28 Aug 2017
Review

รีวิว Onkyo LS5200 – มินิชุดโฮมเธียเตอร์ 2.1 แชนแนล รองรับ 4K และการสตรีมมิ่งผ่านระบบเน็ตเวิร์คได้สมบูรณ์แบบ


  • raweepon

Connectivity – ช่องต่อ

ผ่านส่วนที่เป็นดีไซน์ที่มีข้อมูลของอุปกรณ์แต่ละชิ้นแบบจัดเต็มกันไปแล้ว ทีนี้เราจะมาเน้นหนักกันที่ช่องเชื่อมต่อที่อยู่บริเวณด้านหลังของเจ้า AV Receiver รุ่น TX-L20DWL กันต่อเลย ถึงแม้ว่าตัวเครื่องจะบางพอๆ กับเครื่องเล่นแผ่น DVD หรือ Blu-ray แต่ในแง่ของฟังก์ชันการใช้งานและช่องต่อต่างๆ นั้นก็ยังคงจัดเต็มอยู่นะ โดยจะมีให้เลือกใช้ทั้งช่องต่อที่เป็นแบบดิจิทัลและแอนะล็อกอย่างครบครัน

เพื่อไม่ให้เสียเวลาพลิกมาเริ่มดูช่องเชื่อมต่อที่อยู่ทางด้านหลังกันเลย อย่างที่ได้เกริ่นไปก่อนหน้านี้แล้วว่าช่องต่อ Onkyo เขาใส่มาให้แน่นจริงๆ

ในส่วนของช่องต่อต่างๆ นั้นกระผมขอไล่เรียงเป็นข้อๆ ตามด้านล่างกันเลยก็แล้วกัน
1. ช่องสำหรับเชื่อมต่อสายรับสัญญาณ DAB/FM จำนวน 1 พอร์ต
2. เสารับสัญญาณ Wi-Fi และสัญญาณ Bluetooth จำนวน 2 ต้น (ไม่สามารถถอดออกได้)
3. ช่องสำหรับเชื่อมต่อ Audio IN จำนวน 3 ชุด
4. ช่องสำหรับเชื่อมต่อเข้ากับสายสายกราวด์
5. ช่องสำหรับเชื่อมต่อ Optical/Coaxial จำนวนอย่างละ 1 พอร์ต
6. ช่องสำหรับเชื่อมต่อ Network ผ่านทางสาย LAN จำนวน 1 พอร์ต
7. ช่องสำหรับเชื่อมต่อสาย HDMI Out จำนวน 1 พอร์ต
8. ช่องสำหรับเชื่อมต่อสาย HDMI In จำนวน 4 พอร์ต

ถัดมาที่ช่องต่อสายลำโพงซึ่งจะมีหัวคล้ายๆ ไบน์ดิ้งโพสต์ แต่การเชื่อมต่อนั้นเราสามารถนำสายลำโพงที่แถมมาให้ภายในชุดมาไขหนีบได้เลย และข้างๆ กันจะมีช่องสำหรับเสียบสายลำโพงซับวูฟเฟอร์มาให้อีก 1 พอร์ตด้วย

Sound – เสียง

มาถึงเรื่องของเสียงกันแล้วและนี่ก็จะทำให้เราได้รู้กันว่าเจ้า Onkyo LS5200 โดยรวมแล้วจะมีคาแรคเตอร์หรือมีว่าแนวเสียงเป็นเช่นไร สำหรับกำลังขับของชุดซิสเต็มทั้งชุดนี้จากที่ได้ลองคำนวณดูแล้วจะมีพละกำลังทั้งหมดอยู่ที่ 220 W จากกำลังขับขนาดนี้แล้วถ้าหากเปิดสุดรับรองได้เลยว่าข้างบ้านต้องเขวี้ยงหม้อมาแน่ๆ

