17 May 2015
Review

ถึงไซส์จะเล็ก..แต่มีให้ครบ!! รีวิวชุดโฮมเธียเตอร์ Onkyo HT-S3700


  • boom

ถ้าพูดถึงสินค้าโฮมเธียเตอร์เซ็ตสำเร็จรูปของแบรนด์ Onkyo จะมีหลายซีรี่ย์มาก เริ่มตั้งแต่ 3xxx, 4xxx, 5xxx, 7xxx และ 9xxx แบ่งกันตามระดับความไฮเอ็นด์ของสินค้า โดยในอาทิตย์ที่แล้วคุณชานมได้ทำการรีวิวรุ่น HT-S7705 เอาไว้ ในอาทิตย์นี้ผมเลยหยิบเอารุ่นเล็กในระดับ Entry Level มาแนะนำกันสำหรับท่านที่มีงบประมาณไม่สูงมาก

ถ้ามองดูในเรื่องของฟีเจอร์แล้ว จุดเด่นหลักๆ ที่ทำให้ S3700 แตกต่างจากรุ่นก่อนหน้าคือการรองรับการแสดงผลภาพความละเอียด 4K ผ่านทางพอร์ต HDMI 2.0 ที่มาพร้อมกับ AVR ในระบบ นอกจากนี้ยังสามารถอ่านไฟล์เสียงความละเอียดสูง หรือที่มีชื่อเรียกว่าไฟล์ Hi-Res. Audio ผ่านทางพอร์ต USB ได้เลย ไม่ต้องผ่านเพลเยอร์ให้ยุ่งยาก

นอกจากนั้นหากสังเกตดีๆ หน้าเครื่องจะมีปุ่มที่เขียนว่า Music Optimizer นับว่าเป็นฟีเจอร์ใหม่ที่ไม่ได้ทำการโปรโมท โดยผมได้ลองเช็คจากคู่มือมีคำอธิบายเขียนไว้ว่า มันทำหน้าที่เพิ่มประสิทธิภาพให้กับเนื้อเสียงของไฟล์เพลงที่ถูกบีบอัดมา อย่างเช่น MP3 เป็นต้น

ถ้าคนที่คุ้นเคยกับ AVR แบบขายแยกตระกูล TX-NR ก็จะพอคุ้นๆ ว่าตำแหน่งของปุ่มนี้ก็คือปุ่ม Pure Audio ที่หลายท่านชอบกดกันตอนฟังเพลง ผมเลยขอเดาว่าเค้าน่าจะทำมาเพื่อจุดประสงค์คล้ายๆ กัน คือเพิ่มอรรถรสในการฟังเพลงให้มากขึ้น แต่ทำหน้าที่ต่างกัน ถ้า Pure Audio จะเป็นการตัดวงจร Equalizer ทั้งหมดในแอมป์ออก เพื่อให้ได้เนื้อเสียงสดๆ จากลำโพง ส่วน Music Optimizer ใน S3700 เซ็ตนี้จะเป็นการยกระดับ Equalizer ให้เด่นขึ้น เป็นการจับคู่ฟีเจอร์ให้เหมาะกับระดับลำโพงที่จะมาอยู่ในระบบ

Setup – การติดตั้ง

มือใหม่หลายท่านที่เข้ามาอ่านในนี้อาจจะมีความกังวลในการติดตั้งเครื่องเสียงด้วยตัวเองที่บ้านหลังจากซื้อมาแล้ว เพราะด้วยความที่ราคาเซ็ตนี้ไม่แพงมาก ตัวเครื่องเลยไม่มีระบบปรับจูนเสียงอัตโนมัติมาให้ ผมจึงจะมาแนะนำกันคร่าวๆ ว่ามีอะไรบ้างที่เราควรให้ความสำคัญเมื่อนำเครื่องเสียงเซ็ตนี้มาแกะกล่อง

เมื่อแกะชิ้นส่วนของกล่องออกมาทั้งหมดแล้วให้ทำการหาแผ่นรองสี่เหลี่ยมสีดำๆ ออกมาจากซองอุปกรณ์ก่อนเลยครับ แล้วนำมาแปะไว้ใต้ลำโพงทุกตัวในระบบ เพื่อลดการสั่นพ้องและเพิ่มความมั่นคงในกรณีที่วางลำโพงบนพื้นผิวที่ไม่ราบเรียบ 100% โดยเฉพาะอย่างยิ่งซับวูฟเฟอร์ เพราะว่าเป็นลำโพงตัวที่มีการสั่นมากเป็นพิเศษ

