28 Dec 2015
Review

จ้าวแห่งรัตติกาล !! รีวิว LG 4K OLED TV 65EG960T ที่สุดแห่งภาพในปีนี้


  • lcdtvthailand

Picture – ภาพ

เรื่องภาพจัดว่าเป็นจุดเด่นที่สุดของ OLED TV เพราะ OLED นั้นสามารถกำเนิดแสงได้ด้วยตัวเอง (Self-Lighting) ต่างจาก LED/LCD TV ทั่วไปที่ยังต้องพึ่งพาหลอด LED Backlight ในการกำเนิดแสงอยู่ ฉะนั้นในการสร้างแสงสีของ OLED TV เม็ดพิกเซลก็เพียงแค่เปล่งแสงสีออกมาตรงๆเท่านั้น รวมถึงการที่จะแสดงสีดำให้ดำสนิทสุดขั้ว ตัวเม็ดพิกเซลก็แค่ปิดตัวเองลงให้สนิท ก็จะสามรถสร้างสีดำที่ดำสนิท 100% ต่างจาก LED / LCD TV ที่มักยังจะมีแสงลอดออกมาให้เห็นอยู่ รู้หรือไม่ว่า ? ฉากหลังที่ดำสนิทที่สุดคือเหตุให้สีสันของตัวละครและวัตถุสดเด้งขึ้นมาอย่างอัตโนมัติ อุปมาให้เห็นภาพดั่งดวงดาวที่สุกสกาวที่สุดในช่วงที่ท้องฟ้ามืดมิดที่สุด ! (นั่นสิ….เคยเห็นดวงดาวสว่างเรืองแสงจนสวยจับใจตอนโพล้เพล้ 5 โมงเย็นไหมละ ?) สโลแกนที่เขาบอกว่า OLED TV คือ Perfect Black = Perfect Color ก็มาจากเหตุนี้นี่เอง

LG 65EG960T ก็เป็น OLED TV ความละเอียดแบบ 4K Ultra HD ตัวแรก ต่อยอดความสำเร็จมากจาก OLED TV ยุคเริ่มต้นอย่าง รุ่น EA9800 (2013) และ รุ่น EC930T (2014) ยังคงใช้โครงสร้างแบบ WRGB Pixel ที่เพิ่มสีขาวเข้ามาในแม่สีหลัก ภาพถูกขับเคลื่อด้วยชิพประมวลผล Triple XD Engine พร้อมระบบ 4K UpScaling ส่วนภาพ 3 มิติก็ยังคงไม่ทิ้งเทคโนโลยีแบบ Passive อันเลื่องชื่อ โดยให้แว่น 3 มิติมาทั้งหมด 2 อัน เกริ่นสเป็คไว้เท่านี้พอ มาชมการทดสอบจริงกันเลยดีกว่า

ตารางแสดงอุณหภูิสี ความสว่าง และอัตรากินไฟ ของโหมดภาพสำเร็จรูป
โหมด ISF Expert 1 (และ 2) ให้ค่าที่ค่อนข้างเที่ยงตรงที่สุด จึงเลือกใช้ในการปรับภาพเบื้องลึก
รวมถึงแนะนำให้ทุกท่านใช้ในการรับชมจริงด้วย โทนสีจะเป็นโทนอุ่นแบบโรงหนังดูสบายตา

โหมดภาพสำเร็จรูปจากโรงงานที่ดีที่สุด คือ ISF Expert 1 (และ 2) ให้สีสันเที่ยงตรง อุณหภูมิสีเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 6600K ซึ่งใกล้เคียงมาตรฐาน D65 ภาพที่ได้จึงดูลงตัวเป็นธรรมชาติ อาจไม่จำเป็นต้องปรับแต่งเพิ่มเติม แต่เพื่อความเที่ยงตรงสูงสุดอาจต้องตรวจเช็ค Brightness ซักหน่อย เพื่อให้สามารถแสดงรายละเอียดในที่มืดได้เด่นชัดมากขึ้น OLED TV ตัววนี้ก็เหมือนทีวี LG ประจำปี 2015 – 2016 รุ่นอื่นๆที่มีตัวเลือก Gamma แบบ ITU-R BT.1886 ทว่าผลลัพธ์จริงจะยังไม่ถึงกับตรงตามมาตรฐานมากนัก ตัวเลือก Gamma 2.4 กลับให้ผลลัพธ์ที่ใกล้เคียงมาตรฐาน ITU-R BT.1886 มากกว่า