เมื่อทำการประกอบและเคลียร์พื้นที่กันเรียบร้อยแล้ว ต้องขอบอกก่อนเลยว่าเจ้า Onkyo LS5200 ชุดที่เราได้มานั้นใหม่แกะกล่องจริงๆ เลยอาจจะต้องขอเปิดเบิร์นทิ้งไว้ เพื่อให้แอมป์และตัวไดร์เวอร์แต่ละชิ้นเข้าที่เข้าทางกันเสียก่อนนะท่านผู้ชม
หลังจากที่ปล่อยเบิร์นตัวซิสเต็มเอาไว้ กระผมเลยขอพาคุณผู้อ่านมาแอบดูที่เมนูของตัวเครื่องกันสักเล็กน้อย

จากภาพด้านบนจะเห็นว่าตัวช่องต่อ HDMI นั้นสามารถรองรับการเชื่อมต่อผ่านทางเทคโนโลยี HDCP 2.2 ตามที่ในสเปคได้เคลมเอาไว้ จึงทำให้ตัวเครื่องสามารถรองรับการปล่อยผ่านภาพ 4K ได้อย่างไหลลื่น

ทั้งนี้กระผมเองก็ได้แอบไปเปิดดูในส่วนของเมนูการตั้งค่าระบบเสียง ซึ่งพบว่ามันสามารถรองรับการปรับตั้งค่าระดับความดังของลำโพงแต่ละแชนแนลได้ และยังสามารถกำหนดระยะห่างระหว่างตัวตู้ลำโพงกับผู้ฟังได้อีกด้วย แต่ก็แอบเสียดายเล็กน้อยตรงที่ตัวเครื่องจะไม่ได้มีระบบ Audio auto calibration มาให้ ผู้ใช้งานทั่วไปอาจจะดูยุ่งยากเล็กน้อย

มาเริ่มทดลองรับชมภาพยนตร์กันเลยดีกว่า โดยกระผมจะใช้เรื่อง “Deadpool” ที่เป็นแผ่น Blu-ray 4K Ultra HD ในการทดสอบกับเจ้า Onkyo LS5200 เป็นหลักนะ

สำหรับความรู้สึกของการรับชมภาพยนตร์ผ่านระบบเสียง 2.1 แชนแนลที่เป็นระบบเสียงสูงสุดที่ชุดซิสเต็มนี้จะรองรับได้แล้วนั้น จากความรู้สึกแรกที่ตัวของกระผมเองก็ไม่ค่อยได้รับชมภาพยนตร์ด้วยระบบเสียงเช่นนี้มานานมากๆ แล้ว แต่ก็ต้องบอกเลยว่ามันว้าวจริงๆ ยิ่งถ้าหากนำไปติดตั้งในห้องนั่งเล่นที่มีพื้นที่ค่อนข้างจะจำกัดด้วยแล้วละก็ถือว่าลงตัวในระดับที่ดีกว่าการใช้งาน Soundbar บางตัวเลยนะ ซึ่งเดี๋ยวจะบอกว่ามันดีอย่างไร

ในส่วนของการใช้รับชมภาพยนตร์ถ้าให้เลือกระหว่าง Soudbar กับเจ้า Onkyo LS5200 กระผมเลือก Onkyo ชุดนี้นะ เนื่องด้วยการจัดวางลำโพงคู่หลังซ้ายขวาที่มีการแยกระยะห่างระหว่างกันอย่างตายตัว จึงทำให้การรับฟังรู้สึกว่าเสียงที่มันพุ่งออกมาแต่ละแชนแนลนั้นมีความสมจริงและไม่รู้สึกว่ามันหลอกเราแต่อย่างใด

นอกจากนี้แล้วตัวไดร์เวอร์ของลำโพงคู่หลักซ้ายขวานั้นก็ค่อนข้างจะมีจุดเด่นในการถ่ายทอดความถื่เสียงในย่านที่สูงๆ ได้เป็นอย่างดี ทำให้การรับชมภาพยนตร์ในฉากที่มีเสียงเอฟเฟคเฟี้ยวฟ้าวทำออกมาได้ชัดเจนและกรุ้งกริ้งดี ในแง่ของเสียงกลางที่เป็นโทนทุ้มอุ่นๆ ค่อนไปทางเสียงต่ำกลมมากๆ อาจจะฟังดูแล้วมีความบางไปสักเล็กน้อย แต่ก็ยังคงมีความมนและนุ่มนวลของเสียงกลางอยู่พอสมควรมิใช่น้อย

