04 Sep 2017
Review

รีวิว LG OLED65B7T เจ้าตำรับ OLED TV รุ่นเล็กปีนี้จะกินเรียบ หรือจะโดนเจ้าอื่นข่ม !!?


  • ชานม

โหมดภาพสำเร็จรูปเมื่อรับชม HDR มีทั้งหมด 5 โหมด ได้แก่ Vivid, Standard, Cinema Home, Cinema และ Game ซึ่งโหมดที่ให้ความสว่างสูงสุด ผิดคาดว่าไม่ใช่ Vivid แต่เป็น Game ระดับ Peak Brightness อยู่ที่ราว 683 nits

อย่างไรก็ดี โหมดที่แนะนำเนื่องจากได้สมดุลสีดีกว่า คือ Cinema โหมดนี้ระดับ Peak Brightness จะต่ำกว่าเล็กน้อยอยู่ที่ 619 nits ความเที่ยงตรงในแง่สมดุลสีอยู่ในเกณฑ์ดีมาก ดีกว่าเจนฯ ก่อนอย่างเห็นได้ชัด ความสามารถด้านขอบเขตสี (Color Space) ไม่แตกต่างจากปีก่อนมากนัก ทำได้ครอบคลุมราว 95% ของมาตรฐาน DCI-P3

ถึงแม้ LG จะเปิดโอกาสให้ผู้ใช้ทำการปรับภาพละเอียดกับโหมดภาพ HDR ผ่าน 20-point Whit Balance ได้ก็จริง แต่เนื่องจากไปอิงมาตรฐาน Code Value ที่เข้าใจยาก (แตกต่างจาก 20-point WB เมื่อปรับโหมด SDR) หากมีความจำเป็นต้องปรับสมดุลสี เบื้องต้นอาจปรับแบบ 2-point ก็ให้ผลลัพธ์ที่ลงตัวเพียงพอครับ โดยหลังจากปรับภาพแล้วจะให้ความเที่ยงตรงสำหรับการรับชม HDR ดีขึ้นอีกเล็กน้อย ความสว่าง Peak Brightness ลดลงไม่มาก อยู่ที่ 605 nits ยังสูงกว่ามาตรฐาน Ultra HD Premium ที่กำหนดไว้ 540 nits จึงถือว่า 65B7T ผ่านเกณฑ์ Ultra HD Premium ครับ!

โมชั่นแทรกเฟรมภาพเคลื่อนไหวของ LG เรียกว่า TruMotion ปรับได้ 2 ระดับสำเร็จรูป และ User สำหรับปรับแต่งเพิ่มเติมผ่านตัวเลือก De-Judder และ De-Blur

จากการใช้งานพบว่า เลือก User แล้วปรับแต่งเองจะให้ผลลัพธ์ที่ลงตัวกว่าค่าตั้งต้น ซึ่งระบบรองรับการปรับแต่งได้ยืดหยุ่นดี เบื้องต้นสำหรับการรับชมภาพยนตร์ทั่วไปอาจกำหนด De-Judder ไว้ราวๆ 3 จะบาลานซ์ระหว่างความไหลลื่นจากการจำลองแทรกเฟรมเสมือนเข้ากับปริมาณเฟรมต้นฉบับได้ค่อนข้างดี ยังคงความเป็นธรรมชาติอยู่ แต่กับคอนเทนต์บางลักษณะ เช่น ภาพยนตร์อนิเมชั่น อาจต้องปรับลดระดับ De-Judder ลงอีก เพราะคอนเทนต์ลักษณะนี้จะเห็นจุดบกพร่องจากการจำลองแทรกเฟรมเสมือนได้ง่ายกว่าครับ

ความเที่ยงตรงที่ได้จากตัวเลือกปรับภาพละเอียดของ B7 สามารถนำไปใช้งานเป็นจอภาพอ้างอิงได้อย่างยอดเยี่ยม การถ่ายทอดสีดำที่ดำสนิทช่วยให้การอ้างอิง Black Level สำหรับงานบางลักษณะใกล้เคียงอุดมคติขึ้น