หมายเหตุ : ITU-R BT.1886 เป็นมาตรฐานใหม่ของ Gamma ที่ถูกปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับจอภาพยุคนี้

หลังปรับภาพเบื้องลึกทั้งค่า White Balance ก็ทำได้สมบูรณ์แบบ 
ส่วนขอบเขตของสียังมีอั้นที่เขียวนิดหน่อย ต้องระมัดระวังในการให้น้ำหนักการปรับแก้ CMS 
เพราะอาจจะทำให้การแสดงสีผิดเพี้ยนได้
มีดูผลลัพธ์ที่ส่งผลถึงการแสดงขอบเขตของสีของ 65EG960T 
จะพบว่าหากปรับ Color Gamut เป็น Wide จะให้ขอบเขตการแสดงสีกว้างกว่า Standard อยู่ประมาณหนึ่ง 
ทว่ายังไม่กว้างที่สุดเมื่อเทียบกับมาตรฐาน UHD TV ระดับท็อปๆ

ทดสอบเรื่องสีสันและความคมชัด

เริ่มทดสอบจากแผ่น Jurassic World ฉากที่สองพี่น้องจอมซนขี่คริสตัลบอลไปยังเขตหวงห้าม ภาพที่ได้มีความ “ใสปิ๊ง” ต่างจาก LED TV ที่เคยดูมาที่มักจะออกติดโทนด้าน ส่วนเรื่องสีสันถูกขับออกมาได้อย่างสดอิ่มวาววับ ทั้งต้นไม้ใบหญ้าในทุ่งอันเขียวขจี ตลอดจนสีสันอันอิ่มเอมบนใบหน้าของเจ้าหนูคนเล็ก ส่วนความคมชัดจากการอัพสเกลภาพ Full HD เป็น 4K Ultra HD ก็อยู่ในเกณฑ์ยอดเยี่ยม รายละเอียดปลีกย่อยอย่างเส้นผมก็ดูคมกริบเป็นเส้น ไม่มีแตกเป็นเหลี่ยมบล็อค ฉากที่เจ้าอินโดไนมัสเร็กซ์แหกกรงออกมาก็ได้อารมณ์รุกเร้าแบบเต็มคำ ต้องขอบคุณฉากหลังที่ทำได้มืดสนิททำให้ตัวละครและวัตถุถูกผลักดันโดดเด้งขึ้นอย่างอัตโนมัติ ผมขอใช้คำว่า OLED TV ให้ภาพที่ “อิ่มลึก” เนื่องด้วยฉากหลังที่สามารถทำได้ดำสนิทผสานกับสีสันของวัตถุที่เอิบอิ่มเป็นทุนเดิม จึงช่วยกันส่งเสริมให้เกิดมิติภาพที่อิ่มลึกขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องยากมากที่ LED/LCD TV จะทำได้แบบนี้

อีกฉากที่ทดสอบคือฉากจากหนังเรื่อง San Andreas ที่หนุ่มชาวเอเชียผู้เสียสละหนีตายจากเขื่อนถล่ม สีส้มของเสื้อแจ็กเกตมีความเตะตามาก คือไม่ได้สดเกินจริง แต่สดอิ่มอยู่ในกรอบของมันแบบมิได้พุ่งใส่เราจนเกินงาม เนื้อแท้ของจอ EG960T ให้ภาพที่สะอาดสะอ้านมากอยู่แล้ว แต่เมื่อมาเจอแผ่นดินไหวก็สามารถแสดงรายละเอียดฝุ่นคลุ้งที่ปลิวว่อนเหล่านั้นได้อย่างเลอะเปรอะสมจริง สามารถส่งอารมณ์ความโกลาหลจากการหนีตายให้ได้ลุ้นระทึกจนบีบหัวใจกันไปตามๆกัน

ฉากที่สองพี่น้องนั่งรถไฟไปสถานี ภาพที่ได้ใสปิ๊งและลุ่มลึก
ฉากหนีเขื่อนถล่มจาก San Andreas แสดงความเลอะเประของฝุ่นคลุ้งจนสื่ออารมณ์ความโกลาหลได้ดี