โดยส่วนตัวแล้วผมคิดว่าคงจะเป็นเพราะตัวไดร์เวอร์มิจเรจน์ที่มีขนาดค่อนข้างเล็ก แต่ก็ไม่ได้ถึงกับทำให้เราต้องมานั่งจับผิดอะไรมากนัก เนื่องด้วยตัวซูบวูฟเฟอร์ที่ใส่มาให้ภายในชุดนี้สามารถเข้ามาช่วยเติมเต็มเสียงในย่านความถี่ที่ขาดหายไปได้เป็นอย่างดี หากจะว่าไปแล้วตัวซับวูฟเฟอร์เองก็ถือว่ามีพละกำลังที่เกินตัวอยู่พอสมควร ทั้งนี้ในฉากที่เป็นเสียงระเบิด ตูมตาม! อาจจะรู้สึกว่าเสียงเบสที่ยิงลงพื้นนั้นมันแผ่กระจายนานไปสักหน่อย

นอกจากนี้แล้วที่ตัวของ AV Receiver ยังได้รับการติดตั้งโหมดเสียง Movie มาให้ได้เลือกใช้งานอยู่ 2 โหมด คือ
1. โหมด Direct : สำหรับโหมดเสียงตัวนี้จะให้เสียงที่เป็นเสียงแบบต้นฉบับ ซึ่งถ้าหากว่าเรา Output เสียงจากเครื่องเล่นมายังไงเสียงก็จะออกมาอย่างงั้น แต่ต้องขอบอกไว้ก่อนเลยว่าตัวเครื่องจะรองรับการถ่ายทอดระบบเสียงสูงสุดที่ DTS-HD Master Audio และ Dolby TrueHD เท่านั้นนะ เนื่องด้วยข้อจำกัดของตัวเครื่องที่รองรับลำโพงได้เพียงแค่ 2.1 แชนแนลเท่านั้น
2. โหมด Theater-Dimensional : จากที่ได้ลองฟังเทียบกับ Direct ส่วนตัวแล้วกระผมเองรู้สึกไม่ค่อยต่างกันสักเท่าไหร่นะ แต่เข้าใจว่ามันจะเป็นการไปเพิ่มระดับ Surround ของเสียงให้เพิ่มมากยิ่งขึ้น แต่ก็อย่างที่บอกไปว่ามันมีแค่ 2.1 แชนแนลเลยไม่ค่อยรู้สึกอะไรนัก

เก็บเรื่องการแสดงผลข้อมูล Info ของตัวเครื่องมาฝากกันสักเล็กน้อย

สำหรับการ Input ตัวคอนเทนท์จากเครื่องเล่นมานั้นจะเห็นว่ามัน Input จากต้นทางมาเป็นระบบเสียง Dolby TrueHD (2.1 แชนแนล) โดยที่จะไม่ได้เป็นระบบเสียง 5.1 หรือ 7.1 แชนแนลแบบทั่วๆ ไป ในส่วนของ Output ก็จะแสดงเป็นโหมดเสียงที่เราได้เลือกเอาไว้ อย่างในภาพด้านบนจะเป็นโหมดเสียง Direct (2.1 แชนแนล)

นอกจากนี้แล้วข้อมูลบน Info ยังบอกเราได้อีกว่าภาพวีดีโอที่ถูก Output ออกไปที่หน้าจอทีวีจะเป็นความละเอียดเท่ากับ 4K (3480 x 2160) 24Hz, 4K ycbcr 4:2:2 24bit, Premium Content
เปลี่ยนมาฟังเพลงเพราะๆ จากศิลปินวง “Coldplay” จากแผ่นคอนเสิร์ต “Coldplay Live 2012 (Paris)” กันบ้างดีกว่า

