06 Jun 2017
Review

กระหึ่มได้ไม่ง้อสาย! รีวิว Klipsch R-12SWi ซับวูฟเฟอร์ล่องหน ทายาทตรง Reference Series


  • boom

Setup – การติดตั้ง

ขั้นตอนการเริ่มใช้งาน R-12SWi นั้นไม่ได้ยากเย็นเท่าไรนัก เพราะตัวซับวูฟเฟอร์กับ Transmitter ถูกจับคู่กันมาตั้งแต่ในโรงงานแล้ว ประมาณว่าแค่ไฟเข้าก็จูนกันติดเลย ไม่ต้องอาศัยตัวช่วยอื่นๆ โดยจะมีไฟบอกสถานะอยู่ที่บริเวณด้านหลังตัวลำโพง คือถ้าไฟสีฟ้าติดค้างตลอด ก็แสดงว่าพร้อมใช้งานแล้วครับ

รูปจำลองการเชื่อมต่อแบบไร้สายระหว่าง R-12SWi กับรีซีฟเวอร์

อย่างที่ทุกท่านเข้าใจกัน เสียงความถี่ต่ำ หรือเสียงเบส เป็นคลื่นที่เดินทางแบบกระจายทุกทิศทาง ทำให้เราสามารถจะวางซับวูฟเฟอร์ที่ไหนก็ได้ในห้อง (ยกเว้นใส่กล่อง) และด้วยความที่ R-12SWi เป็นซับวูฟเฟอร์ไร้สาย อิสระในการจัดวางของเราจึงเพิ่มมากขึ้น ขออย่างเดียวคือต่อไฟได้ กับตั้งอยู่บนพื้นราบมั่นคง เท่านี้ก็เพียงพอ

จบจากการจัดวางก็จะเป็นเรื่องของการปรับตั้งค่าต่างๆ เช่น จุดตัดความถี่, ระดับเสียง และเฟส ซึ่งเบื้องต้นทีมงานมักจะแนะนำให้ปรับระดับเสียง หรือ Gain ไปที่ตำแหน่งเที่ยงตรง ปรับเฟสไปที่ 0 และสุดท้าย Low Pass ให้หมุนไปหา “LFE” เพื่อที่จะเลือกใช้งาน Low Pass Filter ที่ตัวแอมป์ซึ่งมักจะมีคุณภาพสูงกว่าแทน

เมื่อปรับค่าที่ตัวซับวูฟเฟอร์เสร็จ หาก AVR ของท่านมีระบบปรับจูนเสียงอัตโนมัติเช่น Audyssey, AccuEQ, YPAO, ฯลฯ ก็ให้ทำการเสียบแล้วเซ็ตอัพสักหนึ่งรอบ หลังจากระบบทำการปรับจูนเสร็จสิ้น ให้เราทำการเช็คค่าด้วยตัวเองอีกสักครั้งหนึ่ง เพราะเป็นไปได้ว่าระบบอาจจะคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงอยู่บ้าง เช่นระยะห่าง แล้วก็ความดังของลำโพงแต่ละแชนแนล ฉะนั้นเราควรจะต้องตรวจทานอีกสักทีเพื่อให้ค่าที่ได้ออกมาใกล้เคียงความสมบูรณ์ที่สุดครับ

หมายเหตุ: แนะนำให้ทำการเบิร์นอินลำโพงซับวูฟเฟอร์จนคุณภาพเสียงนิ่งเสียก่อน เพราะในช่วงก่อนพ้นเบิร์นอิน เสียงของซับวูฟเฟอร์ที่ยังไม่นิ่งจะสร้างความรู้สึกแปลกแยก อันจะส่งผลกระทบต่อการอ้างอิงปรับตั้งเสียงของซับวูฟเฟอร์

Sound – เสียง

สำหรับการทดสอบผมจะเน้นไปที่การต่อแบบ 5.1 เป็นหลัก ซึ่งน่าจะเป็นระบบที่ยังคงใช้งานกันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน โดยจับคู่กับ Denon AV-X2100W

หลังจากจบขั้นตอนของ Audyssey ไปแล้ว พบว่าปริมาณเสียงเบสค่อนข้างจะล้นไปพอสมควรกับตำแหน่ง Gain ที่พิกัดเที่ยงตรง เลยจำเป็นต้องปรับลดลงมาเสียหน่อยให้อยู่ในช่วงที่พอดีไม่เด่นกลบแชนแนลอื่นจนเกินไป

เริ่มด้วยการฟังเพลงแบบ 2.1 กับแทร็คยอดฮิต Poem of Chinese Drum ของ Hok-man Yim เพื่อฟังเสียงกลองในท่อนอินโทร ว่าถูกขับออกมามีขนาดใหญ่เหมาะสมและออกมาพร้อมกับเสียงย่านอื่นทางด้านหน้าหรือไม่ เป็นการเช็คค่าที่เราจูนไว้ไปในตัว

ลักษณะเสียงต่ำที่ได้จาก R-12SWi จะเป็นเอกลักษณ์ชัดเจนเหมือนลำโพงยี่ห้อนี้ไม่มีผิดเพี้ยน คือมีความกระชับสั้น ได้ใจความ ไม่มีการครางอื้ออึงติดค้างให้หย่อนย้วย ทำให้เสียงกลองจากเพลงด้านบนมีความหนักแน่น และมีโฟกัสที่ชัดเจน

สลับไปฟังเพลงคลาสสิคจากแผ่น Grand Canyon Suite ของ Erich Kunzel เพื่อขยายสเกลให้ดูกว้างขึ้น ซึ่งมวลเบสแบบกระชับๆ ช่วยทำให้เสียงความถี่ต่ำถูกจัดระเบียบไม่กวนไปกับเครื่องดนตรีชิ้นอื่นจนเกินไป ทำให้รายละเอียดของเพลงถูกเผยให้เห็นในปริมาณที่พอเหมาะ