27 Aug 2014
Review

เกมเมอร์ต้อง…กรี๊ด!! รีวิว BenQ XL2420Z จอมอนิเตอร์เพื่อเกมเมอร์โดยเฉพาะ มาพร้อมกับระบบถนอมสายตา


  • raweepon

ภาพ

เป็นอย่างไรกันบ้างเอ่ยหลังจากที่ได้พาคุณผู้อ่านอ้อมโลกไปดูทั้งส่วนของดีไซน์และส่วนของช่องต่อกันไปแล้ว ในที่สุดก็มาถึงยังส่วนที่ใครหลายๆ คนกำลังนั่งรอกันอยู่นั่นคือส่วนของ “ภาพ” สำหรับในส่วนนี้จะพาไปดูที่เรื่องของแนวภาพและการใช้งานจริงที่ได้ถูกถ่ายทอดออกมาจากจอมอนิเตอร์ BenQ XL2420Z ว่าเป็นอย่างไรน่าใช้งานไหม? ถ้าหากพร้อมแล้วไปดูกันเลยจ้า

สำหรับการทดสอบมอนิเตอร์ครั้งนี้กระผมได้ใช้แหล่งภาพที่นำมาเชื่อมต่ออยู่สองแหล่ง คือ การเชื่อมต่อภาพจากเครื่องคอมพิวเตอร์ และการเชื่อมต่อภาพจากเครื่องเล่นเกม PlayStation 3 เป็นหลัก
ก่อนอื่นต้องขอพาคุณผู้อ่านมาเริ่มดูกันที่ “อุณหภูมิสี อัตราการกินไฟ และการวัดค่าอื่นๆ” ในส่วนของโหมดภาพสำเร็จรูป และค่าต่างๆ ที่วัดได้ได้หลังจาก Calibrated ภาพแล้ว

จากตารางด้านล่าง คือ ค่าต่างๆ ที่วัดได้จากเครื่องมือ calibration มีดังนี้

หมายเหตุ ค่าที่ใช้อ้างอิงคือ 6,500K = อุณหภูมิแสงสีขาวที่ใช้ในการอ้างอิงเป็นมาตรฐานในอุตสาหกรรมวีดีโอ และภาพถ่าย
Test Report ก่อนทำการปรับภาพ (Pre-Calibrate – Standard) 

ในการตรวจสอบโหมดภาพจากโรงงาน (Out of box) พบว่า Standard ให้ความเที่ยงตรงดีที่สุด ซึ่งรวมถึงการการตรวจวัดค่าของ Color Temp, Gamma และ Color Gamut จากค่าเริ่มต้น (Default) ที่มาจากโรงงานยังไม่ได้มีการปรับแต่งค่าใดๆ จะเห็นได้ว่าที่กราฟ RGB Balance จะติดน้ำเงินอยู่มากพอสมควร (อุณหภูมิสีอยู่ที่ราวๆ 7,600K ซึ่งสูงกว่าค่าอ้างอิงที่ 6,500K)

ซึ่งจากค่าที่วัดได้ก็สอดคล้องกับภาพที่แสดงออกมาทางหน้าจอในขณะนั้น โดยคาแรคเตอร์ของภาพจะดูแล้วเย็นตาและค่อนข้างสว่างสดใส แต่ความสดของสีนั้นไม่ได้ทำให้รู้สึกถึงความร้อนแรงของเนื้อสีแต่อย่างใด

Test Report หลังทำการปรับภาพ (Post-Calibrate – Standard) 

ถึงแม้ว่าโหมด Standard ที่เป็นค่าเริ่มต้นมาจากโรงงานจะยังให้ค่าไม่เที่ยงตรงที่สุด แต่ด้วยพื้นฐานที่ดี รองรับการปรับภาพได้ละเอียด ภายหลังการ Calibrate พบว่าผลจากการ Calibrate ทั้งก่อนและหลังนั้นค่าที่ทำออกมาได้ค่อนข้างต่างกันมากอยู่พอสมควร เมื่อนำกราฟ 2 กราฟมาเทียบกันจะเห็นได้ว่าค่าแม่สีหลัก (RGB) มีอาการฟุ้งน้อยลง (โดยเฉพาะสีน้ำเงินและสีแดง) ซึ่งค่าที่วัดได้หลัง Calibrate อย่างค่า Color Temp จะอยู่ที่ประมาณ 6,645K เท่านั้น รับรองได้เลยว่านอกจากจะเอาไปเล่นเกมได้อย่างเพลิดเพลินแล้วยังให้คุณภาพของภาพที่สมจริงอีกด้วย

ทดสอบ Aspect Ratio หรือการแสดงอัตราส่วนของภาพ ด้วยการใช้ Pattern จากแผ่น DVE เปิดผ่านเครื่องเล่นเกม PlayStation 3 ด้วยการปรับตั้งค่าทั้งแบบ Overscan และ none Overscan

