14 Jan 2014
Review

X-plore The X !!! รีวิว Denon AVR-X2000 4K Ready Network AVR


  • ชานม

Features – ลูกเล่น

ผลพลอยได้จากการที่ AVR ยุคใหม่ รองรับระบบเน็ตเวิร์ก คือ เราสามารถควบคุม AVR ผ่านอุปกรณ์ Smart Devices ต่างๆได้ ซึ่งในบางสถานการณ์อุปกรณ์เหล่านั้นตอบสนองการใช้งานได้ดีกว่ารีโมตคอนโทรลด้วยซ้ำ การควบคุมผ่าน iDevices และ Android Devices เพียงดาวน์โหลด (ฟรี) และติดตั้ง “Denon Remote App” (ในรูปเป็นเวอร์ชั่น Android) ก็ใช้งานได้เลย

นอกเหนือจากการควบคุมผ่าน Smart Devices อย่างโทรศัพท์มือถือ หรือแท็บเล็ตด้วย Remote App แล้ว ยังสามารถควบคุม ตั้งค่า และสั่งการ X2000 ผ่านคอมพิวเตอร์ PC/Notebook ได้อีกด้วยผ่าน Web Browser (จึงเรียกว่า Web Controller) ซึ่งในส่วนของการปรับตั้งต่างๆ ละเอียดครอบคลุมมากๆ ไม่แพ้สั่งการผ่านรีโมตตรงหน้าเครื่องเลย

กลับมาดูรีโมตคอนโทรลที่ให้มาหน่อย ดังที่เรียนไปว่ารีโมตคอนโทรลของ Denon AVR เน้นปุ่มน้อย เฉพาะฟังก์ชั่นสำคัญเท่านั้น ซึ่งก็ดีเพราะช่วยให้ดูไม่ลายตา และยังมีที่ว่างขยายขนาดปุ่มให้ใหญ่ขึ้นได้ด้วย กดง่าย ทว่าด้วยจำนวนปุ่มที่จำกัด การควบคุมบางฟังก์ชั่นจะต้องเลือกผ่านหน้าจอทีวี ซึ่งบางครั้งก็ไม่ทันใจ บางทีจะใช้งานเวลาจะฟังเพลงอย่างเดียวก็ต้องเปิดทีวีไว้ด้วย ยกตัวอย่างเวลาจะกำหนด Playback Mode (Repeate/Random) ต้องกดปุ่ม Option แล้วดูตัวเลือกบนจอทีวี หรือดูผ่านจอดิสเพลย์ที่แผงหน้า (ซึ่งการดำเนินการในจุดนี้ทดแทนด้วย Remote App ผ่าน Smart Devices ก็ได้ครับ)

การปรับเปลี่ยนระบบเสียง Sound Mode จะแยกหมวดสำหรับ Movie, Music, Game และ Pure Audio ไว้ การเปลี่ยนตัวเลือกจะต้องกดปุ่มซ้ำๆ ไล่ลำดับไป หากต้องการเลือกระบบเสียงที่ต้องการแบบมองเห็นรายการทั้งหมด สามารถกดปุ่ม Sound Mode ค้างไว้ เพื่อให้ระบบแสดงตัวเลือกบนจอทีวีได้ (ซึ่งการดำเนินการในจุดนี้ทดแทนด้วย Remote App ผ่าน Smart Devices ก็ได้ครับ)

Setup – การติดตั้ง

หากเน้น User Friendly แล้วล่ะก็ ประเด็นหนึ่งที่ผู้ผลิตต้องเอาใจใส่อย่างมาก คือ เรื่องของการติดตั้งระบบลำโพงรอบทิศทางเพื่อผลด้านการตอบสนองที่ยืดหยุ่น เหมาะสม เกี่ยวเนื่องถึงการถ่ายทอดความเที่ยงตรง แม้สภาพแวดล้อมของผู้ใช้จะผิดแผกแตกต่างจากอุดมคติบ้าง ซึ่งอันที่จริงแนวทางนี้มีมานานแล้ว สำหรับ AVR มิใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด

