30 Dec 2013
Review

ดาวจรัสแสงเธียเตอร์ !! รีวิว Elac Starlet 5.1


  • ชานม

เปิดหน้ากากผ้าออกมาจะเห็นไดรเวอร์ รูปลักษณ์ที่คุ้นเคยของเจ้านี้ คือ Aluminium Sandwich Cone ขนาด 8 นิ้ว พร้อมท่อพอร์ท ติดตั้งแบบ “ยิงหน้า” สีเงินของไดรเวอร์ตัดกับแผงหน้าสีดำเงาดูโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ดีแท้

ด้านหลังก็เช่นเคย เป็นตำแหน่งสำคัญ เพราะเป็นจุดติดตั้งปุ่มปรับเซ็ตและช่องต่อสายสัญญาณต่างๆ
ที่จำเป็นสำหรับการติดตั้งใช้งานซับวูฟเฟอร์

ผมชอบสีแดงบนปุ่มปรับหมุนของรุ่นนี้เสียจริง ในแง่ที่ว่ามันช่วยให้เห็นเด่นชัดในการอ้างอิงปรับตั้งระดับ
เรียกว่ามองเห็นแต่ไกลเลยทีเดียว ซึ่งในส่วนของปุ่มปรับหมุนนี้จะเป็นในส่วนของระดับเสียง (Subwoofer Level)
และจุดตัดความถี่ (Crossover Frequency) ส่วนการปรับเฟส (หรือ Elac ใช้ว่า Polarity)
กับ Power Mode จะเป็นแบบปรับตำแหน่งสวิทช์

จุดเชื่อมต่่อสัญญาณให้มาทั้ง Low-level และ High-level Input โดย Low-level หรือการเชื่อมต่อสัญญาณผ่านสาย RCA นั้น เป็นแบบ Mono “LFE In” เป้าหมายเพื่อมุ่งเน้นรับสัญญาณจาก AV Receiver หรือซิสเต็มที่มีช่อง SUB Out (คือ มีระบบจัดการสัญญาณความถี่ต่ำ หรือ Bass Management ในตัว) ส่วนใหญ่จะพบได้ในระบบโฮมเธียเตอร์นั่นเอง

แต่ถ้าหากกรณีใช้งานร่วมกับซิสเต็มอื่น อย่างเช่น อินทิเกรตแอมป์ 2 แชนเนล ที่ไม่มีช่องสัญญาณ SUB Out การเชื่อมต่อมายัง SUB 111.2 ESP ยังมีอีกตัวเลือก คือ เชื่อมต่อผ่านทาง High-level Input โดยรับสัญญาณตรงจากเพาเวอร์แอมป์นั่นเอง

Main Power Switch สำหรับตัดไฟเพื่อปิดใช้งานถาวร ขั้วเสียบสายไฟ AC มาตรฐาน IEC ถอดเปลี่ยนสายไฟได้

Conclusion – สรุป

ลำโพงเล็กจิ๋วมักจะถูกค่อนแคะว่าให้เสียงได้เล็กตามขนาดตัว ซึ่งในเชิงกายภาพก็ย่อมมีส่วนเป็นความจริงอยู่บ้าง ครั้นจะให้เสียงแบบเดียวกับลำโพงใหญ่โตคงเป็นไปไม่ได้ แต่อย่าลืมว่าลำโพงใหญ่ ก็ต้องใช้ในพื้นที่ใหญ่ตามไปด้วย จึงจะสมเหตุผล ไม่ทำให้ “เสียงล้น” จนอึดอัด และถึงแม้ขนาดของลำโพงแซทเทลไลท์ จะมีข้อจำกัดในเรื่องของการถ่ายทอดสเกลเสียง ที่ยังเป็นรองลำโพงขนาดใหญ่ แต่หากได้รับการส่งเสริมด้วยซับวูฟเฟอร์ที่ให้ความกลมกลืนต่อเนื่องกัน จะมีบทบาทสำคัญในการขยายสเกลให้ใหญ่กว่าขนาดของซิสเต็มลำโพงที่เห็นได้ แน่นอนลำโพงซับวูฟเฟอร์ที่เหมาะสม ไม่ใช่ซับวูฟเฟอร์ที่ใหญ่โต แต่ต้องพอดีในเชิงประสิทธิภาพ และปริมาณ และในชุด Starlet 5.1 นั้น SUB 111.2 ESP ก็รับหน้าที่นี้ได้เป็นอย่างดี