ส่วนท่านที่กังวลว่าการใช้งานเป็นจอมอนิเตอร์ที่ต้องเปิดภาพนิ่งค้างไว้จะเป็นปัญหากับ OLED TV หรือเปล่า? ด้วยฟีเจอร์ Screen Shift จะช่วยป้องกันปัญหาภาพติดค้าง (Image Retention) กับ OLED TV เมื่อเปิดภาพนิ่งค้างไว้เป็นเวลานานได้ อย่างไรก็ดีการใช้งานเป็นมอนิเตอร์ร่วมกับคอมพิวเตอร์แนะนำว่า อาจใช้เป็นจอภาพรอง เช่น จอภาพสำหรับพรีวิวงานตัดต่อวิดีโอที่เป็นภาพเคลื่อนไหวจะสบายใจกว่า ส่วนท่านใดจะใช้งานนอกเหนือจากนี้ไม่มีข้อห้าม แค่ระมัดระวังหน่อย ไม่ต้องกังวลจนเกินไปนัก

ส่วนการเล่นเกมร่วมกับเครื่องเกมคอนโซล หากท่านเป็นคนหนึ่งที่เซ็นซิทีฟกับ Input Lag แนะนำให้เปลี่ยนโหมดภาพเป็น Game เพื่อระดับ HDMI Input Lag ต่ำเพียง 21.2 ms (โหมดอื่นๆ Input Lag จะอยู่ที่ราว 88 ms) แต่ในโหมด Game ภาพจะติดอมฟ้า ถ้าซีเรียสเรื่องดุลสี คงต้องดำเนินการปรับภาพเพิ่มเติมเอง

Sound – เสียง

เมื่อเป็นรุ่นน้องเล็ก จุดที่ยังเป็นรองรุ่นพี่จากตระกูล OLED TV ด้วยกัน คงไม่พ้นเรื่องระบบเสียง แต่ถ้าเทียบกับลำโพงทีวีทั่วไปที่จัดวางลำโพงไว้เฉพาะส่วนล่างของจอภาพ โดยรวมผลลัพธ์คุณภาพเสียงของ B7 อยู่ในเกณฑ์ดี เสียงไม่คลุมเครือ ปริมาณเบสใช้ได้ ไม่ถึงกับหนักหน่วง แต่ก็ไม่บางจนเกินไป (เข้าใจว่าจะมีซับวูฟเฟอร์ซ่อนอยู่ด้านในโครงสร้างด้านหลัง)

B7 สามารถถอดรหัสเสียง Dolby Digital และ DTS ได้ในตัว ซึ่งคงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรสำหรับทีวีระดับนี้ แต่ที่เด็ด เห็นจะเป็นรองรับระบบเสียงใหม่อย่าง Dolby Atmos โดยดูได้จากตัวเลือกตั้งค่าในส่วนของ Sound อย่างไรก็ดีในแง่การตอบสนองเสียงรอบทิศทางที่รวมถึงมิติเสียงด้านสูงสำหรับลำโพงทีวี ยังมีข้อจำกัดอยู่

Dolby Atmos ของทีวีอย่าง B7 จะใช้พื้นฐานการถอดรหัสข้อมูล Metadata จากระบบเสียง Dolby Digital+ (แตกต่างจาก AV Receiver ที่ถอดรหัส Atmos Metadata จากระบบเสียง Dolby TrueHD) นอกจากนี้ยังไม่มีการแยกลำโพงสำหรับสร้างเอฟเฟ็กต์ด้านสูงโดยเฉพาะ แต่ก็จำลองมิติเสียงโอบล้อมได้ ผลลัพธ์อิงตามสภาพแวดล้อม (ระยะห่างจากผนังด้านข้าง ด้านหลัง และฝ้าเพดาน) โดยอิงกับขนาดห้องที่ไม่ใหญ่เกินไป

อันที่จริงด้านหลังทีวีมีที่เหลือพอติดตั้งลำโพงเอฟเฟ็กต์สำหรับ Atmos เพิ่มเติมได้ แต่เท่าที่ลองส่อง B7 ดู รุ่นนี้ยังไม่มีครับ ลำโพงจะมีอยู่แค่ส่วนล่างของจอภาพเท่านั้น มิติเสียงด้านสูงจึงยังให้ได้ไม่ชัดเจน แต่ต้องยอมรับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่เปิดมิติใหม่ให้กับระบบเสียงทีวีได้น่าสนใจ

