14 Sep 2014
Review

มหาเทพจุติ !!! รีวิว Panasonic 58AX800T 4K Ultra HD จัดเต็มคุณภาพในระดับสตูดิโอ


  • lcdtvthailand

Panasonic 58AX800T ตัวนี้เป็นทีวีระดับ 4K Ultra High Definition กล่าวคือมีความละเอียดหน้าจอที่ 3840 x 2160 ซึ่งนับได้ว่ามีความละเอียดมากกว่าระดับ Full HD ทั่วไปถึง 4 เท่าด้วยกัน จึงทำให้เราได้ภาพที่คมชัดมากๆ แม้ขนาดของหน้าจอจะใหญ่ถึง 58 นิ้วก็ตาม  การประมวลผลใช้ชิพ 4K Fine Master Engine ซึ่งสามารถอัพสเกลภาพจาก Full HD ปกติให้กลายเป็น 4K Ultra High Definition ได้อีกด้วย พร้อมทั้งระบบ 3D แบบ Progressive หรือที่เราคุ้นเคยกันเรียกว่า “3D Active” อีกอย่างก็คือเทคโนโลยี “Studio Master Colour” ซึ่งจะให้ตัวทีวีแสดงขอบเขตของสีได้กว้างกว่าทีวีทั่วไป ซึ่งจะกว้างจริงหรือไม่ เดี๋ยวเราจะใช้เครื่องมือวัดค่าออกมาให้ชมกันครับ

Panasonic 4K Ultra HD ละเอียดกว่า Full HD ถึง 4 เท่า

ภาพ

Pre-Calibration Panasonic 58AX800T :
ก่อนปรับภาพเป็นอย่างไร ?


เริ่มจากโหมดภาพสำเร็จรูปของ Panasonic 58AX800T ซึ่งมีให้เลือกใช้เยอะมาก ซึ่งแต่ละโหมดจะมีการปรับสีสันและค่าต่างๆให้เหมาะสมกับการใช้งาน รวมถึงพวก Aspect Ratio ที่เปลี่ยนตามๆกันไปด้วย ในที่นี้ผมลองใช้เครื่องมือ Calibrate ภาพ ร่วมกับโปรแกรม CalMAN 5 ทำการวัดอุณหภูมิสีในแต่ละโหมดพบว่าส่วนมากจะค่อนข้างบวกไปมากกว่า 6500k (ค่าอ้างอิงมาตรฐาน) เล็กน้อย  ทำให้แนวภาพออกมาสว่างและอมฟ้า อมเขียวเล็กๆ แต่หากมองภาพรวมแล้ว ก็เป็นทีวีที่ให้ภาพดีมาตั้งแต่ต้น รายละเอียดของภาพขึ้นมาครบถ้วนดีกว่า LED TV รุ่นปีที่แล้วพอสมควร ส่วนอาการดำจมนั้นพบเจอบ้าง แต่น้อยมาก เทียบกับรุ่นอื่นๆ ซึ่งอาจต้อง Calibrate เพิ่มอีกเล็กน้อย แนะนำโหมดสำเร็จรูปอย่าง Profesional 1 หรือในตระกูล THX Cinema และ THX Bright Room รับชมได้เลย ไม่ผิดหวัง โดยเฉพาะห้องนั่งเล่นที่แสงสว่างมากๆ ตัวทีวีก็ยังสู้แสงและมีความดำของแบคกราวน์มาให้เราเห็นพอสมควร 

อย่างไรก็ตาม Panasonic ถือเป็นแบรนด์ทีวีที่ให้ลูกเล่นรายละเอียดให้ปรับเยอะมากๆ จนเรียกว่าสามารถ Calibrate ให้ภาพออกมาได้ดังใจต้องการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ Gamma Point ที่เรามักจะไม่พบเห็นการปรับตั้งค่าส่วนนี้ แม้จะเป็นทีวีระดับท็อปของค่ายคู่แข่ง , White Balance และ Colour Magement System ที่อยู่ในทีวีระดับท็อปๆ สิ่งนี้ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ทำไม Panasonic จึงมีคุณภาพของจอภาพในระดับที่ใช้อ้างอิงในสตูดิโอ ข้อสังเกตอย่างนึงที่อยากให้เห็นก็คือความกว้างของขอบเขตสีก่อนการ Calibrate จะอยู่ในระดับ Rec. 709 ซึ่งในจุดนี้ผมไม่ได้เปิดโหมด “Studio Master Colour” นะครับ เป็นการวัดแบบเดิมๆเลย แล้วเดี๋ยวเรามาดูกันว่าหลังเปิดใช้งานแล้วจะเป็นเช่นใด ( อ้างอิงจาก CIE ชาร์ตด้านล่าง )