ดังที่เกริ่นไปว่าเน้นความสะดวก ดังนั้นขั้นตอนดำเนินการในส่วนนี้ย่อมต้องไม่ซับซ้อน ภายหลังจากติดตั้งเชื่อมต่ออุปกรณ์และลำโพงในระบบเรียบร้อย เพียงนำ Setup Mic ติดตั้งเข้ากับขาตั้ง (Tripod) แล้ววางที่จุดรับชมหลัก โดยให้ความสูงของ Mic เมื่อตั้งบนขาตั้งแล้ว อยู่ที่ระดับเดียวกับหูของผู้ฟัง

จากนั้นเปิดสวิทช์ AVR และทีวี เชื่อมต่อ Setup Mic ที่หน้าเครื่องจะแสดงหน้าจอ Audyssey Setup ขึ้นมา

หรือหากจะปรับตั้งเองแบบแมนนวลก็ทำได้นะครับ ระบบให้ความยืดหยุ่นในการปรับแก้ได้ดีทีเดียว ยกตัวอย่างในส่วนของ Crossover จะสามารถแยกกำหนดสำหรับลำโพงแต่ละแชนเนลได้อิสระ จุดตัดความถี่นี้ จะทำหน้าที่เป็นทั้ง Hi-pass Crossover สำหรับลำโพงหลัก และ Low-pass Crossover สำหรับลำโพงซับวูฟเฟอร์ “การตัดความถี่” จึงเที่ยงตรงมากกว่า อันเป็นส่วนสำคัญของระบบ Bass Management ที่ยืดหยุ่น และจะสร้างความกลมกลืนได้ดีกว่าการกำหนดจุดตัดความถี่เพียงค่าเดียว ที่ตัวลำโพงซับวูฟเฟอร์ ซึ่งหากจะอ้างอิงตามมาตรฐาน ค่าจุดตัดความถี่ที่ระบบฯ Auto ตั้งมา จะให้ “ความถูกต้อง” ได้ดีอยู่แล้วครับ (หากดำเนินขั้นตอน Auto Speaker Calibration อย่างเหมาะสม)

หมายเหตุ: โดยทั่วไปลำโพงในระบบโฮมเธียเตอร์มักจะมีคุณสมบัติที่หลากหลาย โดยเฉพาะประเด็นเรื่องของ “ขนาด” (คู่หน้า-เซ็นเตอร์-เซอร์ราวด์ มักไม่ใช่รุ่นเดียวกัน) ซึ่งนั่นส่งผลถึงความสามารถในการตอบสนองย่านความถี่ต่ำ การส่งเสริมด้วยซับวูฟเฟอร์หากจะให้ครอบคลุมลำโพงทุกแชนเนล จึงจำเป็นต้องอาศัยระบบ Bass Management ใน AVR โดยอิงตามศักยภาพการตอบสนองความถี่ต่ำของลำโพงแต่ละแชนเนล และด้วยเหตุนี้ จึงแนะนำให้ทำการบายพาส Crossover ที่ด้านหลังตัวตู้ลำโพงแอ็คทีฟซับวูฟเฟอร์เสีย ซึ่งการตั้ง Crossover (ที่ AVR) ซ้อน Crossover (ที่ SW) จะทำให้จุดตัดความถี่ที่ตั้งไว้คลาดเคลื่อน (จุดตัดความถี่จะเปลี่ยนแปลงไป ไม่ใช่ทั้งตัวเลขที่แสดงใน AVR และที่ SW จึงทำให้อ้างอิงผลลัพธ์ได้ยาก)

การแสดง OSD info (กดปุ่ม Info ที่รีโมต) นั้นมีประโยชน์ เพราะสามารถใช้ตรวจสอบสถานะได้ดี โดยจะแสดงรายละเอียดแหล่งโปรแกรม ระบบเสียงที่รับฟังอยู่เป็นแบบไหน บันทึกช่องสัญญาณมากี่แชนเนล ฯลฯ ทว่าน่าเสียดายที่ไม่สามารถแสดง Sampling Rate ได้ครับ