SUB 111.2 ESP เป็นแอ็คทีฟซับวูฟเฟอร์ที่ขนาดไม่ใหญ่ แต่ก็ไม่เล็ก ที่สำคัญ คือ ให้ความลงตัวได้เมื่อใช้งานกับชุดลำโพง Starlet ซึ่งมวลความถี่ต่ำที่แผ่กว้างของซับวูฟเฟอร์ ผสานรวมเข้ากับความกระฉับกระเฉงของลำโพงหลักแบบแซทเทลไลท์ ส่งเสริมให้ Starlet 5.1 ถ่ายทอดเสียงดนตรีซาวด์แทร็กในภาพยนตร์ Blu-ray The Dark Knight Rises ระบบเสียง DTS-HD MA 5.1 ได้อลังการเกินตัว เรียกว่าไม่ต้องรอนาน ฉากแรกก็สัมผัสได้แล้ว หากเซ็ตอัพลงตัวเชื่อว่าจะทึ่งกับความใหญ่ของเสียงที่เกินขนาดตัวตู้ลำโพงไปมาก เช่นเดียวกันกับเสียงเอฟเฟ็กต์ ในฉากการต่อสู้ที่เร้าใจได้สมจริงกว่าลำโพงแซทเทลไลท์ทั่วๆ ไป ที่มีคุณภาพต่ำกว่า นี่เป็นความเด็ดขาดของซิสเต็มลำโพง Starlet 5.1 ซึ่งทั้งลำโพงหลัก และซับวูฟเฟอร์มีศักยภาพเติมเต็มเสียงในพื้นที่ห้องทดสอบ ราว 20 ตร.ม. ได้ไม่ขาดตกบกพร่อง

ความลึกของย่านต่ำเรียกว่าเกินตัว แน่นอนจะไปเทียบประเด็นนี้กับซับฯ ใหญ่ ขนาด 12 นิ้ว อะไรแบบนั้นคงไม่ได้ แต่ก็เรียกว่าทำหน้าที่ในการเติมเต็มย่านต่ำได้ไม่ขาด จุดที่น่าสนใจมากกว่าของ SUB 111.2 ESP น่าจะเป็นความกระชับฉับไว ที่ช่วยให้โฟกัสจับต้องฐานเบสได้ ไม่ย้วยยาน ตรงนี้จะฟังเพลงก็กระฉับกระเฉง ชมภาพยนตร์ก็ได้น้ำหนักกระแทกกระทั้นจะแจ้งดี ผมทดลองฟังกับอัลบั้ม “Thriller” ของราชาเพลงพ็อพ Michael Jackson กับมาสเตอร์ล่าสุดระดับ 24-bit/176kHz จาก HDTracks ซึ่งใช้พิสูจน์ไอ้ที่พูดไปตอนต้นย่อหน้านี้ได้ทั้งหมดเลย ในหลายๆ เพลง ยกตัวอย่างเช่น Beat It และ Billie Jean ซึ่งสไตล์ของ Starlet ที่เน้นเปิดเผย มากกว่าจะปกปิด ให้ความสะใจได้ดีแท้ เบสจับต้องได้ง่ายเป็นลูกๆ เลยทีเดียว แต่อาจจะรู้สึกว่าเสียงร้องจะติดแห้งไปสักนิด ฟังแล้วกร้านหูหน่อยๆ โดยเฉพาะเมื่อเปิดระดับเสียงค่อนข้างดังกว่าระดับรับฟังปกติ (ซึ่งหลายซิสเต็มก็ให้ผลลัพธ์แบบเดียวกัน กับอัลบั้มนี้) ดังนั้นถ้าจะคาดหวังว่าจะได้เสียงที่อิ่มหวาน กลมมนไปเสียทุกอัลบั้มที่ฟัง คงเป็นไปไม่ได้ Starlet ไม่ใช่แนวนั้นนะครับ เช่นเดียวกับการแม็ตชิ่งซิสเต็ม ซึ่งถ้ามีจุดใดที่ไม่เหมาะไม่ควร Starlet ก็จะฟ้องออกมาผ่านเสียงให้ได้ยินเช่นกัน ตรงนี้หากจะเพลย์เซฟ ก็แม็ตชิ่งกับซิสเต็มที่เสียงนุ่มนวลหน่อยก็ได้สำหรับการจับคู่กับ AVR ตัวล่างๆ แต่ถ้าเป็นรุ่นกลาง-สูง ขึ้นไป ด้วยแนวเสียงที่เป็นกลางมากขึ้นของ AVR ประเด็นปัญหาการแม็ตชิ่งกับ Starlet จะง่ายขึ้นครับ