ทดสอบมุมมองรับชม

ผมและทีมงานอีก 3 ท่านช่วยกันดูแบบ “จับผิด” ทั้งมุมตรง มุมเฉียงแบบปกติ จนถึงมุมเฉียงสุดๆ ทุกท่านลงมติว่าเจ้า EG960T ให้มุมมองการรับชมได้กว้างมากสุดๆ จะเรียกว่าดีกว่า Plasma TV ก็ไม่ผิด เพราะ Plasma TV ในหลายรุ่นมักจะใช้ Glass Filter หรือกระจกซ้อนกระจกเพื่อลดแสงสะท้อน ซึ่งจะก่อให้เกิดภาพซ้อนบนกระจกทั้ง 2 บานหากมองมุมเฉียงและมุมกด ส่วนพวกที่ใช้ Film Filter เพื่อลดแสงสะท้อนก็จะไปกักระดับความสว่างจนภาพโดยรวมมืดลงอย่างเห็นได้ชัด  ในขณะที่ LED / LCD TV ของ LG เองที่ใช้หน้าจอแบบ IPS ซึ่งขึ้นชื่อว่ามุมมองรับชมกว้างหากเทียบกับหน้าจอพาแนลชนิดอื่น แต่พอมาท้าชกกับ OLED TV เท่านั้นแหละก็ถึงกับหงายเงิบไม่เป็นท่า อาการสีซีดและหน้าจอมืดยังคงเกิดขึ้นกับจอ IPS ในขณะที่จอ OLED TV ยังคงความสว่างและความเอิบอิ่มของสีไว้ได้ยอดเยี่ยม คำเคลมที่ว่า “มุมมองรับชมกว้างถึง 180 องศา” ก็เป็นเรื่องจริงไม่ได้โอเวอร์เคลมแต่อย่างใด ถ้าท่านไหนไปตามห้างก็ลองไปยืนมุมเฉียงทดสอบเปรียบเทียบกับทีวีแบบอื่นดูได้

ทดสอบโมชั่นภาพเคลื่อนไหว

มาทดสอบภาพเคลื่อนไหวกันบ้าง สำหรับการเล่นคอนเทนต์ Full HD 1080p กับหน้าจอความละเอียด 4K Ultra HD หาก “ปิด” ตัวช่วยแทรกเฟรมภาพทิ้งไปโมชั่นภาพเคลื่อนไหวก็ยังดูไม่ราบลื่นเสียเท่าไหร่นัก ยังคงมีอาการสั่นๆที่เรียกว่า Judder อยู่บ้าง ซึ่งอาการสั่นนั้นทำให้ภาพเคลื่อนไหวโดยรวมดูอ่อนล้าและไม่เป็นธรรมชาติ อาการดังกล่าวจะเกิดขึ้นแน่นอนกับกับท่านที่ตั้งค่าภาพไม่ถูกต้อง หรือแม้กระทั่งสุ่มเปิดฟังก์ชั่นแทรกเฟรมภาพอย่าง “TruMotion” เข้าช่วยอย่างผิดระดับ เว็บรีวิวต่างประเทศยังคงมีกังวลเรื่องนี้กันอยู่บ้าง ทว่าทางทีมงานได้ลองทดสอบระดับ TruMotion ทุกระดับ แล้วค้นพบ “จุดสมดุล” ที่สุดที่ช่วยให้ภาพเคลื่อนไหวราบลื่นเป็นธรรชาติไร้อาการสั่น ซึ่งก็สามารถเลือก TruMotion ให้เป็นระดับ User และเลือก De-Judder (ลดสั่น) และ De-Blur (ลดเบลอ) ให้อยู่ในระดับ 3 ทั้งคู่ ผลลัพธ์คือภาพเคลื่อนไหวไหลเนียนขึ้นอย่างผิดหูผิดตา อีกทั้งยังไม่ก่อให้เกิดอาการวุ้นเงาเรืองแสงตามขอบวัตถุอีกด้วย สรุปได้ว่าหากรับชมคอนเทนต์ Full HD ภาพเคลื่อนไหวนั้นจำเป็นต้องใช้ TruMotion เข้าช่วยพยุงภาพ และที่สำคัญต้องตั้งระดับของ TruMotion ให้ถูกต้องตามที่แนะนำด้วย เดี๋ยวภาพไม่ลื่นจะหาว่าไม่เตือน !