จากภาพด้านบนเมื่อได้ทำการเลือก Overscan เป็น On จะทำให้ตัวสเกลของภาพถูกซูมเข้ามาจึงทำให้บริเวณขอบจอนั้นหายไปพอสมควร ซึ่งการใช้งานหน้าจอปกติจะแนะนำให้เลือกเป็น Off เพราะว่าจะทำให้เราสามารถรับชมเนื้อหาของภาพได้อย่างครบถ้วนโดยที่ไม่สูญเสียส่วนใดของภาพไป แต่การเลือก Overscan เป็น On นั้นจะเหมาะกับเวลาที่เราดูเนื้อหาหรือดูภาพยนตร์แล้วมันมีส่วนที่เป็นขอบดำๆ อยู่รอบนอก เราก็สามารถเลือกเปิด Overscan ได้เพื่อให้ขอบดำๆ นั้นไม่มาทำให้เราเสียอรรถรสในการรับชมนั่นเอง

ในส่วนเมนูการตั้งค่าต่างๆ ของ BenQ XL2420Z นั้นหลักๆ แล้วจะแบ่งออกเป็น 5 ส่วน คือ เมนูสำหรับเลือก Input, เมนูสำหรับใช้เลือกโหมดภาพ, เมนูสำหรับเลือกขนาดหน้าจอ, เมนูสำหรับขเข้าไปตั้งค่าขั้นสูง และเมนูสำหรับกดออกจากเมนูหน้าจอ

การใช้งานของเมนูแต่ละเมนู (จากภาพด้านบน) จะมีคุณสมบัติการใช้งานคร่าวดังนี้

1. เมนู Input :: เป็นเมนูที่ใช้สำหรับเลือกพอร์ต Input ที่เรามีการเชื่อมต่อจากแหล่งสัญญาณภาพนั้นๆ อยู่

2. เมนู Picture mode :: เป็นเมนูสำหรับเลือกโหมดภาพมีให้เลือก 11 โหมด คือ Standard Movie Photo, sRGB, Eco, FPS1, FPS2, RTS, Gamer1, Gamer2 และ Gamer3

3. เมนู Display mode :: เป็นเมนูที่ใช้สำหรับเลือกขนาดการแสดงผลภาพบนหน้าจอสามารถเลือกได้ตั้งแต่ขนาด 17 นิ้วไปจนถึง 22 นิ้ว แต่ถ้าเลือกเป็น Full จะแสดงผลตามขนาดหน้าจอจริงนั่นก็คือขนาด 24 นิ้ว

4. เมนู “Menu” :: เป็นเมนูที่สามารถเข้าไปปรับตั้งค่าต่างๆ ที่เกี่ยวกับภาพ และลูกเล่นต่างๆ ที่อยู่บนจอมอนิเตอร์

5. เมนู Exit :: สำหรับเมนูนี้คงไม่ต้องอธิบายอะไรมา เพราะว่ามันเป็นเมนูที่เอาไว้สำหรับกดออกจากเมนูอีกทีนั่นเอง

หมายเหตุ เมนูทั้งหมดทางด้านบนสามารถควบคุมผ่านทางปุ่มสัมผัสที่อยู่บริเวณด้านข้างจอมอนิเตอร์ หรือจะควบคุมผ่านทางคอนโทรลเลอร์ก็สะดวกไปอีกแบบ

ถ้าหากใครสงสัยว่าหน้าตาของเมนูที่ชื่อว่า “Menu” มีหน้าตาเป็นอย่างไรนั้นก็ตามภาพด้านบนเลยจ้า

สำหรับตัวของเมนู “Menu” นั้นผู้ใช้งานสามารถเลือกปรับตั้งค่าได้หลากหลายโดยเฉพาะการปรับภาพที่ทาง BenQ XL2420Z แบ่งออกมาเป็นเมนูที่สามารถปรับค่าภาพทั่วไปและเมนูสำหรับการปรับค่าขั้นสูง ซึ่งถือว่าออกแบบมาตอบสนองการปรับภาพเบื้องต้นได้เป็นอย่างดี ถ้าหากใครซื้อเจ้าจอมอนิเตอร์ตัวนี้มาไว้ใช้งานแล้ว หรือหากใครทำกำลังเล็งๆ อยู่ก็ไปลองกดเล่นกันได้นะ