ตัวอย่างภาพในโหมดต่างๆ
สำหรับ RGB Balance ก่อน Calibrate นั้นเป็นไปตามที่คาด ด้วยระดับสีแดงที่ต่ำกว่า จึงให้ภาพที่ติดอมฟ้าเล็กน้อย แต่กลับกันหลังการ Calibrate ทำได้อย่างยอดเยี่ยม รวมถึงการไล่ระดับความสว่างของตัวทีวีด้วยเช่นกัน
อ้างอิงจาก CIE Chart ด้านบนที่ใช้การวัดขอบเขตสีที่ระดับ Rec. 2020 ทั้ง Pre และ Post Calibration ได้ขอบเขตสีที่กว้างกว่าเดิม หากเปิดใช้ “Studio Master Colour” ให้เป็น On
คุณภาพของภาพPanasonic 58AX800T
ความถูกต้องของสี (Pre-cal)ปานกลาง
ความถูกต้องของสี (Post-cal)ดีมาก
ขอบเขตการแสดงสี (Colorspace)ดีมาก
โมชั่นภาพเคลื่อนไหว (เมื่อเปิดฟีเจอร์แทรกเฟรม)ปานกลาง
การอัพสเกลภาพ (Resolution)ดีมาก
แสดงสีดำ / คุมแบ็คไลท์ดี
ภาพ 3 มิติปานกลาง
เสียงปานกลาง

 Post-Calibration Panasonic 58AX800T :
มหาเทพจุติ ?

ผลลัพธ์หลังจากการ Calibrate ทีวีรุ่นท็อปอย่าง Panasonic 58AX800T ตัวนี้ ทำออกมาได้อย่างดีตามความคาดหมาย หรือจะเรียกได้ว่า “Perfect” ก็คงจะไม่ผิดไปจากความเป็นจริง โดยเฉพาะสิ่งที่โดดเด่นอย่างที่สุด ก็คือขอบเขตของสี ( Color Space ) ที่ทีวีตัวนี้สามารถแสดงได้ ดีกว่าทีวีทุกตัวเท่าที่เราได้ทดสอบมาในปี 2014 ซึ่งอ้างอิงจากการเปิดใช้ฟังก์ชั่น “Studio Master Colour” ให้เป็น On จากกราฟจะเห็นได้ว่าความกว้างของขอบเขตสีนั้นกว้างขึ้นกว่าเดิมมาก เกือบจะเทียบเท่าระดับของ Rec. 2020 เลยทีเดียว ต้องถือว่าทาง Panasonic ทำได้ไม่ผิดหวัง ไม่ได้เป็นเพียงคำโฆษณาอย่างเดียว สามารถอ้างอิงจาก CIE Chart ด้านบนนี้ได้อย่างชัดเจน ซึ่งแน่นอนว่าตามทฤษฎีแล้วหากเป็น Rec. 2020 จะทำให้เราเห็นสีสันที่ไม่สามารถพบได้ในระดับ Rec. 709 ทั่วไป

อีกหนึ่งเรื่องที่ไม่พูดถึงก็คงจะไม่ได้ ก็คือระดับความคมชัดของภาพที่เมื่อเราเลือกปรับฟังก์ชั่น “Resolution Remaster” ให้เป็น On แล้ว ถือว่าระดับความคมชัดอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจมากๆ คมขึ้นอย่างเห็นได้ชัด หากเทียบการอัพสเกลภาพจาก 1080p ไปเป็น 2160p ต้องถือว่าทำได้ดีที่สุดจากทุกๆแบรนด์ที่เราได้เทียบมา ไม่ว่าจะเป็น LG 84UB980T หรือแม้แต่ Samsung UA55HU9000 ตรงจุดนี้หากมาสังเกตบนจอทีวีในระยะใกล้ ก็จะสามารถพบความแตกต่างได้เช่นกัน 

ตัวอย่างขอบเขตสี Color Space ในระดับ Rec. 709 (HDTV) ในภาพด้านซ้าย ส่วนระดับ Rec. 2020 (UHDTV) จะอยู่ทางด้านขวา จะเห็นว่ากว้างกว่าเยอะพอควร
ตารางเปรียบเทียบกับทีวี UltraHD ที่เราได้ทดสอบมา จะเห็นได้ว่า แต่ละรุ่นก็มีข้อดี ข้อเสียแตกต่างกันออกไป
หน้าตาเมนูในส่วนของ Picture Setting ที่มีธีมคล้ายๆรุ่นเดิม
สามารถเลือกปรับได้อย่างละเอียด เมนูใช้งานได้ไม่ยาก
ทดสอบหนังรื่อง Lone Survivor