ฟอร์แม็ตไฟล์เสียงเมื่อเล่นผ่าน USB Storage ได้แก่ WAV, FLAC, ALAC, AIFF, MP3, WMA, AAC, APE และ midi แน่นอนว่ารองรับ Hi-res ด้วยครับ

Conclusion – สรุป

ราคาเปิดตัว LG OLED65B7T 169,990 บาท

ข้อดีของ LG OLED65B7T

1. OLED TV เจ้าตำรับ จากผู้ผลิต WRGB OLED Panel เพียงหนึ่งเดียวในปัจจุบัน (แต่อนาคตไม่แน่แล้ว) แน่นอนว่าเป็นความได้เปรียบที่ทำให้กระจายรุ่นได้อย่างครอบคลุม และ OLEDB7T ถือเป็นรุ่นหนึ่งที่คุ้มค่าหากอิงราคามาก่อนเป็นอันดับแรก
2. โหมดภาพจากโรงงาน อาทิ ISF Expert ทั้ง 2 ตัวเลือก ให้สมดุลสีมีความเที่ยงตรงดี แม้ไม่เด่นที่สุดในบรรดาทีวีระดับสูงของปีนี้ แต่ก็ดีกว่ามาตรฐานปีที่แล้วของ LG แบบสังเกตได้
3. ในส่วนของตัวเลือกปรับภาพละเอียดทั้งโหมด SDR และ HDR อิงตามมาตรฐาน ISF อาทิ  20-point White Balance และ CMS ภายหลังปรับภาพให้ความเที่ยงตรงสูง
4. Game Mode ให้ระดับ HDMI Input Lag ต่ำเพียง 21.2 ms แต่โหมดนี้สมดุลสีจะติดอมฟ้า หากต้องการสีสันที่เที่ยงตรงต้องทำการปรับภาพเพิ่มเติม
5. รีโมตแบบ Air Mouse หน้าตาอิงของเดิมแต่ยังใช้ควบคุมฟังก์ชั่น Smart TV ได้สะดวกดีเช่นเคย เพิ่มปุ่มลัด Netflix และ Amazon มาด้วย

ข้อเสียของ LG OLED65B7T

1. ดิไซน์เดิมๆ ไม่ต่างจากปีก่อน แต่เรื่องความสวยนั้นนานาจิตตัง อาจเป็นที่ถูกใจของหลายๆ ท่านก็ได้, ไม่มีโครงสร้างเก็บซ่อนสาย หลังทีวีดูรุงรังเมื่อเสียบสายสัญญาณเยอะๆ
2. โหมดภาพเมื่อรับชม HDR แม้รองรับการปรับภาพละเอียด White Balance 20-point แต่อ้างอิงมาตรฐานพารามิเตอร์เฉพาะแบบ Code Value เข้าใจยาก
3. ช่องต่อหูฟัง (3.5 mm) อยู่ด้านหลัง หากแขวนทีวีกับผนังจะเสียบยากหน่อย แต่รองรับหูฟังไร้สายแบบ Bluetooth สามารถใช้งานแทนได้ สะดวกกว่าด้วย
4. รองรับ Atmos แต่การติดตั้งลำโพงทีวียังมีข้อจำกัด ต้องกะระดับเสียงให้ดีๆ อย่าเปิดวอลลุ่มดังมากจนเกินไป
5. ผิววัสดุสังเคราะห์สีขาวแบบด้านที่ใช้ตกแต่งด้านหลังทีวี เปื้อนง่าย เมื่อเปื้อนแล้วเช็ดออกยาก

คะแนน

ดีไซน์ (Design)
8.75
ภาพ 2 มิติ ก่อนปรับภาพ (2D Picture Pre-Calibrated)
8.75
ภาพ 2 มิติ หลังปรับภาพ (2D Picture Post-Calibrated)
9.00
ภาพ 2 มิติ (HDR)
9.25
เสียง (Sound)
8.50
การเชื่อมต่อ (Connectivity)
8.75
ลูกเล่น (Features)
8.75
ความคุ้มค่า (Value)
8.25
คะแนนตัดสิน (Total)
8.70

คะแนน LG OLED65B7T (2017)

8.7

หมายเหตุ : มาตรฐานคะแนนปี 2017