ลองเอามาใช้ดูภาพยนตร์เพลินๆ ก็ถือว่าไม่เลวร้ายนะกับขนาดจอ 24 นิ้ว

โดยหน้าจอของ BenQ XL2420Z นั้นเป็นแบบ “TN” ถ้าหากนำมาใช้รับชมภาพยนตร์ขอแนะนำว่าให้ดูในมุมตรงจะได้อารมณ์ที่เป็นธรรมชาติมากที่สุด ถึงแม้ว่าทาง BenQ จะเคลมมาว่าหน้าจอ TN ของเจ้าตัวนี้มีมุมมองที่ค่อนข้างกว้างแต่เอาเข้าจริงๆ ก็อาจจะมีอาการเพี้ยนของสีเวลาที่มองในมุมเอียงอยู่บ้าง ในส่วนของการแสดงภาพเคลื่อนไหวอย่างเช่นฉากที่มีการแพนกล้องยังคงรู้สึกว่ามีอาการสั่นของภาพอยู่บ้างพอสมควร

ทดสอบการแสดงตัวอักษรหรือตัวหนังสือบนหน้าจอมอนิเตอร์

หลังจากที่ได้ลองนำมาใช้งานจริงด้วยการใช้งานในด้านเอกสารและการใช้งานท่องเว็บไซต์ พบว่าความคมชัดของตัวอักษรในแต่ละพิกเซลมีการเรียงตัวกันได้อย่างเรียบเนียน ไม่ว่าจะเป็นมุมโค้งมนหรือมุมเหลี่ยมของตัวหนังสือที่แทบไม่มีรอยหยักของเส้นมาทำให้รู้สึกไม่สบายตาแต่อย่างใด

ทั้งนี้เจ้า BenQ XL2420Z ยังมาพร้อมกับเทคโนโลยี Flicker-free และ Low Blue Light ที่จะเข้ามาช่วยลดอัตราการกระพริบของจอภาพ รวมถึงการลดแสงสีน้ำเงินที่แผ่ออกมาทางหน้าจอมอนิเตอร์ทำให้ผู้ที่ใช้งานเป็นระยะเวลานานๆ มีอาการล้าของสายตาน้อยลงอีกด้วย

ในเมื่อเจ้าจอมอนิเตอร์ตัวนี้ได้กำเนิดมาเพื่อคู่ควรกับเกมเมอร์โดยเฉพาะ ทางทีมงานจึงนำของเราได้แอบเอาไปเล่นเกมอยู่หลายเกมด้วยกัน จากภาพด้านบนกระผมได้ขอแอบถ่ายมาให้คุณผู้อ่านได้ชมกันสักภาพ

สำหรับการเล่นเกมที่ส่วนใหญ่ของภาพที่แสดงผลออกมาทางหน้าจอมอนิเตอร์นั้นมักจะเป็นภาพที่มีการเคลื่อนไหวเร็วแบบฉับพลันทำให้ผู้ใช้งานในกลุ่มเกมเมอร์มักจะให้ความสำคัญในส่วนนี้ ซึ่งตัวของ BenQ XL2420Z ก็มีความไวอยู่ที่ 1ms (GTG) แต่จากการทดสอบพบว่า และรองรับ Refresh rate อยู่ที่ 100/120/144Hz นอกจากนี้ทาง BenQ ยังได้ใส่เทคโนโลยี Motion Blur Reduction ที่ช่วยลดอาการฟุ้งเบลอของภาพอย่าเช่น ฉากระเบิดที่ในบางครั้งมีกลุ่มควันฟุ้งเบลอจนไม่อาจทำให้เรามองเห็นศัตรูที่อยู่หลังหมอกควันนั้นได้

จาการใช้เล่นเกมก็พบว่าในส่วนฉากที่ตัวละครมีการเคลื่อนไหวเร็วๆ นั้น Response time ที่ทำออกมาได้จริงนั้นอยู่ในระดับกลางค่อนไปทางดีเล็กน้อย เพราะว่ายังคงมีอาการ Ghost (เป็นเงา) ให้เห็นเวลาที่ตัวละครในเกมมีการวิ่งอยู่บ้างพอสมควร แต่ในส่วนของรายละเอียดวัตถุต่างๆ ที่แสดงผลออกมานั้นถือว่าทำได้ดีเลยทีเดียวล่ะจ้า

หมายเหตุ BenQ XL2420Z รองรับเทคโนโลยี NVIDIA® 3D Vision™ 2 ด้วย แต่ภายในชุดไม่ได้แถมอุปกรณ์มาให้จึงไม่ได้ทำการทดสอบให้ได้รับชมกัน

อีกหนึ่งลูกเล่นที่จอเทพๆ เดี๋ยวนี้ต้องทำได้อย่างการปรับหมุนจอให้เป็นแนวตั้งก็ได้ถูกใส่มาให้เราได้ปรับใช้งานกันด้วนนะ ซึ่งส่วนตัวแล้วผมชอบนะเหมาะกับเวลาที่ต้องการอ่านเว็บแบบเต็มๆ ตา หรือจะใช้เวลาเขียนโค้ดโปรแกรมก็สะดวกดีแท้