เรื่องแรกที่หยิบมาทดสอบคือ Lone Survivor หนังสงครามที่มีเนื้อเรื่องเกี่ยวกับทหารหน่วยซีลของอเมริกาต่อสู้กับสมุนของบิน ลาเดน จุดที่น่าสนใจก็คือฉากการต่อสู้ในป่า ตัว AX800 ถือว่าให้รายละเอียดในที่มืดได้ดี ผสมกับแนวภาพที่ดูกลมกล่อม สีสันของทีวีให้ความเป็นธรรมชาติสูง มีความสดอิ่ม แต่ก็ไม่ได้จัดจ้านเกินไปนัก ระดับความดำถือว่าดำลึกทีเดียว โดยข้อแนะนำคือตัว Adaptive Backlight Control ให้ปรับไว้ในระดับ Min ถือว่าเหมาะสม 

เรื่อง Hunger Game ภาค 2

Hunger Game ภาค Catching Fire เป็นอีกเรื่องที่แนวภาพเหมาะกับ AX800 เป็นอย่างยิ่ง โทนสีในเรื่องนี้จะออกแนวนุ่มๆ ไม่จัดจ้านมาก ประกอบกับฉากในป่าเขาค่อนข้างเยอะ ทำให้ตัวพาแนลแสดงประสิทธิภาพออกมาได้อย่างเต็มที่ ไม่ค่อยเกิดอาการดำจม ยิ่งดูในห้องที่คุมแสงได้ ก็จะพบว่าเป็นการรับชมที่สบายตา ไม่ต่างจากในโรงภาพยนตร์เลย

โหมดภาพต่างๆของ Panasonic 58AX800T
Journey 2 เรื่องยอดฮิต

ความสมจริงของสีผิวตัวละครในเรื่อง Journey2 ปกติจะมีอยู่ 2 จุดที่น่ากังวลก็คือ ใบหน้าติดแดงเกินไป หรือไม่ก็ขาวโพลนเกินไป แต่การบาลานซ์ระหว่างสองจุดนี้ ตัว AX800 กลับทำได้ค่อนข้างดี โดยเฉพาะในฉากที่ 5 ใบหน้าตัวละครหลายๆคนมีสีผิวที่แตกต่างกัน แต่ภายหลังการ Calibrate ก็ให้ความเป็นธรรมชาติตามแบบฉบับได้ยอดเยี่ยม มิติภาพในเชิงลึกทำได้ดี แต่ไม่ใช่ว่าจะทำได้ดีไปหมดทุกด้าน  ขอยกตัวอย่างเรื่องที่ควรปรับปรุง นั่นก็คือการแสดงภาพเคลื่อนไหวในฉากแพนกล้อง กลับพบว่าทำได้ในระดับปานกลางเท่านั้น ฉากเคลื่อนไหวเร็วๆยังไม่ค่อยลื่นไหลเท่าที่ควร 

คอนเทนต์ระดับ 3840 x 2160 จาก Panasonic

ต้องบอกว่า “คมมาก” สำหรับการแสดงภาพในระดับ 2160p จากตัว AX800 มาดูใกล้ๆก็ยังคมอยู่ โดยเฉพาะการปรับ Resolution Remaster ให้เป็น On เส้นขอบบางชิ้นของตัววัตถุจะถูกเกลี่ยให้ไม่ฟุ้ง ต้องขอชมตัวชิปประมวลผลของตัวเครื่องที่ทำหน้าที่ได้ดี แม้จะทดสอบจากคอนเทนต์หลายๆตัว ก็ยังให้ผลลัพธ์ออกมาในทิศทางเดียวกัน

ชมคอนเทนต์ฟุตบอลก็ยังคมชัดมากๆ ( คลิปนี้ระดับ 4K จาก Panasonic ) อยากให้ถ่ายทอดสดแบบนี้มาบ้าง คงจะฟินน่าดู
หรือจะเป็นแนวกราฟฟิคจากเกมส์ Final Fantasy
Aspect Ration ในแบบต่างๆ

สำหรับการใช้งานด้าน Aspect Ratio เราก็ขอแนะนำเช่นเดิม คือเลือกแบบ 16:9 และทำการปิด Over Scan ก็จะให้ภาพที่เต็มหน้าจอทุกๆสัดส่วน ไม่ถูกคร็อปหายไป