มิติเสียงในการรับฟังรูปแบบสเตริโอสามารถแจกแจงดีเทลได้ดี ซึ่งเป็นอานิสงส์จากลำโพงหลักซ้าย-ขวา จาก Mars, The Bringer of Warอัลบั้ม The Planets ผลงานประพันธ์โดย Gustav Holst อำนวยเพลงโดย Zubin Mehta (LA Philharmonic Orchestra) การแจกแจงระนาบชั้นอยู่ในเกณฑ์ดี แน่นอนว่าหากแขวน หรือวางชิดผนังระนาบจะตื้นลงกว่าการวางลอยตัว แต่ก็ไม่ผสมปนเปกันไปเสียจนแยกแยะไม่ได้เหมือนลำโพงแซทเทลไลท์ที่ไม่ได้คุณภาพ แม้ว่าถ้าดูจากสเกลชิ้นดนตรี และเวทีเสียงแล้วยังเป็นรองลำโพงใหญ่ แต่ถ้าดูจากขนาดลำโพงที่กะทัดรัด Starlet ยังให้ความอลังการได้ดี ซึ่งน่าจะเป็นซิสเต็มที่เหมาะเมื่อใช้งานในห้องขนาดเล็กถึงกลางทั่วไป ตัดปัญหาที่อาจจะเกิดจากอาการเสียงล้นเมื่อใช้งานลำโพงขนาดใหญ่เกิน หากห้องของท่านไม่ได้ใหญ่มโหฬาร และต้องการประหยัดเนื้อที่ ลองรุ่นนี้ดู เพื่อพิสูจน์ว่า “ลำโพงดาวเทียม” ก็ให้เสียงสเกลใหญ่ได้ ไม่ขี้เหร่เลยนะเออ

Conclusion – สรุป

ชื่อชั้นของ Elac ไม่ทำให้ผิดหวังอยู่แล้วโดยเฉพาะในแง่ของความเด็ดขาดในน้ำเสียง ซึ่งถึงแม้ Starlet จะมีขนาดที่ย่อส่วนเล็กลงในระดับวางบนฝ่ามือได้สบาย แต่ความกะทัดรัดที่เห็นมิได้ลดทอนจุดเด่นดังกล่าวลง ในงบประมาณที่ต่ำกว่าลำโพงใหญ่ กับขนาดที่เล็กแต่ความสามารถใหญ่กว่าที่เห็นตัว คงต้องเป็นหนึ่งในตัวเลือกชุดลำโพงแซทเทลไลท์ที่สมควรพิจารณาเป็นอันดับต้นๆ ครับ

คะแนน

ดีไซน์ (Design)
8.00
เสียง (Sound)
8.50
ลูกเล่น (Features)
8.00
การเชื่อมต่อ (Connectivity)
7.50
ความคุ้มค่า (Value)
8.50
คะแนนตัดสิน (Total)
8.10

คะแนน Elac Starlet 5.1

8.1

หมายเหตุประกอบการให้คะแนน
– ผิวตัวตู้เป็นวัสดุสังเคราะห์ดำเงา ตัดกับไดรเวอร์สีเงินอันเป็นเอกลักษณ์ของ Elac แม้ภายนอกจะดูเล็ก แต่โครงสร้างงานประกอบให้ความหนักแน่นแข็งแรงดีทีเดียว
– สามรถแจกแจงรายละเอียดเสียงได้ชัดเจนดี ซึ่งก็ฟ้องความไม่สมบูรณ์ของซิสเต็มและคอนเทนต์ด้วย ศักยภาพของซับวูฟเฟอร์เป็นส่วนสำคัญที่ส่งเสริมซิสเต็มลำโพงแซทเทลไลท์นี้ได้อย่างโดดเด่นกว่าชุดระดับเดียวกัน เสียงกระชับ กระฉับกระเฉง พร้อมๆ กับความหนักแน่นของฐานเบส
– เซ็นเตอร์พร้อมโครงสร้างเพื่อการติดตั้งกับขาปรับมุมก้มเงยได้ มียางรองรับตัวตู้ทุกแชนเนลเพิ่มความมั่นคง ขาแขวนที่ให้มาเอื้อต่อการแขวนขึ้นผนัง และเผื่อให้ปรับองศาเอียงหน้าซ้าย-ขวาได้
– ขั้วต่อสายลำโพงแบบขันล็อค ช่วยให้เข้าสายลำโพงขนาดใหญ่กว่ามาตรฐานที่ใช้ได้กับลำโพงแซทเทลไลท์ทั่วไปเล็กน้อย เซ็นเตอร์เป็นสปริงหนีบก็จริง แต่ก็เสียบสายได้ไม่ลำบากนัก ซับวูฟเฟอร์รองรับการเชื่อมต่อทั้งแบบ Low-level (mono LFE) และ High-level (Speaker)
– ความสมบูรณ์ลงตัวของชุดลำโพงแซทเทลไลท์ + ซับฯ กับแนวเสียงแบบนี้ หาตัวเปรียบเทียบได้ไม่ง่ายนัก ถึงแม้จะต้องแม็ตชิ่งซิสเต็มสักหน่อย ก็เป็นความพิถีพิถันที่ควรต้องกระทำเพื่อคุณภาพเสียงที่ดี

by ชานม !
2013-01