ข้อแตกต่างของเสียงที่ได้รับฟังเมื่อเทียบกับการรับชมภาพยนตร์แล้วล่ะก็จะมีความแตกต่างกันอยู่เล็กน้อย ถ้าหากว่าสังเกตดีๆ ซึ่งกระผมจะใช้โหมดเสียง Music สำหรับการรับฟังเพลง ซึ่งจะมีให้เลือกอยู่ 2 แบบเช่นกัน คือ
1. โหมด Stereo : จะถ่ายทอดเสียงออกมาในรูปแบบ 2.1 แชนแนล หมายความว่าจะมีซับวูฟเฟอร์เข้ามาร่วมถ่ายทอดพลังเสียงเบสและเสียงในย่านความถี่ต่ำด้วย โดยส่วนตัวแล้วถ้าหากฟังเพลงที่เป็นแนว Rock หรือ Hip Hop แล้วแนะนำว่าให้ใช้โหมดนี้จะดีที่สุด เพราะคุณจะได้รับฟังเสียงครบถ้วนและสมบูรณ์ที่สุด
2. โหมด Direct : สำหรับโหมดนี้ปกติแล้วจะเป็นโหมดเสียงที่นักฟังเพลงมักนิยมใช้กัน แต่ทว่าการที่จะเลือกใช้กับชุดซิสเต็มนี้อาจจะต้องเลือกใช้กับเพลงบางประเภทสักเล็กน้อย เนื่องด้วยต้วของลำโพงสเตอริโอหลักซ้ายขวาค่อนข้างจะมีขนาดเล็กถ้าหากใช้งานกับโหมดนี้เพลงบางแนวฟังแล้วอาจจะดูขัดใจหน่อยๆ

มาต่อกันที่การรับฟังไฟล์เพลงจากแผ่นด้วยเพลงที่ออกแนว Audiophile นิดๆ กันบ้าง โดยจะเปรียบเทียบระหว่างโหมดเสียงแบบ Stereo และ Direct ให้เห็นกันชัดๆ ไปเลย

ซึ่งเพลงที่ได้เลือกนำมาใช้นั้นจะเป็นเพลง “There You”ll Be – Jin Chi” ซึ่งความรู้สึกที่ได้จากโหมดเสียง Direct จากสัมผัสได้ถึงความหวานของเสียงกลางที่หนามนและชัดเจนกำลังดี ส่วนปลายเสียงจะมีความเปล่งประกายอยู่พอสมควรในบางจังหวะจะได้ยินแม้กระทั้งเสียงกลืนน้ำลายของนักร้องกันเลยทีเดียว แต่กระผมว่าถ้าฟังด้วยเสียงแค่เสียง 2 แชนแนลแล้ว ถ้าเป็นเพลงที่มีจังหวะเบาๆ ฟังแล้วก็เพลินดีไม่แพ้กัน

แต่ถ้าอยากได้ความนุ่มและความสนุกในการรับฟังเพลงขึ้นมาอีกระดับหนึ่งนั้น อาจจะต้องแนะนำให้ใช้เป็นโหมดเสียง Stereo เพราะท่านจะได้รับความเอิบอิ่มของเสียงทุ้มและเสียงกลางต่ำเพิ่มมาอีกเยอะพอสมควรเลยล่ะ

ถัดมาที่โหมด Game กันต่อ ที่โหมดนี้จะยังคงมีให้เลือกใช้งานอยู่ 2 รูปแบบเหมือนกับโหมดเสียงอื่นๆ ซึ่งการทดสอบนั้นได้ใช้เกมส์ “Horizon Zero Dawn” และ “Battlefield 4”

โหมดเสียง Game จะมีให้เลือก2 รูปแบบคือ
1. Direct : สำหรับโหมดนี้ก็จะคล้ายกับของโหมด Movie เลย คือจะเป็นเสียงต้นฉบับที่ไม่ได้รับการปรุงแต่งใดๆ ทั้งสิ้น
2. Theater-Dimensional : ส่วนโหมดนี้ก็จะเพิ่มความ Surround และความหนักแน่นของตัวซับวูฟเฟอร์ขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง ทำให้ผู้เล่นเกมมีความรู้สึกอินกับตัวเกมส์มากยิ่งขึ้น