศเสียงต่างๆ ของภาพยนตร์หรือเพลงได้อย่างเต็มอรรถรสยิ่งขึ้น
ในรีวิวรุ่น TK800M ก่อนนี้ ผมทดลองปรับโหมดการทำงานเป็น Silence (Light Mode: Economic) ความสว่างจะลดลงบ้างแต่ภาพจะยังดูเจิดจ้าดี… ทดสอบกับรุ่น W1700M ดูบ้าง แม้จะดูไม่สว่างเท่า ทว่าภาพก็ยังดูดี ยังสามารถแจกแจงให้เห็นรายละเอียดครบถ้วน หากรับชมในห้องมืดสนิทภาพจะดูแล้วสบายตา แต่ทีเด็ดคือเสียงพัดลมจากปกติที่ว่าเงียบแล้วยิ่งเงียบลงอีก เรียกว่าแทบไม่ได้ยินเสียง อีกทั้งยังยืดอายุแหล่งกำเนิดแสงออกไปได้ยาวนานถึง 10000 ชม. และประหยัดพลังงานลงอีก 25% (จาก 317W ลดเหลือ 236W) !