ตั้งค่า TruMotion ให้เป็น User ปรับให้ De-Judder และ De-Blur เป็น 3 ทั้งคู่
ภาพคอนเทนต์ Full HD จะไหลลื่นขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ

ทดสอบความดำ

ถัดมาทดสอบความดำด้วยคอนเทนต์โลโก้ Oppo ซี่งมักใช้ประจำในงานบรรยายประจำปีของทีมงาน ทดสอบทั้งเปิดไฟ-สว่างและปิดไฟห้องมืดสนิทแบบ Black Out และก็เป็นไปตามคาดว่า 65EG960T สามารถทำสีดำได้ดำสนิท 100% ลองใช้มิเตอร์วัดระดับความสว่างก็อ่านค่าความสว่างไม่ได้เพราะมันไม่มีแสงลอดออกมาเลยซักนิดเดียว ตามทฤษฎีแล้วจะทำให้ให้ค่าคอนทราสต์เป็น “ค่าอนันต์” ถือว่าได้ยึดครองตำแหน่ง “จ้าวแห่งรัตติกาล” แทนที่แชมป์เก่า Plasma TV อย่างเบ็ดเสร็จ จากการทดสอบโครงสร้างแบบ Self Lighting ของ OLED TV ที่เม็ดพิกเซลสามารถกำเนิดแสงได้ด้วยตัวเอง พบว่าสามารถทำงานได้ดีกว่าหลักการกำเนิดแสงโดยใช้ก๊าซของ Plasma TV ด้วยซ้ำ หาก Plasma เจอฉากมืดดำซึ่งถือว่าสร้างสีดำได้ดีมากอยู่แล้ว แต่กระนั้นก็ยังติดปัญหาเม็ดนอยซ์ยิ่บๆที่เกิดจากการเตรียมเปล่งแสงของเม็ดพิกเซลอยู่ เลยทำให้ยังไม่สามารถสร้างระดับความดำได้ดำสนิท 100% จึงบอกได้ว่า LG OLED TV รุ่น 65EG960T คือทีวีที่สามารถสร้างระดับสีดำได้ดีที่สุดในโลก ณ ตอนนี้ !

ในทางกลับกันระดับความสว่างของ EG960T ก็จะอยู่ประมาณ Edge LED TV เท่านั้น หากวัดด้วยแพทเทิร์นสีขาวเต็มจอ 100% หรือที่เรียกว่า Full Window ฉากหลังขาว 100% ก็จะสว่างอยู่ประมาณ 70 fL ในขณะที่วัดด้วยแพทเทิร์น 18% Window กล่องสี่เหลี่ยมขาวขนาดเล็กบนพื้นหลังสีดำ ระดับความสว่างจะขึ้นมาอยู่ที่ 130 fL ซึ่งถามว่าเพียงพอไหม ? ก็ถือว่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานสำหรับใช้งานทั่วไป รวมถึงสู้งแสงแบบปกติได้อย่างดี อยู่ในระดับเดียวกับ LED TV ทั่วไปในท้องตลาดนั่นแหละ อย่างไรก็ตามหากวัดเรื่องความสว่างกันเพียวๆทีวีประเภท Full LED TV ที่มาพร้อมเทคโนโลยี Quantum Dot ยังคงให้ระดับความสว่างได้สูงกว่าเกือบ 2 เท่า ขานั้นหากแดดแรงๆก็ยังสู้แสงได้ไม่มีถอย

โลโก้ Oppo ไว้ทดสอบระดับความดำของฉากหลังซึ่ง EG960T ทำได้ดำสนิท 100%

ปัญหา Image Retention มีไหม ?

ปัญหาเรื่อง Image Retention (IR) หรือที่บางท่านเรียกว่า “เบิร์นอิน” คือหากเปิดฉากที่มีโลโก้นิ่งๆแช่ค้างไว้นานๆ โลโก้เหล่านั้นจะเป็นรอยค้างติดอยู่บนหน้าจอ แบบเดียวกับ Plasma TV ที่เคยประสบมาอย่างนมนาน จากการทดสอบของทีมงานเองกับการดูหนังและรายการทีวีอย่าง “วิถีคนทั่วไป” ก็ไม่พบปัญหาดังกล่าว เลยลองใช้ตัวโชว์ที่ร้าน LCDTVTHAILAND เปิดคอนเทนต์สาธิตของทาง LG เองแบบกระหน่ำตั้งแต่ 10.00-18.00 เป็นเวลา 8 ชั่วโมงติดต่อกันทุกวัน ยกเว้นวันหยุดวันอาทิตย์ ดีกรีความเข้มข้นในการเปิดเครื่องก็ประหนึ่งเปิดโชว์ทั้งวันทั้งคืนตามห้างนั่นแหละ โดยทดสอบเปิดทั้งตัว 4K Ultra HD และตัว Full HD ไว้อย่างละเครื่อง ก็ยังไม่พบปัญหาดังกล่าวเช่นกัน

