23 Dec 2014
Review

รีวิว KEF E305 โฮมเธียเตอร์ไซส์เล็ก สูตรเด็ดลำโพงรูปไข่


  • boom

Setup – การติดตั้ง

ด้วยความที่ KEF E305 เป็นเซ็ตลำโพงที่มีขนาดเล็กกระทัดรัด ทำให้สามารถวางเข้าเซ็ตกับห้องที่มีพื้นที่จำกัดได้เป็นอย่างดี ใครสะดวกวางไว้หน้าทีวีก็ทำได้ แต่อาจจะต้องยกตัวทีวีให้สูงขึ้นกว่าระดับลำโพงสักนิดเพราะอาจจะเกิดการบดบังการรับชมได้ หรือถ้าใครอยากจะได้ความสวยงามเข้าเซ็ต ก็สามารถสั่งขาตั้งที่ออกแบบมาโดยเฉพาะมาติดตั้งก็ได้เช่นเดียวกัน

ขาตั้งโค้งงุ้มสวยงาม สำหรับท่านที่ไม่สะดวกที่จะตั้งไว้หน้าทีวี

ส่วนซับวูฟเฟอร์อย่าลืมแปะแผ่นยางที่มีมาให้ในกล่อง ไว้ที่บริเวณขาทั้งสี่ขาเพื่อซับแรงปฏิกิริยาที่จะเกิดขึ้น
เมื่อลำโพงมีการขับเสียงออกมา

สำหรับทีมงานเราเลือกใช้ขาตั้ง Made in Thailand ก็จะได้หน้าตาออกมาประมาณนี้
เข้าเซ็ตกับชั้นวางระดับตำนานก็ออกมาดูดีไม่แพ้ใคร

อีกจุดหนึ่งที่ควรจะคำนึงถึงนอกจากการจัดวางลำโพง ก็คือการปรับจุดตัดความถี่ที่ตัวแอมป์ให้สอดรับกับซับวูฟเฟอร์ โดยปกติแล้วเราจะใช้ระบบ Auto Calibration ของตัวแอมป์เพื่อช่วยเหลือในจุดนี้ก่อน แต่ถ้าแอมป์ใครไม่มีฟีเจอร์ดังกล่าวก็สามารถทำการปรับจูนคร่าวๆเองได้เช่นเดียวกัน

จากสเปคในหน้าแรกจะเห็นว่าตัวลำโพงแซทเทิลไลท์สามารถตอบสนองได้จะอยู่ในช่วง 90Hz-33kHz ซึ่งค่า Crossover ที่ทางผู้ผลิตแนะนำมาจะอยู่ที่ 90Hz ส่วนตัวแนะนำให้ทดลองฟังดูกันอีกทีหากว่าช่วงความถี่เสียงนั้นมีระดับที่ใกล้เคียงกันแล้วหรือก็คือตอนที่ซับวูฟเฟอร์ไม่ฟ้องตำแหน่งที่ตั้งจนผู้ฟังรู้สึกเหมือนเสียงเบสถูกขับออกมาจากลำโพงคู่หน้า ถ้าเป็นแบบนี้นั่นหมายความว่าเราได้ค่า Crossover ที่เหมาะสมกับซิสเต็มแล้วครับ

สิ่งที่ทำให้ลำโพงหน้าตาธรรมดาๆ ดูมีราคาและน่าหลงไหล นั่นก็คือเทคโนโลยีที่ทางผู้ผลิตได้สรรสร้างขึ้นมาเพื่อขับกล่อมเสียงอันไพเราะให้ออกมาสู่หูผู้เป็นเจ้าของ KEF E305 ก็เช่นเดียวกันโดยมันมีชื่อเรียกว่า Uni-Q ไดร์เวอร์

Uni-Q ไดร์เวอร์ คือการรวมเอาทวิตเตอร์และมิดเบสเอาไว้ด้วยกันอย่างที่ผมได้บรรยายไว้ในหน้าแรกนะครับ แน่นอนว่านี่เป็นเทคโนโลยีที่ช่วยให้ KEF Q Series กลายเป็นลำโพงยอดนิยมที่นักเล่นเครื่องเสียงส่วนใหญ่ต้องรู้จัก ซึ่ง ณ ตอนนี้มันถูกย่อส่วนและติดตั้งมาใน KEF E305 เรียบร้อยแล้ว

ภาพชำแหละองค์ประกอบภายในของไดร์เวอร์ Uni-Q ที่ติดตั้งมาในแซทเทิลไลท์ E301
ที่เห็นอยู่ด้านในก็คือไดร์เวอร์ Uni-Q แบบตัวเป็นๆ ที่ติดตั้งอยู่ในชุด KEF E305 ที่เรากำลังจะทดสอบนี่แหละครับ

จุดประสงค์หลักๆของไดร์เวอร์ Uni-Q คือการขยายจุด Sweet Spot ให้กว้างมากขึ้น หากเราลองมาจินตนาการถึงลำโพงทั่วไปซึ่งมีไดร์เวอร์แยกส่วนกันระหว่างทวิตเตอร์และมิดเบส เมื่อคลื่นเสียงถูกขับออกมาจึงทำให้ดูเหมือนเสียงจะตีกันก่อนที่จะวิ่งมาถึงผู้ฟัง เป็นสาเหตุให้ตำแหน่งของการนั่งฟังมีผลต่อเสียงค่อนข้างมาก ซึ่งโดยส่วนใหญ่เรามักจะต้องนั่งตรงกลางระหว่างลำโพงจึงจะได้เนื้อเสียงที่ดีที่สุด แต่กับ KEF E305 นั้นไม่ใช่

เมื่อเราสามารถรวมเอาไดร์เวอร์ทวิตเตอร์และมิดเบสเข้าไว้ด้วยกันแล้ว การกวนกันของคลื่นเสียงก็ลดลงเนื่องจากเสียงถูกขับออกมาจากแหล่งกำเนิด ณ จุดเดียวกันนั่นเอง ฉะนั้นจุดที่ลำโพงจะให้เสียงดีที่สุดจึงกว้างขึ้น ทำให้เราไม่จำเป็นจะต้องถูกบังคับให้นั่งตรงกลางห้องอีกต่อไป นับว่าเป็นการออกแบบลำโพงที่ชาญฉลาดเป็นอย่างมาก

รูปจำลองการทำงานของลำโพงทั่วไป หากนั่งผิดจุดเมื่อไรคุณภาพเสียงที่ได้จะถูกลดทอนทันที
แต่กับลำโพงที่ติดตั้งไดร์เวอร์ Uni-Q จุด Sweet Spot ในการนั่งฟังจะกว้างขึ้น ไม่จำเป็นจะต้องนั่งตรงกลางเสมอไป

ข้อดีของ Uni-Q ไม่ได้มีดีแค่การขยายจุดที่เสียงดีที่สุดเท่านั้น แต่มันยังช่วยดึงความเป็นธรรมชาติมาเติมแต่งลงไปในเสียงที่ขับออกมาของลำโพงอีกด้วย เนื่องจากแหล่งกำเนิดเสียงในทุกความถี่ถูกขับออกมาจากจุดเดียวกัน จึงไม่ต่างอะไรกับเวลาที่เรานั่งฟังวงดนตรีสดเล่น เพราะในสถานการณ์นั้นเสียงจากทุกความถี่ก็ออกมาจากจุดเดียวกัน ฉะนั้นเสียงร้องเสียงดนตรีที่ได้จจึงมีความสมจริงคล้ายกับว่านักดนตรีมาอยู่ตรงหน้า