หลังจากแปะเรียบร้อยแล้วก็เริ่มจัดวางได้เลยครับ สำหรับตำแหน่งคร่าวๆ สามารถดูได้จากคู่มือที่แถมมาในซองอุปกรณ์ได้เลยครับ เข้าใจง่ายวางตามได้ไม่ยากเย็น

ตำแหน่งการจัดวางลำโพงแบบ 5.1 ในห้องฟังนะครับ
สำหรับซับวูฟเฟอร์จะวางฝั่งซ้ายหรือขวาก็ได้ครับ ไม่มีกำหนดทิศทางตายตัวสำหรับเสียงความถี่ต่ำ

เรื่องตำแหน่งนั้นอาจจะไม่ต้องเป๊ะๆ ตามคู่มือก็ได้ เพียงแค่ให้ตำแหน่งออกมาใกล้เคียง และเล็งให้ลำโพงคู่หน้ามีระยะห่างพอเหมาะ ไม่มากไม่น้อยเกินไป เพราะจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อเวทีเสียงและเนื้อเสียงโดยรวม

หลังจากจบเรื่องการจัดวางแล้ว ก็เปิดเครื่องขึ้นมาแล้วเข้าเมนู Home > Setup เพื่อที่จะมาตั้งค่าในแอมป์ให้เหมาะสมกับลำโพงกันก่อนครับ เริ่มจากที่ xxx Config เพื่อปรับขนาดของลำโพงทั้ง 5 ตัวให้เป็น Small จากนั้นก็ปรับ Crossover Freq. ให้อยู่ที่ประมาณ 200 Hz โดยสามารถเช็คค่าดังกล่าวได้จากสเปคของลำโพงคู่หน้าของเรา ว่ามีอัตราการตอบสนองความถี่ช่วงต่ำสุดที่ค่าไหน เพราะเราจะทำการทอนช่วงความถี่ต่ำไปให้กับซับวูฟเฟอร์ช่วยอีกแรงกรณีที่ลำโพงมีขนาดเล็ก

SP Config หรือ Speaker Config สำหรับตั้งค่าประเภทของลำโพงที่ใช้งานในระบบ

จบจากการตั้งค่าลำโพงก็จะมาดูเรื่องระยะห่างกับระดับความดัง เริ่มที่ระยะห่างก็ให้เราหยิบตลับเมตรมาวัดเลยครับ ว่าลำโพงแต่ละตัวห่างจากจุดที่นั่งฟังเท่าไร ส่วนระดับความดังถ้าใครมีสมาร์ทโฟนก็หาโหลดแอพฯ ได้เลยครับ คีย์เวิร์ดคือ Sound Level Meter แล้วก็เริ่มจากปรับระดับความดังที่แอมป์ให้ดังในระดับที่เราใช้ฟังปกติก่อน จากนั้นก็ค่อยเข้ามาที่เมนูนี้แล้วไล่ปรับระดับเสียงของลำโพงทุกตัวให้เท่ากัน ก็เป็นอันเสร็จสิ้นการเซ็ตอัพแบบคร่าวๆ สำหรับเซ็ตโฮมเธียเตอร์เซ็ตนี้

ปรับระยะห่างของลำโพงจากจุดที่นั่งฟัง อาจมีคลาดเคลื่อนได้บ้างเล็กน้อยครับ
ไม่ต้องซีเรียสจนเกินไป
ตลับเมตร อุปกรณ์คู่ใจสำหรับการวัดระยะ ควรเริ่มวัดจากบริเวณหน้าลำโพงนะครับ
เพราะถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่เสียงเดินทางมาหาเรา
จุดสุดท้ายที่เราจะมาตั้งค่าก็คือระดับความดังของลำโพงแต่ละตัวในซิสเต็ม
ควรจะเกลี่ยให้เท่ากันจึงจะได้ผลลัพธ์ออกมาดีที่สุดครับผม