เลยขอลอง “เล่นของสูง” โดยการกดหน้าจอเมนูของตัวเครื่องทิ้งค้างไว้หลายชั่วโมง จึงพบร่องรอยของกรอบเมนูและตัวอักษรค้างติดจอขึ้นมา แต่ถือว่าเป็นอาการ “ค้างชั่วคราว” เมื่อเอาคอนเทนต์อื่นมาเปิดล้างซักแป๊ปก็จะหายเป็นปกติ ทีมงานจึงขอสรุปว่า Image Retention มีโอกาสเกิดขึ้นไหม ? คำตอบคือ มีครับ….แต่มีโอกาสเป็นน้อยกว่า Plasma TV หลายเท่านัก หากเป็นการใช้งานดูหนังและดูรายการทีวีทั่วไปก็ถือว่าไม่ต้องกังวลอะไร นอกเหนือจากนั้นผมได้มีโอกาสสอบถามสมาชิกเว็บผู้ใช้งาน LG OLED TV รุ่นแรกๆอย่าง 55EA9800 และ 55EC930T ก็ยังไม่มีใครเจอะกับปัญหานี้โดยตรง เอาเป็นว่าสบายใจได้

ดูดิจิตอลทีวี คม-ชัด-ใส ภาพดีกว่า LED TV จนรู้สึกได้
เปิดช่อง 3 ทิ้งไว้ทั้งวันก็ไม่พบอาการ Image Retention
ดูท่านทุกวันเลย ได้ความรู้สึก “ลุ่มลึก” เป็นพิเศษ ^ ^ !
มุมมองด้านข้างกับช่อง 7 HD ถือว่ายอดเยี่ยม สีไม่มีดร็อปทุกมุมมอง

ทดสอบภาพ 3 มิติ

ในตอนนี้หนังความละเอียด 4K แท้ที่เป็น 3D ก็ยังไม่มีวี่แววจะเปิดตัวให้เห็น เลยจำเป็นต้องใช้แผ่น Blu-ray 1080p 3D เป็นหลักในการทดสอบ ผมเลือกใช้แผ่นเรื่อง Step Up : Revolution ที่มักใช้เปิดสาธิตในงานบรรยายทดสอบ เพราะในฉากมีทั้งภาพเคลื่อนไหวเร็วของตัวละครที่ออกลีลาเต้นกันอย่างเมามันส์ ตลอดจนสีสันของเสื้อผ้ามันคัลเลอร์ฟูลอร่ามตาดี จึงใช้ทดสอบคุณภาพได้หลายแง่ EG960T เป็น Cinema 3D (Passive 3D) สามารถถ่ายทอดภาพ 3 มิติได้อย่างเยี่ยมยุทธ์ มิติภาพลอยโดดเด้ง โดยเฉพาะฉากที่ยกแข้งยกขานี่แทบทะลุจอ สีสันและความสว่างยังคงไว้ได้ดี ไม่มีมืดดร็อปลงไป ส่วนระดับความดำช่วยดึงฉากหลังให้ลึกมีมิติลงไปอีกขั้น จะเรียกได้ว่า 3D แบบ Passive บนจอ OLED TV ช่วยเรื่องภาพได้ถึง “2 เด้ง” ทั้งมิติเชิงลอย (Pop Up) และเชิงลึก (Depth) อาการ Cross Talk หรือภาพเหลื่อมซ้อนกันมีน้อยมาก ข้อจำกัดขอบภาพจากหลักการสลับเส้นที่เป็นรอยหยักฟันปลาหากไปเพ่งใกล้ๆก็คลายลงไปเยอะเพราะความละเอียดแบบ 4K Ultra HD มันละเอียดถึง 2160 เส้น จึงทำให้ขอบภาพคมขึ้นโดยปริยายเพราะเส้นภาพมันเล็กและถี่กว่าหากเทียบกับทีวีความละเอียดแค่ Full HD 1080 เส้น ส่วนแว่น 3D ที่ให้มาใส่สบายตามสูตร ไม่ต้องใช้แบตเตอรี่ น้ำหนักเบาไม่หนักหน้า ระยะที่แนะนำสำหรับการรับชม 3D กับทีวีขนาด 65″ คือ 2-4 เมตร ซึ่งจะได้ความสมดุลทั้งมิติภาพและความคมชัด ส่วนข้อติคือให้แว่น 3D มาแค่ 2 อันเท่านั้น จากเดิมรุ่นท็อปๆในอดีตยุค 3D รุ่งเรืองเคยได้ถึง 4

ทดสอบ 3D แบบ Passive ทำได้ดีเช่นเคย

ทดสอบคอนเทนต์ 4K

ผมใช้เรื่อง Tears of Steal ซึ่งเป็นหนังสั้นความละเอียด 4K Ultra HD แท้มาทดสอบ ความคมชัดและความสะอาดสะอ้านของภาพอยู่ในเกณฑ์น่าประทับใจมาก คือหน้าตัวละครมันชัดแบบสะอาดใส ไม่ใช่คมชัดแบบติดหยาบกร้านหรือมีน็อยซ์พ่วงมา มิติภาพแน่นอนว่าลึกกว่าคอนเทนต์แบบ Full HD เป็นไหนๆ คือนอกจากระดับความดำที่จะช่วยส่งเสริมมิติของภาพแล้ว จำนวนเม็ดพิกเซลนี่แหละเป็นอีกปัจจัยหลักที่มองข้ามมิได้ ลองนึกภาพซักภาพหนึ่งที่มีมิติแบบ “หน้าชัดหลังเบลอ” ซึ่งแน่นอนว่าภาพหน้าชัดพร้อมหลังเบลอแบบทั้ง 8.29 ล้านพิกเซลก็ย่อมจะโดดเด้งกว่าแค่ 2.1 ล้านพิกเซล (ถึง 4 เท่า) ภาพจึงดูทั้งคมและมีมิติที่ลึกกว่า สำหรับหนังทดสอบเรื่องนี้ภาพสวยจริงแค่ดูภาพอย่างเดียวโดยไม่ต้องรับทราบเรื่องราวก็ยังนั่งดูเพลินไปจนเกือบจบเรื่อง แถบ Black Bar บน-ล่างก็ดำสนิทไม่มีแสงเล็ดลอดมากวนลูกตาขณะรับชม โดยรวมไม่ได้มีข้อติใดๆ แค่ติดว่าทุกวันนี้ดูแต่คอนเทนต์ Demo แบบ 4K จนเบื่อ ก็หวังว่าหนังที่ประกาศกันโคร่มๆว่า “หนังจริง” แบบ 4K Ultra HD Blu-ray จะมาแน่นอนต้นปี 2016 จะออกมาจริงตามกำหนด ไม่ใช่สับขาหลอกไปเรื่อยเหมือนทุกวันนี้ พวกเราชาว 4K จะได้ใช้ทีวีเต็มศักยภาพเสียที

ทดสอบคอนเทนต์ 4K แท้เรื่อง Tears of Steel

อย่างไรก็ตามภาพจาก LG 65EG960T OLED TV ยังมีข้อสังเกตดังต่อไปนี้

– ยังไม่รองรับ HDR แต่เมื่อลองใช้ไฟล์ USB ที่เป็นคอนเทนต์ HDR แบบ 4K ปรากฏว่าเล่นได้เฉย แต่ภาพก็ยังไม่ใช่ HDR ทั้งที่มีโลโก้ HDR : On แสดงขึ้นมา
– ขอบเขตของสียังไม่กว้างเท่า UHD TV ตัวท็อปๆที่ใช้เทคโนโลยี Quantum Dot
– ระดับความสว่างเทียบเท่าประมาณ Edge LED TV เท่านั้น ยังไม่สว่างเท่า Full LED – UHD TV แบบ Quantum Dot

สรุปได้ว่า LG 65EG960T ให้ภาพที่ยอดเยี่ยมแบบ A-B-C คือทั้ง Angle = มุมมอง / Black Level = ระดับความดำ / Color = สีสัน OLED TV นับว่าเป็นนวัตกรรมใหม่ของทีวีที่ยกระดับคุณภาพของภาพให้ทะลุขีดจำกัดเดิมไปอย่างหมดสิ้น ต่างจากยุคที่เปลี่ยนถ่ายจาก LCD เป็น LED ซึ่งเรื่องภาพก็ไม่ได้ต่างกันอย่างมีนัยยะขนาดนั้น หากเอา LED TV มาตั้งชนกันตัวต่อตัว เจ้า EG960T นี่กินเรียบทุกองศา ยิ่งถ้าเป็นห้องมืดสนิทภาพก็จะยิ่งทิ้งขาด ยกให้เป็น “จ้าวแห่งรัตติกาล” ใน พ.ศ. นี้